สปสช. แจงสิทธิประโยชน์ “ดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์” กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครอบคลุมบริการ ทั้งการตรวจคัดกรอง-ป้องกัน การให้คำปรึกษา บริการรักษาและให้ยาต้านไวรัส ย้ำผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีสามารถขอรับบริการตามสิทธิประโยชน์ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย. 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า บริการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้เอดส์ เป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งปีงบประมาณ 2549 เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทยในขณะนั้นคาดว่ามีประมาณ 6 แสนคน โดยเป็นผู้ที่ต้องได้รับยาต้านไวรัสประมาณ 50,000 คน ได้เข้าถึงการรักษาและบริการอย่างเท่าเทียม ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเอชไอวีและเอดส์เป็นปัญหาสาธารณสุขที่รุนแรง มีผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ในตอนนั้นรัฐบาลจึงจัดสรรงบประมาณ 2,796.2 ล้านบาท ให้ สปสช. ดำเนินการดูแลโดยแยกจากงบเหมาจ่ายรายหัว
จากการดำเนินงานในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา สปสช. ได้มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ สิทธิบัตรทองอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย และศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เป็นต้น การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครอบคลุมทุกด้านและทุกมิติ ทั้งบริการตรวจหาเชื้อเอชไอวี บริการรักษาพยาบาล และบริการป้องกัน จนสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง
นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับสิทธิประโยชน์การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีหลากหลายบริการที่จำเป็น โดยมีทั้งรายการบริการสำหรับประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทอง และบริการที่ครอบคลุมประชาชนทุกสิทธิ โดยบริการสำหรับประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทอง ประกอบด้วย บริการยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานและสูตรดื้อยา บริการยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาสู่ทารก บริการยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีภายหลังสัมผัสโรคในกรณีสัมผัสเชื้อเอชไอวีจากการทำงานการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี บริการยาต้านไวรัสป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัสที่ไม่ใช่จากการทำงานเฉพาะกรณีเป็นผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ บริการยารักษาภาวะไขมันในเลือดสูงจากการรับประทานยาต้านไวรัส และบริการการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยหรือติดตามการรักษา เป็นไปตามแนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีประเทศไทย ปี พ.ศ. 2560 โดยรวมถึงวัสดุอุปกรณ์ ในการเจาะเลือด และค่าขนส่งเพื่อส่งตัวอย่างตรวจ
ส่วนสิทธิประโยชน์บริการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ ที่ครอบคลุมประชาชนทุกสิทธิ อาทิ 1.บริการให้คำปรึกษาและการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ บริการยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (ยา PrEP) บริการป้องกันการติดเชื้อหลังการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (ยา PEP) บริการให้คำปรึกษาและการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ บริการรักษาและให้คำปรึกษาแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่มารับบริการติดตามการรักษาที่หน่วยบริการ บริการถุงยางอนามัยสำหรับผู้ที่เข้ารับบริการให้คำปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจและกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ที่มารับบริการติดตามการรักษาที่หน่วยบริการ และบริการตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันไวรัสตับอักเสบซีในผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ รวมถึงผู้ที่ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีดที่มารับบริการตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ
นพ.จเด็จ กล่าว จากสิทธิประโยชน์การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ นี้ ที่ผ่านมามีประชาชนเข้ารับบริการอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดข้อมูลในปีงบประมาณ 2566 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง จำนวน 305,527 คน จากเป้าหมายจำนวน 299,420 หรือคิดเป็นร้อยละ 102.04 และดูแลกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับบริการส่งเสริมและป้องกันการติดเชื้อฯ จำนวน 3,372,839 จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3,135,165 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 107.58
“ปัจจุบันแม้ว่าสถานการณ์เอชไอวี/เอดส์จะดีขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต แต่การดูแลให้เกิดการเข้าถึงบริการเอชไอวียังเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากในเรื่องการรักษาและยาต้านไวรัสแล้ว ยังมีบริการตรวจคัดกรอง บริการรับคำปรึกษา บริการยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันทั้งก่อนและหลักการรับเชื้อ ทั้งนี้กรณีผู้ที่ทราบว่าตนเองมีความเสี่ยงก็สามารถเข้ารับบริการได้ภายใต้สิทธิประโยชน์การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ กองทุนบัตรทอง โดยไม่เสียค่าใช่จ่าย นอกจากเป็นการดูแลสุขภาพตนเองแล้ว ยังเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อด้วย” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ