คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2565 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำเสนอ
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 เวลา 09.00 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
- เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2565 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. พม. รายงานว่า พม. ได้จัดทำรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 40 ที่บัญญัติให้ พม. จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับสถานการณ์ จำนวนคดี การดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และแนวทางการดำเนินงานในอนาคตเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยรายงานดังกล่าวสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ประเด็น |
ผลการดำเนินงานที่สำคัญ |
การจัดสรรงบประมาณ |
|
การจัดสรร |
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำหรับดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จำนวน 292.18 ล้านบาท |
ด้านการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย |
|
1. สถิติการดำเนินคดี/ผู้กระทำผิด/ผู้เสียหาย |
สืบสวนสอบสวนดำเนินคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ จำนวน 253 คดี (เป็นคดีค้ามนุษย์ในรูปแบบค้าประเวณีและแสวงหาประโยชน์ทางเพศมากที่สุด จำนวน 205 คดี คดีรูปแบบบังคับใช้แรงงาน จำนวน 47 คดี และคดีอื่น ๆ จำนวน 1 คดี) เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 34.57 (ที่มีจำนวน 188 คดี) เนื่องจากมีการเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายในการสืบสวนเก็บพยานหลักฐานทางดิจิทัลมากขึ้นตามรูปแบบอาชญากรรมที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเป็นคดีที่มาจากการสืบสวนสอบสวนช่องทางออนไลน์ จำนวน 182 คดี เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 70.09 (ที่มีจำนวน 107 คดี) ของจำนวนคดีค้ามนุษย์ในชั้นสืบสวนทั้งหมด |
2. การดำเนินคดีในชั้นศาล |
การพิจารณาคดีค้ามนุษย์ของศาลยุติธรรม ในปี 2565 แล้วเสร็จ จำนวน 236 คดี (จากทั้งหมด 384 คดี) เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 168.18 (ปี 2564 มีจำนวนคดีทั้งหมด 232 คดี พิจารณาคดีแล้วเสร็จ จำนวน 88 คดี) ซึ่งเป็นผลจากการมีข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 และระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease: COVID-19) พ.ศ. 2564 ที่เริ่มใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 (ซึ่งเป็นการนำวิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์มาปรับใช้กับกระบวนการพิจารณาต่าง ๆ ในคดีอาญาให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า เช่น การให้ใช้ลายมือชื่ออิเล็กหรอนิกส์ในเอกสารต่าง ๆ ได้การ ให้สามารถพิจารณาและอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฟังได้ในลักษณะของการถ่ายทอดภาพและเสียงผ่านทางจอภาพหรือแอปพลิเคชันอื่น) |
3. การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ |
ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ จำนวน 35 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 105.88 จากปี 2564 (ที่มีจำนวน 17 คน) เนื่องจากมุ่งเน้นดำเนินการสืบสวนขยายผลเชิงรุกในคดีเดิมจนสามารถดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องได้ |
4. การปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต |
จับกุมคดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต จำนวน 482 คดี (คดีครอบครองสื่อลามกเด็ก จำนวน 265 คดี คดีล่วงละเมิดทางเพศเด็ก จำนวน 164 คดี คดีค้ามนุษย์ จำนวน 41 คดี และคดีอื่น ๆ จำนวน 12 คดี) เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 510.01 (ที่มีจำนวน 79 คดี) |
5. การยึด/อายัดทรัพย์สินจากการกระทำผิดคดีค้ามนุษย์ |
ตรวจสอบ ยึด อายัดทรัพย์สินผู้ต้องหา จำนวน 84 คดี เป็นเงินจำนวน 40.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 729.89 จากปี 2564 ที่มีคำสั่งยึดอายัด จำนวน 15 คดี เป็นเงินจำนวน 4.93 ล้านบาท |
6. การเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ปฏิบัติงานด้านการดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย |
พัฒนาศักยภาพของผู้บังคับใช้กฎหมาย เช่น การฝึกอบรมพนักงานสอบสวนและทีมสหวิชาชีพ จำนวน 4 โครงการ 12 รุ่น ผู้เข้าอบรม จำนวน 1,064 คน การจัดอบรมเพิ่มศักยภาพของพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับการสัมภาษณ์เชิงนิติวิทยาศาสตร์ (Forensic Interview) จำนวน 3 ครั้ง จำนวน 90 คน และสำนักงานอัยการสูงสุดฝึกอบรมวิทยากรด้าน Forensic Interview และอาชญากรรมต่อเด็ก เพื่อให้วิทยากรอัยการนำความรู้ไปเผยแพร่อบรมให้อัยการผู้ช่วย จำนวน 200 คน อัยการจังหวัด จำนวน 120 คน ทีมสหวิชาชีพ จำนวน 137 คน ตลอดจนในหลักสูตรการสร้างวิทยากรอัยการ (Train the Trainers) จำนวน 30 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 487 คน |
7. การประสานความร่วมมือกับผู้รอดจากการค้ามนุษย์และภาคส่วนต่าง ๆ |
แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจกำกับและติดตามการดำเนินงานช่วยเหลือและเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยมีผู้รอดจากการค้ามนุษย์ จำนวน 4 คน และตัวแทนภาคประชาสังคมมาร่วมเป็นคณะอนุกรรมการในระดับนโยบายเป็นครั้งแรก |
ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ |
|
1. การคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหาย |
คุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ จำนวน 444 คน เพิ่มขึ้น 90 คน จากปี 2564 (ที่มีผู้เสียหาย 354 คน) โดยมีผู้เสียหาย จำนวน 202 คน เข้ารับการคุ้มครองในสถานคุ้มครองของรัฐและเอกชน (สถานคุ้มครองของรัฐ จำนวน 170 คน และสถานคุ้มครองเอกชน จำนวน 32 คน) ทั้งนี้ เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จำนวน 161 คน และผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ จำนวน 41 คน นอกจากนี้ ผู้เสียหาย จำนวน 242 คน ซึ่งไม่ประสงค์เข้ารับการคุ้มครองในสถานคุ้มครองจะมีเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในภูมิลำเนาของผู้เสียหายประสานติดตามให้ความช่วยเหลือให้สามารถเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย |
2. การขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติและระยะเวลาการฟื้นฟูไตร่ตรอง |
ขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism) และระยะเวลาการฟื้นฟูและไตร่ตรอง (Reflection Period) อย่างต่อเนื่องครอบคลุมทั่วประเทศ โดยได้จัดทำแนวทางการขับเคลื่อนสำหรับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่และอบรมให้ความรู้กับผู้ที่มีหน้าที่คัดแยก จำนวน 2 รุ่น รวม 200 คน อีกทั้งได้มีการเปิดใช้ศูนย์บูรณาการการคัดแยกเป็นจังหวัดแรกที่จังหวัดสตูลโดยมีบุคคลที่อาจจะเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จำนวน 59 ราย ซึ่งผลจากการคัดแยกอย่างเป็นทางการ โดยทีมสหวิชาชีพไม่พบว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ |
3. การคุ้มครอง |
นำหลักการคุ้มครองช่วยเหลือที่คำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจมาใช้ในการปฏิบัติงานภายใต้แนวทางขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติโดยมุ่งเน้นให้ผู้ปฏิบัติงานให้ความสำคัญกับการคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจของผู้เสียหายเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะในช่วงคัดแยกบุคคลที่มีระยะเวลาของการฟื้นฟูและไตร่ตรอง 15 วัน เพื่อให้ผู้ซึ่งอาจเป็นผู้เสียหายได้รับการปฏิบัติและการบริการที่เหมาะสมจนกว่าจะพร้อมให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ต่อไป |
4. การให้อิสระ |
พัฒนาแนวทางการให้อิสระแก่ผู้เสียหาย โดยกำหนดแนวทางในการเดินทางเข้า-ออกสถานคุ้มครองและการเข้าถึงเครื่องมือสื่อสารสำหรับผู้เสียหายกลุ่มผู้ใหญ่ทุกราย เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้เสียหายได้มีทางเลือกในการรับการคุ้มครองอย่างปลอดภัย โดยมีการดำเนินงานสำคัญ เช่น การให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับสถานะผู้เสียหายต่างชาติเพื่อเตรียมความพร้อมในการเดินทางออกนอกสถานคุ้มครอง สำหรับผู้เสียหายที่เข้าเมืองผิดกฎหมายในสถานคุ้มครองของรัฐและเอกชนให้ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรชั่วคราวเพื่อทำงานหรือกิจกรรมอื่น ๆ จำนวน 79 คน จำแนกเป็นสถานคุ้มครองของรัฐ จำนวน 72 คน และสถานคุ้มครองเอกชน จำนวน 7 คน และการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างหน่วยงานภาคประชาสังคม ประเทศสิงคโปร์และสถานคุ้มครองไทยเพื่อกำหนดแนวทางให้อิสระแก่ผู้เสียหายที่เหมาะสมกับประเทศไทย |
5. การมีส่วนร่วม |
ร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเป็นทางเลือกในการทำงานสำหรับผู้เสียหายกลุ่มผู้ใหญ่ที่พร้อมออกนอกระบบการคุ้มครอง โดยได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างงานผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์กับภาคเอกชนในเดือนธันวาคม 2565 เพื่อรับผู้เสียหายกลุ่มผู้ใหญ่จากการค้ามนุษย์ออกไปทำงาน โดยเริ่มนำร่องในสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จังหวัดปทุมธานี |
ด้านการป้องกัน |
|
1. การป้องกันการค้ามนุษย์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน |
ตรวจสถานประกอบการกลุ่มเสี่ยง จำนวน 941 แห่ง แรงงาน 30,597 คน (จากสถานประกอบการทั้งหมด 30,453 แห่ง แรงงาน 754,942 คน) พบการกระทำความผิด จำนวน 857 แห่ง ลูกจ้าง 27,989 คน ส่วนใหญ่เป็นความผิดฐานจ่ายค่าจ้างไม่ตรงกำหนด ทั้งนี้ ไม่พบการกระทำความผิดฐานใช้แรงงานเด็กหรือการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ |
2. การป้องกันการค้ามนุษย์ |
เฝ้าระวังและป้องกันผู้มีพฤติกรรมจะลักลอบไปทำงานต่างประเทศ ณ ด่านตรวจคนหางานทั่วประเทศ จำนวน 71,270 คน ระงับการเดินทาง จำนวน 383 คน และตรวจบริษัทจัดหางานให้คนไทยเพื่อไปทำงานต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตจาก รง. จำนวน 132 แห่ง โดยไม่พบการกระทำความผิด |
3. การป้องกันการค้ามนุษย์ |
ตรวจเรือประมง ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) จำนวน 12,810 ลำ พบการกระทำความผิด จำนวน 63 ลำ ส่วนใหญ่เป็นความผิดเกี่ยวกับการไม่จัดเวลาพักระหว่างการทำงาน ไม่มีเอกสารการจ่ายค่าจ้างและไม่มีเอกสารสัญญาจ้าง |
4. การพัฒนากลไก |
ออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2565 เพื่อกำหนดให้นายจ้างจัดทำสัญญาจ้างและจัดทำเอกสารการจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุดเป็นภาษาไทยและภาษาที่ลูกจ้างเข้าใจ และจ่ายค่าจ้างผ่านบัญชีธนาคารเท่านั้น รวมทั้งต้องจัดอาหารและน้ำดื่มที่ถูกสุขลักษณะและเพียงพอต่อการใช้ชีวิตบนเรือประมง |
5. ความร่วมมือ |
ส่งเสริมการนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices: GLP) ไปใช้ในสถานประกอบการ โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วมและได้รับการส่งเสริม จำนวน 42,016 แห่ง และลูกจ้าง จำนวน 2.3 ล้านคน เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไม่ให้ตกเป็นผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ |
- แผนการดำเนินงานในระยะต่อไป
ด้าน |
แผนการดำเนินงาน |
1. ด้านการดำเนินคดี |
- เพิ่มความรวดเร็วและความถูกต้องในการสนับสนุนข้อมูลจากส่วนกลางให้กับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่ |
2. ด้านการคุ้มครอง |
- อบรมให้ความรู้สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่คำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจของผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่สถานคุ้มครองของรัฐและเอกชน รวมถึงผู้ปฏิบัติงานในการสัมภาษณ์ คัดกรอง คัดแยก |
3. ด้านการป้องกัน |
- ปรับปรุงมาตรฐานการปฏิบัติงานการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเพื่อแสวงหาข้อบ่งชี้สำหรับบุคคลที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการแสวงหาผลประโยชน์ด้านแรงงาน แรงงานบังคับหรือการค้ามนุษย์ด้านแรงงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ