'สถานการณ์สุขภาพจิตกับเหตุรุนแรง' แก้ไขเฉพาะจุด-หรือยกระดับแบบครบวงจร

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 พ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 35673 ครั้ง

จำนวนผู้ป่วยจิตเวชในไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วง 7 ปี 'สถานการณ์สุขภาพจิตกับเหตุรุนแรง' แก้ไขเฉพาะจุด-หรือยกระดับแบบครบวงจร แนะจัดทำแผนการกระจายทรัพยากรกำลังคนจิตแพทย์และสหวิชาชีพ อัตราตำแหน่งที่สอดคล้องกับสัดส่วนประชากรและภาระงาน

จำนวนผู้ป่วยจิตเวชในไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วง 7 ปี

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยว่า ร่องรอยความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ทั้งเหตุการณ์กราดยิง การฆ่าตัวตาย การก่อความวุ่นวายในที่สาธารณะ ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในสารตั้งต้นของหลายเหตุการณ์คือ อาการหรือโรคทางด้านจิตใจที่ส่งผลต่อการควบคุมความคิด อารมณ์ รวมถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม สำหรับประเทศไทย จำนวนผู้ป่วยจิตเวชมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วง 7 ปีให้หลัง โดยสถิติจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปี 2565 ไทยมีผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับบริการจำนวน 2,474,769 คน ขณะที่หากย้อนไปปี 2558 ตามรายงานมีจำนวนอยู่ที่ 1,399,584 คน หรือก็คือมีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคน1 ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของประชาชนมากขึ้น ทั้งการพัฒนาเครือข่ายการให้บริการสุขภาพจิต การปรับเปลี่ยนการให้บริการที่สอดคล้องกับความต้องการ รวมถึงการให้ความสำคัญกับองค์ประกอบทางสังคมที่เกี่ยวข้อง เช่น การอยู่อาศัย การศึกษา การทำงาน ฯลฯ โดยในปี 2019 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้นำเสนอแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตแบบครบวงจร โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนทุกคนมีสุขภาพจิตที่ดีและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเต็มที่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยมีกรอบแนวคิดที่ประกอบด้วย การยกระดับนโยบาย กฎหมาย และสิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพจิต รวมทั้งดำเนินการเรื่องการผลักดันให้มีการจัดบริการด้านสุขภาพจิตตั้งแต่ระดับชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลเฉพาะทาง โดยการปฏิรูประบบบริการสุขภาพจิตระดับประเทศ ควรเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อเรื่องสุขภาพจิต ควรคำนึงถึงความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต และการพัฒนาศักยภาพของระบบการดูแลสุขภาพจิต รวมถึงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิต

สวรส. ทบทวนวรรณกรรม เรื่องระบบบริการจิตเวชครบวงจร

จากทิศทางการทำงานด้านสุขภาพจิตในระดับสากลดังกล่าว สถาบันวิจัยวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงเห็นความสำคัญของการศึกษาองค์ความรู้และบทเรียนทั้งของต่างประเทศ และการจัดบริการในประเทศไทย เพื่อทบทวนให้เห็นถึงการจัดระบบบริการจิตเวชครบวงจร และประเมินความเป็นไปได้เบื้องต้นในการจัดระบบบริการจิตเวชครบวงจรในประเทศไทย โดย พญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายวิจัย สวรส. ที่ศึกษาเรื่องนี้ภายใต้การวิจัย “การทบทวนวรรณกรรม เรื่องระบบบริการจิตเวชครบวงจร” ย้ำว่า การพัฒนาระบบบริการจิตเวชครบวงจรเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้น จากการทบทวนนโยบายและมาตรการของประเทศที่มีผลประจักษ์ของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตแบบครบวงจรที่ประสบความสำเร็จ อาทิ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ จะให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิตในนโยบายสุขภาพองค์รวม โดยมีจุดร่วมที่เหมือนกัน 2 เรื่องหลักๆ คือ 1.) มีการกำหนดนโยบายและแผนกลยุทธ์ด้านสุขภาพจิตโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทุกกลุ่มวัย 2) มีการขยายและพัฒนาศักยภาพการให้บริการด้านสุขภาพจิตไปสู่ชุมชน โดยเฉพาะการเข้าถึงการดูแลรักษา และฟื้นฟูสุขภาพจิต ตัวอย่างเช่น ออสเตรเลีย ที่เน้นความสำคัญการดูแลสุขภาพจิตชุมชนแบบบูรณาการคือ มีทีมสหวิชาชีพ การดูแลผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยติดยาเสพติดต่อเนื่องในชุมชน มีรูปแบบบริการที่หลากหลาย เช่น บ้านพักฟื้นฟูก่อนกลับสู่ชุมชน บริการเพื่อนช่วยเพื่อนที่ให้ผู้ป่วยจิตเวชที่หายดีพัฒนาเป็นผู้ช่วยเหลือต่อ หรือรูปแบบบริการจิตเวชที่มีความหลากหลายสำหรับประชากรแต่ละกลุ่มวัยเพราะมีความต้องการที่แตกต่างกัน

พญ.โชษิตา กล่าวต่อไปว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของประเทศไทย มีความก้าวหน้าทั้งในด้านกฎหมายสุขภาพจิต โดยมีการให้ความสำคัญระดับแผนยุทธศาสตร์ และการขับเคลื่อนในด้านการขยายบริการสุขภาพจิตและจิตเวชในชุมชน รวมถึงการเพิ่มศักยภาพของระบบริการจิตเวชในโรงพยาบาล เช่น นโยบายที่ต้องการให้การดูแลรักษาเกิดขึ้นอย่างครบวงจรและไร้รอยต่อ ความพยายามในการให้มีคลินิกบริการจิตเวชในโรงพยาบาลทุกจังหวัด สังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่ในทางปฏิบัติ จากการสำรวจพบว่า หลายพื้นที่ยังไม่มีความพร้อม โดยอุปสรรคสำคัญคือ การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ จิตแพทย์ และทีมสหวิชาชีพ เช่น พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา เภสัชกรด้านสุขภาพจิต ฯลฯ ทั้งในเชิงปริมาณ และทักษะการให้บำบัดด้านจิตเวชที่มีความยุ่งยากซับซ้อนและเรื้อรัง ตลอดจนการคงอยู่ของบุคลากรในระบบ โดยเขตสุขภาพที่ 3 มีจำนวนจิตแพทย์น้อยที่สุด และเขตสุขภาพที่ 5 มีจำนวนสหวิชาชีพด้านสุขภาพจิตน้อยที่สุด ด้านอัตราส่วนของจิตแพทย์ต่อการให้บริการประชาชน เขตสุขภาพที่ 8 มีจำนวนน้อยที่สุด คือ 0.39 ต่อแสนประชากร รองลงมาเป็นเขตสุขภาพที่ 9 อยู่ที่ 0.42 ต่อแสนประชากร ทั้งนี้ในภาพรวมของประเทศมีอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อการให้บริการประชาชนที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 1.18 ต่อแสนประชากร รวมถึงอีกปัญหาก็คือ การไม่มีพื้นที่หรือสถานที่ไม่เหมาะสมในการให้บริการจิตเวช ซึ่งสะท้อนว่าการสนับสนุนเชิงงบประมาณภายใต้นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข อาจยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ และหากพิจารณาภายใต้นิยามที่ต้องการให้ระบบบริการจิตเวชตอบโจทย์คนทุกกลุ่มวัยก็ยังมีช่องว่าง และยังแยกส่วนกันอยู่

แนะจัดทำแผนการกระจายทรัพยากรกำลังคนจิตแพทย์และสหวิชาชีพ อัตราตำแหน่งที่สอดคล้องกับสัดส่วนประชากรและภาระงาน

สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย จากข้อมูลและการสำรวจความเห็นของผู้บริหารโรงพยาบาลในระดับพื้นที่มีข้อเสนอว่า ควรมีการจัดทำแผนการกระจายทรัพยากรกำลังคนจิตแพทย์และสหวิชาชีพ อัตราตำแหน่งที่สอดคล้องกับสัดส่วนประชากรและภาระงาน โดยเฉพาะในระดับอำเภอ เพื่อให้เกิดการบูรณาการงานสุขภาพจิตในชุมชน รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับ โดยเน้นไปที่การกระจายทรัพยากรงบประมาณและบุคคลในพื้นที่ที่มีความขาดแคลนก่อน นอกจากนี้ต้องปรับการใช้รูปแบบวิธีการดูแลที่หลากหลายในการจัดบริการ นอกเหนือจากการใช้วิชาชีพในโรงพยาบาลภาครัฐ เพื่ออุดช่องโหว่ในบางบริการ เช่น ตัวอย่างออสเตรเลีย ที่มีผู้ให้บริการดูแลระยะสั้น บริการการช่วยประสานงานเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นรูปแบบการให้บริการที่ใช้งบประมาณน้อยกว่าการให้บริการโดยบุคลากรวิชาชีพด้วย รวมถึงการบูรณาการความรู้ความเข้าใจพื้นฐานด้านสุขภาพจิตแบบองค์รวมในการศึกษาระดับก่อนปริญญาของบุคลากรสาธารณสุขทุกสาขา ตลอดจนการค้นหาเชิงรุกและดูแลผู้ป่วยจิตเวชครั้งแรก ซึ่งมักเริ่มป่วยในช่วงวัยรุ่นในทุกพื้นที่ เพื่อลดขนาดปัญหาการดูแลฉุกเฉินและเรื้อรังในภาพรวม ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณในการดูแลกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในระยะยาวได้

กระจายผู้ป่วยจิตเวชให้รับยาที่ร้านยา

อีกตัวอย่างที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้คือ โครงการกระจายผู้ป่วยจิตเวชให้รับยาที่ร้านยา โดยกรมสุขภาพจิตได้เริ่มมีโครงการดังกล่าวเมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นรูปแบบการให้บริการที่สามารถเสริมให้บริการจิตเวชมีความเข้มแข็งและสามารถกระจายในทุกพื้นที่ได้ โดยต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงกลไกการบริหารจัดการ การเบิกจ่ายงบประมาณ และระบบสนับสนุน เพื่อยกระดับศักยภาพเภสัชกรร้านยา และพัฒนาหน่วยโรงพยาบาลพี่เลี้ยงในการติดตามอาการและผลไม่พึงประสงค์ ตลอดจนช่วยลดการเดินทาง และเพิ่มการเข้าถึงบริการสำหรับผู้ป่วย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ที่มีจิตแพทย์น้อย ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตได้มีการจัดทำคู่มือการดำเนินงานเพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชรับยาที่ร้านยา และมีการดำเนินการนำร่องใน

15 โรงพยาบาลจิตเวช อาทิ โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ โรงพยาบาลสวนปรุง โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ โดยมีโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาฯ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก

หวังงานวิจัยทำให้เห็นช่องว่างของการพัฒนาเชิงระบบที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

ด้าน ดร.ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สวรส. อธิบายเสริมว่า งานวิจัยเรื่องการทบทวนระบบบริการจิตเวชครบวงจรดังกล่าว นับเป็นฐานความรู้ที่สำคัญในการวางแผนพัฒนาการจัดระบบบริการจิตเวช ภายใต้การขับเคลื่อนที่ยึดหลักตามแนวทางสิทธิมนุษยชนสากล และแนวคิดสุขภาพแบบองค์รวมที่ควรมีความเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่ระดับบุคคล ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล องค์กร ชุมชน นโยบาย/กฎหมาย และประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการพัฒนาระบบบริการจิตเวชครบวงจรควรพัฒนาศักยภาพของการบริการด้านสุขภาพจิตในทุกมิติ โดยเฉพาะเครือข่ายสุขภาพจิตในชุมชน เพื่อให้เกิดการบริการและดูแลด้านสุขภาพจิตที่เข้าถึงง่ายและมีคุณภาพ ซึ่งร้านยาชุมชนถือว่าเป็นต้นทุนของชุมชน ที่มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถยกระดับให้มีบทบาทในการจัดการปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยชุมชน ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพเภสัชกรให้มีความรู้เรื่องยาจิตเวชและงานด้านสุขภาพจิตมากขึ้น ทั้งนี้ข้อมูลงานวิจัยทำให้เห็นช่องว่างของการพัฒนาเชิงระบบที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายที่ตอบสนองปัญหาที่เป็นอยู่ได้อย่างแท้จริง


ข้อมูลจาก
รายงานการทบทวนวรรณกรรมเรื่อง ระบบบริการจิตเวชครบวงจร, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข 1 (Department of Mental Health (dmh.go.th))

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: