การต่อต้านระเบียบในโรงเรียนมีมาแต่ไหนแต่ไร ไม่ว่าจะเป็นการไว้ผมยาว นุ่งกางเกงหรือกระโปรงสั้น ไปจนถึงการโดดเรียน เพราะระเบียบในโรงเรียนส่วนใหญ่เน้นการควบคุมเนื้อตัวร่างกายนักเรียน ขณะที่นักเรียนโดยเฉพาะระดับมัธยมอยู่ในวัยที่เริ่มให้ความสำคัญกับร่างกายของตนและหลายคนเห็นว่าโลกและชีวิตนอกโรงเรียนมีความเย้ายวนมากกว่า เพียงแต่ที่ผ่านมาการต่อต้านส่วนใหญ่เป็นในลักษณะชิงไหวชิงพริบ และคนที่ต่อต้านมักถูกจัดประเภทเป็นเด็กเกเร แม้อาจได้รับการกล่าวขานในเพื่อนบางกลุ่มก็ตาม
แต่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองไทยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาได้พาการต่อต้านระเบียบในโรงเรียนไปอีกลักษณะ เพราะไม่ได้เป็นเรื่องของการชิงไหวชิงพริบของเด็กที่รักสวยรักงามหรือไม่เห็นความสำคัญของโรงเรียนอีกต่อไป หากแต่เป็นเรื่องของการตั้งคำถามต่อระเบียบหรือ “โรงเรียน” ในระดับรากฐาน ว่าไม่ได้เป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้หรือพัฒนาศักยภาพของเด็ก หากแต่เป็นเครื่องมือในการควบคุม กล่อมเกลา หรือ “ล้างสมอง” เด็กของรัฐหรือชนชั้นปกครองมากกว่า
ขณะเดียวกันการต่อต้านของนักเรียนมีความเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะขณะที่ กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งตั้งขึ้นเป็นกลุ่มแรกเคลื่อนไหวในลักษณะที่ยังมีกลิ่นอายของการ “ปฏิรูป” กลุ่มนักเรียนมัธยมที่ตั้งขึ้นในช่วงการชุมนุมของเยาวชนที่ผ่านมามีลักษณะแตกหักมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนผ่านการตั้งชื่อกลุ่มทั้งระดับประเทศ คือ “นักเรียนเลว” และระดับภูมิภาค เช่น “เด็กเปรต” ในภาคใต้ ท้าทายการถูกแปะป้ายโดยครูและผู้ใหญ่อย่างตรงไปตรงมา
ที่สำคัญก็คือนักเรียนมัธยมเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของขบวนการเยาวชนอย่างต่อเนื่องและแหลมคม เพราะนอกจากจัดการชุมนุมในประเด็นเฉพาะของตน เช่น การชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการ และการเคลื่อนไหวในโรงเรียน เช่น การชู 3 นิ้วขณะร้องเพลงชาติหน้าเสาธง และการผูกโบขาว ควบคู่ไปกับการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนหลักในปี 2563 นักเรียนมัธยมเป็นกำลังสำคัญในกลุ่มที่ก่อตัวขึ้นหลังการสลายการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนหลัก ซึ่งให้ความสำคัญกับประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์โดยเฉพาะที่ผ่านทางการสำรวจความเห็นประชาชนในที่สาธารณะ แม้จะเผชิญกับการขัดขวางและการตั้งข้อหาดำเนินคดีตามมาก็ตาม
“หยก” เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวในนักเรียนมัธยมที่ว่ามานี้ เพราะขณะที่ข้อเรียกร้องของเยาวชนไม่ได้รับการตอบสนอง และนิสิตนักศึกษารวมถึงประชาชนเผชิญกับการควบคุมและครอบงำในการใช้ชีวิตน้อยกว่าและดูเหมือนจะมีความหวังหลังการเลือกตั้ง นักเรียนยังคงต้องเผชิญกับปัญหานี้อย่างเข้มข้นในโรงเรียนเหมือนที่ผ่านมาหรืออาจจะหนักกว่าเดิม และในเมื่อการเคลื่อนไหวในลักษณะกลุ่มหรือองค์กรที่เปิดโอกาสให้มีการเจรจาต่อรองด้วยเหตุด้วยผลถูกปิดกั้น อีกทั้งการจะมีรัฐบาลที่ฟังเสียงพวกเขายังไม่รู้จะเป็นไปได้แค่ไหน การต่อต้านในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะในโรงเรียนจึงเป็นทางเลือกที่พอเหลืออยู่สำหรับนักเรียนในตอนนี้
สังคมจึงควรมองเรื่องของ “หยก” ไปให้พ้นกว่าวิธีการที่เธอใช้ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ช่องทางถูกจำกัดอย่างที่ว่า หากแต่ควรมองไปที่สาเหตุของการต่อต้านของเธอมากกว่า เพราะการปฏิเสธกระบวนการศาลของเธอเป็นการตั้งคำถามกับระบบยุติธรรมแบบไทยๆ อย่างตรงไปตรงมาว่าจะผดุงความยุติธรรมได้อย่างไรในเมื่อศาลพิพากษาในนามของอีกฝ่าย คำถามนี้ค่อนข้างใหญ่เพราะเกี่ยวพันไปตั้งแต่เอกสารด้านการศาลไปจนกระทั่งรัฐธรรมนูญ แต่ก็ต้องหาทางแก้ไขหากจะให้ทุกคนเสมอหน้าภายใต้กฎหมายเดียวกัน
ขณะเดียวกันการปฏิเสธการสวมเครื่องแบบรวมไปถึงเนื้อหาบางวิชาและกิจกรรมบางกิจกรรมของเธอก็เป็นการตั้งคำถามกับระบบการศึกษาไทยว่าจะเป็นสถาบันที่พัฒนาหรือว่าปลดปล่อยศักยภาพของเด็กได้อย่างไร หากยังเน้นการบังคับให้เด็กปฏิบัติตามโดยมีอุดมการณ์รัฐ ผลประโยชน์ชนชั้นปกครอง รวมถึงโลกทัศน์และระบบคุณค่าที่ล้าหลังอยู่เบื้องหลัง มันไม่ใช่เรื่องที่ว่าเธอเข้าไปเรียนในโรงเรียนนี้ทำไมทั้งที่รู้ว่ามีระเบียบ เนื้อหาวิชา และกิจกรรมเหล่านี้อยู่ แต่มันเป็นเรื่องที่ว่ามันควรมีระเบียบ เนื้อหาวิชา และกิจกรรมเหล่านี้ในโรงเรียนหรือไม่ แม้เธออาจจะไม่ได้เข้าโรงเรียนแห่งนี้ก็ตาม
สังคมและโรงเรียนมีทางเลือกอื่นแทนที่จะปฏิเสธ “หยก” ออกจากระบบและสถานศึกษาด้วยเหตุผลเพียงเพราะเธอไม่สามารถหาผู้ปกครองที่เป็นมารดามารายงานตัวได้ตามกำหนด เพราะเป็นการบังคับใช้กฎที่วางอยู่บนทัศนะ “สถาบันครอบครัว” ในอุดมคติที่คับแคบ ไม่สอดรับกับสภาพครอบครัวในปัจจุบันที่มีความหลากหลาย ขณะเดียวกันโรงเรียนควรเริ่มทบทวนการบังคับเครื่องแบบนักเรียน เพราะปัจจุบันบางโรงเรียนไม่ได้บังคับและไม่ได้ทำให้เด็กสนใจเรียนลดลง เกิดความเหลื่อมล้ำ หรือเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายอย่างสำคัญ
ประการสำคัญ โรงเรียนควรพิจารณาการตั้งคำถามเนื้อหาวิชาและกิจกรรมในโรงเรียนของหยกอย่างจริงจัง เพราะการสร้างพลเมืองที่มีความรอบรู้ ตื่นตัว และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควรเป็นเป้าหมายของระบบการศึกษามิใช่หรือ
*เผยแพร่ครั้งแรกในเพจเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส.
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ