สภาพัฒน์ชี้ 'ผู้สูงอายุไทย' หนี้เสียพุ่ง เฉลี่ย 77,000 บาทต่อบัญชี

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 เม.ย. 2566 | อ่านแล้ว 1714 ครั้ง

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ 'สภาพัฒน์' เผยตัวเลขหนี้สินครัวเรือนข้อมูลล่าสุดถึงไตรมาส 3/2565 หนี้เสียหรือเอ็นพีแอลของสถาบันการเงินทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2.62% ของสินเชื่อรวม ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีเอ็นพีแอลขยายตัวค่อนข้างสูง โดยเป็นหนี้เสียต่อบัญชีเฉลี่ยประมาณ 77,000 บาท

ช่วงเดือน มี.ค. 2566 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ 'สภาพัฒน์' เปิดเผยว่าตัวเลข หนี้สินครัวเรือน ข้อมูลล่าสุดถึงไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ที่ 14.9 ล้านล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ตอนนี้อยู่ที่ 86.8% ปรับตัวลดลงตั้งแต่ไตรมาส 1/2565 ซึ่งอยู่ที่ 89.2%

สำหรับหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลของสถาบันการเงินทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2.62% ของสินเชื่อรวม แต่ว่าสินเชื่อที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) คือที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน เป็นกลุ่มสินเชื่อยานยนต์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาตลอด

หากดูหนี้เสียตามประเภทสินเชื่อจะเห็นว่า หนี้บัตรเครดิต กลุ่มลูกหนี้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี เป็นกลุ่มที่มีเอ็นพีแอลขยายตัวขึ้นมา ขณะที่ช่วงอายุอื่น ๆ ปรับตัวลดลงมาก ขณะที่พบว่าสินเชื่อบุคคล ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีเอ็นพีแอลขยายตัวค่อนข้างสูง โดยเป็นหนี้เสียต่อบัญชีเฉลี่ยประมาณ 77,000 บาท

ส่วนสินเชื่อยานยนต์ หนี้ที่มีปัญหาส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 30-49 ปี ซึ่งเป็นคนวัยทำงาน มีปัญหาการชำระค่างวด โดยมูลค่าหนี้เสียสัดส่วน 59.2% เมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่น ๆ ซึ่งต้องมาช่วยกันดู เพราะคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เป็นกำลังแรงงาน พยายามสร้างเนื้อสร้างตัว ซึ่งต้องให้ความรู้ทางการเงินและสร้างความตระหนักในการก่อหนี้

นอกจากนี้ หนี้เสียที่เกิดจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ก็ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 3 ปี 2565 มีมูลค่าอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท จำนวนบัญชี 4.7 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2565 ที่อยู่ที่ 3.96 แสนล้านบาท จำนวนบัญชี 4.3 ล้านบัญชี ซึ่งเกือบ 60% เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล

แนะเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ที่เริ่มมีสัญญาณการผิดนัดชำระ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า “ประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญคือ ต้องเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ที่เริ่มมีสัญญาณการผิดนัดชำระ โดยเฉพาะสถาบันการเงินคงต้องช่วยกัน ถ้าลูกหนี้เริ่มมีสัญญาณ เริ่มมีปัญหาการผ่อนชำระ ก็ต้องเข้ามาช่วยกันปรับโครงสร้างหนี้ให้เร็วขึ้น ส่วนที่เป็นหนี้เสียอยู่แล้วก็คงต้องมีมาตรการเฉพาะเจาะจงในการช่วยเหลือ ไม่ใช่เป็นมาตรการทั่วไป”

สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นเสมือนกับดักต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต ดังนั้น ในระยะถัดไปมีประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญคือ

1. การเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ที่เริ่มมีสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการตกชั้นของลูกหนี้ที่มีจำนวนมาก

2. การมีมาตรการเฉพาะเจาะจงในการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เสียจากผลกระทบของ COVID-19 เช่น ขยายเวลาชำระหนี้ กำหนดสัดส่วนการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ เป็นต้น เพื่อลดจำนวนลูกหนี้เสียไม่ให้เพิ่มขึ้นในระยะถัดไป และรักษาสถานะลูกหนี้ให้อยู่ในระบบการเงิน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: