มจธ. ผลักดันพัฒนาทักษะคนพิการสู่อาชีพ ทางเลือกของสถานประกอบการที่มีคุณค่าต่อคนพิการ

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 มี.ค. 2566 | อ่านแล้ว 1150 ครั้ง

มจธ. ผลักดันพัฒนาทักษะคนพิการสู่อาชีพ ทางเลือกของสถานประกอบการที่มีคุณค่าต่อคนพิการ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผลักดันการพัฒนาทักษะคนพิการสู่อาชีพ ทางเลือกของสถานประกอบการที่มีคุณค่าต่อคนพิการ

เมื่อช่วงเดือน ม.ค. 2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) แจ้งข่าวระบุว่าภายใต้ พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 33 ที่กำหนดให้สถานประกอบการจ้างงานคนพิการในอัตราส่วนพนักงานปกติ 100 คน ต่อการจ้างงานคนพิการ 1 คน และหากไม่สามารถจ้างงานคนพิการได้ สามารถเลือกวิธีการหนึ่งคือการส่งเสริมฝึกงานให้กับคนพิการตามมาตรา 35 ได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ต้องการให้คนพิการได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพด้านการประกอบอาชีพที่ตรงกับความต้องการของคนพิการและสถานประกอบการ มีทักษะ ความรู้ ที่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2557 – 2565 มีคนพิการเข้ารับการฝึกอบรม-ฝึกงานฯ รวมแล้ว 359 คน และคนพิการได้รับการจ้างงานคิดเป็นร้อยละ 50 ของผู้เข้าร่วมอบรมทั้งหมด

อาจารย์สุเมธ ท่านเจริญ ประธานโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า โครงการนี้เปิดโอกาสให้คนพิการได้พัฒนาศักยภาพด้านการประกอบอาชีพที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ มีทักษะ ความรู้ ที่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน และเพื่อเป็นทางเลือกให้สถานประกอบการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 35 โดยการฝึกอบรมจะเน้นทักษะเรียนรู้ ฝึกพื้นฐานการใช้ชีวิต ปฏิบัติ และลงมือจริง

“นอกจากความร่วมมือ ร่วมใจของคน มจธ. ที่ทำให้โครงการนี้สามารถดำเนินการ และพัฒนาการมาได้อย่างต่อเนื่องแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือการได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาให้คนพิการมีศักยภาพในวิชาชีพที่สามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ โดยเข้ามาสนับสนุนงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการในแต่ละปี ซึ่งตลอด 9 ปีที่ผ่านมา มีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้การสนับสนุนงบประมาณผ่านการใช้สิทธิ์ตามมาตรา 35 นี้ รวม 10 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด, บริษัท ดานิลี่ จำกัด, บริษัท ศรีไทยมิยากาวา จำกัด, บริษัท เสถียรอุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท มาราธอน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไทยสมบูรณ์การทอ จำกัด, บริษัท ซูเปอร์จิ๋ว จำกัด, บริษัท พรเกษม กรุ๊ป จำกัด, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

มีหน่วยงานภาครัฐได้ให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านต่างๆ กว่า 30 หน่วยงาน เช่น กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, สถาบันสิรินธร เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ, วิทยาลัยราชสุดา, คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, สำนักงานเขตทุ่งครุ, สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 เป็นต้น

และหนึ่งในภาคเอกชนที่เข้าร่วมในโครงการฯ ตั้งแต่การดำเนินการในปีที่ 1 (พ.ศ. 2557) และสนับสนุนโครงการมาต่อเนื่องทุกปี คือ บริษัท ดานิลี่ จำกัด โดย ดร.บุญนาค โมกข์มงคลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า เหตุที่บริษัทเลือกเปลี่ยนจากการส่งเงินให้กับกองทุนฯ มาเป็นการสนับสนุนโครงการนี้ เพราะเห็นว่า เงินก้อนนี้จะถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสม คุ้มค่า และเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน

“ภาคเอกชนในช่วงนั้น ส่วนใหญ่จะมองว่าการจ้างคนพิการมาเป็นพนักงาน บริษัทจะต้องลงทุนเพิ่มในด้านสถานที่ บริษัทส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะส่งเงินเข้ากองทุนฯ ที่ทำได้ง่ายกว่า แต่เราต้องการสร้างศักยภาพคนพิการ ด้วยการฝึกอบรมทักษะการทำงาน ที่จะทำให้คนพิการมีความรู้ ความมั่นใจ สามารถทำงานเลี้ยงตัวเองได้ และไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระสังคม ซึ่งตรงกับเป้าหมายของโครงการนี้ ผมในฐานะศิษย์เก่า มจธ. จึงผลักดันให้บริษัท ดานิลี่ เข้าร่วมโครงการนี้มาตั้งแต่ปีแรก และสนับสนุนต่อเนื่องมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน”

นอกจากนี้ ดร.บุญนาค ยังได้สะท้อนภาพการอบรมภายใต้โครงการทั้ง 9 รุ่น ว่า มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นหลายประการ ตั้งแต่แนวทางการคัดเลือกคนพิการที่จะเข้าโครงการที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ภาคเอกชนให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือเป็นโครงการที่สามารถเปลี่ยนทัศนคติของคนพิการได้จริง

“ภายใต้โครงการนี้ ผมได้เห็นคนพิการหลายคน ที่เขาสามารถผลักดันตนเองออกจากการพึ่งพาครอบครัว มายืนได้ด้วยตัวเอง แม้จำนวนผู้ผ่านการอบรมในโครงการนี้จะมีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับคนพิการทั่วประเทศ แต่นี่คือการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ต้องใช้เวลา ซึ่งหากทำอย่างต่อเนื่องผลสำเร็จก็ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ในส่วนของบริษัท ดาลินี่ เรามีการสื่อสารกับผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ให้เกิดการรับรู้และดึงทุกฝ่ายของบริษัทฯ เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ รวมถึงกิจกรรมเพื่อสังคมอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง”

ทั้งหมดนี้ทำให้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัท ดานิลี่ จำกัด ได้รับรางวัลในด้านต่างๆ มากมาย เช่น ด้าน CSR จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ด้านการอนุรักษ์พลังงานดีเด่น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และล่าสุดได้รับรางวัลองค์กรที่สนับสนุนด้านคนพิการดีเด่น ประจำปี 2565 ระดับดี จากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

“ที่สำคัญกว่ารางวัลที่ได้รับ คือบริษัทได้รับรางวัลตอบแทนในด้านจิตใจกับพนักงานของบริษัทฯ แต่การได้รับรางวัลด้านการสนับสนุนคนพิการนี้ เราจะสามารถใช้สื่อสารทั้งกับพนักงานในองค์กร และภายนอกว่า บริษัทเราให้ความสำคัญกับการตอบแทนสังคม และจะเป็นเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ที่นำขยายสู่สังคมได้ต่อไป”

ในส่วนของการสนับสนุน โครงการ“ฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ” มจธ. นั้น ดร.บุญนาค กล่าวว่า นอกจากการสนับสนุนที่จะมีต่อไปอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีแนวคิดที่จะหารือกับ มจธ. เพื่อขยายและต่อยอดโครงการการพัฒนาทักษะคนพิการ ไปสู่สถาบันการศึกษาอื่นๆ และผู้ประกอบการ ให้เข้ามาร่วมกับพัฒนาทักษะคนพิการให้มีกลุ่มใหญ่มากขึ้นต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: