เผยค่ายมือถือ 'เล่นกลทางคณิตศาสตร์' ราคาแพ็กเกจ-ค่าบริการ

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 ธ.ค. 2566 | อ่านแล้ว 6258 ครั้ง

 


มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุอดีต กสทช.เปิดเผยค่ายมือถือ 'เล่นกลทางคณิตศาสตร์' ลดราคาแบบค่าเฉลี่ยแต่ไม่ถ่วงน้ำหนักของผู้ใช้บริการ แถมพยายามใส่โปรแพ็กเกจราคาถูก แต่เน้นขายน้อย เพื่อเฉลี่ยลดค่าบริการ - 4 กรรมการ กสทช. ส่งบันทึกด่วนที่สุดถึงประธาน กสทช. ขอให้บรรจุวาระเรื่องสถานการณ์บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายหลังการควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ เข้าที่ประชุมบอร์ดฯ 20 ธ.ค. นี้ ระบุอยู่เฉยไม่ได้หลังพบข้อร้องเรียนอื้อ | ที่มาภาพประกอบ: What Mobile

17 ธ.ค. 2566 เพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานว่าจากกรณี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค แถลงผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม โดยนายแพทย์ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. แถลงข่าวร่วมกับ นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา (2566) มีผลโพลสรุปชัดเจนว่า ร้อยละ 81 ผู้บริโภคระบุปัญหาอันดับ 1 ชี้ชัดผลกระทบ TRUE-DTAC ควบรวมทำอินเทอร์เน็ตลดสปีดผิดเงื่อนไข แถมปรับแพ็กเกจตามอำเภอใจ จี้ ทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา กระตุ้น กสทช.ต้องจริงใจ-จริงจัง จัดการผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภค นั้น (อ่านผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม)

โดยนายแพทย์ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. กล่าวข้อความตอนหนึ่งว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้น คือ มีค่ายมือถือแห่งหนึ่ง ก่อนรวมธุรกิจ รายงานมาว่า อัตราอ้างอิงของค่าบริการมือถือเฉลี่ย 2 สตางค์ ต่อเมก ประมาณ 20 บาท ต่อ กิกะไบต์ (ทำให้มองว่า อินเตอร์เน็ต เมืองไทย ราคาถูก) แต่อันนี้ คือ อัตราค่าบริการเฉลี่ยโดยไม่ได้ถ่วงน้ำหนักของจำนวนผู้บริโภค *** ยกตัวอย่าง แพ็กเกจหนึ่ง คิด 1 สตางค์ อาจจะมีคนใช้งาน แค่ 1-2 คน แต่ แพ็กเกจ ที่คิด 1 บาท อาจจะมีผู้ใช้บริการ 1 ล้านคน แล้วผู้ประกอบการมาเฉลี่ย เอา 100+1 มาหารเพิ่มอีก 50 สตางค์ ซึ่งเป็นการเฉลี่ยแบบไม่ถ่วงน้ำหนัก ของจำนวนผู้บริโภค

สิ่งค่ายมือถือทำก็คือ อัตราลดค่าเฉลี่ยโดยไม่ถ่วงน้ำหนัก พยายามทำ ใส่โปรราคาถูกเยอะๆ แต่ขายโปรนี้น้อยๆ เพื่อมาเฉลี่ย อย่างที่บอก สังเกต ตัวเลขนี้ให้ดีนะครับ โดยปกติเขารายงานว่า อินเทอร์เน็ตแบบราคาเฉลี่ยที่ไม่ถ่วงน้ำหนักเขารายงานแค่ว่า 2 สตางค์ต่อเมก แต่พอถ่วงน้ำหนัก พบว่าน่าตกใจ เพราะมันเพิ่ม 25 เท่า คือ 50 สตางค์ต่อเมก แปลว่า คนไทย เฉลี่ยซื้ออินเทอร์เน็ตค่ายมือถือแห่งนี้เท่ากับ 500 บาท ต่อกิกะไบต์ จากเดิมซื้อแค่ 20 บาทต่อกิกะไบต์

“ดังนั้น วิธีคิดอัตราค่าบริการเฉลี่ย จะต้องเอาจำนวนผู้ใช้บริการมาคำนวณด้วย เมื่อคำนวณจะเห็นความจริงว่า “คนไทยจ่ายค่าบริการอินเทอร์เน็ตราคาแพง ไม่ได้จ่ายถูก” *ที่ค่ายมือถือโฆษณาว่า จ่ายถูก คือ การเล่นกลทางคณิตศาสตร์ ดังนั้น 1 คนไทย ผู้ใช้บริการ ที่จ่าย 500 บาท ต่อ กิกะไบต์ ต้องสังเกตให้ดี คนที่ซื้อแบบรายเดือน เอ๊ะ จ่าย 800 บาท ก็ได้ตั้ง 40 กิกะไบต์ จ่าย 400-500 บาท ก็ได้ 10-20 กิ๊ก ราคาไม่ถึงหมื่นบาท อยู่แล้ว แต่คนที่จ่าย 500 บาทต่อ กิกะไบต์ แปลว่าคนที่จ่ายแบกภาระต้นทุนจริงคือ คนใช้มือถือระดับล่าง ที่เติมเน็ตเป็นครั้งๆ ดังนั้น ยิ่งจนมากยิ่งจ่ายเน็ตแพงมาก ยิ่งรวยมากยิ่งซื้อเหมาเยอะๆ ยิ่งถูกมาก ที่ว่า จ่ายถูก เรียกว่า" เล่นกลทางคณิตศาสตร์" แปลว่า คนรับผลกระทบ คือ ชนชั้นล่าง

ทั้งนี้ หมอประวิทย์ เทียบตัวเลขผู้บริโภคร้องเรียนการให้บริการของค่ายมือถือทรู-ดีแทค ก่อนควบรวม และหลังควบรวม มีการร้องเรียนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน “ข้อมูลเรื่องร้องเรียนที่เข้ามาที่ กสทช. เฉพาะ 2 ค่ายทรู ดีแทค ก่อนรวมธุรกิจในช่วง 7 เดือน ( ม.ค. - ก.ค.) ซึ่งยังแยกกันให้บริการของทั้งสองบริษัทฯ มีคนร้องเรียนทั้งหมด 944 ราย เฉลี่ยเดือนละ 135 ราย แต่หลังรวมธุรกิจ ในช่วง 4 เดือน (ส.ค. - พ.ย. 2566) มีคนร้องเรียน 836 ราย เฉลี่ยเดือนละ 210 ราย มีการร้องเรียนเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน” อ่านฉบับเต็มได้ที่นี่

เอกสารประกอบ”ผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม สามารถดาวน์โหลดได้ที่ลิงก์นี้

ขอบรรจุวาระเรื่องสถานการณ์บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายหลังการควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ เข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช. 20 ธ.ค. นี้ ระบุอยู่เฉยไม่ได้หลังพบข้อร้องเรียนอื้อ

เพจกรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2566 กรรมการ กสทช. ประกอบด้วยนายศุภัช ศุภชลาศัย, พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ นางสาวพิรงรอง รามสูต นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ มีบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ที่ สทช 1003/ 353

เรื่อง ขอให้มอบหมายสำนักงาน กสทช. รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์และผลกระทบต่อผู้บริโภคอันเนื่องมาจากคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปัญหาอัตราค่าบริการสูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงแพคเกจการให้บริการโดยอัตโนมัติ

ขอให้เร่งเอาเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 23/2566 วันพุธที่ 20 ธ.ค. 2566

การรวบรวมข้อเท็จจริงนี้ เป็นเรื่องสืบเนื่องจากมติการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 ซึ่งที่ประชุมเสียงข้างมากรับทราบการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค พร้อมกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะในเรื่องอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ ตลอดจนคุณภาพการให้บริการและคุณภาพสัญญาณไว้

ก่อนหน้านี้ มีการบรรจุระเบียบวาระที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม เข้าสู่การพิจารณาของ กสทช. ครั้งที่ 22/2566 วันที่ 23 พ.ย. 2566 ในระเบียบวาระ 3.6 โดยสำนักงาน กสทช. รวบรวมรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการแต่ละครั้ง แต่ไม่ได้จัดส่งตารางรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะแต่อย่างใด และในการประชุม บอร์ดกสทช. วันพุธที่ 20 ธันวาคม 2566 ที่จะถึงนี้ ไม่ได้มีการบรรจุวาระเพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

กสทช. ทั้ง 4 คน จึงมีบันทึกด่วนที่สุดขอให้มีการบรรจุวาระดังกล่าว เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณา เนื้อความในบันทึกด่วนที่สุดฉบับดังกล่าว มีดังนี้

"เรียน ประธาน กสทช."

ตามที่ สาธารณชนมีข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคุณภาพการให้บริการในกิจการโทรคมนาคมโดยเฉพาะปัญหาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตมีคุณภาพต่ำ อัตราค่าบริการสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงแพคเกจการให้บริการโดยอัตโนมัติ

อันเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับมติการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 ซึ่งที่ประชุมเสียงข้างมากรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะในเรื่องอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ ตลอดจนคุณภาพการให้บริการและคุณภาพสัญญาณไว้ นั้น

ในการนี้ บอร์ดทั้ง 4 คนดังกล่าว เห็นว่าเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของ กสทช. ในอันที่จะกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

จึงขอนำเรียนท่านในฐานะประธาน กสทช. และ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ได้โปรดมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์และผลกระทบที่ผู้บริโภคได้รับจากการให้บริการโทรคมนาคม โดยเฉพาะปัญหาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตมีคุณภาพต่ำ อัตราค่าบริการสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงแพคเกจการให้บริการโดยอัตโนมัติ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 23/2566 ในวันที่ 20 ธ.ค. 2566 เพื่อให้กรรมการ กสทช. ได้ร่วมพิจารณาข้อเท็จจริงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน

นอกจากนี้ ตามที่ กสทช. ในคราวประชุมครั้งที่ 22/2566 เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2566 ได้มีมติ เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่

(1) ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการรวมธุรกิจของผู้ขอรวมธุรกิจตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะทั้งก่อน (Ex Ante) และหลังการรวมธุรกิจ (Ex Post) ตามที่ กสทช. กำหนด

(2) ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะในการกำหนดมาตรการเฉพาะภายหลังการรวมธุรกิจ (Ex Post

(3) จัดทำรายงานผลการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการรวมธุรกิจตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะเป็นระยะ ๆ จึงเห็นว่า เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการมีความต่อเนื่อง สำนักงาน กสทช. ควรเร่งดำเนินการขยายเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าวซึ่งครบวาระไปแล้วตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. 2566 และพร้อมกันนี้

ขอให้โปรดพิจารณามอบหมายให้สำนักงาน กสทช.จัดตั้งคณะทำงานพหุภาคีเพื่อติดตามปัญหาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตมีคุณภาพต่ำ อัตราค่าบริการสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงแพคเกจการให้บริการโดยอัตโนมัติ โดยเชิญภาคส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม องค์กรผู้บริโภค และสำนักงาน กสทช. เพื่อติดตาม เฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: