ถอดรหัสความสำเร็จ โครงการโรงเรียนดีมีทุกที่ สู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

กองบรรณาธิการ TCIJ 21 ก.ค. 2566 | อ่านแล้ว 6429 ครั้ง

เป็นเวลา 2 ปีแล้ว ที่ “โครงการโรงเรียนดีมีทุกที่” โดยมูลนิธิเอเชียและพันธมิตร ได้ร่วมกันค้นหาโรงเรียนที่มีผู้อำนวยการเป็นผู้นำทางวิชาการ ได้รับการสนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษา และสามารถบริหารจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ จากทั่วประเทศไทย

เป็นระยะเวลา 2 ปีแล้ว ที่ทางโครงการโรงเรียนดีมีทุกที่ ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิเอเชีย และเหล่าพันธมิตร ได้ร่วมกันค้นหาโรงเรียนที่มีผู้อำนวยการเป็นผู้นำทางวิชาการ ได้รับการสนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษา และสามารถบริหารจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ จากทั่วประเทศไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดพลังบวกในสังคม และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถสรุปถอดบทเรียนได้ 3 ข้อ ที่เป็นปัจจัยทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จคือ 1)การใช้หลักบวร (บ้านวัดโรงเรียน), 2)ทักษะการอ่านออกเขียนได้ และ 3)ผู้นำทางวิชาการที่ยอดเยี่ยม


ดร.รัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและวิจัย มูลนิธิเอเชีย

ดร.รัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและวิจัย มูลนิธิเอเชีย ได้กล่าวว่า “โครงการโรงเรียนดีมีทุกที่เป็นการนำเสนอโรงเรียนต้นแบบที่มีผู้นำทางวิชาการที่เข้มแข็ง เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนท้องถิ่น สร้างผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมได้แม้ว่าจะอยู่ในบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน ด้วยมุ่งหวังให้เกิดแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาไทยในทุกมิติ โดยตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำโครงการฯ ใน 18 โรงเรียน จาก 7 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วยกรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, ลำพูน, กาญจนบุรี, ระยอง, มหาสารคาม และเชียงราย สามารถสรุปถอดบทเรียนได้ 3 ข้อ ที่เป็นปัจจัยทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จคือ

ใช้หลัก "บวร-ชุมชนเข้มแข็ง" ผสานสัมพันธ์ในการพัฒนาเด็ก


การใช้หลักบวร ที่ รร.วัดทุ่งลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี


เด็กจาก รร.บ้านห้วยต้มชัยยะวงศาอุปถัมภ์ อ.ลี้ จ.ลำพูน

1) การใช้หลักบวร (บ้านวัดโรงเรียน) หรือชุมชนเข้มแข็งมาผสานสัมพันธ์ในการพัฒนาเด็ก เกิดเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ พัฒนาทั้งในด้านวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต ได้แก่ 1.1) รร.วัดทุ่งลาดหญ้า “ลาดหญ้าวิทยา” อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีพระครูสิทธิกิจจานุวัตร เป็นผู้ทำนุบำรุงการศึกษาให้เป็นรากฐานของชุมชน ภายใต้ความร่วมมือของบ้าน ซึ่งมีผู้ปกครองและผู้นำชุมชนช่วยกันส่งเสริมพัฒนา และโรงเรียน ซึ่งเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนให้ความรู้นักเรียน 1.2) รร.บ้านห้วยต้มชัยยะวงศาอุปถัมภ์ อ.ลี้ จ.ลำพูน ที่ก่อสร้างขึ้นมาเพื่อให้นักเรียนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ได้รับการศึกษา เปิดสอนเป็นทั้งโรงเรียนปริยัติธรรมและฆราวาส เมื่อมีกิจกรรมต่างๆ ทางวัดก็จะให้ความร่วมมือสนับสนุน ส่งพระภิกษุไปให้ความรู้นักเรียน มีการสอนคุณธรรมควบคู่กับความรู้ทั่วไป ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ทักษะอ่านออกเขียนได้ พื้นฐานสำคัญของการศึกษา


รร.ฤทธิยะวรรณาลัย (ประถม) เขตสายไหม กทม.


รร.บ้านปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นโรงเรียนตั้งอยู่บนดอยสูง มีนักเรียนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์

2) ทักษะการอ่านออกเขียนได้ เป็นพื้นฐานสำคัญของการศึกษา ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ในวิชาต่างๆ อย่างมีคุณภาพ และสามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ได้แก่ 2.1) รร.ฤทธิยะวรรณาลัย (ประถม) เขตสายไหม กทม. ซึ่งได้มีการส่งเสริมเรื่องการอ่าน เพราะในปัจจุบันเด็กสามารถหาความรู้ได้จากอินเทอร์เนต โดยให้ความสำคัญตั้งแต่ชั้น ป.1 เมื่อโตขึ้นชั้น ป.2-ป.6 ก็จะเพิ่มเป็นอ่านคล่องเขียนคล่อง, การอ่านรู้เรื่อง, สามารถอ่านและจับหรือสรุปใจความได้ มีการทดสอบตลอดปี รวมถึงมีการจัดทำโครงการรักการอ่าน และ กิจกรรมโลกนิทาน, สำนวนชวนอ่าน, สนามหญ้าชวนอ่าน เป็นต้น 2.2) รร.บ้านปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นโรงเรียนตั้งอยู่บนดอยสูง มีนักเรียนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แบบ 100% รูปแบบการศึกษาเป็นแบบพหุวัฒนธรรม เรียนควบคู่กันไปแบบ 2 ภาษาคือภาษาถิ่นและภาษาไทย เพิ่มเติมด้วยภาษาอังกฤษและจีน โดยมีคุณครูชาติพันธุ์บางส่วนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเป็นผู้สอน นอกจากนี้ยังมีโครงการพี่สอนน้อง เพื่อนสอนเพื่อน ซึ่งในปัจจุบันนักเรียนสามารถฟังพูดอ่านและเขียนภาษาไทยได้เป็นอย่างดี

ผู้นำทางวิชาการที่ยอดเยี่ยม เป็นผู้ขับเคลื่อนหรือคอยผลักดัน


ผู้นำทางวิชาการที่ยอดเยี่ยม ที่ รร.สารคามพิทยาคม จ.มหาสารคาม


รร.วัดถนนกะเพรา อ.แกลง จ.ระยอง เป็นโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

3) ผู้นำทางวิชาการที่ยอดเยี่ยม เป็นผู้ขับเคลื่อนหรือคอยผลักดัน ในการส่งเสริมศักยภาพความสามารถ ของเด็กในด้านการศึกษาและอื่นๆ ได้แก่ 3.1) รร.สารคามพิทยาคม อ.เมือง จ.มหาสารคาม เป็นโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่พิเศษ ซึ่งมีผู้นำทางวิชาการที่เข้มแข็ง ที่ผ่านมามีการนำเทคโนโลยีมาส่งเสริมให้นักเรียนได้รู้จัก ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ได้แนะนำให้นักเรียนเข้าไปใช้บริการที่เว็บไซต์ www.thailandlearning.org ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรวบรวมแหล่งเรียนรู้ออนไลน์จากทั่วโลก ที่สามารถใช้บริการได้ 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 3.2) รร.วัดถนนกะเพรา อ.แกลง จ.ระยอง เป็นโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาปี 2562 ที่ได้นำความอิสระในการสร้างหลักสูตรมาเปิดโอกาสให้ตัวเอง มีจุดเน้นในการจัดการศึกษาว่าโรงเรียนสร้างสรรค์ นวัตกรน้อยสู่สากล มุ่งหวังจะให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักต่อยอดอาชีพในชุมชน

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาในข้างต้น ถือเป็นผลที่ได้รับจากการจัดทำโครงการโรงเรียนดีมีทุกที่ ในตลอดระยะ เวลาที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะมีเรื่องที่น่าสนใจอีกหลายอย่างที่สามารถนำมาเป็นบทเรียน หรือต่อยอดให้กับนัก วิชาการ, ผู้อำนวยการโรงเรียน หรือหน่วยงานราชการต่างๆ โดยผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook : โรงเรียนดีมีทุกที่ หรือสอบถามที่โทรศัพท์ 062-7341267

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: