แอมเนสตี้ เรียกร้องให้สิทธิประกันตัว 'วารุณี' – 'นักกิจกรรมทางการเมือง' คดี ม. 112

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 ก.ย. 2566 | อ่านแล้ว 3138 ครั้ง

แอมเนสตี้ เรียกร้องให้สิทธิประกันตัว 'วารุณี' – 'นักกิจกรรมทางการเมือง' คดี ม. 112

แอมเนสตี้ ประเทศไทยส่งข้อเรียกร้องถึง ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี ขอให้ใช้ความพยายามทั้งหมดเพื่อให้แน่ใจว่าบุคคลใดๆ ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกต้องได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมถึงยกเลิกข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงด้วย พร้อมทั้งเรียกร้องไปยังกรมราชทัณฑ์ ต้องดูแลเคารพสิทธิของผู้ต้องขัง และทำให้ทุกคนได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีและทันท่วงที สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ตามข้อกำหนดแมนเดลา

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2566 ที่หน้าทัณฑสถานหญิงกลาง กรมราชทัณฑ์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ‘เพื่อนเรามีสิทธิไหมคะ?’ เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้กับนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองและบุคคลที่ถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดีความ โดยมีนักกิจกรรมและประชาชนเข้าร่วมกว่า 20 คน

โดยระหว่างทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว ได้มีการจัดกิจกรรมครบรอบวันเกิดให้กับ ‘วารุณี’ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ที่มีอายุครบ 32 ปีบริบูรณ์ด้วย โดยมีน้องสาว เพื่อนของวารุณี และนักกิจกรรมร่วมกันจุดเทียน เป่าเค้ก และร้องเพลง Happy Birthday ให้กับวารุณีที่ยังอยู่ในเรือนจำ

สำหรับ ‘วารุณี’ เธอถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความแสดงออกทางออนไลน์เกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 และพระแก้วมรกต ปัจจุบันวารุณีถูกดำเนินคดีใน 3 ข้อหา ได้แก่ 1.มาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 2.มาตรา 206 ฐานเหยียดหยามศาสนา และ 3.ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ฐานนำข้อมูลที่มีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงและก่อการร้ายเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี แต่รับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน วารุณีเข้าไปอยู่ในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2566 เธอเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ที่อดอาหารประท้วง จำกัดการดื่มน้ำ เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า ปัจจุบันมีนักกิจกรรมที่ตกเป็นผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำออกมาเรียกร้องสิทธิการประกันตัว ยกเลิกข้อกล่าวหาทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และคืนสิทธิการประกันตัวระหว่างรอการพิจารณาคดีในชั้นศาล ในจำนวนนี้ ‘วารุณี’ เป็นหนึ่งในผู้ต้องหาที่เรียกร้องกระบวนการยุติธรรมคืนสิทธิประกันตัวให้ระหว่างต่อสู้คดี

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ประเทศไทย ฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีว่า แอมเนสตี้มีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำและผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วง 3 ข้อ ได้แก่

1. เรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้กับวารุณีที่กำลังอดอาหารประท้วง รวมถึงผู้ต้องขังที่เป็นนักโทษทางความคิดคนอื่นๆ

2. กรมราชทัณฑ์ต้องทำให้มั่นใจว่าจะดูแลและเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังอย่างดี และทำให้ทุกคนได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีและทันท่วงที สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ข้อกำหนดแมนเดลา)

3.ยกเลิกข้อกล่าวหาเเละการดำเนินคดีต่อประชาชนที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการเเสดงออกเเละการชุมนุมประท้วง ปล่อยตัวผู้ต้องขังทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข

“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลชุดใหม่ จะไม่เพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรือนจำและผู้ต้องขังคดีอื่น ๆ ไม่ใช่เพียงนักโทษทางความคิดและนำข้อเรียกร้องไปใช้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการให้สิทธิการประกันตัวกับผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี และฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคนอย่างเท่าเทียม

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ กล่าวย้ำว่า หัวใจสำคัญของสิทธิมนุษยชน คือการที่ทุกคนได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน เป็นธรรม และทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่ใช้บรรทัดฐานเดียวกันทุกคน การออกมาพูดเรื่อง ‘สิทธิการประกันตัว’ เพราะเรื่องนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights-UDHR) ข้อที่ 11 ระบุว่า ‘มนุษย์ทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสิน’ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญไทย มาตรา 29 วรรค 2 ที่ระบุว่า หากเป็นคดีอาญาให้สันนิษฐานก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด หมายความว่าก่อนจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเหมือนเขาเป็นผู้ทำผิดไม่ได้ แต่ปัจจุบันพบว่าเรื่องนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง

ด้านน้องสาวของวารุณี ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เผยว่า สิ่งที่หวังในวันเกิดของพี่สาวคือ การที่วารุณีได้สิทธิการประกันตัว เพราะเธอกังวลและกลัวว่าพี่สาวอดอาหารประท้วงในเรือนจำเป็นเวลานาน จะมีผลกระทบต่อสุขภาพร้ายแรงในระยะยาว ทุกวันนี้เธอหวังว่าวารุณีพี่สาวจะอดทน ไม่ย่อท้อ หรือเป็นอะไรไปกลางทาง ระหว่างต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว แม้จะอดเป็นห่วงเรื่องความไม่ปลอดภัยในเรือนจำไม่ได้ แต่เมื่อเป็นสิ่งที่วารุณีเลือก ในฐานะน้องสาวเธออยากให้วารุณีอดทน ส่วนครอบครัวจะคอยช่วยเหลืออยู่ข้างนอกไม่ไปไหน และจะอยู่เคียงข้างเสมอจนกว่าจะได้รับอิสรภาพ

“อยากให้เขาได้ประกันตัว เรารู้สึกว่าบางทีเราก็ต้องมีสิทธิเหมือนคดีอื่นๆ เพราะคดีที่หนักกว่านี้ เขายังได้ประกันตัวเลย เราไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ให้พี่สาวได้สิทธิในการประกันตัว ทั้งที่เขาไปรายงานตัวตลอด ไม่เคยขาด ไม่เคยคิดหลบหนี ทำไมศาลให้เหตุผลว่ากลัวพี่เขาจะหลบหนี บอกตรงๆ เราไม่เข้าใจเหตุผลว่า ทำไมไม่ให้สิทธิประกันตัว รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมกับพี่สาวเราเลย”

การทำกิจกรรมเชิงสัญลักษลักษณ์ด้วยการจัดงานวันเกิดให้วารุณีครั้งนี้ มีเป้าหมายสะท้อนเรื่องสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีทุกคน ไม่ใช่แค่นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ส่วนสิ่งที่น้องสาวของวารุณีหวังมากที่สุดคือการที่พี่สาวของเธอจะได้รับการปล่อยตัว หรือได้สิทธิการประกันตัวมาต่อสู้คดีด้านนอกเรือนจำให้เร็วที่สุด และหากวารุณีได้รับอิสรภาพน้องสาวของวารุณีและครอบครัวต้องการให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้คำมั่นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อการันตีความปลอดภัยในชีวิตของวารุณีว่าจะไม่ถูกทำร้าย ถูกทรมาน หรือถูกอุ้มหายเมื่อออกมาจากเรือนจำ

“วันเกิดปีนี้อยากให้พี่สาวได้รับอิสรภาพ คงจะเป็นของขวัญวันเกิดที่ดีมากสำหรับเขา เพราะตอนวันเกิดเราที่ผ่านมา เขาก็ขอโทษเราว่า ปีนี้ไม่ได้พาเราไปไหนเลย เพราะต้องติดอยู่ในเรือนจำ พอจะถึงวันเกิดเขา เราก็อยากพาเขาไปกินข้าวหรือไปทำอะไรที่อยากทำ มันคงจะดีไม่น้อย ถ้าคำขอนี้เป็นจริง”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: