สำรวจวิทยาลัยอาชีวศึกษาขาดครูช่างกว่า 17,000 คน บางแห่งขาดถึง 200 คน สวนทางความต้องการเรียนของนักศึกษาที่เพิ่มขึ้น สอศ.พร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหาเร่งด่วนระยะยาวนำเทคโนโลยีแก้ไขปัญหา | ที่มาภาพประกอบ: กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
เพจสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. 2566 ว่าว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังวางแผนเรื่องการแก้ไขปัญหาขาดครูของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งภาพรวมจากการสำรวจข้อมูลพบขาดอัตรากำลังอยู่ประมาณ 17,000 อัตรา วิทยาลัยบางแห่งขาดอัตรากำลังครูมากถึง 200 คน เบื้องต้นได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ในการกำหนดกรอบอัตรากำลังที่เป็นสาขาวิชาชีพที่เป็นความต้องการของวิทยาลัยอาชีวศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาวิทยาลัยที่ขาดครูก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการนำเงินบำรุงการศึกษาและเงินที่ได้จากรายหัวนักศึกษาไปจ้างเหมาบริการแทน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ
ทั้งนี้จะนำรายละเอียดการขาดครูเสนอให้ที่ประชุม ก.ค.ศ.พิจารณา เพื่อเป็นมติรับรองอัตราว่างตามจริง ตามเกณฑ์ขาดครูที่ ก.ค.ศ.กำหนด จากนั้นจะเสนอรายละเอียดไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อของบประมาณมาเติมให้แก่วิทยาลัยที่ขาดครูในการจ้างครูมาสอน ขณะเดียวกันได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อขออัตรากำลังครูของกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กที่กำลังจะถูกยุบตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เพื่อมากำหนดตำแหน่งเป็นครูช่าง ซึ่งเราจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้การเรียนการสอนด้านสายอาชีพมีประสิทธิภาพมากที่สุด
“ขณะนี้มีเด็กสนใจเรียนอาชีวะเพิ่มมากขึ้น ภายในเดือน ม.ค.นี้ น่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมด อย่างไรก็ตาม มองว่าการแก้ปัญหาขาดครูระยะยาวในอนาคตเราอาจนำสื่อเทคโนโลยีการสอนสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทในการช่วยสอนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาได้” เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ