แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องไทยปล่อยตัว-ยกเลิกข้อกล่าวหานักกิจกรรม

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 มี.ค. 2566 | อ่านแล้ว 1159 ครั้ง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องไทยปล่อยตัว-ยกเลิกข้อกล่าวหานักกิจกรรม

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับนักกิจกรรม นำ 8,517 รายชื่อ ต่อทางการไทยร้องปล่อยตัว ยกเลิกข้อกล่าวหานักกิจกรรม พร้อมยุติการกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวที่เข้มงวดเกินกว่าเหตุโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข

22 มี.ค.2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ (22 มี.ค.) แอมเนสตี้ฯ ร่วมกับนักกิจกรรม นำ 8,517 รายชื่อของประชาชนในประเทศไทยที่ร่วมเรียกร้องผ่านปฏิบัติการด่วนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มอบให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีตัวแทนจากทำเนียบรัฐบาลมารับรายชื่อแทนนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนักกิจกรรม และขอให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า ตามที่สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้ออกปฏิบัติการด่วนเชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนร่วมกันส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรม ยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมด และให้การประกันว่า นักกิจกรรมที่อดอาหารประท้วงจะได้รับการคุ้มครองจากการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ รวมทั้งได้รับการดูแลสุขภาพที่สอดคล้องตามจริยธรรมทางการแพทย์ ทั้งยังกระตุ้นให้ทางการไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่กำหนดให้รัฐบาลไทยต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน ทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งการรณรงค์นี้มีถึงวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยและทั่วโลก ได้ติดตามสถานการณ์การใช้สิทธิในเสรีภาพการการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีการเก็บข้อมูลสถาการณ์ ทำการวิจัย สื่อสารต่อภาครัฐ และรณรงค์สาธารณะ ในประเทศ นับตั้งแต่ปี 2563 พบว่ารัฐบาลปราบปรามผู้ที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกเเละการชุมนุมประท้วงโดยสงบและผู้ที่เห็นต่าง จากการดำเนินคดีอย่างน้อย 1,895 คน ในจำนวน 1,180 คดี และทางการปฏิเสธสิทธิที่จะได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีต่อบุคคลมากสุดถึง 21 คน ซึ่งปัจจุบันยังคงมีผู้ถูกคุมขังทางการเมืองอย่างน้อย 5 คน”

ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ ประเทศไทยยังระบุอีกว่า สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวสอดคล้องกับหลักการที่ว่า “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด” อย่างไรก็ตาม คดีของผู้ถูกกล่าวหาทางการเมือง สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมกลับถูกยกเว้นอย่างเป็นระบบ ด้วยการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เน้นการควบคุมตัวบุคคลเหล่านี้เป็นหลักและการปล่อยชั่วคราวเป็นข้อยกเว้น ซึ่งขัดแย้งต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่รัฐไทยให้สัตยาบันตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งรับรองสิทธิในการปล่อยตัว มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปในการควบคุมตัวบุคคลเพื่อรอพิจารณาคดี โดยการที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวต้องเป็นไปตามหลักความจำเป็น หลักการห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางความคิดเห็นทางการเมือง และว่าด้วยสิทธิในความเท่าเทียมกันในการพิจารณาของศาลและคณะตุลาการอย่างเป็นธรรม ซึ่งรับรองหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์เพื่อยับยั้งการตัดสินไปก่อนที่คดีจะสิ้นสุด

“ที่ผ่านมาทางการไทยมักตอบโต้กับขบวนการเรียกร้องการปฏิรูปเเละการชุมนุมประท้วงโดยสงบที่นำโดยเยาวชนที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 ด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทางการยังคงใช้การคุกคามด้วยกระบวนการกฎหมาย การสอดแนมข้อมูล และการคุกคามบุคคลที่แสดงความเห็นต่าง ระหว่างการชุมนุมประท้วงหรือการเเสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ ทางการปฏิเสธไม่ให้บุคคลมีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว ควบคุมตัวพวกเขาโดยพลการ และกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวที่เกินขอบเขต ที่รวมถึงเงื่อนไขที่ให้มีการกักขังในบ้าน โดยกำหนดให้นักกิจกรรมต้องร้องต่อศาลเพื่อขออนุญาตออกจากบ้านของตนเอง และการจำกัดอย่างกว้างขวางต่อการใช้สิทธิโดยสงบ” 

“ตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย กำหนดให้รัฐบาลต้องคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบอย่างมีประสิทธิภาพ คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการเคยให้ความเห็นไว้ว่า ในทางปฏิบัติทางการไทยยังคงใช้การดำเนินคดีและการควบคุมตัวโดยพลการต่อผู้ต้องสงสัยในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ทั้งที่เป็นการละเมิดต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนสากล”

ดังนั้น ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงมีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย ดังต่อไปนี้

  1. ปล่อยตัว ยกเลิกข้อกล่าวหา และยุติการกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวที่เข้มงวดเกินกว่าเหตุโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายเพียงเพราะการใช้สิทธิของตน ตลอดจนยกเลิกการดำเนินคดีอาญาทั้งหมด 
  2. ประกันว่านักกิจกรรมที่อดอาหารประท้วงจะได้รับการคุ้มครองจากการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ อย่างเร่งด่วน และได้รับการดูแลสุขภาพที่สอดคล้องตามจริยธรรมทางการแพทย์ รวมทั้งหลักการของการเก็บข้อมูลเป็นความลับ การตัดสินใจด้วยตนเอง และการให้ความยินยอมที่ได้รับการบอกกล่าว 
  3. แจ้งต่อเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: