ปี 2561-2565 การจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐลดลงอย่างต่อเนื่อง

กองบรรณาธิการ TCIJ 21 ส.ค. 2566 | อ่านแล้ว 26350 ครั้ง

ข้อมูลจากรายงานผลการปฏิบัติตามกฎหมายจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐ ประจำปี 2561-2565 พบการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 10,594 คน ในปี 2561 เหลือเพียง 3,726 คน ในปี 2565

เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงาน "เรื่อง การจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556" ดังนี้

1. รับทราบรายงานผลการปฏิบัติตามกฎหมายจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐ ประจำปี 2561-2565 และให้หน่วยงานของรัฐซึ่งมีผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป เร่งรัดดำเนินการจ้างงานคนพิการตามที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วนภายในปี 2566 และจัดทำรายงานการจ้างงานคนพิการประจำปีต่อกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ (พม.) เสนอ

2. ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นและข้อเสนอแนะของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รายงานว่า

1. พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 มาตรา 33 บัญญัติให้เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการหรือหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงกำหนดจำนวนที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจะต้องรับคนพิการเข้าทำงาน  และมาตรา 35 บัญญัติให้ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 หรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่รับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 หน่วยงานของรัฐ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้นอาจให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะควก ล่ามภาษามือหรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดในระเบียบ

2. รายงานผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่ผ่านมา

2.1 พม. ได้ดำเนินการส่งเสริมและติดตามการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฯ เช่น

2.1.1 ประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งมีผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ดำเนินการจ้างงานคนพิการให้ครบตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนดในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี

2.1.2 ชี้แจงแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐเพื่อส่งสริมการเพิ่มอัตราการจ้างานคนพิการให้ครบตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนดในเดือนมีนาคมของทุกปี

2.1.3 มีหนังสือแจ้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงานอิสระ สถาบันการศึกษา และกระทรวงต่าง ๆ  เพื่อขอความร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมายและรายงานผลการจ้างงานคนพิการมายังกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ครั้งที่ 1 ในเดือนมิถุนายนของทุกปี และครั้งที่ 2 ในเดือนกันยายนของทุกปี)

2.1.4 รวบรวมข้อมูลรายงานผลการจ้างงานคนพิการประจำปีของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานในเดือนธันวาคมของทุกปี

2.1.5 มีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานของรัฐทุกแห่งเพื่อแจ้งรายงานผลการจ้างงานคนพิการในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

2.1.6 มีหนังสือถึงสถาบันการศึกษาสำรวจข้อมูลคนพิการที่กำลังจบการศึกษาเพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลในการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ รวมทั้ง สอบถามปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานของรัฐที่จ้างงานคนพิการไม่ครบตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการต่อไป

2.2 การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2561

2.2.1 ประเด็นการกำหนดให้การปฏิบัติงานตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐเป็นตัวชี้วัดการประเมินผลการปฏิบัติงานของหัวหน้าหน่วยงานระดับกระทรวง พม. ได้ประชุมหารือแนวทางร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. เมื่อเดือน ก.ย. 2562 เพื่อกำหนดให้การปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐเป็นตัวชี้วัดของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐในการประเมินผลการปฏิบัติงานในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ชี้แจงว่า การปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีทุกมติถือเป็นหน้าที่ของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐอยู่แล้วประกอบกับรายงานที่เสนอมีข้อมูลชัดเจนว่าหน่วยงานของรัฐแห่งใดปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนี้ไม่ได้ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐดังกล่าวและสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการประเมินผลการปฏิบัติงานของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐโดยไม่จำเป็นต้องกำหนดเป็นตัวชี้วัดเพิ่มเติม ทั้งนี้ ได้มีกำหนดในข้อกำหนดจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐแล้ว

2.2.2 ประเด็นการติดตามให้ กห. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตาม ดูแล และประสานงานการจ้างงานทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นคนพิการอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้รับการจ้างานในหน้าที่ความรับผิดชอบที่เหมาะสมในแต่ละกรณี ซึ่ง กห. ได้ดำเนินการรายงานการปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้ 

หน่วย:คน

ประจำปี

จ้างตาม มาตรา 33

จ้างตามมาตรา 35

รวม

2561

63

6,602

6,665

2562

51

7,990

8,041

2563

43

5,896

5,939

2564

38

2,890

2,928

2565

40

3,520

3,560

หมายเหตุ : ข้อมูล ณ วันที่ 27 ม.ค. 2566

3. คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2564 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณารายงานผลการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐ พบว่า มีหน่วยงานของรัฐที่จ้างงานคนพิการตามพระราขบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฯ ครบตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) พม. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (คศ.) และกระทรวงแรงงาน (รง.) ที่ประชุมจึงได้มีมติมอบหมายให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้หน่วยงานของรัฐเร่งรัดดำเนินการจ้างงานคนพิการตามที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วนภายในปี 2566 เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานของรัฐจ้างงานคนพิการให้ครบตามอัตราส่วนและเป็นการช่วยเหลือคนพิการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ปี 2561-2565 พบการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐลดลงอย่างต่อเนื่อง

4. รายงานผลการปฏิบัติตามกฎหมายจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐประจำปี 2561-2565 พบว่า การจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐลดลงอย่างต่อเนื่อง สรุปได้ ดังนี้

ประจำปี

จำนวนผู้ปฏิบัติงาน (คน)

จำนวนคนพิการที่ต้องรับเข้าทำงานตามกฎหมาย (อัตรา 100:1 คน)

ผลการจ้างงานคนพิการ

มาตรา 35 (คน)

มาตรา 35 (คน)

รวมการจ้างงานคนพิการ (คน)

คิดเป็นร้อยละ

2561

1,250,043

12,500

6,556

4,038

10,594

84.75

2562

1,522,752

15,228

3,327

2,930

6,257

41.09

2563

1,541,202

15,412

2,633

1,278

3,911

25.37

2564

1,762,214

17,622

2,801

783

3,584

20.33

2565

1,750,704

17,507

2,848

878

3,726

21.28

ข้อมูล ณ วันที่ 6 ม.ค. 2566 (หมายเหตุ : รายงานดังกล่าวไม่รวม กห. ทั้งนี้ กห. และ พม. แจ้งว่า เนื่องจากเป็นภารกิจด้านความมั่นคงจึงไม่สามารถแจ้งยอดเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในสังกัดต่าง ๆ ทั้งหมดได้)

เสนอเร่งรัดดำเนินการจ้างงานคนพิการตามที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วนภายในปี 2566

ดังนั้น พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการหารือร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำระบบการเรียนการสอนแบบไฮบริด (Hybrid) เพื่อให้คนพิการได้รับการพัฒนาศักยภาพ รวมถึงได้มีการหารือแนวทางการขับเคลื่อนการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐร่วมกับเครือข่ายสมาคมคนพิการและคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

4.1 ควรมีการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐเร่งรัดดำเนินการจ้างงานคนพิการตามที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วนภายในปี 2566 และจัดทำรายงานการจ้างงานคนพิการประจำปีต่อกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมติคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (ตามข้อ 3)

4.2 เสนอให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการรวบรวมรายงานผลการจ้างงานคนพิการของหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานภายใน 31 ธันวาคมของทุกปีและจัดทำประกาศหน่วยงานที่ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33 และมาตรา 35 ต่อสาธารณะอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: