สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่าเมื่อเข้าสู่วัยกลางคนหรือเมื่อมีอายุมากขึ้น หลายคนมักพบเจอกับปัญหาเรื่องกระดูกและข้อทำให้มีอาการปวดเข่าได้ โดยสาเหตุของอาการปวดเข่านั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งที่พบได้บ่อย คือ อาการปวดเข่าจากโรคข้อเข่าเสื่อมที่ถือว่าเป็นโรคที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตมาก บทความนี้จึงมาแนะนำยาที่จะช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าจากข้อเสื่อมและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมลงของกระดูกอ่อนผิวข้อ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของรูปร่าง หรือโครงสร้างการทำงานของทั้งกระดูกข้อต่อ และกระดูกบริเวณใกล้ข้อ นอกจากนี้ข้อเข่าอาจเสื่อมได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การบาดเจ็บที่ข้อและเส้นเอ็น การบาดเจ็บเรื้อรังที่บริเวณข้อเข่า การเล่นกีฬา โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคเก๊าต์ รวมถึงการมีน้ำหนักตัวมากเกินไป อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมที่สังเกตได้ง่าย คือ จะมีอาการปวดข้อเข่า มีเสียงลั่นในข้อ หรือรู้สึกเสียดสีเมื่อมีการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะเวลาขึ้นบันไดหรือเดินขึ้นทางชัน หรือมีอาการข้อฝืดหรือยึดติดเมื่อหยุดเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน
แนวทางในการรักษาอาการปวดเข่าจาข้อเสื่อม ประกอบด้วย การรักษาแบบใช้ยาและการรักษาแบบไม่ใช้ยา รายละเอียด ดังนี้
การใช้ยาบรรเทาอาการข้อเสื่อม
สามารถแบ่งรูปแบบของการใช้ยาได้เป็น 2 รูปแบบ คือ
- 1. ยากิน
วัตถุประสงค์ในการใช้ยา คือ เพื่อลดอาการปวดและการอักเสบ
ยาที่ใช้ : ยาพาราเซตามอล หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
ข้อควรระวัง : ในการรับประทานยาควรระมัดระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคตับและไต อีกทั้งควรระวังผลข้างเคียงที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ การใช้ยากลุ่ม NSAIDs ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร
- 2. ยาฉีด
วัตถุประสงค์ในการใช้ยา คือ เพื่อลดอาการปวดและการอักเสบ ใช้ในกรณีข้อเสื่อมรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น
ยาที่ใช้ : ยาสเตียรอยด์ (Steroid)
ข้อควรระวัง : การใช้ยาต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ไม่ควรฉีดประจำเนื่องจากจะไปทำลายกระดูกอ่อนข้อต่อได้
นอกจากที่จะต้องระวังเรื่องจากการใช้ยาแล้วก็ยังต้องระวังพฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันด้วย โดยสามารถปรับพฤติกรรมเพื่อลดอาการจากโรคข้อเสื่อมได้ ดังนี้
- 1. หลีกเลี่ยงการนั่งในลักษณะที่ต้องงอเข่า เช่น การนั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่า หรือนั่งขัดสมาธิ
- 2. ไม่ขึ้น - ลงบันไดโดยไม่จำเป็น
- 3. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
- 4. ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป
- 5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยหลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องกระโดด แต่หันมาออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำ หรือเดินแทน
ข้อมูลอ้างอิง
บุษบา จินดาวิจักษณ์. (2553). ยาแก้ปวดข้อ ใช้รักษาข้อเสื่อม ใช้อย่างไร?. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2565.
โรงพยาบาลรามาธิบดี. (ม.ป.ป.). โรคข้อเข่าเสื่อม. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2565.
มารู้จักกับตัวยา “แคปไซซิน” บรรเทาอาการปวดเมื่อย – รามา แชนแนล (mahidol.ac.th)
โรคข้อเสื่อม (thairheumatology.org)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ