พรรคประชาชาติไม่ยกมือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในขณะที่นักวิชาการมุสลิมหวังสังคมไทยจะเข้าใจสัจธรรมในอนาคต

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) 22 ธ.ค. 2566 | อ่านแล้ว 50030 ครั้ง


เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 ที่รัฐสภา มติสภาผู้แทนราษฎร ผ่านวาระ 1 รับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … หรือ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ทั้ง 4 ฉบับ

โดยเป็นการลงมติในครั้งเดียวทั้งร่าง 4 ฉบับ คือ ร่างฯ ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี, พรรคก้าวไกล, พรรคประชาธิปัตย์ และภาคประชาชน ในขณะที่แต่ในส่วนของพรรคประชาชาติ ซึ่งมีจุดยืนไม่เห็นด้วยก็ได้ให้เหตุผล

โดยนายซูการ์โน มะทา สส.ยะลา และเลขาธิการ พรรคประชาชาติ ระบุว่า พรรคมีนโยบายไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ หรือร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ย้ำ คัมภีร์อัลกุรอาน ระบุว่า ต้องยึดมั่นในชีวิตคู่สมรส เพศชาย-หญิง เพื่อขยายเผ่าพันธ์ให้มากขึ้น

“พี่น้องที่เคร่งครัดต่อศาสนานั้น จะต้องยึดมั่นในชีวิต ถ้าจะเป็นคู่สมรสได้ก็จะต้อง เป็นเพศหญิงกับเพศชายเท่านั้นเพื่อขยายเผ่าพันธุ์ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น …พวกผมพรรคประชาชาติ ไม่เคยมีความขัดแย้งใดๆ กับกลุ่ม LGBT”

นายซูการ์โน ระบุด้วยว่า ตนมีมุมมอง จุดยืนที่ชัดเจนว่า ยึดมั่นในหลักคำสอน ดังนั้นจะต้องทำหน้าที่ ที่ต้องมีความรับผิดชอบ มีคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชน แม้ว่าการลงมติเราจะพ่ายแพ้ในการลงมติ แต่เชื่อว่าในโลก อาคิเราะฮ์ เราและผู้สนับสนุนพรรคประชาชาติ เป็นผู้ชนะ (ชมรายละเอียด)

สำหรับนักวิชาการมุสลิมขอให้พรรคประชาชาติจงยืนหยัดบนสัจธรรม และอนาคตประชาชนชาวไทยจะเข้าใจเองแม้ วันนี้ในกระเเสคนไทยส่วนใหญ่อาจไม่เข้าใจ “ประเด็นสมรสเท่าเทียม”
เช่น

อาจารย์รุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ อาจารย์ด้านภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมลายา ประเทศมาเลเซีย ได้ให้ทัศนะเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม ดังนี้

1. พรรคประชาชาติที่มีผู้สนับสนุนเป็นมุสลิม ถือว่าเป็นพรรคตัวแทนของมุสลิมที่เลือกพรรคนี้ พรรคก็มีสิทธิที่จะทำหน้าที่ตรงนี้ (ถ้าเราจะติติงพรรคนี้ก็เกี่ยวกับวิธีการสื่อสารที่จะพูดยังไงให้คนที่ไม่ใช่มุสลิมได้เข้าใจในประเด็นนี้ ซึ่งสิ่งที่ต้องระวังคือพูดแล้วผลที่ตามมาต้องไม่เกิดการโจมตีอิสลามมากไปกว่านี้)

2. ประเทศไทยประกอบด้วยประชากรที่หลากหลายความเชื่อ หลากหลายวิถีชีวิต การที่ชาว LGBTQ+ ต้องการสมรสเท่าเทียมก็เป็นสิทธิของพวกเขาที่จะเรียกร้องให้มีได้

3. ขณะเดียวกันเราในฐานะมุสลิมก็มีสิทธิที่จะปกป้องหลักการของเราด้วยเช่นกัน ที่ไม่สามารถยอมรับการสมรสแบบนี้ได้ในสังคมมุสลิมของเรา
4. ถ้าพิจารณาอีกด้านการสมรสเท่าเทียมไม่ได้เกี่ยวกับเรา เพราะในอิสลามการแต่งงานต้องระหว่างเพศชายกับหญิงเท่านั้น ดังนั้น สมรสเท่าเทียมจึงไม่อาจเทียบกับการนิกะห์ตามหลักของอิสลาม

5. ข้อเรียกร้องที่มุสลิมในประเทศนี้ทำได้คือขอให้ระบุเป็นข้อยกเว้นว่า กฎหมายนี้ไม่ใช้กับมุสลิม ถ้าจะมีคนแย้งว่ายกเว้นไม่ได้ทุกคนต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายของไทย ประเด็นนี้ทำไมจะทำไม่ได้ในเมื่อกัญชาเสรียังมีข้อยกเว้นสำหรับคนอายุต่ำกว่า 20 ปี และสตรีมีครรภ์ แล้วถ้ามุสลิมจะเรียกร้องให้ยกเว้นเพราะขัดกับหลักศาสนาทำไมจะทำไม่ได้

6. “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”

มาตรา 31 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

7. ส่วนการปฏิบัติต่อมุสลิมที่เป็น LGBTQ+ สังคมมุสลิมก็ต้องเริ่มจากสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาที่จะโอบอุ้มดูแลอย่างเมตตา ไม่ใช่ผลักไสคุกคามข่มขู่ให้ออกไปจากศาสนา ให้ความรู้ความเข้าใจ ทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีก่อน

8. ยังมีปัญหาสังคมอื่นๆ อีกมากในสังคมมุสลิมเรากำลังเผชิญอย่างหนักหนาสาหัส เช่น ยาเสพติด ครอบครัวแตกแยก แม่เลี้ยงเดี่ยวเพราะชายไม่รับผิดชอบ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำทุกด้านที่นับวันถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ต้องอาศัยทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไข

ขณะที่ ผศ.ดร.อับดุลรอนิง สือแต และอัล-อัค อับดุลมะญีด อุปมา ได้อธิบายเมื่อวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน 2565 ผ่าน Clubhouse Young Muslim Assosiation of Thailand ถึง “การตีความ morality หรือศีลธรรมที่มุสลิมมองแตกต่างกับชุดจริยศาสตร์โลกเสรีนิยม” ว่า [ศีลธรรม] สิ่งสำคัญที่จะผิดพลาดไปมากคือการมองเห็นความชั่วร้ายที่อิสลามพูดถึงว่าเป็นการละเมิด “ศีลธรรม” (Morality) อย่างที่คนพูดๆ กัน เช่น เห็นการฆ่าคนตายคือการละเมิดชีวิตหนึ่งที่ผิดหลักศีลธรรมอันดีงาม… แต่เมื่อมามองคำอธิบายของการฆ่าคนในอัลกุรอานนั้นมันไปกว่านั้น นั่นคือ การฆ่าชีวิตหนึ่งนั้น “ประหนึ่งการฆ่าชีวิตทั้งหมด” นั่นจึงไม่ใช่ศีลธรรมแบบที่เราเข้าใจ แต่เป็นการบอกว่า สถานะของการฆ่าคนอย่างอธรรมแม้แต่เพียงคนเดียวคือการทำลายเผ่าพันธ์มนุษยชาติ (ไม่ต้องนึกถึงเลยว่า สงครามที่ทำลายชีวิตคนบริสุทธิ์นับหมื่นนับแสนจะเป็นเรื่องที่เลวร้ายสาหัสเช่นไรในมุมมองนี้)

เช่นเดียวกับการทำซีนา (ผิดประเวณี) มันจะไม่ใช่มุมมองแบบศีลธรรมแบบทั่วไป คือเป็นความผิดทางเพศระหว่างชายหญิงเท่านั้น แต่มันหมายถึงการทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นเพศหญิง ซึ่งไม่ใช่แค่การหลับนอนของชายหญิงอันเป็นส่วนตัว (คนอื่นอย่ามายุ่ง)

แต่เสมือนหนึ่งการยอมรับให้คนอื่นๆ มาทำเช่นนี้กับพี่สาวหรือน้องสาวตัวเองได้เช่นกัน

ดั่งที่ท่านนบีตั้งคำถามกับชายที่มาขออนุญาตทำซีนาว่า ถ้าคนมาขอทำซีนากับแม่ของท่าน กับน้องสาวพี่สาวของท่าน กับน้าสาวของท่าน ท่านจะว่าอย่างไร? ซึ่งชายคนนั้นก็บอกว่าไม่สามารถยอมรับได้… การทำซีนามันก็เสมือนกับการเหยียดหยามความเป็นผู้หญิงของทุกบ้าน ตัวอย่างพวกนี้ทำให้มุมมองต่อการเห็นความเลวไม่ใช่เป็น “ศีลธรรมทางศาสนา” แบบที่เราเคยเข้าใจ แต่มันคือการกระทำผิดต่ออารยธรรมมนุษย์ ต่อเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ ต่อธรรมชาติแห่งความดีงาม… อัลกุรอานมักเรียกความดีว่า “มะอรูฟ” หมายถึง “สิ่งมนุษย์รู้จักและคุ้นเคยกันดี” ขณะที่ความเลวนั้นเรียกว่า “มุงกัร”

ตามรากคำแล้วมันหมายถึง “สิ่งที่มนุษย์ไม่อาจยอมรับมันได้” ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์จึงปฏิเสธมัน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: