ความหวังภาคประชาชนแม้ไม่สามารถสรรหาจุฬาราชมนตรี? และความท้าทายจุฬาราชมนตรีคนใหม่

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) 20 พ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 20187 ครั้ง


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 นี้ จะมีการสรรหาแต่ชาวบ้านเรียกว่าเลือกตั้งผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี คนที่ 19 ของราชอาณาจักรไทย ซึ่งชาวบ้าน นักวิชาการแม้พวกไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกจุฬาราชมนตรีได้ออกมาส่งเสียงดังเป็นพิเศษในการสรรหาครั้งนี้อาจจะเป็นเพราะตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรอบ 13 ปี ได้ส่งผลกระทบต่อประชาคมมุสลิมไทย อีกทั้งในอนาคตครั้งหน้าจะยิ่งส่งผลมากขึ้น อย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เป็นข่าวดังโดยเฉพาะในโลกโซเชี่ยล มีการสัมภาษณ์ผู้คนทางสื่อต่างๆทั้งในพื้นที่ชายแดนและส่วนกลาง อีกทั้งมีการจัดเสวนาทางวิชาการทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ดร.อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม (Dr. A. Mukem). อาจารย์จากศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ทัศนะว่า

“แม้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเลือก “ท่านจุฬาราชมนตรี” หรือ “คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด” ได้ แต่ก็สามารถขับเคลื่อนผ่านการให้ความรู้ แสดงความเห็น “ทำให้เป็นประเด็นที่สามารถถกเถียงกันได้อย่างมีเหตุและมีผล”

ใครมีสิทธิลงคะเเนนจุฬาราชมนตรี

สำหรับกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการสรรหาจุฬาราชมนตรี ระบุว่า 1.เมื่อตำแหน่งจุฬาราชมนตรีว่างลง ให้ รมว.มหาดไทยประกาศกำหนดวัน เวลา และสถานที่ประชุมสรรหาและให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีและแจ้งให้กรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศทราบ การกำหนดสถานที่ประชุม ให้กำหนดสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งเพียงแห่งเดียว 2.ในการประชุมสรรหาและให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ต้องมีกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมาประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น จึงจะเป็นองค์ประชุม และให้ รมว.มหาดไทยหรือผู้ซึ่ง รมว.มหาดไทยมอบหมายเป็นประธานในที่ประชุม การให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีให้กระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ 3.ในการสรรหาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ให้กรรมการอิสลามประจำจังหวัดซึ่งอยู่ในที่ประชุมแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อผู้ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 (พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540) เพื่อให้กรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่อยู่ในที่ประชุมลงคะแนนให้ความเห็นชอบเป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีได้ 1 ชื่อ การเสนอนั้นต้องมีกรรมการอิสลามประจำจังหวัดรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน ถ้ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อเพียงชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศให้เป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีตามมาตรา 6 วรรคสอง ถ้ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อมากกว่า 1 ชื่อแต่ไม่เกิน 3 ชื่อ ให้ประธานในที่ประชุมจับสลากกำหนดหมายเลขประจำตัวของผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อให้ที่ประชุมลงคะแนนให้ความเห็นชอบตามข้อ 4 ถ้ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อมากกว่า 3 ชื่อ ให้ประธานในที่ประชุมจับสลากเลือกรายชื่อกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแต่ละจังหวัดที่อยู่ในที่ประชุม จังหวัดละ 1 ชื่อเป็นคณะกรรมการสรรหาเพื่อดำเนินการสรรหาผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เหลือเพียง 3 ชื่อโดยวิธีลงคะแนนลับ และเมื่อมีผู้ได้รับการเสนอชื่อจำนวน 3 ชื่อแล้ว ให้ดำเนินการตามวรรคสาม 4.ในการลงคะแนนให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ให้ใช้บัตรลงคะแนนตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด และระยะเวลาในการลงคะแนน ให้เป็นไปตามที่ที่ประชุมกำหนด เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาลงคะแนนแล้ว ให้ประธานในที่ประชุมแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เป็นผู้ตรวจนับคะแนน ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด เป็นผู้ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศให้เป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีตามมาตรา 6 วรรคสอง ถ้ามีผู้ได้รับคะแนนสูงสุดเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมจัดให้มีการลงคะแนนใหม่เฉพาะผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดเท่ากันตามวิธีการที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งและวรรคสองอีกครั้งหนึ่ง ถ้ายังคงได้รับคะแนนเท่ากันอีก ให้ใช้วิธีจับสลากโดยประธานในที่ประชุมเป็นผู้จับ 5.ให้ รมว.มหาดไทยเสนอชื่อผู้ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศให้เป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีตามข้อ 3 วรรคสอง หรือตามข้อ 4 วรรคสองหรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี ไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรี อ่านเพิ่มเติม “พระราชบัญญัติ การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐” ใน http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%A188/%A188-20-9999-update.htm

คำถามทำไมรีบสรรหาจุฬาราชมนตรี

มีคำถามในโลกโซเชี่ยลจำนวนมาก ว่าทำไมรีบสรรหาจุฬาราชมนตรีโดยเฉพาะจากนักวิชาการหลายท่าน เช่น รศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ จากมอ.ปัตตานี รศ.ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ดร.อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม (Dr. A. Mukem). อาจารย์จากศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนอกจากนี้นักศึกษาและเยาวชนจากวิทยาลัยเทคโนโลยีสันติวิทย์ สงขลาได้ออกมาเคลื่อนไหว ชูต้าน “เร่งรีบเลือกตั้งเมื่อ

3 พฤศจิกายน 2566 หน้ามัสยิดกลางสงขลา”โดยให้เหตุผลว่า “จุฬาราชมนตรี มาจากการเลือกของกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (กอจ.) ทั่วประเทศ แต่ กอจ.กำลังจะหมดวาระและจะมีการเลือกตั้งกัน22 พฤศจิกายนนี้ซึ่งนี่ก็ต้นเดือนพฤศจิกายนแล้ว จุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.) โดยตำแหน่ง ต้องทำงานกับ กอท. ซึ่งมีส่วนประกอบมาจาก กรรมการอิสลามประจำจังหวัดส่วนหนึ่งหมายความว่า ถ้ารีบเร่งให้มีการเลือกจุฬาราชมนตรีคนใหม่ โดย กอจ.ชุดเดิม (ทั้งๆที่ตัวเองกำลังจะหมดวาระวันที่ 26 พฤศจิกายน นี้ และไม่รู้ว่าจะได้กลับมาหรือไม่) จุฬาราชมนตรีคนใหม่อาจถูกตั้งคำถาม กับความชอบธรรมได้ ซึ่งไม่ควรเป็นแบบนั้น และจุฬาฯคนใหม่ต้องทำงานกับ กอท.ชุดที่ (อาจ) ไม่ได้เป็นคนเลือกตัวเองมาอีกด้วยนี่เป็นความเห็นส่วนบุคล ท่านสามารถเห็นต่างได้”

ผศ.ดร.ฆอซาลี เบ็ญหมัด ได้สะท้อนในกรอบอิสลาม/หลักสิยาซะฮชัรอียะฮ์-รัฐศาสตร์อิสลามในการเลือกผู้นำ โดยให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการรีบเร่งกระบวนการสรรหาจุฬาราชมนตรี นั้นว่า “ความจริง โดยหลักการแล้ว การสรรหาผู้นำสังคมมุสลิมเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่มีหลักการอิสลามรองรับชัดเจน และเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันมาเป็นปกติในอดีตกาล แต่ในโลกร่วมสมัย สังคมและสถานการณ์บ้านเมืองได้เปลี่ยนไปจากสังคมในอดีตชนิดฟ้ากับดิน การปกครองของโลกร่วมสมัยมีรูปแบบที่แตกต่างไปจากในอดีต มีการวางระบบรองรับกรณีที่ผู้นำเสียชีวิต โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมแต่อย่างใด แม้ว่าโดยส่วนตัว คิดว่าช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงไว้อาลัยท่านอดีตจุฬาราชมนตรี มากกว่าการวิวาทะในเรื่องการหาจุฬาราชมนตรีคนใหม่ แต่จากข่าวที่ว่า คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีมติเสนอให้กระทรวงมหาดไทยกำหนดการสรรหาจุฬาราชมนตรีในวันที่ 22 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ จึงเป็นประเด็นที่สมควรนำมาพูดคุย โดยไม่อาจเลี่ยงได้โดยส่วนตัวคิดว่า เพื่อศักดิ์ศรีและความสง่างามด้วยประการทั้งปวง ควรสรรหาจุฬาราชมนตรีหลังได้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชุดใหม่ เพราะขอบข่ายอำนาจของจุฬาราชมนตรี ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ที่ไม่มีใครสามารถทำการแทนได้เพราะระบบกฎหมายของประเทศไทย กำหนดให้จุฬาราชมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย แต่การทำงานให้ใช้มติเสียงส่วนใหญ่ ฉะนั้นการไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในช่วงเวลาสั้นๆ ระหว่างรอกระทรวงมหาดไทยประกาศในราชกิจจานุเบกษาแต่งตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชุดใหม่อีก 2-3 เดือนข้างหน้า ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เป็นอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใดตลอดจนความเหมาะสมในความรู้สึกของกระแสสังคม ที่ให้สรรหาจุฬาราชมนตรี ก่อนผู้สรรหาจะพ้นตำแหน่งเพียงแค่ 2-3 วันเป็นฟิตนะฮ์ (เสียหาย) ที่จะทำให้ถูกมองว่า มีเป้าหมายอะไรบางอย่างอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ?แม้ว่าการเลือกทางหนึ่งทางใดจาก 2 ทางนี้ เป็นสิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้องที่สามารถกระทำได้ ไม่ผิดระเบียบและกฎหมายใดๆ ไม่ว่ากฎหมายบ้านเมืองหรือบทบัญญัติศาสนา ส่วนความถูกต้องเหมาะสม ก็เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องใช้ดุลพินิจอ่านเกมส์ให้ขาด ตามให้ทัน มองให้ทะลุปรุโปร่งว่าการรีบเร่งสรรหาจุฬาราชมนตรีคนใหม่ เป็นการแสดงความจริงใจที่จะป้องกันไม่ให้ผู้มีสิทธิ์ต้องสูญเสียสิทธิ์จากการไม่มีจุฬาราชมนตรี เช่นกรณีการสมรสและการหย่า ที่ต้องอาศัยอำนาจจุฬาราชมนตรีในฐานะผู้นำมุสลิม ต้องการการประสานงานอย่างเร่งด่วนกับหน่วยงานราชการและองค์กรต่างประเทศ ต้องการความเร่งด่วนในการเยียวยาความอ่อนแอของสังคมมุสลิม การช่วยเหลือคนยากจน แม่หม้าย เด็กกำพร้า การแก้ปัญหายาเสพติดในสังคมมุสลิม หรืออื่นๆหรือต้องการนำหลักการชูรอ (ที่ไม่ใช่การชูรอในอิสลามตามทัศนะของนักคิดนักวิชาการอิสลามชั้นนำ ) มาใช้ มากกว่าการตามหลักกฎหมายบ้านเมือง เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมไม่ให้ปั่นป่วน และป้องกันการทะเลาะเบาะแว้งจากการแย่งชิงตำแหน่ง หรือเพราะช่วงชิงกันได้เปรียบ ในฐานะที่ยังมีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน เพื่อการรักษาสถานะเดิม สถานภาพเดิมของผู้ที่อยู่ในอำนาจปัจจุบัน”

อย่างไรก็แล้วแต่ก็มีคนเห็นด้วยไม่น้อยเช่นอาลีคาน ปาทานให้รีบสรรหาจุฬาราชมนตรีโดยท่านกล่าวว่า “การเร่งสรรหาผู้นำคนใหม่หลังจากที่ผู้นำคนเก่ากลับคืนสู่อัลลอฮ์นั้น..ถือเป็นสิ่งที่พึงกระทำ.. และไม่ถือเป็นการไม่ให้เกียรติต่อผู่นำคนเก่าที่เพิ่งจากไป” ด้วยเหตุผลผลดังนี้ “ขอท่านทั้งหลายจงพิจารณาเหตุการณ์ต่อไปนี้” 1. หากย้อนมองเมื่อวันที่ท่านนบีมุฮัมมัด ซล. กลับคืนสู่อัลลอฮ์ ในวันเดียวกันนั้นบรรดาซอฮาบะฮ์ต่างก็เริ่มการสรรหาผู้นำ (คอลีฟะฮ์) กันทันที ณ สถานที่แห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า..ซะกีฟะฮ์บะนีซาอิดะฮ์.. ในวันนั้นไม่มีซอฮาบะฮ์ท่านใดออกมาบอกว่าให้หยุดก่อน อย่าเพิ่งเลือกผู้นำ และไม่มีซอฮาบะฮ์ท่านใดตั้งข้อสังเกตุว่าการการดังกล่าวนั้นอาจเป็นการไม่ให้เกียรติแก่ท่านนบี ซล. 2. ก่อนที่ท่านอบูบักร์ รด. จะกลับคืนสู่อัลลอฮ์ ท่านได้คัดเลือกตัวแทนหลังจากท่านไว้แล้ว และเมื่อท่านรู้ว่าท่านกำลังจะจากไป ท่านก็ได้เร่งดำเนินการสถาปนาท่านอุมัร รด. เป็นผู้นำต่อจากท่านทันทีโดยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ (โดยผ่านการเห็นชอบของ อะลุ่นอัลลิวัลอะก็อต) 3. หลังจากที่ท่านอุมัร รด. จบชีวิต ผู้ที่ท่านอุมัร รด. ได้คัดเลือกไว้กลุ่มหนึ่งก็ได้ดำเนินการสรรหาผู้นำคนใหม่ทันที รวมไปถึงในยุคของซัยยิดินา อาลี รด. ถึงแม้จะมีฟิตนะห์ที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้น แต่การสรรหาผู้นำก็มีขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน เหตุการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ถึงแม้รูปแบบและวิธีการในการสรรหาผู้นำแต่ละท่านจะแตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันทั้งหมดก็คือ ..การเร่งสรรหาผู้นำคนใหม่.. และจากเหตุการณ์ที่นำมากล่าวนี้ อุลามาอในสายรัฐศาสตร์อิสลามเกือบทั้งหมดต่างเห็นตรงกันว่า : การสรรหาผู้นำนั้นสมควรมี่จะดำเนินการโดยเร็ว และบางส่วนถึงขนาดวางเงือนไขว่าสมควรที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน ที่กล่าวมานั้น คือกรณีของการสรรหาผู้นำสูงสุด (คอลีฟะฮ์) แต่สำหรับผู้นำกิจการศาสนาในประเทศไทยหรือที่เรียกกันว่า จุฬาราชมนตรี นั้น อาจไม่จำเป็นต้องรีบเร่งให้เสร็จโดยด่วน หรือภายใน 3 วัน เหมือนที่อุลามะฮ์ว่าไว้ก็ได้ เพราะอำนาจรับผิดชอบมิได้มีสูงเหมือนคอลีฟะฮ์ แต่ก็ไม่ควรเฉื่อยแฉะเชื่องช้าจนเกินไป และหากสามารถที่จะเร่งสรรหาได้ก็ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด และไม่ถือเป็นการไม่ให้เกียรติต่อผู้นำท่านเก่าอย่างแน่นอน

หลังจากนั้นท่านได้อธิบายเพิ่มเติม ข้อเท็จจริง 1.จุฬาเสียชีวิตในขณะที่กรรมการชุดปัจจุบันยังไม่หมดวาระ 2. ไม่ว่าใครก็อยากจะมีส่วนร่วมในการสรรหาจุฬาท่านใหม่ ไม่ว่าจะกรรมการชุดเก่า หรือคนที่กระหายอยากจะเป็นกรรมการชุดใหม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ก้อคงไม่แปลกที่ชุดเก่าอยากจะรีบจัดการในยุคของตน เพราะเขายังไม่หมดวาระ และคงไม่แปลกที่คนที่อยากจะเป็นกรรมการชุดใหม่อยากจะให้ยืดเวลาให้ช้าออกไป เพื่อที่ตนจะได้มีสิทธิ์ในการเลือกคนที่ตนอยากจะผลักดัน ส่วนแนวคิดที่ว่า ชุดเก่าหวงอำนาจเลยให้รีบเลือก พูดตรงๆก็ต้องบอกว่ามีความเป็นไปได้ แต่ก้อควรมองอีกมุมด้วยนะครับว่า ที่ไม่อยากให้รีบเลือกเพราะกระหายอยากได้อำนาจหรือเปล่า อยากเข้าไปมีสิทธิ์เลือกเพื่อจะผลักดันคนในฝั่งของตนหรือเปล่า เป็นได้ทั้ง 2 มุม ฉะนั้น กลับไปดูที่หลักการและข้อเท็จจริงเถิดครับ หลักการคือ ส่งเสริมให้ทำการสรรหาโดยเร็ว และข้อเท็จจริงคือ กรรมการชุดปัจจุบันเขาก็ยังไม่หมดวาระ สุดท้าย ต่อให้กรรมการจังหวัดชุดนี้เป็นผู้สรรหา ก็ไม่มีผลให้พวกเขากลับมาเป็นกรรมการในสมัยหน้านะครับ เพราะยังไงเขาต้องผ่านการคัดเลือกจากอิหม่ามในจังหวัดของเขา ไม่เกี่ยวกับจุฬา แต่ก้อมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะกลับมาในส่วนของที่ปรึกษา หรือกรรมการกลางในส่วนโควตาจุฬา ท้ายที่สุด ขอให้ท่องจำเอาไว้ว่า เขายังไม่หมดวาระ เขายังไม่หมดวาระ และหากมีใครที่ยังจะมองโลก มองคนในแง่ร้าย ก็ขอให้มองให้รอบด้านอีกซักหน่อย ถ้าคิดว่าเขาหวงอำนาจ ก็ต้องคิดด้วยว่าคนที่อยากจะให้เลื่อนออกไปนั้นมีวาระแอบแฝงรึป่าว มีอุดมการณ์บางอย่างไม่ตรงกับชุดเก่าเขารึป่าว(อย่าให้เล่า เพราะมันยาว) มีความไม่พอใจอะไรแอบแฝงอยู่ในใจรึป่าว หรือกระหายอยากมีตำแหน่ง กระหายอยากมีสิทธิ์ผลักดันคนในฝั่งของตนรึป่าว เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงมันก้อเป็นไปได้ทั้ง 2 มุม

นอกจากนี้เชิงประจักษ์ที่ผ่านมากว่ากรรมการประจำจังหวัดจะถูกรับรองบางคนนานถึงหกเดือนก็จะส่งผลการสรรหาจุฬาราชมนตรีตามมาเป็นลูกโซ่

ความคาดหวังและความท้าทาย

แม้จุฬาราชมนตรีจะมีอำนาจหน้าที่ แค่

(๑) ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม
(๒) แต่งตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
(๓) ออกประกาศแจ้งผลการดูดวงจันทร์ตามมาตรา ๓๕ (๑๑) เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา
(๔) ออกประกาศเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม

แต่ท่านก็เป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการบริหารกิจการอิสลามผ่านการบริหารองค์กรอิสลาม ได้แก่ มัสยิดหรือคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย “ทิศทางการบริหารองค์กรอิสลามกับการพัฒนาประชาคมมุสลิมไทย” สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการองค์กรอิสลาม ได้แก่ มัสยิดหรือคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ โดยเฉพาะ ประเด็นการศึกษา ศาสนา สังคมมุสลิมและต่างศาสนิก โดยเฉพาะการสอนต่อนโยบายจุฬาราชมนตรีอาศิส พิทักษ์คุมพลท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถานการณ์โลกในประเด็นโรคหวาดกลัวอิสลาม Islamophobia แนวคิดสุดโต่งที่ใช้ศาสนาอ้างเพื่อทำลายชีวิตและทรัพย์สินผู้อื่น มีปัญหามากมายที่เป็นผลพวงโดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างสองศาสนิกซึ่งท่านส่งเสริมการสร้างความสมานฉันท์เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม ผ่านโครงการต่างๆ

เช่น จัดตั้งสถาบันวะสะฏียะฮ์ เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักศาสนิกชนของศาสนาอิสลามแห่งสายกลางส่งเสริมการสร้างความเข้าใจระหว่างผู้นับถือต่างศาสนาอย่างเป็นรูปธรรมจัดตั้งสภาเครือข่ายด้านมนุษยธรรมเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อเพื่อนมนุษย์ โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา

ส่งเสริมชมรมผู้นำศาสนาอิสลามรุ่นใหม่ เพื่อให้เข้าใจหลักคำสอนทางศาสนา สังคม วัฒนธรรม และการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความเชื่อหลากหลายส่วนด้านเศรษฐกิจ จำเป็นต้องส่งเสริมระบบซะกาตอย่างจริงจัง ตั้งกองทุนซะกาตประจำมัสยิด หรือสำนักงานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เพื่อการช่วยเหลือคนยากจนและคน 8 ประเภท จริงอยู่ วันนี้ สังคมมุสลิมมีการจ่ายซะกาต มีการช่วยเหลือกัน แต่ยังไม่เป็นระบบดังที่อิสลามต้องการ รวมถึงจัดตั้งสถาบันการเงินรองรับการทำงานสร้างรายได้ กลุ่มออมทรัพย์ของมัสยิด สามารถเป็นที่พึ่งพาของชุมชนได้ สามารถทำงานได้ และจัดตั้งกองทุนฮัจญ์ เพื่อการออมเงินเพื่อการประกอบพิธีฮัจญ์
ในส่วนสตรีและเยาวชนก็มีความสำคัญไม่น้อยว่าจะดึงพวกเขาในสัดส่วนคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยอย่างไรให้มากกว่าเดิม

นางโซรยา จามจุรี ให้ทัศนะในเวทีเสวนาออนไลน์ :เรื่อง “จุฬาราชมนตรีและคณะกรรมการอิสลาม:ความหวังและหมุดหมายใหม่ ร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมมุสลิม” เมื่อวันเสาร์ที่ 11 พ.ย.66ว่า “เสียงสะท้อนของผู้หญิงต่อการสรรหาจุฬาราชมนตรีและกรรมการอิสลามซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงมีโอกาสสะท้อนเสียงสู่สาธารณะ ต่อเรื่องสำคัญที่กำหนดความเป็นไปของชีวิตทั้งหญิง-ชายในชุมชนและสังคมมุสลิมในขณะที่ผู้เขียนเสนอ ให้กรรมการอิสลามทุกคนที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงร่วมใช้กระบการชูรอ(ปรึกษาหารือ)สรรหาจุฬาราชมนตรีเพื่อเป็นแบบอย่างการเลือกคณะกรรมการอิสลามแต่ละจังหวัดที่มีการเลือกหลังจากนี้และร่วมกันทำงาน อย่างโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้เพื่อนำพาประชาคมมุสลิมในอนาคตที่มีความท้าทายนานับประการ “การคัดสรรเป็นการภายในสังคมมุสลิมไทย ให้เป็นที่ยอมรับ ให้เข้าใกล้กระบวนการชูรอให้มากที่สุด น่าจะเป็นคุณูปการต่อสังคมมุสลิมไทยมากกว่า (ท่ามข้อกล่าวหาว่ามีนักการเมืองหนุนหลัง)แล้วนำเสนอชื่อเพียงท่านเดียว ต่อที่ประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วราชอาณาจักร ซึ่งเป็นองค์ประชุมในการคัดสรรที่ประชุม ทำหน้าที่เป็นตัวแทนมุสลิมฯ แต่ละจังหวัดฯ ให้การสัตยาบรรณยอมรับผู้นำถ้าทำได้ น่าจะสง่างามดีมากครับ”

สมชาย เกิดอยู่ ได้แสดงทัศนะ ในประเด็นกิจการฮาลาลในอนาคตน่าจะเป็นหนึ่งในเจ็ดนโยบาย ที่มีความท้าทายของจุฬาราชมนตรีคนใหม่ด้วยเช่นกันโดยท่านให้ทัศนะ ว่า “หลังได้ข่าวว่านายกเศรษฐา ทวีสิน สั่งให้ตั้งกรมฮาลาลภายใต้การบริหารของกระทรวงอุตสาหกรรม ยังไม่มีรายละเอียดมากนัก มีแค่ให้ไปคุยกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ไปทำการบ้านมา 1.เรื่องนี้คือหนึ่งในเจ็ดนโยบายที่ผมกำลังจะส่งสัญญาณบอกแคนดิเดทจุฬาราชมนตรี ให้สนใจเรื่องนี้ เพราะพวกเรามองเห็นว่า กิจการฮาลาลนั้นไม่มีกฎหมายเฉพาะ เราควรจัดการแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.อิสลาม พศ.2540 ว่าด้วยเรื่องกิจการฮาลาลโดยเฉพาะ และในหมวดนี้ จะต้องมีเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคอาหารฮาลาลด้วย ซึ่งจะครอบคลุม 2. #กรรมการกลางฯไม่สนใจด้านคุ้มครองผู้บริโภคมุสลิม พวกเราถูกหลอกลวงให้บริโภคอาหารไม่ฮาลาล อาทิ อิสลามทานได้ ตราฮาลาลเขียนเองแต่ไม่ฮาลาลจริง วัวปลอมมาจากหมู สิ่งเหล่านี้พวกเขาไม่ทำเพราะไม่มีกฎหมายให้ทำ การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคมันไม่ก่อให้เกิดรายได้ พวกเขาจึงไม่ทำ รายเล็กรายน้อยที่ละเมิดตราฮาลาล กรรมการกลางฯไม่ทำ กรรมการกลางฯจะทำจับปรับเฉพาะเจ้าของผลิตภัณฑ์รายใหญ่ที่ขอรับรองแล้วทำพลาด ไม่ขอลงรายละเอียดตรงนี้นะครับ 3.ถ้ากรรมการกลางฯยังไม่โปร่งใส ผู้ปฏิบัติงานที่มีรายได้สูงไม่เสียเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคลในฐานะเป็นพลเมืองดี ผมก็สนับสนุนให้รัฐบาลเข้ามาบริหาร แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น มุสลิมก็อย่าไปกล่าวหาว่าเมื่อรัฐบาลมาดูแลเรื่องฮาลาลแล้วจะรับรองหมูให้ฮาลาล ไม่น่าเชื่อว่าคำพูดนี้เคยออกมาจากผู้อ้างตัวว่ารู้ศาสนา 4.ผมสนับสนุนให้รัฐเข้ามาบริหารกิจการฮาลาล ไม่ว่าจะเป็นองค์การมหาชน หรือกรมฮาลาลภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมก็ตาม จะเท่ากับเป็นการยกระดับกิจการฮาลาลให้สมาร์ทยิ่งขึ้น เป็นการพัฒนาบุคคลากรด้านฮาลาลอย่างเต็มที่ ที่ปรึกษาหรือผู้ตรวจอาจกลายเป็นข้าราชการประจำหรือลูกจ้างประจำ มีสิทธิประโยชน์มากมาย ไม่ต้องโดนหักหัวคิวเหมือนปัจจุบัน ขอทีเถอะนะ อย่าคุยโวว่าระเบียบฮาลาลไทยดีที่สุดในโลก แต่ความจริงคือปฏิบัติไม่ได้ 5.ที่ปรึกษาแบบเดิมๆ ได้ค่าปรึกษาประมาณ 2,000 บาทต่อเดือน ทราบว่าบางส่วน บางจังหวัดมีการหักหัวคิวเข้าส่วนกลาง กลางใครผมไม่ทราบ 2,000 บาทต่อเดือนมันไม่คุ้ม จึงขอรับรายปี 12 เดือนรับครั้งเดียวอีก 11 เดือนตรวจด้วยจดหมายEMS จึงมีช่องว่างให้สถานประกอบการทำผิดพลาดให้เห็นได้บ่อยๆ แต่บางรายที่อยู่ในกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลอาจเป็นที่ปรึกษานับ100ผลิตภัณฑ์ เอา 2,000*100 ดูครับว่ามีรายได้เดือนละเท่าไหร่ คนทำงานเสียภาษีรู้สึกยังไงครับ 6.ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีคณะยกร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พศ 2540 ความจริงภาคประชาชนเคยเสนอร่างแก้ไข พรบ.นี้ในยุค คสช.แล้ว ก็ควรสานต่อเพราะรัฐธรรมนูญเปิดช่องแม้จะฝ่าด่านมือ สส.และ สว.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: