ในปัจจุบันทุกธุรกิจกำลังตื่นตัวเรื่องการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนจากแนวคิด ESG เช่นเดียวกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการปรับเปลี่ยนไปสู่ยุคของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ รถยนต์ EV finbiz by ttb จึงวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องเผชิญ พร้อมแนะโอกาสในการปรับตัวเพื่อต่อยอดธุรกิจให้เติบโต
รถยนต์ EV เติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินการแข่งขันในตลาดรถยนต์ EV ทั่วโลกมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เพราะผู้ผลิตหลายรายปรับลดราคาขายลงเฉลี่ย 2-10% กระตุ้นให้คนหันมาสนใจรถยนต์ EV อย่างรวดเร็ว สำหรับในประเทศไทยก็มียอดจดทะเบียนรถยนต์ EV เพิ่มขึ้นถึง 17 เท่าภายในเวลาเพียง 3 ปี และคาดว่าในปี 2023 นี้ยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง EV จะสูงถึง 40,812 คัน หรือเพิ่มขึ้น 322% ส่วนหนึ่งมาจากแรงสนับสนุนของภาครัฐที่ตั้งเป้าให้ไทยผลิตรถยนต์ EV ให้ได้ 30% ภายในปี 2030 หรือ 7 ปีข้างหน้า
ขณะที่สถานการณ์ของรถยนต์ EV ทั่วโลกก็เติบโตเช่นกัน BloombergNEF หน่วยงานวิจัยข้อมูลสำหรับอุตสาหกรรมพลังงาน คาดว่า ในปี 2026 รถยนต์ EV จะมีราคาเทียบเท่ารถยนต์สันดาป ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น การลดต้นทุนแบตเตอรี่ และการขยายกำลังการผลิตจนได้กำไรของกลุ่มผู้ผลิต จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปสู่รถยนต์ไฟฟ้าแบบเต็มตัว
ทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่อรถยนต์ EV เติบโต
การแข่งขันด้านราคาในตลาดรถยนต์ EV ที่รุนแรงขึ้น จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กระทบตลาดรถยนต์ทั่วโลก โดยมีสาเหตุดังนี้
1) ความน่าสนใจในรถยนต์สันดาปลดลง ปัจจุบันรถยนต์ EV เป็นเหมือน “เครื่องใช้ไฟฟ้าติดล้อ” ซึ่งมีหัวใจหลักที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ “แบตเตอรี่ไฟฟ้า” และ “เทคโนโลยี” ในขณะที่รถสันดาป มีความโดดเด่นเฉพาะตัวแตกต่างไปตามแต่ละแบรนด์และประเภทของเครื่องยนต์ ซึ่งอาศัยการบำรุงรักษามากกว่า และด้วยการแข่งขันของผู้ผลิตที่รุนแรงขึ้น ทำให้ความน่าสนใจในแบรนด์รถดั้งเดิมที่ยังคงจำหน่ายรถยนต์สันดาปอาจลดน้อยลงไป
2) แบรนด์รถดั้งเดิมที่ปรับตัวได้ช้าอาจค่อย ๆ หายไป เมื่อลูกค้ามองรถยนต์ EV ไม่ต่างอะไรจาก “สินค้าเทคโนโลยี” ที่มีการตกรุ่นไปตามยุคสมัย อาจทำให้รถรุ่นเก่ากว่ามีโอกาสตกรุ่นเร็วขึ้น เปรียบได้กับยุคที่เปลี่ยนผ่านจาก “มือถือ” สู่ “สมาร์ทโฟน” ที่ทำให้เจ้าตลาดมือถือยักษ์ใหญ่ของโลกในรุ่นก่อนค่อย ๆ หายไปจากตลาด และมาสู่ยุคที่เจ้าตลาดเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแทน
3) ราคารถที่ปรับลงไม่เพียงกระทบตลาดรถมือหนึ่ง แต่ยังดึงราคารถมือสอง จากการทยอยเปิดตัวรถยนต์นั่งไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ ที่มีแนวโน้มจะขายถูกลง สร้างแรงกดดันอย่างมากต่อตลาดรถยนต์ในหลายกลุ่ม โดยเฉพาะตลาดรถหรู หรือแม้แต่ค่ายรถญี่ปุ่นและจีนในกลุ่มระดับ C และ D ที่มีราคาขายใกล้เคียงกัน จนทำให้ความต้องการรถยนต์นั่งมือสองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทำไมแนวคิด ESG จึงผลักดันรถยนต์ EV ให้ยิ่งเติบโตเร็วขึ้น
เพราะทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีการออกทั้งกฎหมายและนโยบาย เพื่อผลักดันเรื่อง ESG ให้เป็นวาระโลกและวาระแห่งชาติ อาทิ
- ประเทศไทยตั้งเป้าผลิตรถยนต์ EV ให้ได้ 30% ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นปีที่ไทยมีเป้าหมายสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40%
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าหมายประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065
- หลายประเทศทั่วโลกมีข้อตกลงร่วมกันว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อร่วมกันรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
- ค่ายรถยนต์ที่เคยผลิตรถยนต์สันดาปรายใหญ่ เริ่มประกาศวิสัยทัศน์ที่จะขับเคลื่อนองค์กรด้วยแนวคิด ESG พร้อมตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะให้เป็นระบบไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ขับเคลื่อนโลกสู่สังคมไร้มลพิษ ไร้อุบัติเหตุ และส่งเสริมการสร้าง Smart ecosystem รวมไปถึงค่ายรถยนต์อีกหลาย ๆ ค่ายที่ตั้งวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
- โดยรถยนต์ไฟฟ้า (รถยนต์ EV) เข้ามาตอบโจทย์กระแสดังกล่าวครบถ้วนทั้งกระบวนการผลิตและการใช้งาน โดยจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์เทียบกับรถยนต์สันดาปได้กว่า 40% ทำให้การเติบโตเฉลี่ยต่อปีของรถยนต์ EV อยู่ในระดับมากกว่า 30% ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะเติบโตในระดับสูงเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น และการขยายกำลังการผลิตจนได้กำไร
อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเปลี่ยนแปลง ผู้ประกอบการจึงต้องเร่งปรับตัว
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า เรากำลังเปลี่ยนไปสู่ยุคที่ ESG เข้ามามีบทบาท และยังเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้น รถยนต์ EV เติบโตอย่างรวดเร็ว จนอาจเป็นไปได้ที่เข้ามาแทนรถยนต์สันดาปในที่สุด ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรจะเร่งหาโอกาสใหม่ โดย finbiz by ttb ได้วิเคราะห์ถึงกลุ่มธุรกิจที่จะอาจหาโอกาสใหม่ ๆ ได้ ดังนี้
1) ผลิตชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่ผลิตเฉพาะชิ้นส่วนประกอบที่ใช้กับระบบสันดาป เช่น เครื่องยนต์ ลูกสูบ หัวเทียน หม้อน้ำ ท่อไอเสีย ถังน้ำมัน เป็นต้น อาจต้องเริ่มต้นหาช่องทางใหม่ ๆ หรือ หากปัจจุบันผลิตได้แต่ในส่วนรถระบบสันดาป ก็ต้องมีการปรับเทคโนโลยี สายการผลิต หรือหาคู่ค้าเพิ่ม พัฒนาทักษะพนักงาน เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงในวันที่รถยนต์ EV จะเข้ามามีส่วนแบ่งทางตลาดแทนรถยนต์ในระบบที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงมากขึ้นเรื่อย ๆ
2) ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ สายไฟ มอเตอร์ต่าง ๆ ก็มีช่องทางโอกาสที่จะต่อยอดจากกิจการเดิมพัฒนาเพิ่มเติมไปสู่การผลิตอุปกรณ์ที่รองรับการใช้งานของรถยนต์ EV ได้
3) สถานีบริการน้ำมัน จะเริ่มเห็นโอกาสในรูปแบบใหม่ เช่น การเพิ่มเติมจุดบริการชาร์จรถยนต์ EV ซึ่งการชาร์จไฟฟ้าแต่ละครั้งใช้เวลาพอสมควร ทำให้เห็นโอกาสของธุรกิจอื่น ๆ ที่สามารถอยู่ในสถานีบริการน้ำมันเดิมได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้เช่าพื้นที่เพื่อทำร้านอาหาร หรือกิจการอื่น ๆ
4) ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ สามารถใช้กลยุทธ์ทางการตลาดกระตุ้นความสนใจจากช่วงเวลาที่ผู้คนสนใจในเทคโนโลยี และยังใส่ใจเรื่องราวของ ESG มากระตุ้นให้ รถยนต์ EV มีความน่าสนใจมากขึ้น ช่วยในการตัดสินใจซื้อรถได้อย่างรวดเร็วขึ้น พร้อมสร้างความรู้สึกการได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สร้างโอกาสในการเพิ่มยอดขายในระยะนี้ โดยผู้ประกอบการต้องเร่งสร้างความพร้อมของศูนย์บริการหลังการขายสำหรับรถประเภทนี้ให้มากขึ้น
นอกจากนี้ยังอาจมีโอกาสอื่น ๆ จากแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยยึดหลัก ESG ที่ผู้ประกอบการจะสามารถพลิกช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มาเป็นโอกาสได้ เพราะอย่างไรก็ตามทุกองค์กรล้วนต้องขยับไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งสิ้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ