แอมเนสตี้แถลงหลังประเทศไทยพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมฉบับประวัติศาสตร์ เผยเป็นช่วงเวลาแห่งความหวังสำหรับสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
ในวาระที่ร่างพระราชบัญญัติเพื่อรับรองการสมรสเท่าเทียมได้รับการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาของประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566
ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ประเทศไทยมีโอกาสเป็นชาติที่สามในภูมิภาคเอเชียที่มีกฎหมายรับรองการสมรสเท่าเทียมระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน โดยนับเป็นโอกาสที่ไทยจะเป็นต้นแบบด้านการสนับสนุนสิทธิของผู้มีที่ความหลากหลายทางเพศในภูมิภาค การร่างพระราชบัญญัติเหล่านี้ขึ้นและการนำร่างกฎหมายนี้เข้าไปพิจารณาในรัฐสภาสะท้อนถึงช่วงเวลาแห่งความหวังด้านสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในเอเชีย แม้ยังมีหลายอย่างที่ต้องได้รับการดำเนินการอีกมากเพื่อให้มีการคุ้มครองบุคคลกลุ่มนี้อย่างเต็มที่
“ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่จะได้รับการปรับปรุงออกมาในขั้นตอนสุดท้าย ต้องไม่ลดทอนข้อเรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิในการมีครอบครัวอย่างเต็มรูปแบบ อันหมายรวมถึงสิทธิในการรับบุตรบุญธรรม และสิทธิเกี่ยวกับมรดกของคู่สมรสหลากหลายทางเพศ รวมทั้งการยอมรับคู่สมรสเพศเดียวกันตามกฎหมาย ในฐานะ “คู่สมรส” ที่มีสถานะเท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศ
“นักกิจกรรมขับเคลื่อนด้านสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้แสดงให้เห็นอย่างเป็นระบบแล้วว่า ความพยายามที่ผ่านมาในการขยับขยายสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยังไม่เพียงพอที่จะประกันสิทธิอย่างเท่าเทียมตามหลักการกฎหมายระหว่างประเทศ ร่างพระราชบัญญัติเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยอยู่ในเส้นทางใหม่ที่จะนำไปสู่การแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ ในอดีต
“หากร่างกฎหมายนี้ผ่านพิจารณาวาระแรก รัฐสภาของประเทศไทยควรใช้โอกาสนี้ในการเร่งดำเนินการให้มีการออกกฎหมายฉบับนี้อย่างรวดเร็ว โดยสมาชิกรัฐสภาควรพิจารณาการเฉลิมฉลองของประชาชนว่า เป็นเสมือนสัญญาณว่าผู้คนในประเทศไทยกำลังโหยหาความเท่าเทียม สมาชิกรัฐสภาควรพิสูจน์ตัวเองต่อชุมขนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องว่าพร้อมรับฟังและให้คุณค่าของเสียงสะท้อนความปรารถนาและมุมมองของพวกเขา
“การประกันคุ้มครองสิทธิในการสมรสอย่างเท่าเทียมโดยสมบูรณ์ภายใต้หลักกฎหมาย ไม่เพียงเป็นการส่งสัญญาณบวกต่อประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ แต่รวมถึงประเทศอื่นทั่วโลกด้วย ในช่วงเวลาที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่ล้าหลัง และพยายามสรรสร้างสังคมที่มีความครอบคลุมทุกคนมากขึ้น”
ข้อมูลพื้นฐาน
ในวันที่ 21 ธ.ค. 2566 สภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทยจะเริ่มการพิจารณาชุดร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน และองค์กรภาคประชาสังคม หากมีการประกาศใช้กฎหมายนี้ การสมรสเพศเดียวกันจะได้รับการรับรองตามกฎหมายในประเทศไทย ร่างพระราชบัญญัติเหล่านี้ต้องผ่านการพิจารณาหลายขั้นตอนและการให้ความเห็นชอบในหลายวาระ ก่อนจะประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสนับสนุนกฎหมายที่ครบถ้วนและครอบคลุมถึงการประกันสิทธิอันเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในทุกมิติ รวมทั้งในด้านการสมรส และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสนับสนุนให้สมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบต่อการจัดทำร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
ประเทศไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศในปี 2558 โดยมีเป้าหมายเพื่อกำหนดความคุ้มครองประชาชนจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศสภาพตามกฎหมาย อันครอบคลุมไปถึงการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ อย่างไรก็ดี กฎหมายนี้ยังเปิดช่องให้มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ด้วยเหตุผลด้านศาสนาหรือความมั่งคงของรัฐ ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ ที่ อนุญาตให้คนข้ามเพศและคนนอนไบนารี (บุคคลที่ไม่ได้อยู่ในระบบสำนึกทางเพศแบบชาย-หญิง) สามารถเปลี่ยนสรรพนาม หรือเพศสภาพของตนในฐานข้อมูลของทางการได้
ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทยยืนยันคำวินิจฉัยว่า กฎหมายที่รับรองการสมรสเฉพาะผู้ชายกับผู้หญิงไม่ละเมิดรัฐธรรมนูญ แต่ได้ระบุเช่นกันว่า สมาชิกรัฐสภาของประเทศไทยควรจัดทำร่างกฎหมายเพื่อประกันสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย
ไต้หวันเป็นชาติแรกในเอเชียที่รับรองการสมรสเพศเดียวกันในปี 2562 ในปีนี้ เนปาลเป็นชาติที่สอง และในเดือนพฤศจิกายน หน่วยงานระดับท้องถิ่นได้จดทะเบียนสมรสของคู่สมรสผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นคู่แรก
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ