ปี 2565 บัตรทอง ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง 2.5 แสนราย ค่ารักษายังรับได้ เน้นป้องกัน คัดกรอง ลดอัตราป่วยเพิ่ม

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 มี.ค. 2566 | อ่านแล้ว 1647 ครั้ง

ปี 2565 บัตรทอง ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง 2.5 แสนราย  ค่ารักษายังรับได้ เน้นป้องกัน คัดกรอง ลดอัตราป่วยเพิ่ม

เปิดข้อมูล ปี 2565 กองทุนบัตรทอง ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง 2.5 แสนราย เพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปี จากจำนวนผู้ป่วยมะเร็งกว่า 1 แสนราย ขณะที่ค่าใช้จ่ายรักษาอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยล 5 ของงบประมาณกองทุนฯ เผยนโยบาย “มะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ” ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบริการเพิ่ม พร้อมระบุทั้งประเทศมี รพ.รับส่งต่อเฉพาะด้านรังสีรักษา 39 แห่ง อยู่ระหว่างขยายเพิ่ม ขณะที่ภาพรวมค่าใช้จ่ายด้านมะเร็งยังรับได้ เน้นบริหารจัดการ ใช้กลไกต่อรองราคายา พร้อมเดินหน้าสิทธิประโยชน์ป้องกันและคัดกรอง ช่วยลดอัตราป่วยจากโรคมะเร็ง

เมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น จากกว่า 1 แสนราย ปีที่ผ่านมาเพิ่มมาอยู่ที่ราว 2.5 แสนราย เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาโดยเร็ว บอร์ด สปสช. ได้มีมติให้ดำเนินนโยบาย “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ” (Cancer Anywhere) นอกจากเป็นการลดคิวการรอคอยรักษา ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การให้เคมีบำบัด และบริการรังสีรักษา ที่เปิดให้ผู้ป่วยไปรับบริการยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพที่มีคิวผู้ป่วยรอไม่มากแล้ว ยังนำไปสู่การลงทุนที่เพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลเพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็ง โดยเฉพาะบริการรังสีรักษา ขณะนี้ทั่วประเทศมีโรงพยาบาลรับส่งต่อเฉพาะด้านรังสีรักษา 39 แห่ง แต่มีบางพื้นที่เขตสุขภาพมีเพียงแห่งเดียว โดยอยู่ระหว่างการขยายเพิ่มเติม

ส่วนงบประมาณนั้น จำนวนเม็ดเงินที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7 จากงบประมาณบัตรทองทั้งหมด 1.7 แสนล้านบาท ทั้งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากจำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่เพิ่มมากขึ้น การเข้าถึงการรักษาที่เพิ่มมากขึ้น ราคาค่าบริการที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการพัฒนาด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และยารักษา

พญ.ลลิตยา กล่าวว่า ในการควบคุมงบประมาณด้านโรคมะเร็งนั้น ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งมีมะเร็งหลายชนิดที่ป้องกันได้ อาทิ มะเร็งปากมดลูกโดยการฉีดวัคซีนป้องกันให้กับเด็กในวัยเรียน ซึ่ง สปสช.กำหนดให้เป็นสิทธิประโยชน์บัตรทองแล้ว หากจัดบริการฉีดให้ครอบคลุมนักเรียนในโรงเรียนทั้งหมด ก็จะลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในอนาคตลงได้ เช่นเดียวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งช่องปาก และมะเร็งเต้านม หากตรวจพบในระยะเริ่มแรก นอกจากโอกาสของการรักษาให้หายแล้ว ค่าใช้จ่ายในการรักษายังต่ำกว่าในระยะที่โรคลุกลามแล้ว ขณะที่กรณีผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่มาถึงที่สุดของรักษาแล้ว ก็มีการดูแลแบบประคับคอง (Palliative Care) โดยการตัดสินใจร่วมของผู้ป่วยและญาติเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการดูแลจะใช้งบประมาณไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาในโรงพยาบาล

ส่วนกรณีของการใช้ยามะเร็งแบบมุ่งเป้า (Targeted therapy) นั้น รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. มีนโยบายให้นำรายการยามุ่งเป้าเข้ามาในระบบเพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็ง โดยในระบบบัตรทองจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งที่ให้คำแนะนำการรักษา ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งจะได้รับยาตามโปรโตคอล ขณะที่ยามะเร็งรายการใหม่ๆ ก็จะถูกนำมาบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์มากขึ้น โดยกรณียามะเร็งที่มีราคาแพงก็จะเข้าสู่กลไกต่อรองราคายา ซึ่งอาจทำให้ราคายามะเร็งลดลงครึ่งหนึ่งได้

“ในการรักษาโรคมะเร็ง มักมีการผลิตยาใหม่ออกมาให้กับผู้ป่วยและมีราคาที่แพงมาก ในกรณีที่ยาได้บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว สปสช.จะมีกลไกต่อรองราคายา ด้วยจำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรับยามีจำนวนมาก ทำให้ สปสข. สามารถต่อรองราคายาลงมาได้มาก อาทิ ยาเคปไซตาบีน ที่ใช้ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร ยาอ๊อกซาลิ พลาติน ชนิดฉีด เป็นยารักษาโรคมะเร็งลำไส้ และมะเร็งกระเพาะอาหาร และยาอิริโนทีแคน HCL ชนิดฉีด เป็นยารักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น ที่ได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์บัตรทองไปแล้ว” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

พญ.ลลิตยา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ยามุ่งเป้าขณะนี้ มีบางรายการที่ผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการเบิกได้ แต่บัตรทองยังไม่ได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ โดยยายังอยู่ในกระบวนการศึกษาความคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิผลของยาและราคา รวมถึงจำนวนผู้ป่วยมะเร็งในระบบที่ต้องใช้ยาเหล่านี้ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการต่อรองราคา แต่ทั้งนี้จะต้องเข้าใจด้วยว่า บัตรทองเป็นระบบหลักประกันสุขภาพที่ดูแลคนไทยเกือบทั้งประเทศ ครอบคลุมการดูแลทุกโรค มีเป้าหมายสำคัญคือลดภาระประชาชนในด้านสุขภาพ ไม่ให้ล้มละลายจากการเจ็บป่วย แต่การใช้งบประมาณในสิทธิประโยชน์ต่างๆ จะต้องทำให้เกิดความคุ้มค่าจริงๆ ทั้งกับผู้ป่วย และระบบในภาพรวม รวมถึงประเทศชาติด้วย

“วันนี้ถ้าพูดถึงงบประมาณบัตรทอง เรายังอยู่ต่ำกว่าที่ 4% ของจีดีพีประเทศ ที่ผ่านมา สปสช. พยายามควบคุมงบประมาณโดยใช้การบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กลไกต่อรองราคา การเน้นป้องกันและคัดกรองโรค การนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งส่วนต่างที่ประหยัดงบประมาณได้นี้ จะนำมาขยายในสิทธิประโยชน์ใหม่ต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: