เปิดผลประเมิน ESG ธนาคารไทย ปีที่ 5 เชื่อสร้างวัฒนธรรมแข่งขันด้านนโยบายความยั่งยืน

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 เม.ย. 2566 | อ่านแล้ว 1258 ครั้ง

เปิดผลประเมิน ESG ธนาคารไทย ปีที่ 5 เชื่อสร้างวัฒนธรรมแข่งขันด้านนโยบายความยั่งยืน

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ประเมินธนาคารไทยปีที่ 5 ชี้แนวร่วมฯ ประสบความสำเร็จในการสร้างวัฒนธรรมแข่งขันด้านนโยบายความยั่งยืน เห็นได้จากการแข่งกันทำคะแนนเพื่อช่วงชิงอับดับการประเมิน ผ่านการปรับปรุงและเปิดเผยนโยบายใหม่ของแต่ละธนาคาร ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยระบุ ที่ผ่านมาแบงก์ชาติออกกฎเกณฑ์ด้านธรรมาภิบาลและสังคมอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดออกแนวนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม หวังให้สถาบันการเงินดำเนินการอย่างเป็นระบบและจริงจัง

(ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ) 18 เม.ย. 2566 ในเวทีสาธารณะ เรื่อง "เปิดคะแนน ESG ธนาคารไทย ปีที่ 5 ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืนและเป็นธรรม" ซึ่งจัดโดยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) มีการแถลงผลการประเมินธนาคาร ประจำปี 2565 พร้อมมอบรางวัลแก่ธนาคารที่ได้รับรางวัล และการเสวนาในหัวข้อ อนาคต ESG ธนาคารไทย

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัท ป่าสาละ จำกัด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และ International Rivers จัดทำการประเมินนโยบายของธนาคารไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) เพื่อผลักดันให้ภาคการเงินการธนาคารของไทยก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ ‘การธนาคารที่ยั่งยืน’ (sustainable banking) อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ เกณฑ์มาตรฐานของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) คือ
ดัชนีและเครื่องมือสำหรับผู้บริโภคและภาคประชาสังคมในการเจรจาต่อรอง รณรงค์ ส่งเสริม และมีส่วนร่วมกับภาครัฐและสถาบันการเงิน เพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของสถาบันการเงิน โดยประเมินจากเนื้อหานโยบายและแนวปฏิบัติในการลงทุนและการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงิน ที่เปิดเผยต่อสาธารณะของแต่ละธนาคาร เปรียบเทียบกับมาตรฐานสากลด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้อง

หมวดที่ใช้ในการประเมิน มีด้วยกัน 13 หมวด ได้แก่ 1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2. การทุจริตคอร์รัปชัน 3. ความเท่าเทียมทางเพศ 4. สุขภาพ 5. สิทธิมนุษยชน 6. สิทธิแรงงาน 7. ธรรมชาติ 8. ภาษี 9. อาวุธ 10. การคุ้มครองผู้บริโภค 11. การขยายบริการทางการเงิน 12. การตอบแทน และ 13. ความโปร่งใสและความรับผิด

สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) กล่าวว่า สำหรับผลการประเมินธนาคาร ปี 2565 ธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธนาคารทหารไทยธนชาต (42.6%) 2. ธนาคารกสิกรไทย (34.0%) 3. ธนาคารกรุงไทย (33.4%) 4. ธนาคารไทยพาณิชย์ (32.0%) และ 5. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (29.7%)

โดยคณะวิจัยฯ ได้พิจารณามอบรางวัลประจำปี พ.ศ. 2565 ประกอบด้วย
รางวัลคะแนนสูงสุด ประจำปี พ.ศ. 2565 แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต
รางวัลพัฒนาการสูงสุด 5 ปี พ.ศ. 2561-2565 แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต
รางวัลพัฒนาการสูงสุดประจำปี พ.ศ. 2565 หมวดธนาคารพาณิชย์ แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์
รางวัลพัฒนาการสูงสุดประจำปี พ.ศ. 2565 หมวดสถาบันการเงินเฉพาะกิจ แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

สฤณี ตั้งข้อสังเกตต่อนโยบายธนาคาร ประจำปี 2565 ว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งปรับปรุงนโยบายสินเชื่อและรายการธุรกิจที่ธนาคารจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน (exclusion list) ที่ชัดเจนกว่าทุกปีที่แล้วมา โดยเฉพาะการให้ความสำคัญมากขึ้นกับธุรกิจที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประกาศไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและธุรกิจเหมืองถ่านหิน ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยประกาศเป้าหมายจะทยอยลดเงินกู้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและเหมืองถ่านหินที่มีอยู่แล้วให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) หรือธนาคารไทยพาณิชย์มีการกำหนดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในกระบวนการพิจารณาสินเชื่อสำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูง

สฤณี กล่าวถึงพัฒนาการน่าสนใจจากธนาคารที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารกรุงไทยประกาศเป็นนโยบายว่า ลูกค้าธุรกิจของธนาคารต้องไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการล็อบบี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่พุ่งเป้าไปยังการทำให้นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศอ่อนแอลง รวมถึงยังเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่ประกาศเป็นนโยบายว่า ลูกค้าของธนาคารไม่เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานตามกฎหมายแรงงานเท่านั้น แต่ต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ชัดเจนในการติดตามและแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงานด้วย ขณะที่ธนาคารออมสินได้คะแนนเพิ่มขึ้นในหมวดความเท่าเทียมทางเพศ จากการประกาศนโยบายไม่ยอมรับความรุนแรงทางเพศทุกรูปแบบ (zero tolerance policy) ในที่ทำงาน รวมถึงมีการเปิดเผยช่องว่างค่าตอบแทน (gender pay gap) เป็นปีแรก

“เราสร้างวัฒนธรรมแข่งขันด้านนโยบายความยั่งยืน เห็นได้จากการที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง แข่งกันทำคะแนนเพื่อช่วงชิงอันดับการประเมิน ตลอดจนกระบวนการประเมินที่โปร่งใสและการรับฟังความคิดเห็นจากธนาคารอย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวร่วมฯ มีส่วนผลักดันให้ธนาคารปรับปรุงและเปิดเผยนโยบายใหม่ไม่ต่ำกว่า 20 นโยบาย รวมถึงรายการสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list)” สฤณี กล่าวถึงความสำเร็จของการดำเนินโครงการ "แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย" (Fair Finance Thailand) ในช่วง 5 ปีแรก

ตอนหนึ่งในงานยังมีการเสวนา ในหัวข้อ “อนาคต ESG ธนาคารไทย” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้แทนธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) และผู้แทนธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อแนวโน้มการเงินที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในอนาคตของธนาคารไทย

ศิริพิมพ์ วิมลเฉลา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงบทบาทของ ธปท. ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธปท. ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สถาบันการเงินผนวกเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและจริงจัง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ธปท. เพิ่งออกแนวนโยบาย การดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีการระบุถึงการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมควรทำอย่างไร โดยมีการกำหนดแนวทางตั้งแต่กลยุทธ์ของผู้บริหาร การตั้งเป้าหมายและประกาศต่อสาธารณะ มีแผนที่ปรับไปสู่เป้าหมายได้จริง รวมทั้งมีการประเมินผลกระทบหรือความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ผู้แทนจาก ธปท. มองว่า การเปิดเผยข้อมูลนั้นสำคัญและเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะทำให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น พิจารณาว่า การให้คำมั่นสัญญา (commitment) ของธนาคารเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ โดยจะเห็นได้ว่า ทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ดังนั้น จึงอยากเห็นการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน หากต่างคนต่างทำจะไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ อย่างไรก็ตาม กระบวนการปรับตัวของสถาบันการเงินต้องใช้เวลา ธปท. จึงพร้อมจะสนับสนุน

กมลพันธ์ ลักษณา ผู้บริหารหัวหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นต่อประเด็น ESG ว่า ธนาคารเองให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เห็นได้จากการที่นำเอาเรื่องความยั่งยืนและ ESG อยู่ในทุกระดับขององค์กร ทั้งในการออกแบบกลยุทธ์ของผู้บริหาร การกำหนดตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน โดยนอกจากมุมธรรมาภิบาลที่ธนาคารถูกกำกับอย่างเข้มงวดจาก ธปท. แล้ว ในด้านสิ่งแวดล้อม ธนาคารปรับปรุงรายการสินเชื่อต้องห้าม เช่น อุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเหมืองถ่านหิน โรงไฟฟ้าถ่านหิน และอุตสาหกรรมยาสูบ รวมถึงในอนาคต ธนาคารจะพยายามขยายขอบเขตตัวชี้วัดให้มากขึ้น หรือพิจารณาเกณฑ์อื่นๆ เช่น เกณฑ์ของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมในหัวข้อพลังงานและก๊าซธรรมชาติ โดยที่ธนาคารเองก็จะพิจารณาว่าควรปรับนโยบายอย่างไรไม่ให้กระทบภาคธุรกิจมากนัก นอกจากนี้ ธนาคารยังมองเห็นโอกาสจาก ESG มากขึ้น เช่น สินเชื่อสีเขียว เพื่อสนับสนุนลูกค้าที่ประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ผู้รับผิดชอบกลุ่มงานกลยุทธ์พัฒนาธุรกิจและผู้ประกอบการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) กล่าวว่า ในส่วนของธนาคารที่เป็นสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อย ได้ออกสินเชื่อโดยใช้กลไกที่เรียกว่า BCG loan (เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) ซึ่งเป็นสินเชื่อที่เน้นให้ผู้ประกอบการที่มีแนวความคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยธนาคารจะพิจารณาทั้งในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ หรือธุรกิจที่มีการนำเอาทรัพยากรมาใช้หมุนเวียน นอกจากนี้ ธนาคารทำงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ ที่ทำงานเรื่องนี้โดยตรง เพื่อคัดกรองเบื้องต้นว่าสิ่งที่ธุรกิจจะดำเนินการนำแนวคิดเรื่อง BCG มาใช้หรือไม่ หากผ่านการอ้างอิงจากหน่วยงานที่เป็นพันธมิตรของธนาคารแล้ว ธนาคารก็จะพิจารณาการให้สินเชื่อต่อไป

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: