จับตาการเลือกตั้งที่ชายแดนภาคใต้ภายกฎหมายพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) Shukur2003@yahoo.co.uk 16 เม.ย. 2566 | อ่านแล้ว 2673 ครั้ง


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

จากการสำรวจจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ปี 66ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ (จ.ปัตตานี, จ.ยะลา, จ.นราธิวาส, 4 อำเภอ จ.สงขลา) มีจำนวนรวม 1,694,343 คนแต่จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายใหม่รวม 194,633 ฅน มีสส.จำนวน 15 ฅนได้แก่ จ.ปัตตานี 5 ฅน จ.ยะลา 3 ฅน จ.นราธิวาส 5 ฅนและ 4 อำเภอ จ.สงขลา เขต7, เขต8 2 ฅน (ข้อมูล : สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองข้อมูลแยกตามจำนวนประชากรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เดือนกุมภาพันธ์ 2566)

อย่างไรก็แล้วแต่บรรยายกาศการหาเสียงเลือกตั้งที่ชายแดนภาคใต้อาจไม่ปกติเหมือนที่อื่นๆเพราะต้องภายใต้กฎหมาย(ความมั่นคง)พิเศษถึง 3 ฉบับ ซึ่งไม่สอดคล้องการเปิดพื้นที่ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังอาจส่งผลต่อการเลือกตั้งที่อิสระ เป็นธรรมและตรวจสอบได้

สำหรับกฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับคือ 1. พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กฎอัยการศึก พ.ศ.2547 ซึ่งประกาศในอำเภอและจังหวัดชายแดนอยู่แต่เดิมแล้ว 2. พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศตั้งแต่เดือน ก.ค.2548 ในพื้นที่ จังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี ปัจจุบันประกอบด้วย 33 อำเภอ ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯไปแล้ว 9 อำเภอ รวม อ.ยะหริ่ง คงเหลือพื้นที่บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อเนื่องรวม 24 อำเภอ เผยขยายเวลามาแล้ว 68 ครั้ง ตลอด 17 ปี (อ้างอิงวันที่ 2 มิ.ย.65)
3. พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 บังคับใช้ในพื้นที่ อ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย และ อ.นาทวี ของ จังหวัดสงขลา รวมทั้งอ.แม่ลาน จ.ปัตตานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อําเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และ อ.สุคิริน จังหวัดนราธิวาส

“กฎหมายพิเศษ” ที่ว่านี้หมายถึงกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ “เป็นพิเศษ” ในการตรวจค้น จับกุม คุมขัง สอบสวน และตรวจสอบหาหลักฐานนอกเหนือจากที่ให้ไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ทั้งนี้เพื่อแก้ไข ควบคุม หรือยุติปัญหาหรือการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ (ซึ่งโดยนัยยะที่ถูกต้องย่อมหมายถึงความมั่นคงของประชาชน)

ตีความว่าพรรคการเมือง นักการเมืองนำเสนอ

นโยบายกระทบความมั่นคง

ที่ผ่านมา “กฎหมายพิเศษ” ปฏิเสธไม่ได้ว่า “แนวปฏิบัติ” ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางส่วนไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย และละเมิดสิทธิของประชาชน จนเกิดปัญหาบานปลายประเภท “น้ำผึ้งหยดเดียว” หลายกรณีได้?

มีการออกมากล่าวหาผู้สมัคร และพรรคการเมืองบางพรรคที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐในอดีตโดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ ประชาสังคมที่ใช้ช่องทางการเมืองลงเลือกตั้งนำเสนอนโยบายกระทบความมั่นคง เช่นนโยบายพาทหารกลับบ้าน ยกเลิกกฎหมายพิเศษ ยกเลิก กอ.รมน. ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจโพลทางวิชาการ Projek Sama Sama ผู้ช่วยผู้สมัครสส.พรรคเป็นธรรมท่านหนึ่งเปิดเผยว่า “มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงท่านหนึ่งไปขอข้อมูลผู้สมัครพรรคเป็นธรรมจากกกต.แต่กกต.ไม่ให้”ซึ่งภาคประชาชน นักวิชาการและสื่อที่ชายแดนใต้ทราบดีว่า “พรรคเป็นธรรมและก้าวไกลถูกจับตามองพิเศษจากหน่วยความมั่นคง”

ดังนั้นขอเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะรัฐบาลรักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมดูแลความมั่นคงให้วางตัวเป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัด ไม่ใช้อำนาจที่มีตามกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายพิเศษคุกคามแต่กลับไปเอื้อประโยชน์ให้ผู้สมัครรับการเลือกตั้งไม่ว่าพรรคการเมืองใด

ผลสำรวจโพล Projek Sama Sama

Projek Sama Sama และองค์กรร่วม ได้แก่ We Watch, THE LOOKER, WARTANI และ THE MOTIVE เผยแพร่ผลสำรวจแบบสอบถามออนไลน์ ในประเด็นคำถามเกี่ยวกับต้นแบบผู้แทนราษฎร ที่คนชายแดนใต้ อยากเลือกให้เข้าไปทำงานในสภาฯ และคำถามอยากให้รัฐบาลใหม่ แก้ปัญหาเรื่องอะไรที่เร่งด่วน ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28 ธ.ค. 2565 - 3 ม.ค. 2566

คำถามเป็นความคิดเห็น ท่านอยากได้ ส.ส. แบบใด เพื่อเข้าไปทำงานแทนในสภาฯ ในการเลือกตั้งปี 2566 พบว่า การแสดงความคิดเห็น โดยรวมแล้ว มี 7 คุณลักษณะ ได้แก่

- รับฟังเสียงประชาชน ทำเพื่อประชาชน
- มีความจริงใจ ซื่อสัตย์ รับผิดรับชอบ มีอามานะห์
- เป็นคนกล้า เก่ง
- เข้าใจในหลักการศาสนาอิสลาม
- มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนา
- เป็นคนรุ่นใหม่
- มีความเป็นประชาธิปไตย

สำหรับประเด็นปัญหา ที่ประชาชนชายแดนใต้ อยากให้รัฐบาลใหม่แก้ไขโดยเร่งด่วน สรุปได้ 8 ประเด็นปัญหา ได้แก่
1. เศรษฐกิจ ปากท้อง
2. กฎหมายพิเศษ และสิทธิมนุษยชน
3. การศึกษา
4. การกระจายอำนาจ
5. กระบวนการสันติภาพ
6. ยาเสพติด
7. ยกเลิก กอ.รมน. และ ศอ.บต.
8. คอรัปชั่น

ในขณะที่ประชาชนชายแดนใต้อยากให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) เป็นนายกรัฐมนตรี อันดับ 1 ร้อยละ 46.1 อันดับ 2 เห็นว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เป็นนายกฯ ด้วยผลร้อยละ 21 อันดับ 3 น.ส. แพทองธาร ชินวัตร (หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย) ร้อยละ 14

ส่วนพลเอกประยุทธ์ (0.5%)รั้งท้าย สอดคล้องกับพรรคการเมืองอันดับ 1 ร้อยละ 62.3 ระบุว่าจะเลือกพรรคประชาชาติ อันดับ 2 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 15.9 อันดับ 3 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 10.9 อันดับ 4 ไม่สนับสนุนพรรคใด ร้อยละ 6.5 อันดับ 5 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 1.9 อันดับ 6 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 1.2 อันดับ 7 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 0.7 อันดับ 8 พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 0.2 อันดับ 9 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 0.2

จุดยืนความมั่นคงในการหาเสียงเลือกตั้ง

พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้ออกมาย้ำหลังมีนักวิชาการและสื่อตั้งข้อสังเกตการวางตัวของหน่วยความมั่นคงในพื้นที่ ว่า

"กองทัพไม่ได้ปิดกั้นพรรคการเมือง เข้ามาหาเสียงในค่ายทหาร เพียงแต่ขอให้นัดวันเวลา เข้ามาพร้อมกัน เพื่อทุกพรรคจะได้รับสิทธิ์เท่าเทียม และไม่เป็นการเอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง"

ในขณะที่เมื่อนโยบายของบางพรรคที่เสนอยกเลิกกฎหมายพิเศษที่ใช้มาในพื้นที่เกือบ 20 ปีโดยเฉพาะกฎอัยการศึกที่เป็นกฎหมายในปี

พลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ก็ออกมาปกป้องกฎหมายพิเศษโดยอ้างว่า

"...หากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ยุติการใช้ความรุนแรง กฎหมายพิเศษก็จะหมดความจำเป็น และถูกยกเลิกไปในที่สุด..."

สางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ นักสิมธิมนุษยชนในพื้นที่ให้ทัศนะต่อเรื่องว่า “เหมือนไก่กับไข่อะไรจะเกิดก่อนกัน ถ้าสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนั้นไม่มา กฎหมายที่ละเมิดสิทธิประชาชนแต่ทหารอ้างการกระทำของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง แสดงว่าประชาชนเป็นตัวประกันไม่ใช่การใช้กฎหมายเพื่อปกป้อง”

นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม สะท้อนว่า "นโยบายพาทหารกลับบ้าน โครงการนี้ของพรรคเป็นธรรมเราเสนอตามที่ท่าน พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์รองแม่ทัพภาคที่ 4 เสนอไว้ในวันแถลงข่าว 24 ก.พ.66 ร่วมกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขท่านบอกเองนะครับว่าพี่ๆที่ฟังอยู่ช่วยทำโครงการพาทหารกลับบ้านหน่อยครับ วันนั้น ผม นล-กัณวีร์ สืบแสงและพี่น้องๆ ภาคประชาสังคมไปฟังกันหลายคนเลยครับเราจึงคิดว่าตรงกับนโยบายของเราในการสร้างสันติภาพกินได้และจังหวัดจัดการตนเอง ให้มนุษยธรรมนำการเมือง ยกเลิกกฏหมายพิเศษแค่นี้ล่ะครับ พี่น้องทหารก็จะได้กลับบ้านแล้ว" (สามารถชมคลิปย้อนหลังดูได้ใน https://fb.watch/jPdnv3g1pw/?mibextid=uat9xN)

นอกจากนี้บางพรรคนำเสนอนโยบายมลายูนิยม ในเรื่องอัตลักษณ์เชื้อชาติและภาษาเป็น Soft Power และมีข่าวดังทางสื่อที่เด็ก คนในพื้นที่แต่งชุดมลายู ทำกิจกรรมเดินรณรงค์ ด้วยการชูหนึ่งนิ้วกลับถูกมองว่ากระทบความมั่นคง จนพลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ ต้องออกมาแก้ข่าวและกล่าวว่า “บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ระบุว่ารัฐต้องดูแลพี่น้องประชาชน ทุกเชื้อชาติ ศาสนา อย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะการแสดงออกทางอัตลักษณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่สวยงาม โดยรัฐจะไม่เข้ามาขัดขวางและแทรกแซงอย่างแน่นอน”

อาสาสมัครจับตาการเลือกตั้ง คืออีกทางออก

ภารกิจ “จับตา” ตรวจสอบว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างถูกต้องโปร่งใส่หรือไม่ หรือมีการทุจริต มีการใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อ “โกง” การเลือกตั้งหรือไม่ เป็นภารกิจสำคัญ ที่ต้องอาศัยพลังจากประชาชนที่อยู่ทุกที่ทุกหนแห่งช่วยกันจับตาตรวจสอบ อาจจะผ่านเครือข่ายภาคประชาชนกับวิชาการเช่นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ฟาฏอนีหรือร่วมกับส่วนกลางเช่น iLaw โดย iLaw ได้เสนอดังนี้

จับตาการทุจริต

การทุจริตหรือการโกงในระดับในพื้นที่ด้วยเทคนิควิธีที่ทำกันมานาน เช่น การซื้อเสียง การข่มขู่หลอกลวง การใช้อิทธิพลเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนไปทางใดทางหนึ่ง เป็นเงื่อนไขที่อาจเปลี่ยนแปลงผลแพ้-ชนะ ในแต่ละเขตเลือกตั้งได้ และหากเกิดขึ้นมากๆ ก็อาจเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งในภาพรวมได้ หากประชาชนที่ประสบเหตุเองหรือพบเห็นนิ่งเฉยก็ยากที่คนกระทำความผิดจะถูกลงโทษได้ และพฤติกรรมเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ในระบบการเมืองไทย

ซึ่งผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดมีภาระหน้าที่มากพอสมควรที่จะต้องเป็นคนเก็บรวบรวมพยานหลักฐานให้เป็นระบบ และกล้าออกตัวรายงานข้อมูลเหล่านี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งสามารถรายงานไปที่ กกต. โดยตรง หรือสามารถรายงานไปยังเว็บไซต์ electionwatchthailand.org หรือรายงานผ่านมาทาง iLaw ให้ช่วยกันกลั่นกรองข้อมูลก่อนได้

ในการเลือกตั้งปี 2566 ทางกกต. เองก็ออกระเบียบมาเพื่อชักจูงใจให้ประชาชนที่พบเห็นกล้ารายงานเปิดโปงการทุจริตมากขึ้น โดยมีระเบียบสำหรับการคุ้มครองพยานที่กล้าชี้เบาะแส เช่น การจัดหาเซฟเฮ้าส์ให้ หรือหางานให้ทำ หาสถานที่เรียนต่อให้ และยังมีระเบียบที่จะจ่ายรางวัลเป็นเงินสำหรับผู้กล้าชี้เบาะแสสำคัญได้ด้วย

จับตาการนับคะแนน

เรามีบทเรียนมามากจากการเลือกตั้งในปี 2562 ที่กระบวนการนับคะแนน และรวมคะแนนหน้าหน่วยเลือกตั้งมีปัญหา พบข้อผิดพลาดจำนวนมาก และผลรวมคะแนนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ส่วนกลางรายงานต่อสาธารณะก็ล่าช้าและเต็มไปด้วยข้อผิดพลาด โดยมี “คนกลาง” เข้าไปจัดการแก้ไขคะแนนที่รายงานสดจากหน้าหน่วยเลือกตั้งได้ก่อนการประกาศต่อสาธารณะ และในการเลือกตั้งปี 2566 กกต.ก็ไม่มีความชัดเจนในวิธีการรายงานผลคะแนนสดเพื่อแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ประชาชนไม่อาจไว้ใจผลคะแนนที่ กกต. รวบรวมและรายงานแต่เพียงลำพังได้ ซึ่งประชาชนสามารถร่วมกันลงมือแก้ไขปัญหานี้ได้ โดยอาศัยเว็บไซต์ vote62.com เป็นสื่อกลาง ทุกคนสามารถเข้าไปสมัครเป็นอาสาสมัครจับตาการนับคะแนน และเลือกจุดที่จะไปจับตาได้ หากมีประชาชนเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครมากกว่า 100,000 คนขึ้นไป และครอบคลุมหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด ประชาชนก็จะช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องของการนับคะแนนได้ทั้งประเทศ และถ่ายภาพผลการนับคะแนนมารวมกัน เพื่อรายงานคะแนนกันเอง โดยไม่ต้องรอผลจากกกต.

ขณะเดียวกัน ขอให้ กกต. จัดการเลือกตั้งด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม และตรวจสอบได้ โดยสนับสนุนให้ทุกภาค ส่วนของสังคมมีส่วนร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งและตรวจสอบการเลือกตั้งได้อย่างเต็มที่ โดยการเปิดโอกาสและสนับสนุนให้มีอาสาสมัครภาคประชาชนรายงานผลการลงคะแนนแต่ละคูหาคู่ขนานไปกับการรายงานผลของ กกต. ที่ตรงไปตรงมาและตรงกัน

ทั้งนี้ กกต. ต้องรีบรับรองผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการโดยเร็วหลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้น เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนโดยเร็วที่สุดเพื่อผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองและประชาชน เพราะการชะลอเวลาออกไปจนนานมากไปอาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองเสียงข้างน้อยแต่มีอำนาจในรัฐบาลรักษาการใช้อำนาจต่อรองพรรคการเมืองต่างๆ ให้มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลโดยใช้ ส.ว.เป็นฐานต่อรองอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี เหมือนการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2562

ท้ายขอเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้สมัครรับการเลือกตั้ง ให้ทุกพรรคการเมืองรณรงค์หาเสียงอย่างสร้างสรรค์ ไม่สร้างความขัดแย้งเพื่อส่งเสริมความรุนแรงหรือสร้างความเกลียดชัง และควรมีนโยบายการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ตามที่ผลสำรวจทางวิชาการโดยเฉพาะการกระจายอำนาจทางการเมืองและงบประมาณเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นภายใต้ระบอบประชาธิปไตยมิใช่รัฐซ้อนรัฐ

เพื่อให้สังคมเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาไทยสามารถเป็นทางออกจากความขัดแย้งได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: