สรุปปาฐกถา 'อนาคตแรงงานข้ามชาติในสังคมสูงวัย' เนื่องในวัน International Migrant Day 2023

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 ธ.ค. 2566 | อ่านแล้ว 34461 ครั้ง

สรุปปาฐกถา 'อนาคตแรงงานข้ามชาติในสังคมสูงวัย' เนื่องในวัน International Migrant Day 2023

สรุปปาฐกถาอนาคตแรงงานข้ามชาติในสังคมสูงวัย โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม และผู้อำนวยการศูนย์การศึกษา การย้ายถิ่น มหาวิทยาลัยมหิดล จากงานวันผู้ย้ายถิ่นสากล International Migrant Day 2023 “ชีวิต ความฝัน ความหวัง : อนาคตไทย อนาคตแรงงานข้ามชาติ ในสังคมผู้สูงวัย”

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2566 ในงานวันผู้ย้ายถิ่นสากล International Migrant Day 2023 “ชีวิต ความฝัน ความหวัง : อนาคตไทย อนาคตแรงงานข้ามชาติ ในสังคมผู้สูงวัย” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม และผู้อำนวยการศูนย์การศึกษา การย้ายถิ่น มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงปาฐกถาในหัวข้อ “นโยบายทดแทนแรงงานข้ามชาติในสังคมผู้สูงวัย” โดยสรุปรายละเอียดได้ดังต่อไปนี้

“ผู้สูงอายุเกิน 1/3 แต่เด็กเกิดน้อยมาก นี่คือวิกฤตที่ร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับไทย”

องค์การสหประชาชาติ (UN) ให้ความสำคัญแต่งตั้งให้วันที่ 18 ธันวาคม เป็นวันผู้ย้ายถิ่นสากล ตั้งแต่ปี 1990 มีการตกลง เซ็นสัญญาร่วมกันสหประชาชาติประเทศต่างๆ เพื่อเน้นถึงความสำคัญของหลักสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่น ความมีศักดิ์ศรีของผู้ย้ายถิ่น โดยมีหลักสำคัญ ได้แก่ การคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิของผู้ย้ายถิ่น ให้มีความเข้าใจ คิดถึงคุณค่า นึกถึงความยากลำบากของผู้ย้ายถิ่น การเฉลิมฉลองสิ่งที่ผู้ย้ายถิ่นได้กระทำให้กับประเทศปลายทาง เป็น contribution ในฐานะบุคคล สร้างความหลากหลายในสังคม เป็นสิ่งที่ UN บอกว่าต้องเฉลิมฉลอง และก็ส่งเสริม inclusiveness คนในชาติ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แล้ว UN ก็มี commitment ไว้ในเรื่องการพัฒนาพื้นฐานอย่างยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ด้าน จะต้องเกิดขึ้นกับคนในประเทศและผู้ย้ายถิ่นอย่างเสมอกัน ฉะนั้น ในปี 2030 ทั่วโลกต้องนำไปสู่ความเสมอภาคทั่วกันในทุกด้านของผู้ย้ายถิ่น ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ หลุดพ้นจากความยากจน สิ่งแวดล้อมที่ดี และสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในประเทศและผู้ที่ย้ายถิ่น เป็นโอกาสที่เราจะมาพูดถึงเรื่องนโยบายเกี่ยวกับแรงงาน ที่เราจะมาพูดคุยกันในทุกปี

ในโอกาสนี้ ผมก็ขอเพิ่มข้อ 11 เป็นความเหมาะสมอย่างยิ่งที่ทางเครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติมองเห็นความสำคัญของประเทศไทยที่อยู่ในขั้นวิกฤต เรามีปัญหาเรื่องสังคมผู้สูงวัย (aging society) แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศจะสามารถแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางประชากร (demographic security) ทั้งในเชิงจำนวน และเชิงโครงสร้างอย่างไร อันนี้เป็นทางแก้และปีนี้เราก็จะมาพูดเพิ่มเติมกันในเชิงนโยบายอย่างกว้างขวางมากขึ้น

กรอบใหม่การมองผู้ย้ายถิ่นข้ามชาติ เราต้องมี mindset ใหม่เป็น “replacement migration policy” นโยบายการจัดการการย้ายถิ่นจำนวนมาก (massive immigration) เพื่อทดแทนประชากรที่ลดลงของประเทศต่างๆทั้วโลก การสร้างความมั่นคงทางประชากร ด้วยการนำเข้าประชากรทดแทนประชากรในประเทศเข้ามา UN เสนอนโยบายนี้มาตั้งแต่ 2001 แต่เราเองยังพอเห็นปัญหา aging society อยู่ ซึ่งตอนนั้นยังไม่วิกฤตมากนัก พอมาถึงปี 2019 UN ได้ทำค่าประมาณประชากรทั่วโลก ไทยจะสูญเสียประชากรจากการเกิดไปประมาณ 34.1% ในสิ้นศตวรรษที่ 21 เราจะมีประชากรน้อยลง หายไปมากกว่า 1/3 ที่สำคัญเราเป็นอันดับสอง รองจากประเทศญี่ปุ่นที่สูญเสียประชากรไป 41% ประเทศอื่นๆ ก็แค่ 10% ที่หายไป ที่ไม่ได้เขียนไว้ในนี้คือ อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา เหล่านี้ประชากรไม่หายไป แต่ยังเพิ่มขึ้นด้วย เพราะใช้นโยบายการนำเข้าประชากรมานานแล้ว

การศึกษาต่อมาของ Lancet ในปี 2020 การลดลงประชากรมันไม่ได้มีแค่นี้ แต่ TFR (total fertility rate) อัตราการเจริญพันธุ์รวมลดลงมากกว่านั้น ลดลงเกินครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ มีแค่ 3 ประเทศที่ประชากรหายไปเกินครึ่งหนึ่ง คือ ญี่ปุ่น ไทย สเปน (สเปนจะแซงหน้าอิตาลี) ลักษณะประชากรจะกลายเป็นรูปลมไต้ฝุ่น คือ หัวโต ผู้สูงอายุเกิน 1/3 แต่เด็กเกิดน้อยมาก นี่คือวิกฤตที่ร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับไทย เหมือนอย่างที่ Elon Musk บอกว่าญี่ปุ่นจะหายไปแล้วนะ แต่ไทยคือเป็นประเทศที่สองรองจากนั้นที่จะหายไปเหมือนกัน

ถ้าในทางทฤษฏีของการคาดการณ์ ในอีก 70-80 ปี จะหายไปเกินกว่าครึ่ง แล้ว TFR ก็ลดลง จากการคาดการณ์ของดร. เกื้อ วงศ์บุญสิน และดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ พบว่าอัตราเจริญพันธุ์รวมมีแค่ 1.16 เท่านั้นเอง เมื่อเอาไปทำการคาดการณ์ดู พบว่าจะลดลงลงครึ่งหนึ่งเหลือ 33 ล้านคน ในเพียง 60 ปี ไม่ใช่ 70-80 ปีแล้ว ยิ่งกว่านั้น วัยแรงงานจะลดลงจาก 46 ล้าน เหลือ 14 ล้าน ลดไปเหลือน้อยกว่า 1/3 หายไปเยอะมาก วิกฤตที่รุนแรงที่สุดเลยนะครับ

ในอีก 60 ปีข้างหน้า ถ้าไม่นำเข้าผู้ย้ายถิ่นเลย จะมีประชากรเหลือเพียง 33 ล้าน อีก 70 ปีข้างหน้าก็จะเหลือ 26 ล้าน ถ้านำเข้าผู้ย้ายถิ่นเข้ามาทดแทนปีละ 2 แสนคน จะมีประชากรสัก 44 ล้าน ฟังแล้วก็โอเคหน่อยในอีก 60 ปีข้างหน้า และในอีก 70 ปีข้างหน้าก็จะมีประชากร 38 ล้าน เราต้องทำตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่ไปทดแทนตอนเหลือ 26 ล้านแล้ว ค่าประมาณประชากรถัดไป ทำโดยนักวิชาการต่างประเทศ Peter McDonald เป็นประธานของ IUSSP ถ้าใช้ TFR 1.5 ตาม UN บอกในปี 2019 เราต้องนำเข้าประชากร 4 แสนคน/ปี เพื่อให้มีประชากรเท่าประมาณเดิม ไม่มีการเพิ่ม/ลด แต่ถ้าส่งเสริมการเกิดให้เพิ่มเป็น 1.7 ได้ ก็นำเข้าประชากรแค่ 2.5 แสนคน/ปี แต่มันไม่ได้เป็นแบบนั้นใช่มั้ยครับ เดี๋ยวนี้เหลือ 1.08 แล้ว ถ้าจะให้ได้ประชากรเท่าเดิมต้องนำเข้ามากกว่า 4 แสนคน

ล่าสุด นี่เป็นข้อมูลจากสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กระทรวงสาธารณสุข TFR คือ 1.08 คือ ถ้าสามีภรรยามีลูก 2 คน ถึงจะทดแทนตัวเองได้ใช่มั้ยครับ แต่มีลูกคนเดียวมันหายไปครึ่งหนึ่งแน่นอนในระยะยาว แล้วครึ่งหนึ่งไปเรื่อยๆ มันก็เป็นปัญหาในเชิงตัวเลข ด้วยเหตุนี้เองเราต้องมีกรอบนโยบายใหม่ ประไทยต้องมีการวางแผน ดำเนินนโยบายเรื่องการย้ายถิ่น เพื่อทดแทนประชากรที่ลดลงอย่างจริงจัง เพื่อลดผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการมี aging society ทั้งนี้เราทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเกิด เราพยายามดึงขึ้นมา 1.5-1.7 ถ้า 1.7 ได้ก็ดีมาก เหมือนอย่างในอเมริกา เขามี eco system ที่ทำให้คนอยากมีลูก แต่อย่างนั้นเขาก็ยังต้องนำเข้าคนถึงปีละล้าน เพราะมันยังไม่ถึง 2.1 อยู่ดี แล้วเราต้องมีการรณรงค์ active aging ให้คนมีสุขภาพดีตลอดทุกวัย เลื่อนอายุเกษียณให้มีอายุทำงานมากขึ้น พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้หุ่นยนตร์ ใช้ AI ก็จะช่วยได้มาก และการแชร์ทรัพยากรมนุษย์ในภูมิภาค SEA เรามีประชากรอาเซียน 600 ล้าน จะมี free flow of labour มั้ย จะทำยังไงให้แชร์ทรัพยากรมนุษย์ในภูมิภาค หรือเป็น MOU ระหว่างประเทศกัน อนาคตอาจจะต้องมีก็ได้ ตอนนี้ dual citizenship ก็มีมากขึ้น หากทั้งสองประเทศตกลงกันได้

กรอบนโยบายใหม่ของประเทศ การลดลงของประชากรไทยเป็นอันดับสองของโลก เราควรจะริเริ่มนโยบายการย้ายถิ่นเพื่อทดแทนประชากรแต่เนิ่นๆ ในช่วงที่การแย่งชิงทรัพยากรมนุษย์ยังไม่รุนแรงมาก แต่ละประเทศก็จะดึงคนเก่งๆ ทั้งนั้น แล้วการที่เราทำตอนนี้ มันบูรณาการกันได้ง่าย ถ้าเรารอให้ประชากรน้อยแล้วนำเข้ามา การจะทำให้เขาเป็นคนไทยมันจะทำได้ยากขึ้น เราเทรนความหลากหลายไว้ก็จริง แต่ก็ต้องบูรณาการความเป็นคนไทยด้วย ถ้าทำตอนเรามีประชากรมากพอมันก็จะทำได้ง่ายกว่าตอนเรามีประชากรน้อย แล้วก็ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ประชากรโลกจะยังคงเพิ่มขึ้น มันเกิดช่องว่าง ที่ทำให้คนจากข้างนอกทะลักเข้ามา ความต้องการแรงงานมันถูกสกัดอยู่ แล้วถ้าเขาเข้ามาเลยก็เป็นการขาดการวางแผน อย่าสร้างช่องว่างในประเทศให้เกิดขึ้น ไม่อยากนั้นการทะลักเข้ามามันจะง่าย นโยบายเหล่านี้ต้องทำต่อเนื่องระยะยาว สิ่งสำคัญต้องกำหนดเป้าหมาย และคุณสมบัติตามที่ต้องการ อีกทั้งเรายังต้องทำงานเชิงรุกด้วย ไม่ใช่แค่รอให้เขามาขอสัญชาติอย่างเดียว เราต้อง advocate ให้คนที่เข้ามาทำงานเป็นคนไทยได้ด้วย จากการใช้หลักสิทธิมนุษยชน และมุมมองแบบสากล

สิ่งที่เราทำได้เลย ณ ตอนนี้ คือ การให้สัญชาติกับคนไร้สัญชาติในประเทศ ที่มีประมาณ 9 แสนคน เขาอยู่ไทยมานาน แต่ยังไม่มีสัญชาติ เขาก็มีความรักและเชื่อมโยงกับความเป็นไทย ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ให้สัญชาติเขา เรามีสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว สมัยนี้ดูได้ว่าใครเป็นยังไง ถ้าเขาอยู่ในชุมชนอย่างเหมาะสมก็ให้สัญชาติเขาก่อนเลย เอาใจเขาไว้ ส่วนผู้ลี้ภัยที่อยู่ตามค่าย 9 ค่าย มีประมาณ แสนคน ก็ถึงเวลา เรามีอายุความได้มั้ย เข้าเมืองผิดกฎหมาย 30-40 ปีไม่หมดอายุความ ถ้าตรงนี้กฎหมายปรับให้เขาทำงานได้ มีสิทธิขอ long term resident ก็น่าจะช่วยได้ แล้วลูกหลานของแรงงานข้ามชาติที่มีปีละประมาณ 3 หมื่นคน เราต้องดูแลเขาอยู่แล้ว ในแง่ของสิทธิมนุษยชน การศึกษา สุขภาพ เราจะมีเงื่อนไขว่าเขาต้องจบป.ตรีก่อน ถึงจะมีสัญชาติไทย อันนี้ก็อาจจะมากไป เราจะทำยังไงให้เขาเกิดมาแล้วรักในประเทศเลย มันมี birth place rights ที่ทำให้เขามีสิทธิ ถ้าทำให้เขาไม่มีสัญชาติเนี่ย พอเขากลับประเทศเขาก็ไม่มีสัญชาติอีก กลายเป็นคนไร้สัญชาติก็เป็นปัญหาประเทศเราอีก เราควรจะให้เขา ค่าคุณค่าของเด็กทางเศรษฐศาสตร์มีมูลค่ามหาศาล ฉะนั้น เด็กแต่ละคนที่เกิดมาเป็นคนไทยได้ มันก็จะมาช่วยในกรอบใหม่ที่เราขาดแคลนประชากรที่เราจำเป็นต้องทำ

ต่อไปเป็นตัวเลขที่ทำให้เห็นว่าแต่ละประเทศก็นำเข้าแรงงานเป็นจำนวนมาก อังกฤษ 5 แสนคน อเมริกาเป็นล้าน แคนาดา 4 แสน เยอรมันนีก็มีการปฏิรูปให้นำเข้าแรงงานมากขึ้น ส่วนรัสเซียก็ใช้เรื่อง dual citizenship เพิ่มมากได้อีก 10 ล้าน ญี่ปุ่นก็เริ่มทำแล้วนะครับตั้งแต่ปี 2019 ตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มให้ได้ปี 1.4 แสน ส่วนของไทยเรา เราสามารถปลดล็อคเงื่อนไขที่ไม่จำเป็นต่างๆ ออก ให้เขาสามารถขอ long term resident ทำงานได้นานขึ้น อยู่ได้ แล้วก็ขอ citizenship ได้ในโอกาสต่างๆ มากขึ้น ในกรอบการขาดแคลนประชากร เราควรทำแบบนี้ได้แล้ว

การตั้งเป้าว่าต้องเพิ่มประชากรต่างชาติ ให้ได้สัญชาติไทยปีละ 2 แสนคน มันต้องมีส่วนร่วมของผู้ช่วยคิด ตัดสินใจว่าเราจะเอาใครบ้าง ก็มีโครงการตาม EEC ของครม. เป็นแรงงานทักษะ 2 หมื่นคน อปท.ที่เชื่อมโยง SME ทั่วประเทศ 7,850 แห่ง ที่ละประมาณ 20 คน ก็ 1.6 แสนคน ให้คนในแต่ละพื้นที่ได้เลือกคนที่จะเข้ามา เพื่อป้องกันการเกิดปัญหา national populism แต่อันนี้เป็นการให้คนในประเทศเราเองกำหนดคุณสมบัติที่จะให้นำคนเข้ามา ก็เป็นเรื่องดี แล้วก็การเสาะหาประชากรคุณภาพเพื่อการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม จิตวิญญาณ สุขภาวะ และเชื่อมโยงกับประชากรในจังหวัดต่างๆ ก็จะมีการริเริ่มเริ่มคัดสรรคนเข้ามาเป็นคนไทย (ตัวเลข 2 หมื่น)

ประเทศต่างๆ ก็มีกระทรวง หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้ เช่น แคนาดา หน่วยงาน immigrants เขาอยู่ใน federal cabinet อยู่ในคณะรัฐมนตรี เป็นระดับรัฐมนตรี อังกฤษก็เป็นระดับ state for immigration ทุกที่ต้องใช้หน่วยงานในระดับสูง ของไทยก็ควรจะมีเช่นกัน เราควรต้องศึกษาเรื่องนี้ เพื่อดูแลต่อไป ก็คือต้องมีกระทรวงคนเข้าเมือง พลเมือง และประชากร ต้องมีหน่วยงานในระดับกระทรวง ถึงจะสามารถทำงานได้รวดเร็ว เราต้องดูแลประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ เราต้องตรวจเช็ค และเป็นงานรูทีน คือมันเป็นเรื่องใหญ่ระดับกระทรวงที่ต้องทำงานสอดคล้องกับกระทรวงต่างๆ ต่อไป เพราะมันเป็นวิกฤตที่เราต้องจัดการต่อไป ก็ขอฝากเรื่องนี้ไว้ด้วย

ขอบคุณครับ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: