ตระกูลเจียรวนนท์ ยังคงครองแชมป์เศรษฐีไทยปี 2023

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 ก.ค. 2566 | อ่านแล้ว 42610 ครั้ง

ตระกูลเจียรวนนท์ ยังคงครองแชมป์เศรษฐีไทยปี 2023

Forbes Thailand เปิดเผย 50 อันดับมหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2023 ตระกูลเจียรวนนท์ ยังคงครองอันดับที่ 1 มูลค่าทรัพย์สิน 1.18 ล้านล้านบาท

เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค. 2566 Forbes Thailand เปิดเผย 50 อันดับมหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2566 ระบุว่า เศรษฐกิจประเทศไทยฟื้นตัวจากการกลับมาของนักท่องเที่ยว ธนาคารแห่งประเทศไทยประมาณการเติบโตปีนี้อยู่ที่ 3.6% ผลการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา เป็นเรื่องน่าประหลาดใจยิ่งนักเมื่อพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นที่นิยมให้หมู่คนรุ่นใหม่คว้าชัยชนะไปอย่างงดงาม

ในช่วงเวลาอันกดดัน ยังคงไม่ชัดเจนว่าหัวหน้าพรรคก้าวไกลที่นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งจบจากมหาวิทยาลัยดังอย่าง Harvard University จะสามารถกำชัยชนะในครั้งนี้เพื่อก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ ท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้เอง ความมั่งคั่งรวมของ 50 มหาเศรษฐีไทยก็เพิ่มขึ้นเกือบ 15% เป็น 1.73 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยรวมแล้วมีมหาเศรษฐีไทย 21 คนที่ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา มหาเศรษฐี 2 รายที่มีเปอร์เซ็นต์ความร่ำรวยเพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากการกลับมาของนักชอปต่างชาติ คนแรกคือ นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา และครอบครัว โดยครอบครัวดำเนินกิจการกลุ่มบริษัทสินค้าปลอดภาษี King Power International ความมั่งคั่งของนายอัยยวัฒน์และครอบครัวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวมาอยู่ที่ 3.5 พันล้านดอลลาร์ทวงคืนตำแหน่งในสิบอันดับแรกนั่นคืออันดับ 8

ส่วนอีกคนที่รับทรัพย์ไปมหาศาลคือ น.ส.ศุภลักษณ์ อัมพุช ผู้ปกครองอาณาจักรค้าปลีกของครอบครัวอย่าง The Mall Group ซึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าชั้นนำมากมายรวมถึง Siam Paragon และ EmQuartier โดยมีความมั่งคั่ง 2 พันล้านเหรียญ เพิ่มจากเดิมถึงสองเท่า

การนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้สร้างผลประโยชน์ให้สองมหาเศรษฐีบนทำเนียบหนึ่งคือ นายวานิช ไชยวรรณ ผู้มากด้วยประสบการณ์ในวงการประกัน บมจ. ไทยประกันชีวิต (TLI) เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในปีที่ผ่านมาโดยเป็นการ IPO ครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศประจำปี 2565 สร้างความมั่งคั่งของเขาเพิ่มขึ้น 30% อยู่ที่ 3.9 พันล้านดอลลาร์

ด้านนายชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ ที่ถึงแก่กรรมเมื่อ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา หวนคืนสู่ทำเนียบหลังห่างหายไปสองปีอานิสงส์จากการที่กลุ่มบริษัทอาหาร Betagro ของเขา IPO ไปในเดือน ต.ค.ปีที่ผ่านมาเช่นกัน

ขณะที่ผู้ที่หลุดจากรายชื่อสิบอันดับแรกหนีไม่พ้น นักธุรกิจสี นายประจักษ์ ตั้งคารวคุณ และครอบครัว ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิตกลงมากที่สุดเกือบร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับผู้ติดอันดับในทำเนียบ อันเนื่องมาจากการถือหุ้นของบมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK)

สำหรับ 10 อันดับมหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2566 ได้แก่

อันดับ 1 พี่น้องตระกูลเจียรวนนท์ (อันดับคงที่) เจ้าของบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 1.18 ล้านล้านบาท

อันดับ 2 นายเฉลิม อยู่วิทยา (อันดับคงที่) และครอบครัว เจ้าของเครือกระทิงแดง มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.34 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 1.16 ล้านล้านบาท

อันดับ 3 นายเจริญ สิริวัฒนภักดี (อันดับคงที่) เจ้าของบริษัทในเครือทีทีซี มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.36 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 4.73 แสนล้านบาท

อันดับ 4 ครอบครัวจิราธิวัฒน์ (ขยับขึ้นจากอันดับ 5) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.24 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 4.32 แสนล้านบาท

อันดับ 5 นายสารัชถ์ รัตนาวะดี (ขยับลงจากอันดับ 4) ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งของ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.13 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 3.94 แสนล้านบาท

อันดับ 6 นายวานิช ไชยวรรณ (ขึ้นจากอันดับ 8) ประธานกิตติคุณ บมจ.ไทยประกันชีวิต มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.9 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 1.36 แสนล้านบาท

อันดับ 7 นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ (อันดับคงที่) เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพและสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.8 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 1.32 แสนล้านบาท

อันดับ 8 นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ และครอบครัว มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.5 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 1.21 แสนล้านบาท

อันดับ 9 นายสมโภชน์ อาหุนัย (ขยับลงจากอันดับ 6) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) และครอบครัว มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 1.04 แสนล้านบาท

อันดับ 10 ครอบครัวโอสถานุเคราะห์ (อันดับคงที่) เจ้าของบริษัทในเครือโอสถสภา มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.5 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 8.70 หมื่นล้านบาท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: