หวั่นเปิด FTA เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทะลักแน่

กองบรรณาธิการ TCIJ 16 ธ.ค. 2566 | อ่านแล้ว 2969 ครั้ง

หวั่นเปิด FTA เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทะลักแน่

เวทีวิชาการสาธารณะ “ผลกระทบและข้อเสนอนโยบายในการเจรจา FTA ในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์” หวั่นเปิด FTA เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทะลักแน่ เพิ่มนักดื่ม ไร้มาตราการดูแล ท้วงรัฐ ชั่งน้ำหนักให้ดี

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2566 มีการจัดเวทีวิชาการสาธารณะ “ผลกระทบและข้อเสนอนโยบายในการเจรจา FTA ในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์” สืบเนื่องมาจากที่มีรัฐบาลชุดใหม่มาเกือบ 4 เดือน หัวข้อเด่นๆ ที่หยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญๆในทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล คือนโยบายเร่งเครื่องเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านการท่องเที่ยว เพิ่มกำลังส่งออก ส่วนนโยบายการค้าต่างประเทศคงหนีไม่พ้นเรื่อง การเร่งเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี กระแสการเร่งรัดผลักดันจากภาคธุรกิจเอกชน สุ่มเสียงดังชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ อันนี้เป็นกระแสกดดันเกิดขึ้นในทุกรัฐบาลมาโดยตลอด แต่ก็ชวนมามองข้อมูลในภาคประชาสังคมที่จับตาเรื่องนี้ คือ BIOTHAI และ FTA WATCH ที่เป็นหัวหอกมายาวนาน ตอนนี้กำลังโฟกัสในประเด็น ผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า นโยบาย FTA จะส่งผลต่อการผลิตและมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากน้อยแค่ไหน

ในเวทีสาธารณะได้ให้ข้อมูลว่าปี 2565 มูลค่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของโลกมีมูลค่า 1.49 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นเบียร์ 37% ไวน์ 23% Hard seltzer/Sparkling alcohol 12% และสุรากลั่น 10% มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในไทย การตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์เติบโตสูง เนื่องจากการเร่งเครื่องเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว ช่องทางการจำหน่ายหลากหลายขึ้น กลุ่มลูกค้าชายหญิงที่กำลังขยายตัว และไทยคือตลาดที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน หากไทยเข้าร่วม FTA-EU ที่กำลังเจรจากันอยู่นี้ คาดว่าจะมีมูลค่าการนำเข้าสูงแบบก้าวกระโดด จะขยายไปสู่ฐานลูกค้านักดื่มทั้งเก่าและใหม่“สิ่งที่จะพบแน่ๆคือคนไทยจะได้รับสื่อ โฆษณาแอลกอฮอล์จากบริษัทข้ามชาติมากขึ้น หากไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศมากำกับดูแลนักดื่มหน้าใหม่จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน ประสบการณ์เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วในเวียดนาม คือ CPTPP และ FTA กับ EU อิทธิพลของบริษัทเบียร์ระดับโลกเข้ามากดดันรัฐบาลที่ออกกฎหมายควบคุมโฆษณา” ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ จากสำนักงานนโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) นำเสนอผลการศึกษา

นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช กรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า การควบคุมการโฆษณาและการขายออนไลน์สามารถควบคุมได้ยาก และก่อนเข้าร่วมรัฐต้องศึกษาว่าได้รับผลประโยชน์จาก FTA มากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับผลกระทบที่จะตามมาจากเรื่องนั้น และรัฐตั้งกลไกที่จะควบคุมดูแลเรื่องนี้อย่างไรในระยะยาว รัฐต้องดูสมดุลในประเด็นนี้

ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ให้ความเห็นเพิ่มว่า การจำกัดการโฆษณา การจำกัดการเข้าถึง และมาตรการด้านราคา โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ว่า ยิ่งได้รับโฆษณามากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสทางการดื่มจะยิ่งเพิ่มขึ้น ยิ่งประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้นเท่าไหร่โอกาสและปริมาณการดื่มจะยิ่งเพิ่มขึ้น

ในเวทีเราได้ฟังความเห็นจาก ธนากร ท้วมเสงี่ยม ผู้ร่วมก่อตั้งประชาชนเบียร์ กล่าวว่า รัฐต้องออกกฎหมายที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม เพิ่มความหลากหลายให้ผู้บริโภค และมองว่าการโฆษณาต้องมีการควบคุม แต่ต้องไม่คุกคามสิทธิในการแสดงความเห็นของประชาชน และเพิ่มเติมประเด็นเรื่องของภาษีมองว่าในประเทศไทยมีภาษีที่สูงเกินไป ผู้ผลิตรายย่อยไม่สามารถแบกรับได้ ทำให้เข้าโอกาสการแข่งขันในตลาดลงลด (เบียร์) และหลายชุมชนในประเทศมีศักยภาพในการผลิตสุราจากผลผลิตในชุมชน หากรัฐมีการส่งเสริมการผลิต การตลาด ก็จะทำให้เศรษฐกิจระดับชุมชนดีขึ้น

ผศ.ดร.อริศรา ร่มเย็น เณรานนท์ จากคณะเศรษศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำเสนอผลการศึกษาที่เจาะจงในเรื่องภาษี “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นสินค้านำเข้าจะมีราคาแพงกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ กลไกลภาษีคือแหล่งรายได้ของภาครัฐและศุลกากร ภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลใช้ปกป้องผู้ผลิตในประเทศ รวมถึงใช้ป้องกันสินค้าบางประเภท หากเข้าร่วมข้อตกลง FTA การแข่งขันจะเต็มศักยภาพมากขึ้น ภาษีการนำเข้าจะต่ำลง ราคาเครื่องดื่มนำเข้าประเภทเบียร์จะลดลง 19% ไวน์ 23% และสุรา 24% และจะเกิดการทดแทนกันทันที”

อาคม อ่วมสำอางค์ จากกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ภาษีสรรพสามิตเป็นภาษีภายใน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพยายามออกแบบการจัดเก็บให้กระทบต่อเรื่องนี้น้อยที่สุด ปัจจุบันการเก็บภาษีจากราคาสินค้าและดีกรีแอลกอฮอล์ จุดนี้ทำให้การภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภาษีสรรพสามิตมีผลกระทบต่อการเปิด FTA ค่อนข้างน้อย

ข้อห่วงกังวลจากนักวิชาการที่ร่วมนำเสนอเนื้อหาด้วย คือ ผลกระทบจากกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนและรัฐ (ISDS) “เมื่อเกิดการลงทุนระหว่างประเทศ โดยหลักนักลงทุนจะได้รับการคุ้มครองการลงทุน โดยมีกฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศเป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งหลักการนี้อาจอยู่ใน FTA หรือแยกมาต่างหากก็ได้ ตัวอย่างข้อพิพาทกรณีคดีบุหรี่ Philip Morris กับรัฐบาลอุรุกวัย ที่รัฐถูกฟ้องร้องจากการออกมาตราการเรื่องฉลากสินค้าบุหรี่ ทำให้ผู้ซื้อเข้าถึงสินค้าบุหรี่ของบริษัทลดลง” ผศ.ดร.อำนาจ ตั้งคีรีพิมาน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกตัวอย่าง

ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นำเสนอผลการศึกษา “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คือชื่อสถานที่ที่มีความเชื่อมโยงระหว่างคุณภาพสินค้าและแหล่งกำเนิดสินค้า เริ่มต้นโดยฝรั่งเศสสร้างกฎหมายนี้มาเพื่อป้องกันไวน์ในประเทศไม่ให้มีสินค้าเลียนแบบ กฎหมายนี้มักเกิดขึ้นในประเทศที่มีประวัติการผลิตสินค้ามายาวนาน และกฎหมายนี้ก่อให้เกิดการผูกขาด ที่ส่งผลให้สินค้าราคาสูงขึ้น มีปริมาณจำกัด และตัดโอกาสการแข่งขันของสินค้านอกพื้นที่ แต่ในอีกมุมจะช่วยส่งเสริมสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ชนบทที่มีข้อจำกัดให้เติบโตขึ้น”

ตัวแทนจากหน่วยงานที่รับผิดชองเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ คือ คุณจิรัตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักยุโรป กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯให้ความสำคัญกับการหารือทุกภาคส่วน ถึงแม้ความคิดเห็นอาจจะไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่จะพยายามหาจุดสมดุล ซึ่งต้องมองให้ครอบคลุมทุกด้าน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: