โรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มอบอิสระทางความคิดและวิธีการ กุญแจสำคัญการเรียนรู้ของเยาวชนไทยสู่อนาคต

กองบรรณาธิการ TCIJ 16 ม.ค. 2566 | อ่านแล้ว 8660 ครั้ง

โรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มอบอิสระทางความคิดและวิธีการ กุญแจสำคัญการเรียนรู้ของเยาวชนไทยสู่อนาคต

โรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ทางโครงการโรงเรียนดีมีทุกที่ จัดทำโดยมูลนิธิเอเชียและพันธมิตร มอบอิสระทางความคิดและวิธีการ กุญแจสำคัญการเรียนรู้ของเยาวชนไทยสู่อนาคต

16 ม.ค. 2566 ในปัจจุบันประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาปี 2562 โดยมีจุดเป้าหมายเพื่อมุ่งปฏิรูปการศึกษาโดยการกระจายอำนาจ เพิ่มความอิสระ, การคล่องตัว และประสิทธิภาพการบริหารให้กับโรงเรียนในพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งล่าสุดได้มีการประกาศพื้นที่รวมทั้งหมดเป็น 19 จังหวัด ประกอบด้วยสตูล, ระยอง, เชียงใหม่, กาญจนบุรี, ศรีสะเกษ, นรานิวาส, ปัตตานี, ยะลา และสุโขทัย, แม่ฮ่องสอน, กระบี่, ตราด, สระแก้ว, กรุงเทพมหานคร, จันทบุรี, ภูเก็ต, สงขลา, สุราษฎร์ธานี, อุบลราชธานี และหนึ่งในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ทางโครงการโรงเรียนดีมีทุกที่ จัดทำโดยมูลนิธิเอเชีย และเหล่าพันธมิตร จะขอนำเสนอในครั้งนี้ก็คือ รร.วัดถนนกะเพรา อ.แกลง จ.ระยอง พวกเขามีวิธีบริหารจัดการอย่างไร เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก

ดร.รัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส มูลนิธิเอเชีย หัวหน้าจัดทำโครงการฯ ได้กล่าวว่า “รร.วัดถนนกะเพรา เป็นตัวอย่างที่ดีของโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่ได้นำความอิสระในการสร้างหลักสูตรมาเปิดโอกาสให้ตัวเอง จนได้หลักสูตรที่ทำให้นักเรียนสนใจมากมาย มีการผสมผสานระหว่างโลกาภิวัฒน์กับภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษานั้น ได้เปิดโอกาสให้โรงเรียนได้คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ให้กับนักเรียน มีการปลอดล็อคข้อจำกัดต่างๆ ในด้านการศึกษา อาทิ เรื่องกฎระเบียบ ทรัพยากร การบริหาร และงานบุคคล ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้บริหารพัฒนาโรงเรียนอย่างอิสระไปสู่สากลมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามหัวใจหลักก็ยังคงเป็นการศึกษาที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่านักเรียนมีการใช้ 1)หลักสูตรสมรรถนะ คือทักษะที่นักเรียนควรจะได้จากการเรียนรู้ 2)นวัตกรรม คือการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การค้นพบ ค้นหา ค้นหว้า รวมถึงฝักใฝ่ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และ 3)บูรณาการ คือการนำสิ่งต่างๆ มาประยุกต์เข้าด้วยกันให้เป็นหนึ่งเดียว การที่โรงเรียนมีถึง 6 หลักสูตรเพื่อนักเรียน 6 ชั้นปี ได้ทำให้เกิดนวัตกรน้อย ไม่เกิดความเบื่อหน่าย มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในชุมชน และไม่ดูถูกอาชีพของผู้ปกครอง รวมถึงอาจจะค้นคว้าหาสิ่งใหม่ หรือแก้ไขปัญหาในการประกอบอาชีพของครอบครัวได้ ซึ่งเป็นหลักการที่โรงเรียนอื่นๆ ในประเทศไทย ควรจะนำมาปรับใช้ในการบริหาร หรือเป็นหลักสูตรในการจัดการเรียนการสอน”

ด้าน นายธงชัย มั่นคง ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วน จ.ระยอง ได้เปิดเผยว่า “ตามแผนยุทธศาสตร์ และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดให้พื้นที่ได้สร้างกรอบหลักสูตรของ จ.ระยอง หรือที่เรียกว่า Rayong Marco ขึ้นมา โดยเน้นความต้องการหรือการพัฒนาใน 5 ด้านคือ 1)การผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมือง 2)รู้รากเหง้าในบรรพชน ว่ามีที่มาที่ไปและสำคัญอย่างไร 3)เรียนรู้เข้าใจในทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ และการใช้ให้เกิดประโยชน์ 4)การจัดการถิ่นฐานให้น่าอยู่ และ 5)เรียนรู้เรื่องอาชีพ การทำงานสร้างรายได้ โดยกรอบหลักสูตรฯ ดังกล่าวทางองค์การบริหารส่วน จ.ระยอง ได้นำไปผูกกับ 10 สมรรถนะของสภาการศึกษาที่ได้ทำการวิจัยเอาไว้ โดยได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการศึกษาธิการ จ.ระยอง การเรียนจะอยู่ในเนื้อหา 5 ด้าน สิ่งที่นักเรียนจะได้รับคือเรื่องสมรรถนะ ซึ่งเป็นการเรียนที่ให้เด็กทำได้ตามแบบ และทำเป็นคือสามารถประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง ต่อมาเมื่อมี พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทาง จ.ระยอง จึงได้ขอเข้าร่วม ซึ่งทำให้เกิดความอิสระในการทำงาน กระบวนการจัดการเรียนรู้จึงเปลี่ยนไปจากเดิมที่ใช้วิชาหรือตำรา เป็นการใช้ชีวิตของเด็กหรือบริบทในชุมชนเป็นตัวตั้ง ที่องค์ความรู้ก็จะแทรกเข้ามา รวมถึงการเปิดโอกาสให้โรงเรียนได้จัดซื้อสื่อตำราเรียนที่ตรงกับความต้องการของตัวเองได้”

น.ส.ปวีณา พุ่มพวง ผู้อำนวยการ รร.วัดถนนกะเพรา จ.ระยอง ได้เผยว่า “รร.มีจุดเน้นในการจัดการศึกษาว่าโรงเรียนสร้างสรรค์ นวัตกรน้อยสู่สากล มุ่งหวังจะให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ รู้จัดต่อยอดอาชีพในชุมชน โดยผ่านกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการในห้องเรียน และผ่านทางอาชีพของผู้ปกครอง ซึ่งในเรื่องอาชีพนี้เป็นหนึ่งในทักษะที่ทาง สพฐ.ได้สนับสนุน นอกเหนือจากทักษะวิชาการและทักษะชีวิต และแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชนของเราก็มีมากมาย เลยได้นำจุดนี้มาใช้ประโยชน์ในเรื่องการเรียนการสอน โดยได้เชื่อมโยงต่อในทุกวิชาเข้าไปด้วยกัน จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์เล็กๆ ที่อาจไม่เหมือนกับในชุมชน ถือเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา เท่าที่ทำได้ในระดับวัยของเขา ซึ่งทักษะแบบนี้เมื่อโตขึ้นจะเรียกว่าสมรรถนะของผู้ประกอบการ หรือนวัตกรน้อย ที่จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหา หรือต่อยอดการดำเนินชีวิตในอนาคตได้”

โดยโครงการโรงเรียนดีมีทุกที่ จัดขึ้นโดยมูลนิธิเอเชีย ภายใต้การสนับสนุนของสถานทูตออสเตรเลีย, มูลนิธิอานันทมหิดล และความร่วมมือจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท., สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้น ฐาน(สพฐ.) และกรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดพลังบวกในสังคม และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook : โรงเรียนดีมีทุกที่ หรือเข้าชมจาก Youtube รายการหนึ่งในพระราชดำริ ตอนโรงเรียนดีมีทุกที่ พื้นที่นวัตกรรม เพาะพันธุ์ปัญญา ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 Mcot HD หรือสอบถามที่โทรศัพท์ 062-7341267

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: