มีการศึกษาชี้ว่าในสหรัฐฯ มีเด็กที่เผลอกินขนมที่ทำมาจากกัญชามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากหลายพื้นที่ในสหรัฐฯ มีการลงมติให้สามารถใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมาย | ที่มาภาพ: Elsa Olofsson (CC BY 2.0)
VOA รายงานเมื่อต้นเดือน ก.พ. 2023 ว่าการศึกษาที่ได้รับการเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ พบว่าเด็กที่เผลอกินขนมที่ทำมาจากกัญชามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในช่วงห้าปีที่ผ่านมา หลังจากหลายพื้นที่ในสหรัฐฯ มีการลงมติให้สามารถใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมายในช่วงเวลาดังกล่าว
รายงานจากศูนย์ควบคุมพิษแห่งชาติระหว่างปี 2017 ถึง 2021 ระบุว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีมากกว่า 7,000 รายที่ได้รับการยืนยันว่ารับประทานอาหารและขนมที่มีส่วนผสมของกัญชาเข้าไป เพิ่มขึ้นจากประมาณปีละ 200 รายเป็นมากกว่าปีละ 3,000 ราย
งานวิจัยครั้งใหม่ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Pediatrics นี้พบว่า เด็กเกือบ 1 ใน 4 คนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และบางคนยังมีอาการป่วยหนักอีกด้วย
แพทย์หญิง มาริต ทวีต (Dr. Marit Tweet) นักพิษวิทยาด้านการแพทย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสารพิษจาก Southern Illinois School of Medicine และเป็นหัวหน้าในการศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่ากรณีที่เด็กรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกัญชา ซึ่งรวมไปถึงขนมหวานนั้น กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากหลายรัฐสามารถใช้กัญชาในทางการแพทย์และสันทนาการได้อย่างถูกกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม แพทย์หญิงทวีตได้เรียกร้องให้บรรดาผู้ปกครองเพิ่มความระมัดระวัง และยังเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายใหม่เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์จากกัญชามีความน่าดึงดูดใจน้อยลงสำหรับเด็ก ๆ
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์จากกัญชามักอยู่ในรูปของลูกอมและขนม และในตอนนี้มีอย่างน้อยสองรัฐ คือโคโลราโดและวอชิงตัน ที่ใช้กฎหมายดังกล่าวแล้ว
เธอกล่าวต่อไปอีกว่า “เมื่อผลิตภัณฑ์จากกัญชาอยู่ในรูปของลูกอมหรือคุกกี้ ผู้คนมักจะไม่คิดว่ามันเหมือนกับสารเคมีในครัวเรือนหรือสิ่งอื่น ๆ ที่เด็กๆ สามารถเข้าไปหยิบจับได้”
แพทย์หญิงทวีตและผู้ร่วมวิจัยของเธอตรวจสอบรายงานจากระบบข้อมูลสารพิษแห่งชาติ ซึ่งเป็นข้อมูลจากศูนย์ควบคุมสารพิษ 55 แห่งทั่วประเทศ การศึกษาแสดงให้เห็นว่า เด็กที่ได้รับผลกระทบมากกว่าครึ่งมีอายุระหว่างสองถึงสามขวบ โดยมากกว่า 90% ของเด็กเหล่านี้รับประทานผลิตภัณฑ์อาหารผสมกัญชาขณะอยู่ในบ้านของพวกเขาเอง
จากรายงานมากกว่า 7,000 ฉบับ นักวิจัยสามารถติดตามผลได้เกือบ 5,000 กรณี โดยเด็กเกือบ 600 คน หรือราว 8% เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่มักมีอาการหายใจลำบากหรือกระทั่งมีอาการโคม่า
นอกจากนี้ยังมีเด็กเกือบ 15% เข้ารับการรักษาในหน่วยดูแลผู้ป่วยที่ไม่ได้มีอาการสาหัส และกว่าหนึ่งในสามต้องเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉิน โดยมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว และอาเจียนเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด
นายแพทย์ไบรอัน ชัลท์ซ (Brian Shultz) แพทย์ฉุกเฉินที่ทำงานกับเด็ก ๆ ที่ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอพกินส์ (Johns Hopkins Medicine) ในเมืองบัลติมอร์ กล่าวว่า เขาเคยทำงานที่โรงพยาบาลเด็ก Children’s National Hospital ในกรุงวอชิงตัน และต้องรักษาเด็กที่กินอาหารที่ผสมกัญชาเข้าไป “เกือบทุกวัน”
แพทย์หญิงทวีตกล่าวด้วยว่า การที่มีรายงานและมีอัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นในช่วงสองปีหลังสุดของการศึกษาในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น เนื่องจากเด็ก ๆ อยู่ที่บ้านกันมากขึ้น มีโอกาสมากขึ้นที่จะหยิบจับผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำมาจากกัญชา
และการที่กัญชากลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายอย่างกว้างขวางมากขึ้น อาจทำให้ผู้ปกครองกล้าที่จะไปขอความช่วยเหลือจากศูนย์พิษวิทยาและผู้ให้บริการด้านสุขภาพ มากขึ้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ