รวบเครือข่ายแอป 'ไทยเดลี่' อ้างอ่านข่าวแล้วได้ตังค์ ตุ๋นเหยื่อเฉียด 4 ล้าน

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 พ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 2060 ครั้ง

รวบเครือข่ายแอป 'ไทยเดลี่' อ้างอ่านข่าวแล้วได้ตังค์ ตุ๋นเหยื่อเฉียด 4 ล้าน

ตร.ไซเบอร์รวบเครือข่ายแอป "ไทยเดลี่" อ้างอ่านข่าวแล้วได้ตังค์ ใช้อุบายต่างๆ โน้มน้าวใจ มีการรีวิวผลตอบแทน รวมทั้งมีการทำคลิปวีดีโอแนะนำวิธีการทำงาน พร้อมทั้งมีการอ้างความน่าเชื่อถือว่าบริษัททำสัญญากับบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของโลก เพียงสำรองเงินเพื่อเข้าไปอ่านข่าว หรือดูโฆษณาของบริษัทชื่อดังต่างๆ เช่น อเมซอน ลาซาด้า ซอปปี้ ก็จะได้เงินกลับคืนในอัตรา 10-20 % ภายใน 10 นาที ตุ๋นเหยื่อโอนเกลี้ยงเฉียด 4 ล้าน

15 พ.ย. 2566 เพจตำรวจไซเบอร์ – บช.สอท. รายงานว่า ตำรวจไซเบอร์ – บช.สอท. สืบเนื่องจากได้มีกลุ่มผู้เสียหาย จำนวน 6 คน รวมตัวเข้าแจ้งความต่อตำรวจไซเบอร์ โดยเมื่อกลางปี 2564 กลุ่มผู้เสียหายได้ถูกหลอกลวงผ่านแอปพลิเคชัน "ไทยเดลี่ " ซึ่งเป็นแอปสำหรับอ่านข่าวแต่มีการชักชวนลงทุนทำภารกิจออนไลน์ สุดท้ายไม่สามารถถอนเงินที่โอนไปคืนได้

โดยมิจฉาชีพมักยิงโฆษณาให้โหลดแอปดังกล่าวตามโซเชียล ซึ่งมักขึ้นป๊อบอัป (Pop-Up) กับวิดีโอที่ดูผ่าน YouTube เพจหรือกลุ่มประกาศหางานใน facebook หรือ สุ่มส่ง SMS หรือ ลิงก์ทางไลน์ โดยล่อเหยื่อด้วยการเชิญชวนทำงานด้วยการอ่านข่าวออนไลน์ อ้างทำงานง่ายให้ผลตอบแทนดี

สำหรับกรณีนี้ กลุ่มผู้เสียหายได้พบโฆษณาแล้วโหลดแอปดังกล่าว เมื่อเข้าแอปแล้วจะปรากฎลิงก์ให้อ่านข่าวปกติ แล้วปรากฏข้อความเพื่อดึงดูดความสนใจในการหารายได้ โดยให้ผู้เสียหายเข้าไลน์กลุ่ม Open Chat โดยสมาชิกในกลุ่มนั้นทั้งหมดเป็นหน้าม้า จะพยายามสนทนา ล่อลวง ใช้อุบายต่างๆ โน้มน้าวใจ มีการรีวิวผลตอบแทน รวมทั้งมีการทำคลิปวีดีโอแนะนำวิธีการทำงาน พร้อมทั้งมีการอ้างความน่าเชื่อถือว่าบริษัททำสัญญากับบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของโลก เพียงสำรองเงินเพื่อเข้าไปอ่านข่าว หรือดูโฆษณาของบริษัทชื่อดังต่างๆ เช่น อเมซอน ลาซาด้า ซอปปี้ ก็จะได้เงินกลับคืนในอัตรา 10-20 % ภายใน 10 นาที

เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อมิจฉาชีพจะให้เริ่มโอนเงินในจำนวนที่ต่ำก่อน และให้ทดลองถอนเงินจากระบบ ซึ่งพบว่าประมาณ 3- 4 ครั้งแรก สามารถถอนได้จริง เช่น ลงทุน 1,000 บาท ได้กำไร 1,200 บาท ต่อมา กลุ่มผู้เสียหาย หลงเชื่อและเริ่มลงทุนในอัตราที่เพิ่มมากขึ้น มีการกำหนดกเกณฑ์ในการโอนเงินเพิ่มขึ้น เช่น ต้องโอนเงินให้ครบตามจำนวนแพคเกจ เช่น แพ็คเกจ ที่ 1 จำนวน 10,000 บาท แพ็คเกจที่ 2 จำนวน 3,000 บาท แพ็คเกจที่3 จำนวน 66,000 บาท หากทำไม่ครบ จะไม่สามารถถอนเงินทั้งหมดคืนได้ ซึ่งยอดความเสียหายที่กลุ่มผู้เสียหายโดนหลอกลวงไปทั้งหมด รวมทั้งสิ้น 3,869,188 บาท

ต่อมา พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 ส่งเจ้าหน้าที่ออกสืบสวนเพื่อเร่งหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย จนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออำนาจศาลออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องได้หลายราย

วันที่ 14 พ.ย.66 ประมาณ 16.00 น. พ.ต.ท.ศักดิ์สิทธิ์ ชูบุญเรือง สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.1 จึงได้นำกำลังเข้าจับกุม 1 ในเครือข่ายผู้ร่วมกระทำผิด โดยได้จับตัวนายนครินทร์ อายุ 25 ปี ชาว จ.เชียงราย ได้บริเวณ ริมถนนซอยลาดพร้าววังหิน 6 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมฯ” จึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป

จากการตรวจสอบแพลตฟอร์มหลอกลวงดังกล่าว พบว่าได้ยิงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กจนมีผู้ติดตามหลักแสน และสามารถดาวน์โหลดแอปดังกล่าวได้ทั้งระบบ iOS และ Android ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะขยายผลหาตัวผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาดำเนินคดี และประสานขอปิดกั้นแพลตฟอร์มดังกล่าวทุกช่องทางต่อไป กรณีผู้เสียหายจากแพลตฟอร์มดังกล่าว สามารถรวบรวมหลักฐานเข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจ หรือ แจ้งความผ่านระบบรับแจ้งออนไลน์ที่ www.thaipolice.com เท่านั้น ปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน AOC 1441

ผลการปฏิบัติภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 และ พ.ต.อ.ศุภรฐโชติ จำหงส์ ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.1 สั่งการให้ พ.ต.ท.ศักดิ์สิทธิ์ ชูบุญเรือง สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.1 พร้อมชุดสืบสวนดำเนินการจับกุม

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: