สช.จับมือภาคีขับเคลื่อนงานวิจัย เพิ่มขีดจำกัด ‘ชุมชน’ - ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ด้วยแนวคิด ‘ประเมินผลเพื่อพัฒนา’

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 มิ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 26530 ครั้ง

สช.จับมือภาคีขับเคลื่อนงานวิจัย เพิ่มขีดจำกัด ‘ชุมชน’ - ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ด้วยแนวคิด ‘ประเมินผลเพื่อพัฒนา’

สช. จับมือภาคีเครือข่ายร่วมเคลื่อนงานวิจัย เสริมศักยภาพการรับมือภาวะวิกฤตด้านสุขภาพด้วยนวัตกรรม “การจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน” ดึง 17 ชุมชนเขตเมืองร่วมถอดบทเรียนการฝ่าฟันสถานการณ์โควิด-19 พร้อมใช้เครื่องมือ “การประเมินผลเพื่อการพัฒนา” หวังต่อยอดฐานความเข้มแข็งของชุมชน ตอบสนองความต้องการสุขภาพประชาชน-รับมือวิกฤต

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพการจัดระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน ด้วยแนวคิดการประเมินเพื่อพัฒนา (Developmental Evaluation : DE) และ Service Design ซึ่งเป็นกระบวนการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของชุมชน ในการสร้างนวัตกรรมการจัดระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยมีตัวแทนจาก 17 ชุมชนเขตเมืองเข้าร่วมโครงการ

สำหรับกิจกรรมดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง ยกระดับศักยภาพการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพ ด้วยนวัตกรรมการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน: กรณีศึกษาชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ‘ทุนทางสังคม’ รวมถึงเหตุปัจจัยที่จะสนับสนุนในการออกแบบและพัฒนา การจัดระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในชุมชนเขตเมืองโดยชุมชน เพื่อตอบสนองความต้องการและรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพ พร้อมนำไปสู่การพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และหัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า เมื่อพูดถึงระบบสุขภาพแล้ว มิติในเชิงการแพทย์ การรักษาพยาบาล ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งในชีวิตเราเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอีกมากไม่ว่าจะเป็นจากพฤติกรรมส่วนบุคคล ครอบครัว พันธุกรรม ตลอดจนสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมที่เราดำรงอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าจุดที่เราจะอยู่ด้วยมากที่สุด ย่อมเป็นการอยู่กับตนเองและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ไม่ใช่หน่วยบริการสุขภาพ หรือสถานพยาบาลแต่อย่างใด

นพ.ปรีดา กล่าวว่า การมองระบบสุขภาพนับจากนี้ สิ่งสำคัญจึงเป็นการยกระดับการดำเนินการโดยชุมชน ซึ่งเรื่องนี้ประเทศไทยไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ หากแต่มีฐานการทำงานร่วมกันของภาคชุมชน ท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน และที่สำคัญคือบทเรียนจากการต่อสู้กับสถานการณ์โควิด-19 ที่การมีส่วนร่วมในระดับชุมชนได้ช่วยให้หลายพื้นที่ประสบผลสำเร็จและสามารถรอดพ้นวิกฤตไปได้ด้วยดี โดยชุดประสบการณ์เหล่านี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการต่อยอดให้เกิดความเข้มแข็ง เพื่อที่จะรับมือกับภาวะวิกฤตที่อาจตามมาในอนาคต

“ภาวะวิกฤต ภัยพิบัติ หรือโรคอุบัติใหม่ต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นอีกในอนาคต พร้อมกับความรุนแรงที่มากขึ้น และคาดเดาไม่ได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้วเราจะสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงทีหรือไม่ ตรงนี้ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของพื้นที่ ดังนั้นเราจึงต้องมาคุย ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ มาดูว่าจะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ร่วมกันได้อย่างไร ภายใต้แนวคิดของกระบวนการทบทวนและประเมินผล เพื่อได้เห็นประเด็นที่เป็นจุดแข็ง-จุดอ่อน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมความพร้อม และต่อยอดขยายฐานความเข้มแข็งของชุมชน สังคมได้อย่างยั่งยืน” นพ.ปรีดา กล่าว

ขณะที่ พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า สิ่งที่จะเป็นตัวกำหนดว่าสุขภาพของเราดีหรือไม่ ปัจจัยที่มาจากตัวเราเอง ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ หรือพฤติกรรม คิดเป็นสัดส่วนเพียง 30% เท่านั้น ทว่าอีกกว่า 70% ล้วนเป็นปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม เช่น เศรษฐกิจ การศึกษา สังคม วัฒนธรรม รวมไปถึงเรื่องของคุณภาพ หรือประสิทธิภาพของระบบบริการสุขภาพ ที่เราเรียกรวมสิ่งเหล่านี้ว่า ปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health: SDH)

พญ.สุพัตรา กล่าวว่า อีกองค์ประกอบสำคัญคือคำว่า ‘สาธารณสุขมูลฐาน’ ซึ่งหลายคนอาจนึกถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แต่ความจริงแล้วเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะหลักการสำคัญของเรื่องนี้เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในระดับโลกมานานกว่า 40 ปี คือระบบการดูแลสุขภาพที่จำเป็น มีความ ครอบคลุมและเข้าถึงได้เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี นั่นจึงหมายถึงการที่ต้องให้ประชาชนเข้ามามีบทบาท มีส่วนจัดการร่วมกันกับภาคส่วนอื่นๆ ภายใต้ระบบ ‘บริการปฐมภูมิ’

“บริการปฐมภูมิ จะต้องเป็นด่านแรกที่ดูแลทุกคนได้ ภายใต้บทบาทการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเข้ามาประกอบ เนื่องจากบริบทของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นมิติของการจัดบริการจึงอาจมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤตที่ระบบสุขภาพหลักถูกสั่นคลอน ถ้าเราเน้นให้ชุมชนจัดการตนเองได้ ก็จะมีส่วนรับมือให้สถานการณ์ทุเลาลงได้ ซึ่งการมีส่วนร่วมนั้นมีในหลายมิติ ส่วนใหญ่เราจะเจอแต่ตอนเข้ามาร่วมทำ ทว่าลึกๆ แล้ว การมีส่วนร่วมเราจะต้องทำให้เกิดขึ้นตั้งแต่การร่วมคิด ร่วมออกแบบ และร่วมทำ ไปจนถึงมาร่วมเรียนรู้ และติดตามประเมินผลร่วมกัน จึงจะครบวงจรที่เกิดการพัฒนาได้จริง” พญ.สุพัตรา กล่าว

ด้าน นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท หัวหน้ากลุ่มสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับ ‘การประเมินผลเพื่อการพัฒนา’ หรือ Developmental Evaluation (DE) คือเครื่องมือที่ช่วยในการเรียนรู้สำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (stakeholders) ใช้ในการทำความเข้าใจสถานการณ์ที่ซับซ้อน ด้วยการตีความข้อมูลจากมุมมองที่แตกต่างและหลากหลาย ก่อนหาข้อตกลงร่วมกันเพื่อนำไปสู่การยกระดับผลงาน ช่วยให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้

นพ.วิรุฬ กล่าวว่า หลักการของ DE คือการประเมินที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนา ไม่ใช่การตัดสินว่าผิดหรือถูก เน้นการนำไปใช้ประโยชน์ ค้นหานวัตกรรม ขณะเดียวกันก็ใช้มุมมองของความซับซ้อน ซึ่งมีความเหมาะสมกับสภาพของชุมชนในเขตเมือง มีการคิดในเชิงระบบ ผ่านกระบวนการร่วมสรรสร้าง โดยทั้งหมดจะนำไปสู่เป้าหมายหลักของกระบวนการครั้งนี้ ที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในชุมชนเมืองโดยชุมชน สามารถตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพของชุมชน และรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพได้ในอนาคต

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: