(ร่าง) พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานอิสระ กับผลกระทบต่อแรงงานแพลตฟอร์ม

โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการรูปแบบการสร้างอำนาจต่อรองเพื่อสุขภาวะของแรงงานนอกระบบกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหารและกลุ่มแรงงานส่งสินค้าในกิจการขนส่ง 18 ก.พ. 2566 | อ่านแล้ว 43732 ครั้ง


ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ...... มีเป้าหมายให้แรงงานกลุ่มนี้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานหรือประกอบอาชีพ

ก่อนจะเข้าถึงสิทธิได้ ต้องทำให้แรงงานกลุ่มนี้มีสถานภาพทางกฎหมายเสียก่อน กฎหมายนิยามว่า แรงงานอิสระ หมายถึง ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ

อาชีพอิสระ คือผู้ไม่มีนายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น ผู้ค้าขาย ผู้รับจ้างหรือให้บริการ เกษตรกร  

อาชีพกึ่งอิสระ คือ ผู้ซึ่งมิใช่ลูกจ้างตามกฎหมายคุมครองแรงงาน และเป็น (1) ผู้ประกอบอาชีพผ่านบริการธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือ (2) ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างหรือให้บริการที่ได้รับค่าตอบแทนหรือรายได้หลักจากผู้จ้างงานเพียงคนเดียว ในจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของรายได้ทั้งหมด

ในที่นี้จะขอกล่าวถึง กรณีอาชีพกึ่งอิสระ ที่เป็นงานแพลตฟอร์มอย่างเดียว

ที่ผ่านมามีข้อถกเถียงว่า อาชีพไรเดอร์ (รวมทั้งงานแพลตฟอร์มประเภทอื่นๆ) มีสถานะคลุมเครือระหว่าง การเป็นลูกจ้าง กับ ผู้รับจ้างอิสระ หากเป็นลูกจ้าง ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่หากเป็นผู้รับจ้างอิสระ ความสัมพันธ์กับผู้จ้างงาน จะเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ซึ่งถือว่าเป็นความสัมพันธ์กันในลักษณะ การจ้างทำของ 

การจ้างทำของ เป็นสัญญาที่ผู้รับจ้างตกลงทำงานสิ่งหนึ่งให้กับผู้ว่าจ้าง โดยผู้ว่าจ้างตกลงให้สินจ้างตามความสำเร็จของงานนั้น การจ้างงานประเภทนี้ยึดที่ผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ โดยถือว่าทั้งสองฝ่ายมีอิสระต่อกัน ผู้รับจ้างมีหน้าที่จัดหาอุปกรณ์การทำงาน ทำงาน และรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง   

ด้วยสถานะที่คลุมเครือ ทำให้แพลตฟอร์มปฏิบัติกับไรเดอร์ ประหนึ่งว่าไรเดอร์เป็นผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของ ซึ่งทำให้แพลตฟอร์มได้ประโยชน์จากการที่ไม่ต้องรับภาระต้นทุนคุ้มครองไรเดอร์ในฐานะลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 

ร่าง พ.ร.บ. แรงงานคุ้มครองอิสระ ได้เข้ามาแก้ไขความคลุมเครือนี้ โดยการทำให้ไรเดอร์มีฐานะเป็นผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ คือภายใต้กฎหมายนี้การจ้างงานไรเดอร์ ไม่ใช้การจ้างทำของ แต่เป็นการจ้างงานที่โน้มเอียงไปในทางการจ้างแรงงาน แต่ยังไม่ใช่การจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 

ถามว่าร่าง พ.ร.บ. นี้เป็นประโยชน์กับไรเดอร์หรือไม่ ต้องบอกว่าดีขึ้นกว่าการจัดให้เป็นผู้รับจ้างอิสระภายใต้สัญญาจ้างทำของ แต่จะดีขึ้นมากน้อยเพียงใด ต้องพิจารณารายละเอียดของหมวดต่างๆในร่าง พ.ร.บ. นี้

ในหมวดที่ 4 ว่าด้วย การส่งเสริม พัฒนาคุณภาพชีวิต และคุ้มครองผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ แบ่งออกเป็น 5 ส่วน ครอบคลุมตั้งแต่ สัญญาจ้าง ค่าตอบแทน หลักประกันในการทำงาน สิทธิและสวัสดิการ การร้องเรียนสอบสวนและดำเนินคดี

เมื่อพิจารณาเนื้อหาในหมวดที่ 4 พบว่า มีข้อกำหนดให้ผู้จ้างต้องปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม แสดงสัญญาจ้างอย่างเปิดเผย สิทธิและสวัสดิการแรงงาน และสิทธิในการฟ้องร้องตามกระบวนการยุติธรรม โดยมีผู้ตรวจการแรงงานเป็นกลไกให้ความคุ้มครองและความเป็นธรรมทั้งแก่ฝ่ายผู้จ้างและแรงงาน

แต่สิ่งที่หายไปในหมวดที่ 4 หากเปรียบเทียบกับ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 คือ ไม่มีข้อกำหนดเรื่องเวลาทำงาน วันหยุด วันลา อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าชดเชย และในส่วนที่ว่าด้วยสิทธิและสวัสดิการ ได้ระบุไว้ในลักษณะกว้างๆ โดยไม่ได้กำหนดว่าผู้จ้างจะต้องให้สวัสดิการแก่ผู้รับจ้างมากน้อยเพียงใด

ในหมวดที่ 5 ว่าด้วยคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานอิสระ ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของแรงงานอิสระ แต่ตัวแทนฝ่ายแรงงานอิสระกลับมีสัดส่วนน้อยกว่าและมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรี โดยกฎหมายระบุว่า กรรมการ ได้แก่หัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 9 ตำแหน่ง ตัวแทนองค์กรอิสระ 2 ตำแหน่ง คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาควิชาการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรี 3 ตำแหน่ง ขณะที่มีตัวแทนจากผู้แทนองค์กรแรงงานอิสระไม่เกิน 6 ตำแหน่ง

ในหมวดที่นับว่าเป็นเรื่องที่ดีคือ หมวดที่ 6 กองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานอิสระ ในมาตรา 63 กำหนดให้ ผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ รวมทั้งผู้จ้างงาน จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน ในอัตราที่กำหนด การจ่ายเงินสมทบเป็นไปตามหลักการ ร่วมได้ประโยชน์ ร่วมรับผิดชอบ ซึ่งเป็นเรื่องสมควรที่ผู้จ้างงาน (แพลตฟอร์ม) สมควรแบกรับความรับผิดชอบต่อแรงงานด้วย   

กล่าวโดยสรุป เมื่อพิจารณารายละเอียดดังกล่าวมา (แม้จะมีข้อดีในหมวดที่ 6) กฎหมายนี้ไม่น่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่มีประโยชน์กับไรเดอร์ และแรงงานแพลตฟอร์มโดยรวม เช่น ในหมวดที่ 4 ในข้อกำหนดให้มีสัญญาจ้างเป็นหนังสือ แสดงโดยเปิดเผย กำหนดสิทธิ หน้าที่ ผลประโยชน์ ของแต่ละฝ่ายให้ชัดเจน ที่ผ่านมาบริษัทแพลตฟอร์มได้แสดงข้อตกลงนี้อยู่แล้ว ในรูปแบบข้อตกลงการให้บริการ (terms of service) และได้แจ้งไว้อย่างชัดเจนในเวปไซต์ของบริษัท

แต่เมื่อกฎหมายไม่ระบุ เกณฑ์ขั้นพื้นฐานในเรื่องเวลาทำงาน วันหยุด วันลา อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าชดเชย และในส่วนที่ว่าด้วยสิทธิและสวัสดิการ แต่เปิดให้เป็นไปตามที่ผู้จ้างกำหนดในสัญญาจ้าง ปัญหาเดิมๆที่เคยเกิดขึ้นก็จะยังคงมีต่อไป เช่น การทำงานเกินเวลามาตรฐาน การไม่มีวันหยุด วันลา เนื่องจากหากหยุดงานจะขาดรายได้ รวมทั้งความเร่งรีบในการทำงาน เพื่อให้มีรายได้พอเลี้ยงชีพ จนนำไปสู่อุบัติเหตุ และปัญหาสุขภาพ 

ในเรื่องต่อมาก็คือการมีปากเสียง ในคณะกรรมการคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานอิสระ ก็คงไม่เกิดขึ้นจริง จากสัดส่วนของฝ่ายแรงงานที่น้อยกว่าและมาจากการแต่งตั้ง บทเรียนจากการเป็นคณะกรรมการตามกฎหมายอื่นมีให้เห็นอย่างชัดเจนมาแล้ว เช่น คณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการค่าจ้าง

และเรื่องที่อาจจะสำคัญที่สุดคือ พ.ร.บ. การคุ้มครองแรงงานอิสระ อาจปิดทางการต่อสู้ด้วยการฟ้องร้องบริษัทแพลตฟอร์มให้รับผิดชอบในฐานะนายจ้าง ดังที่เกิดขึ้นแพร่หลายในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่กลุ่มไรเดอร์ได้ยื่นฟ้องบริษัทต่อศาล ให้ตัดสินว่าแรงงานมีฐานะลูกจ้าง/แรงงาน (employee/worker)  หรือไม่

การตัดสินของศาลจะพิจารณาข้อเท็จจริงว่า บริษัทมีอำนาจเหนือไรเดอร์ในการควบคุมการทำงาน กำหนดค่าตอบแทน และการให้คุณให้โทษ มากน้อยเพียงใด หากพบว่ามีอำนาจเหนือไรเดอร์อย่างชัดเจน ศาลมีแนวโน้มจะตัดสินว่า บริษัทคือนายจ้างและไรเดอร์คือลูกจ้าง ดังที่เกิดขึ้นทั่วไปในประเทศเหล่านั้น

ถ้าหาก พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานอิสระ ถูกประกาศใช้ ตามกฎหมายนี้ย่อมทำให้ไรเดอร์ (และงานแพลตฟอร์มอื่นๆ) มีฐานะเป็นแรงงานอิสระตามกฎหมายตั้งแต่ต้น จึงเท่ากับว่า การต่อสู้ของไรเดอร์ด้วยการฟ้องร้องให้ศาลตัดสินว่าเป็นลูกจ้างหรือไม่ ย่อมเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยาก

สำหรับแรงงานอิสระ ในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ กฎหมายฉบับนี้ ดูเหมือนจะช่วยให้แรงงานกลุ่มนี้ พ้นจากสถานะผู้รับจ้างอิสระตามสัญญาจ้างทำของ แต่กฎหมายกลับพามาสะดุดที่ครึ่งทาง และเผชิญกับปัญหาเดิมๆ โดยไม่สามารถไปถึงการคุ้มครองแรงงานตามที่ควรจะเป็น.  

 

หมายเหตุ
โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการรูปแบบการสร้างอำนาจต่อรองเพื่อสุขภาวะของแรงงานนอกระบบกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหารและกลุ่มแรงงานส่งสินค้าในกิจการขนส่ง ดำเนินโครงการโดยนายพฤกษ์ เถาถวิล และนายวรดุลย์ ตุลารักษ์ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ความเห็นในบทความเป็นของโครงการฯ สสส. ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: