แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ยินดีที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายบังคับใช้แต่ขอให้ทบทวนการเลื่อนใช้บางมาตราออกไป
22 ก.พ. 2566 คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ออกแถลงการณ์ร่วมหลังที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายที่ล่าช้ามาเนิ่นนานมีผลบังคับใช้แล้วในวันนี้ โดยระบุว่า ยินดีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่เรียกร้องให้ประเทศไทยทบทวนการตัดสินใจเลื่อนการบังคับใช้มาตรา 22-25 ไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 และให้ปรับวันที่มีผลบังคับใช้ใหม่ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการปกป้องประชาชนจากการถูกทรมาน การกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหาย
โดยทาง ICJ และแอมเนสตี้เห็นว่า พระราชบัญญัติฯ นี้ทำให้การทรมาน การกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญา และจัดให้มีกลไกคุ้มครองตามกฎหมายและวิธีพิจารณาความเพื่อป้องกันการกระทำดังกล่าว มาตราต่างๆ ในกฎหมายฉบับนี้ยังมีจุดประสงค์เพื่อรับรองว่าผู้เสียหายและบุคคลอื่นๆ สามารถร้องเรียนเกี่ยวกับการทรมานหรือการการกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงการกระทำให้บุคคลสูญหายได้โดยปราศจากความหวาดกลัว
ทั้งนี้ยังระบุว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นผลมาจากความพยายามอันไม่หยุดหย่อนของผู้เสียหายและครอบครัวของพวกเขา องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สมาชิกรัฐสภา และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างสรรค์เครื่องมือในการป้องกันการก่อการละเมิดสิทธิอันร้ายแรงเหล่านี้ และการให้การเยียวยาแก่ผู้รอดชีวิต แม้ว่ากฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันนี้ แต่ภาครัฐได้เลื่อนการบังคับใช้บางมาตราที่สำคัญออกไปจนถึงเดือนตุลาคม
ดังนั้นทาง ICJ และแอมเนสตี้จึงขอให้ทางการไทยทบทวนการตัดสินใจเลื่อนการบังคับใช้ มาตรา 22-25 ของพระราชบัญญัติฯ ไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 อีกครั้ง และให้ปรับวันที่มีผลบังคับใช้ใหม่ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งยังเรียกร้องให้เร่งดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance หรือ ICPPED) และพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Optional Protocol to the Convention against Torture หรือ OP-CAT)
“การเลื่อนการบังคับใช้มาตราสำคัญบางมาตราของพระราชบัญญัติฯ นั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวล พวกเราขอ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่หลีกเลี่ยงการกระทำที่ทำให้เกิดความล่าช้ายิ่งขึ้น ถ้าไม่มีบทบัญญัติดังกล่าว กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่สามารถเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพโดยสมบูรณ์และอาจไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงในพื้นที่ได้” ทั้งสององค์กรย้ำ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ