จับตา: หมากฝรั่งนิโคติน ช่วยเลิกบุหรี่

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 มิ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 5483 ครั้ง


สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่าอย่างที่ทราบกันว่าการสูบบุหรี่ทำให้สุขภาพแย่ลง และส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา แต่เนื่องจากในบุหรี่มีสารเสพติดที่ชื่อว่า “นิโคติน” ซึ่งสารชนิดนี้เมื่อร่างกายได้รับแล้ว จะต้องการในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดภาวะเสพติด เมื่อผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ หยุดสูบบุหรี่ จะทำให้เกิดอาการหน้ามืด ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ หงุดหงิด ซึมเศร้า กระสับกระส่าย ซึ่งเรียกว่าภาวะถอนนิโคติน ภาวะดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญหนึ่งที่ทำให้เลิกบุหรี่ไม่สำเร็จ หมากฝรั่งนิโคติน จัดเป็นยาที่ช่วยเลิกบุหรี่ที่ได้รับความนิยมสูง เนื่องจากใช้ง่าย และสะดวก โดยหมากฝรั่งนิโคติน เป็นหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของนิโคติน มี 2 ขนาด ได้แก่ 2 มิลลิกรัม และ 4 มิลลิกรัม ซึ่งขนาดที่ใช้ขึ้นอยู่กับจำนวนบุหรี่ที่สูบ ใช้ทดแทนนิโคตินจากบุหรี่ ดังนั้นเมื่อเลิกสูบบุหรี่ ก็จะยังได้รับนิโคตินจากหมากฝรั่ง ทำให้เกิดอาการถอนนิโคตินน้อยลงหรือไม่เกิดเลย จึงสามารถช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น แต่ต้องใช้อย่างถูกวิธีจึงจะเห็นผล ผู้ที่ต้องการใช้ควรปฏิบัติดังนี้

1. เคี้ยวหมากฝรั่งช้า ๆ จนเริ่มมีรสเผ็ดซ่า

2. เมื่อรู้สึกถึงรสเผ็ดซ่าให้หยุดเคี้ยว แล้วนำหมากฝรั่งไปพักไว้ที่กระพุ้งแก้มข้างใดข้างหนึ่ง

3. เมื่อรสเผ็ดซ่าหายไปให้นำหมากฝรั่งมาเคี้ยวใหม่

4. เคี้ยวหมากฝรั่งจนมีรสเผ็ดซ่าแล้วนำไปพักไว้ที่กระพุ้งแก้มเช่นเดิม สลับกันไป ใช้เวลาประมาณ 30 นาที

5. ห่อหมากฝรั่งด้วยกระดาษให้มิดชิดก่อนทิ้ง เพื่อป้องกันเด็กหรือสัตว์เลี้ยงนำไปเคี้ยวและอาจเกิดอันตรายได้จากนิโคตินที่ค้างอยู่ในหมากฝรั่ง

ก่อนเริ่มใช้หมากฝรั่งนิโคตินควรหยุดสูบบุหรี่ทันที เพราะหากสูบบุหรี่ควบคู่ไปกับการเคี้ยวหมากฝรั่งนิโคติน อาจทำให้ร่างกายได้รับสารนิโคตินมากขึ้นจนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ และควรงดเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรด เช่น กาแฟ น้ำส้ม น้ำอัดลม ก่อนเคี้ยวหมากฝรั่ง 15 นาที เนื่องจากทำให้การดูดซึมนิโคตินลดลง และควรกลืนน้ำลายช้า ๆ ไม่กลืนน้ำลายมากเกินระหว่างเคี้ยว เพื่อลดการระคายเคืองทางเดินอาหาร และไม่ควรหยุดหรือปรับเปลี่ยนการใช้หมากฝรั่งเองแม้อาการอยากบุหรี่จะดีขึ้นแล้วก็ตาม หมากฝรั่งนิโคตินเป็นเพียงทางเลือกอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ แต่การเลิกบุหรี่ก็มีอีกหลากหลายวิธี หากสนใจควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติม หรือโทร สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 

 
ข้อมูลอ้างอิงจาก
 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: