ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมลดลงต่ำสุดในรอบ 16 เดือน

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 พ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 31925 ครั้ง

ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมลดลงต่ำสุดในรอบ 16 เดือน

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ลดลงต่ำสุดในรอบ 16 เดือน แนะรัฐบาลเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายปี 2566

ช่วงเดือน พ.ย. 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 88.4 ปรับตัวลดลง จาก 90.0 ในเดือนกันยายน ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว โดยองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการยกเว้นความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากภาครัฐออกมาตรการลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันดีเซล ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2566 ที่ปรับตัวลดลง มีปัจจัยลบมาจากเศรษฐกิจในประเทศที่ยังฟื้นตัวช้า เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมและภาคการผลิตชะลอตัวลง โดยเฉพาะในหมวดสินค้าแฟชั่น วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ขณะที่การปรับขึ้นราคาสินค้ายังทำได้จำกัด ประกอบกับมีการแข่งขันสูงด้านราคา นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น ส่งผ่านไปยังต้นทุนทางการเงินและทำให้ภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาททำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการและกระทบต่อเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากอุปสงค์จากต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว สะท้อนจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ ยุโรป ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง รวมถึงอานิสงส์มาตรการ “วีซ่าฟรี” ให้กับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน สถานการณ์การเมืองในประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก)

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 94.5 ปรับตัวลดลง จาก 97.3 ในเดือนกันยายน โดยมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก รวมถึง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆทั้งรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-กลุ่มฮามาส หากยืดเยื้อและขยายเป็นวงกว้าง อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโลกและความผันผวนของราคาพลังงานในตลาดโลก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังกังวลต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น รวมถึงผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

พร้อมเสนอภาครัฐ เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2566 อาทิ นำโครงการ e-refund มาเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนธันวาคม 2566 เพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายของประชาชนเร่งรัดการกำหนดมาตรการในการพักหนี้ให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) เป็นระยะเวลา 1 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 รวมทั้งออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและส่งเสริมให้เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น และขอให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคี พิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: