บก.ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center เขียนบทความชี้ยิ่งอุ้มดีเซล คนใช้รถมอเตอร์ไซด์ 22 ล้านคันที่เติมแก๊สโซฮอล์ยิ่งเดือดร้อน เพราะต้องเติมน้ำมันที่หน้าปั๊มแพงกว่า ทั้งๆที่ราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันถูกกว่า | ที่มาภาพ: Energy News Center
ช่วงเดือน ส.ค. 2566 บก.ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center เขียนบทความ "เขียนเล่าข่าว EP 37-ยิ่งอุ้มดีเซล คนใช้รถมอเตอร์ไซด์ 22 ล้านคันที่เติมแก๊สโซฮอล์ยิ่งเดือดร้อน" ระบุว่านโยบายการตรึงราคาดีเซลเอาไว้ที่ไม่เกิน 32 บาทต่อลิตรทำให้กลุ่มผู้ใช้เบนซินและแก๊สโซฮอล์ โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ที่มีอยู่ประมาณ 22 ล้านคันไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะต้องเติมน้ำมันที่หน้าปั๊มแพงกว่า ทั้งๆที่ราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันถูกกว่า
ช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลเคยขยับไปอยู่ที่ราคาไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร โดยที่รัฐใช้ทั้งมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงเป็นการชั่วคราวที่ 5 บาทต่อลิตร การใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปชดเชย จนทำให้กองทุนน้ำมันฯทำสถิติติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.3 แสนล้านบาท รวมทั้งมาตรการขอความร่วมมือจากผู้ค้าให้ช่วยคุมค่าการตลาดน้ำมันเอาไว้ไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร ในขณะที่กลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ซึ่งรวมถึงผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกเกือบ 22 ล้านคัน ต้องใช้น้ำมันในราคาที่สะท้อนต้นทุนที่เป็นจริง แถมบางช่วงยังถูกบวกค่าการตลาดน้ำมันที่สูงเกินจริงด้วย เพื่อไปถัวเฉลี่ยกับค่าการตลาดดีเซลที่ถูกกดเอาไว้ต่ำเกินจริง
ทั้งนี้ระดับราคาดีเซลซึ่งอยู่ที่ 34.94 บาทต่อลิตรในช่วงที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการขนส่งและผู้ผลิตสินค้าได้ใช้เป็นเหตุผลในการปรับขึ้นราคาสินค้าและค่าบริการมาแล้ว
โดยในโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ วันที่ 15 ส.ค. 2566 ราคาหน้าโรงกลั่นของดีเซล อยู่ที่ 27.04 บาทต่อลิตร และราคาขายปลีกอยู่ที่ 31.94 บาทต่อลิตร โดยในราคาดังกล่าว รวมค่าการตลาดที่ 2.09 บาทต่อลิตร ภาษีสรรพสามิต 5.99 บาทต่อลิตรด้วย แต่กองทุนน้ำมันเข้าไปชดเชยราคาอยู่ที่ 5.93 บาทต่อลิตร ซึ่งระดับราคาดีเซลที่ถูกลงกว่าช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการลดราคาสินค้าและค่าบริการขนส่งลงมาเลย ตรงกันข้ามยังเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาลปรับลดราคาน้ำมันดีเซลลงอีก
ในส่วนของราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ที่รถมอเตอร์ไซค์นิยมเลือกเติมนั้น ราคาหน้าโรงกลั่นอยู่ที่ 24.30 บาทต่อลิตร ซึ่งถูกกว่าดีเซล แต่เมื่อเป็นราคาขายปลีกที่หน้าปั๊ม กลับอยู่ที่ราคา 39.28 บาทต่อลิตร ซึ่งแพงกว่าราคาขายปลีกดีเซล ถึง 7.34 บาทต่อลิตร โดยมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันลิตรละ 2.80 บาทต่อลิตร ภาษีสรรพสามิต 5.85 บาทต่อลิตร และค่าการตลาดอีก 3.12 บาทต่อลิตร
จะเห็นได้ว่า ในโครงสร้างราคาน้ำมันดังกล่าว กลุ่มผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ที่เติมแก๊สโซฮอล์ 91 ไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ใช้รถบรรทุก รถกระบะ ที่เติมดีเซล
สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 6 ส.ค. 2566 ติดลบอยู่ที่ 50,438 ล้านบาท โดยติดลบในส่วนบัญชีน้ำมัน 5,323 ล้านบาทและบัญชี LPG ที่ 45,115 ล้านบาท
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ