Rocket Media Lab: ครึ่งปีหลัง 2022 ชาวเน็ตทะเลาะกันเรื่องอะไรบ้าง

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 ส.ค. 2566 | อ่านแล้ว 1284 ครั้ง

Rocket Media Lab สำรวจปรากฏการณ์ทัวร์ลง ครึ่งปีหลัง 2022 แค่ชาวเน็ตทะเลาะกัน หรือมีอะไรมากกว่านั้น

  • แม้จะพบทัวร์ลงในหมวดหมู่บันเทิงมากที่สุด แต่ทัวร์กลับมีการใช้แนวคิดทางสังคมหลากหลายในการโต้ตอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ เช่น กรณีของดีเจภูมิกับเรื่องส้มตำจานละ 600 บาทที่ออสเตรเลีย หรือกรณีของโตโน่กับเรื่องการใช้อุโมงค์ว่ายน้ำที่จุฬาฯ
  • ปรากฏการณ์ทัวร์ลง 177 เรื่องอยู่ในหมวดบันเทิงมากที่สุด แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบ จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องทัศนคติทางการเมืองมากที่สุด อาจกล่าวได้ว่า เรื่องทัศนคติทางการเมืองจึงอาจจะเป็นชนวนถกเถียงที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ทัวร์ลงมากที่สุดก็ว่าได้ 
  • ลักษณะคอมเมนต์ที่พบมากที่สุดคือการล้อเลียน/เสียดสี ทำให้เป็นเรื่องตลกขบขัน ซึ่งเป็นการปกป้องตนเองจากการถูกฟ้อง และยังแสดงให้เห็นลักษณะของปรากฏการณ์ทัวร์ลงที่ไม่ได้นำไปสู่ปฏิบัติการใดๆ อย่างเป็นรูปธรรม ดังเช่น Cancel Culture 
  • แม้เส้นทางของขบวนรถทัวร์เกิดขึ้นที่ต้นเรื่องมากที่สุด แต่เมื่อพิจารณาจาก ‘การชี้ช่อง’ ทั้ง ทัวร์ลงที่ต้นเรื่องจากการชี้ช่องและทัวร์ลงในพื้นที่ที่มีการชี้ช่องรวมกัน จะเห็นได้ว่ามีจำนวนมากกว่า ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ปรากฏการณ์ทัวร์ลงอาจเกิดจากการแพร่กระจายของเนื้อหาโดยการ ‘ชี้ช่อง’ มากที่สุด

Rocket Media Lab รายงานว่าปรากฏการณ์ ‘ทัวร์ลง’ เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นบนสังคมโซเชียลมีเดียทั้งของไทยและโลก อันมาพร้อมกับความเคลื่อนไหวที่เรียกว่า Cancel Culture หรือวัฒนธรรมการ ‘แบน’ ที่เพิ่งจะก่อตัวและแพร่หลายหลังเหตุการณ์ #MeToo ซึ่งเริ่มต้นจากการแสดงออกเพื่อต่อต้านการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในวงการฮอลลีวูด ในไทยเองมีการนิยามคำว่า ‘ทัวร์ลง’ ในวิกิพจนานุกรม พจนานุกรมเสรีที่ดำเนินการโดยมูลนิธิวิกิมีเดีย ไว้ว่า “โดนคนรุมแสดงความเห็นเชิงลบในสื่อสังคม” อย่างไรก็ตาม ลักษณะ โครงสร้าง และข้อสังเกตที่น่าสนใจในปรากฏการณ์ทัวร์ลงที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียของไทยยังไม่ค่อยมีการศึกษามากนัก จากบทความเรื่อง ‘ทัวร์ลง’ ในกรุงเทพธุรกิจ โดย นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ให้นิยามของปรากฏการณ์ทัวร์ลงไว้คร่าวๆ ว่า 

“ทัวร์ลง ซึ่งก็คือการที่ผู้เล่นหรือผู้ใช้สื่อดิจิทัลสมัยใหม่โดยเฉพาะในทวิตเตอร์จำนวนมากเข้ามาโพสต์และ/หรือมาดู รูป วิดีโอ และเขียนความคิดเห็น และเขียนความคิดเห็น ในประเด็นต่างๆ ที่เป็นที่สนใจในสังคมขณะนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นประเด็นที่คนที่อยู่ในกลุ่มรู้สึกไม่พอใจและอยากที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จำนวนของคนที่เข้าไปดู คุยกันหรือคอมเมนต์นั้นจะต้องมีจำนวนมาก และมักจะติดอันดับสูงที่สุด 10 อันดับ ในขณะนั้น ส่วนประเด็นที่เกิดขึ้นก็มักจะเป็นเรื่องทางการเมืองและสังคมที่เป็นเรื่อง Controversy คือมีความเห็นที่แตกต่างกันสูงในสังคมของไทย” 

ในขณะที่กล้า สมุทวณิช เขียนบทความ เหรียญสองหน้าของปรากฏการณ์ ‘ทัวร์ลง’ ในมติชน โดยกล่าวว่าปรากฏการณ์ทัวร์ลงเป็นสายธารของสิ่งที่เรียกว่า ‘ดราม่า’ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย นอกจากนี้ยังมีลักษณะที่น่าสนใจก็คือ 

“ปรากฏการณ์ทัวร์ลง ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือ หรืออาวุธของคนตัวเล็กตัวน้อย ประชาชนธรรมดาที่รวมกลุ่มกันได้เป็นกลุ่มใหญ่ โดยไม่ได้นัดหมาย จนมีพลังแรงพอที่จะสอดส่อง ทักท้วง ติติงผู้ใช้อำนาจรัฐและการใช้อำนาจรัฐทุกระดับให้ต้องฟังเสียงประชาชนเพื่อทบทวนได้ หรือแม้กระทั่งกับทุนใหญ่หลายเจ้าก็ยังต้องเกรงใจคณะทัวร์ชาวเน็ตนี้

“…อาจจะช่วยป้องปรามการแสดงออกที่ไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น หรือไม่เคารพในคุณค่าที่สังคมปัจจุบันยอมรับ เช่นการเล่นตลกทางเพศ การเหยียดผิวเหยียดเพศ (ที่บางครั้งมาในรูปของโฆษณาคิดสั้น) รวมถึงการละเมิดสิทธิของผู้คนในเรื่องต่างๆ หรือการลุแก่อำนาจของผู้มีสถานะและอำนาจเหนือกว่าที่ปกติแล้วไม่เคยถูกตรวจสอบ…”

“…ทัวร์ลง ยังช่วยยับยั้งการกระทำที่ไม่เข้าท่าของคนบางประเภทที่อยากดังด้วยวิธีลัด ก็สร้างคอนเทนต์หรือถ่ายคลิปประเภทเรียกร้องความสนใจ เช่น การกลั่นแกล้งก่อความเดือดร้อนในสังคม หรือแม้แต่การรังแก หรือทารุณกรรมสัตว์เพื่อเรียกยอดไลค์ คอนเทนต์ หรือคลิปประเภทนี้ หากมีคนไปเป็นและแชร์กันจนทัวร์มาเยือน ก็อาจจะทำให้มนุษย์อยากดังพวกนี้ดับอนาถต้องปิดเพจหนี หรืออาจจะถูกดำเนินคดีเลยก็ได้ หากการนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมายอาญาสักเรื่องสักบทหนึ่ง”

เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทัวร์ลงที่นับวันจะมีมากขึ้นจนเหมือนจะกลายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย Rocket Media Lab จึงเก็บข้อมูลรวบรวมปรากฏการณ์ทัวร์ลงที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียในแพลตฟอร์มต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2565 จนถึง 31 ธันวาคม 2565 รวมเป็นเวลา 193 วัน (6 เดือน 10 วัน) และนำมาจัดหมวดหมู่ โครงสร้าง ลักษณะ และแยกรายละเอียดต่างๆ เพื่อสำรวจปรากฏการณ์ที่เรียกว่าทัวร์ลงในโซเชียลมีเดียในไทยให้ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

‘ทัวร์ลง’ ในที่นี้ หมายถึงการที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมาก หรือจำนวนมากผิดปกติจากที่พื้นที่นั้นเคยมีอยู่ เข้ามาเพื่อคอมเมนต์ในเชิงต่อต้าน ด่าทอ เสียดสีหรือคอมเมนต์ในเชิงลบ ในประเด็นที่มีการโต้เถียงกัน จากผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั้งที่มีส่วนได้เสียหรือไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเด็นนั้น ที่เกิดขึ้นบนเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ติ๊กต็อก อินสตาแกรม ยูทูบ และเว็บบอร์ด

ในช่วงเวลาที่เก็บข้อมูล สามารถรวบรวมสิ่งที่เรียกว่า ‘ทัวร์ลง’ ได้ 177 เรื่อง จากนั้นนำเอา 177 เรื่องนี้มาแบ่งหมวดหมู่ของเรื่อง ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 8 หมวด ได้แก่ 

1. หมวดบันเทิง เป็นเรื่องเกี่ยวกับศิลปินดารานักร้อง บุคคลในวงการบันเทิง รวมไปถึงผู้มีชื่อเสียงในโลกโซเชียลมีเดีย 

2. หมวดการเมือง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับนักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง 

3. หมวดสังคม เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิต การปฏิสัมพันธ์ และบรรทัดฐานทางสังคมต่อเหตุการณ์ต่างๆ 

4. หมวดธุรกิจ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและการบริการ 

5. หมวดการศึกษา เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งในสถานศึกษาและแนวคิดทางวิชาการ 

6. หมวดวัฒนธรรม เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับศาสนา ความเชื่อ ศีลธรรม วัฒนธรรมต่างๆ 

7. หมวดวิทยาศาสตร์/การแพทย์ เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ การแพทย์ สาธารณสุข

8. หมวดนโยบายรัฐ เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ ที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน แก้ไขปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น 

เมื่อแยกหมวดหมู่ของเรื่องจากทั้ง 177 เรื่องที่ทำการเก็บข้อมูลได้แล้ว จากนั้น Rocket Media Lab ได้สำรวจแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบที่พบจากโพสต์ที่โดนทัวร์ลง โดยสามารถจำแนกออกเป็น 16 แนวคิด คือ 

1. ทัศนคติทางการเมือง เป็นเรื่องมุมมองด้านทัศนคติทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน เชียร์คนละพรรค หรือเชียร์คนละนโยบาย หมายรวมถึงบุคคลทางการเมืองด้วย 

2. ความเหมาะสม เป็นมุมมองต่อการกระทำที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียมองว่าเหมาะสมหรือไม่ สิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ 

3. ความเหลื่อมล้ำ เป็นการถกเถียงเรื่องความไม่เท่าเทียมในสังคมทั้งด้านเศรษฐกิจ ชนชั้น การศึกษา 

4. ปกป้องบุคคลที่ชื่นชอบ เป็นการแสดงความเห็นปกป้องบุคคลที่ชื่นชอบไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในแวดวงใดก็ตาม 

5. จรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นการตั้งคำถามกับความประพฤติที่ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องประพฤติปฏิบัติให้เหมาะสม ไม่ผิดแก่จรรยาบรรณของตน 

6. ทัศนคติทางเพศ เป็นการตั้งคำถามต่อมุมมองทางเพศของบุคคล 

7. สิทธิมนุษยชน เป็นการตั้งคำถามต่อมุมมองเรื่องสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน 

8. ส่อทุจริต เป็นการตั้งข้อสงสัยถึงความไม่ชอบมาพากลในการประกอบธุรกิจ หรือการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

9. ความเห็นไม่ตรงกัน เป็นเรื่องการถกเถียงกันของกลุ่มคนที่มีฐานคิดของข้อถกเถียงที่ต่างกันในประเด็นนั้นๆ 

10. anti-woke เป็นแนวคิดที่ต่อต้านกระแสการตื่นตัวต่อเรื่องอคติและการเลือกปฏิบัติในสังคม โดยมองว่าเป็นแนวคิดที่ล้นเกิน 

11. ความโปร่งใส เป็นการตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการดำเนินกิจกรรมหรือนโยบายของรัฐ 

12. ชาตินิยม เป็นการถกเถียงกันภายใต้แนวคิดชาตินิยม 

13. ศาสนา/ความเชื่อ/ศีลธรรม เป็นการถกเถียงกันเรื่องศาสนา ความเชื่อ หรือความประพฤติที่มีศาสนามาเกี่ยวข้อง 

14. ทัศนคติทางเชื้อชาติ เป็นการถกเถียงต่อการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลโดยแบ่งแยกเชื้อชาติ ในที่นี้รวมไปถึงการแบ่งแยกตามตามภูมิศาสตร์ของประเทศ เช่น ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคกลาง 

15. วิทยาศาสตร์ ในที่นี้เป็นการถกเถียงเรื่องของการแพทย์ วิทยาศาสตร์ สาธารณสุข เรื่องสุขอนามัยต่างๆ

16. สิ่งแวดล้อม ในที่นี้เป็นการถกเถียงเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างฉลาด อาทิ ใช้ให้น้อยแต่คุ้มค่า ใช้ให้เหมาะสม ใช้อย่างมีเหตุผล 

จากนั้นก็สำรวจลักษณะคอมเมนต์ที่เกิดขึ้นในโพสต์ที่โดนทัวร์ลงทั้ง 177 เรื่อง โดยสามารถแบ่งลักษณะคอมเมนต์ออกเป็น 4 แบบ คือ 

1. ล้อเลียน/เสียดสี หมายถึง การที่ทัวร์เข้ามาคอมเมนต์ในเชิงล้อเลียน เสียดสี ยั่วเย้า หรือประชดประชันต่อผู้ถูกทัวร์ หรือต่อเหตุการณ์นั้นๆ 

2. ด่าทอด้วยคำหยาบคาย/ตำหนิติเตียน หมายถึง การที่ทัวร์เข้ามาด่าทอ ตำหนิ ผู้ถูกทัวร์ด้วยคำหยาบคาย

3. สนับสนุน/ปกป้อง หมายถึงการที่ทัวร์เข้ามาคอมเมนต์ปกป้องบุคคลในเหตุการณ์ หรือคอมเมนต์เชิงสนับสนุนบุคคลในเหตุการณ์ที่มีทัวร์ลงเกิดขึ้น

4.โต้เถียงด้วยเหตุผล/ยกเหตุผลเพื่อมาลบล้างหลักการ หมายถึง การที่ทัวร์เข้ามาโต้แย้งเหตุการณ์ หรือประเด็นนั้นๆ ด้วยเหตุผล หรือหลักการอื่นๆ ที่ไม่ใช่หลักการเดียวกันกับต้นโพสต์ 

จากนั้น ยังได้สำรวจปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 6 แบบ ดังนี้

1.ไม่ได้ทำอะไร หมายถึง ผู้ที่ถูกทัวร์ลงไม่ได้ออกมาชี้แจง อธิบาย หรือแก้ไขใดๆ เพียงปล่อยให้เหตุการณ์เกิดขึ้นและจบลงไปเฉยๆ

2. ออกมาอธิบาย/ชี้แจง หมายถึง ผู้ที่ถูกทัวร์ลง ออกมาเขียนอธิบายหรือชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้น ในที่นี้หมายถึงการเขียนโพสต์ใหม่เพื่ออธิบายเหตุการณ์โดยเฉพาะ หรือไลฟ์สดอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะ

3. ลบ/แก้ไข/ปิดคอมเมนต์ หมายถึง ผู้ที่ถูกทัวร์ลงออกมาลบ แก้ไข และปิดคอมเมนต์โพสต์ที่เป็นต้นตอของสิ่งที่ทำให้เกิดทัวร์ลง 

4. ออกมาขอโทษ หมายถึง ผู้ที่ถูกทัวร์ลงออกมาเขียนโพสต์ ไลฟ์สด อัดคลิป หรือแถลงข่าวขอโทษ โดยในที่นี้นับเฉพาะกรณีที่ระบุคำขอโทษ และกรณีที่มีการยอมรับผิด 

5. มีการฟ้องร้องกัน หมายถึง ผู้ที่ถูกทัวร์ลงฟ้องร้องคู่กรณี รวมไปถึงถูกจับกุม หรือถูกดำเนินคดีด้วย

6. ยกเลิก/ลาออก หมายถึง เหตุการณ์ที่ถูกทัวร์ลงนั้น มีการยกเลิกงาน หรือมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

สุดท้าย คือการสำรวจเส้นทางการมาของทัวร์ว่ามีรูปแบบอย่างไร โดยสามารถจำแนกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ 

1. ทัวร์ลงที่ต้นเรื่อง หมายถึง บุคคลต้นเรื่องก่อให้เกิดทัวร์ลงด้วยตนเอง โพสต์เอง และภายหลังทัวร์ลงที่โพสต์นั้น 

2. ทัวร์ลงที่ต้นเรื่องจากการชี้ช่อง หมายถึง บุคคลต้นเรื่องโพสต์หรือทำบางสิ่งบางอย่าง ต่อมามีบุคคลหรือสื่อนำเรื่องราวไปขยายต่อ ทัวร์จึงกลับมาหาบุคคลต้นเรื่องหรือโพสต์นั้นๆ 

3. ทัวร์ลงในพื้นที่ที่มีการชี้ช่อง หมายถึง มีบุคคลหรือสื่อนำเรื่องราวไปรายงาน/เขียนถึงในที่สาธารณะ ต่อมามีทัวร์ไปลงในพื้นที่ที่มีการเขียนรายงานถึง 

4. ทัวร์ลงพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับต้นเรื่อง หมายถึง มีเรื่องราวหรือเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่ทัวร์ไม่ทราบพื้นที่ส่วนตัวของบุคคลที่จะถูกทัวร์ลง ต่อมาทัวร์จึงไปลงในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับคนที่เป็นต้นเรื่องแทน

ทัวร์ลงหมวดบันเทิงมากที่สุด แต่ใช่ว่าคนไทยบ้าดารา

จากปรากฏการณ์ทัวร์ลงทั้ง 177 เรื่อง เมื่อนำมาแยกหมวดหมู่พบว่ามีหมวดบันเทิงมากที่สุด จำนวน 61 เรื่อง คิดเป็น 34.46% รองลงมาอยู่ในหมวดการเมือง จำนวน 38 เรื่อง คิดเป็น 21.47% ตามมาด้วยหมวดสังคม 35 เรื่อง คิดเป็น 19.77% โดยหมวดที่น้อยที่สุดที่พบคือเรื่องนโยบายรัฐ พบเพียง 3 เรื่อง คิดเป็น 1.69%

ในหมวดบันเทิงซึ่งมีทัวร์ลงมากที่สุด พบว่าแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบที่พบมากที่สุดคือปกป้องบุคคลที่ชื่นชอบ จำนวน 14 เรื่อง รองลงมาคือ ความเหมาะสม 11 เรื่อง ตามมาด้วย ความเหลื่อมล้ำ 9 เรื่อง โดยแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบที่พบน้อยที่สุดคือเรื่องความโปร่งใส จำนวน 1 เรื่อง ศาสนา/ความเชื่อ/ศีลธรรม 1 เรื่อง สิ่งแวดล้อม 1 เรื่อง และสิทธิมนุษยชน 1 เรื่อง

ตัวอย่างทัวร์ลงในหมวดบันเทิงที่ใช้แนวความคิดปกป้องบุคคลที่ชื่นชอบในการโต้ตอบ เช่น ข่าวอิงฟ้า วราหะ มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2022 หนีเที่ยวสิงคโปร์โดยไม่บอกต้นสังกัด โดยหลังจากเจ้าของเวทีมิสแกรนด์ ณวัฒน์ อิสรไกรศีล ไลฟ์ขอให้ผู้ที่พาอิงฟ้าไปหยุดการกระทำดังกล่าว แฟนคลับของนางงามต่างเข้าไปทัวร์ลงบนอินสตาแกรมของ ติ๊นา ศุภนาฎ จิตตลีลา ซึ่งคาดว่าเป็นผู้ที่ถูกกล่าวถึง ลักษณะคอมเมนต์เป็นการแสดงความไม่พอใจ ตำหนิติเตียนพฤติกรรมของติ๊นาที่พาอิงฟ้าหนีเที่ยวจนดูเหมือนไม่มีความเป็นมืออาชีพและปกป้องอิงฟ้าที่ถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องวุ่นวาย เช่น “พักนะคะ ถอยออกมา อย่าไปอะไรกับพี่ฟ้า ขอพี่ฟ้าคืนได้ไหม” อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ทัวร์ลงของติ๊นาจบลงโดยที่ติ๊นาไม่ได้ออกมาอธิบายหรือชี้แจงใดๆ 

อันดับสองคือหมวดการเมือง โดยแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบที่พบมากที่สุดคือทัศนคติทางการเมือง จำนวน 34 เรื่อง ตามมาด้วยความเหลื่อมล้ำ จำนวน 1 เรื่อง ชาตินิยม 1 ทัศนคติทางเพศ 1 เรื่อง และปกป้องบุคคลที่ชื่นชอบ 1 เรื่อง ตัวอย่างทัวร์ลงในหมวดหมู่การเมืองที่ใช้ทัศนคติทางการเมืองในการโต้ตอบ เช่น กรณีของแทนคุณ จิตต์อิสระ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ในขณะนั้น ถูกทัวร์ลงหลังโพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กว่าส่งลูกชายไปเรียนแคนาดา ขณะที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียคอมเมนต์ถามเกี่ยวกับแนวคิดทางการเมือง อาทิ “แคนาดาให้ที่พักพิงให้ทุนให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมืองโดยเฉพาะ 112 หลายคนเลยนะคะ” หรือ “ทำไมไม่เรียนเมืองไทย ไม่รักชาติเหรอ” ซึ่งลักษณะข้อความดังกล่าวถูกจัดประเภทว่าเป็นการล้อเลียน/เสียดสี 

อันดับที่สามคือหมวดสังคม โดยแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบที่พบมากที่สุดเป็นเรื่องความเหมาะสม 11 เรื่อง ตามมาด้วยความเหลื่อมล้ำ 4 เรื่อง สิทธิมนุษยชน  4 เรื่อง และที่พบน้อยที่สุดเป็นเรื่องทัศนคติทางเพศ 1 เรื่อง ศาสนา/ความเชื่อ/ศีลธรรม 1 เรื่อง สิ่งแวดล้อม 1 เรื่องและ anti-woke จำนวน 1 เรื่อง ตัวอย่างทัวร์ลงในหมวดหมู่สังคมที่ใช้แนวคิดเรื่องความเหมาะสมในการตอบโต้ เช่น กรณีของเพจ “ที่นี่ห้วยปริก” ซึ่งโพสต์ข้อมูลประชาสัมพันธ์โครงการการยกระดับเศรษฐกิจ​และสังคมรายตำบลของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระบุว่า “เทคนิคการขายสินค้าออนไลน์ By พี่หลวงกาโตะ” โดยมีรูปนายพงศกร จันทร์แก้ว หรือหลวงพี่กาโตะ อดีตพระนักเทศน์ชื่อดังที่เคยมีคลิปเสียงฉาวและมีความสัมพันธ์กับสีกาในรถ ที่ปัจจุบันสึกและผันตัวมาเป็นพ่อค้าออนไลน์ หลังโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป มีคนจำนวนมากเข้าไปทัวร์ในเพจ โดยชี้ว่าผู้จัดเลือกคนไม่เหมาะกับงาน เช่น “พิจารณาความเหมาะสมหน่อยครับ อันนี้คือมีชื่อเสียงจากความเสื่อมเสีย ส่วนตัวคิดว่าระดับมหาวิทยาลัยน่าจะหาวิทยากรได้ดีกว่านี้นะครับ” ต่อมา เพจลบโพสต์ดังกล่าวออกแต่ไม่ได้ชี้แจงว่างานนี้จะยังจัดต่อไปหรือไม่

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า แม้เรื่องทัวร์ลงจะเกิดขึ้นในหมวดบันเทิงมากที่สุด ซึ่งในทางหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนบันเทิงยังเป็นจุดสนใจของคนในสังคมเสมือนดังเช่นข่าวบันเทิงทั่วไป หรือคนบันเทิงที่มีแฟนคลับให้การสนับสนุน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบที่พบมากที่สุดในหมวดบันเทิงคือการปกป้องบุคคลที่ชื่นชอบ ซึ่งก็คือการที่แฟนคลับเป็นตัวการหลักในความเคลื่อนไหวของทัวร์ลงในแต่ละครั้ง 

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบที่พบรองลงมาในหมวดบันเทิงคือความเหมาะสม ซึ่งมีจำนวนไม่ห่างจากอันดับหนึ่งมากนัก สะท้อนให้เห็นว่าไม่ใช่แค่คนที่สนใจข่าวดาราหรือแฟนคลับเท่านั้น ที่เป็นตัวการในการขับเคลื่อนทัวร์ลงในหมวดบันเทิง แต่ยังอาจหมายรวมคนทั่วไปที่อาจจะไม่ได้สนใจในเรื่องราวของดาราหรือเป็นแฟนคลับ แต่ขึ้นขบวนรถทัวร์พร้อมกับแนวความคิดเรื่องความเหมาะสม มีเกณฑ์บรรทัดฐานทางสังคมบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมารยาท จริยธรรม ฯลฯ เพื่อตัดสินการกระทำของผู้ที่ถูกทัวร์ลง ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่เกาะเกี่ยวผู้คนทั่วไปกับการทัวร์ลงในหมวดหมู่บันเทิง โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนั้นๆ เป็นการเฉพาะเช่นการเป็นแฟนคลับ

มากไปกว่านั้นก็คือ แม้จะเป็นทัวร์ลงในหมวดหมู่บันเทิง แต่เรายังได้เห็นการโต้ตอบของทัวร์โดยใช้แนวคิดอื่นๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ เช่น กรณีของดีเจภูมิกับเรื่องส้มตำจานละ 600 บาทที่ออสเตรเลีย หรือกรณีของโตโน่กับเรื่องการใช้อุโมงค์ว่ายน้ำที่จุฬาฯ ซ้อมว่ายน้ำก่อนจะว่ายจริงในแม่น้ำโขง หรือแม้กระทั่งประเด็นเรื่องความโปร่งใส, ศาสนา/ความเชื่อ/ศีลธรรม, สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแนวความคิดเชิงสังคมที่ถูกนำมาใช้โต้ตอบในขบวนทัวร์ลง แม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ของหมวดบันเทิงก็ตาม

ทัศนคติทางการเมืองยังเป็นเรื่องที่ใช้โต้ตอบถกเถียงกันมากที่สุด

จากปรากฏการณ์ทัวร์ลงทั้ง 177 เรื่อง เมื่อนำมาแยกแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบ จะพบว่ามีการใช้แนวความคิดเรื่องทัศนคติทางการเมืองมากที่สุด จำนวน 43 เรื่อง คิดเป็น 24.29% รองลงมาคือความเหมาะสม 23 เรื่อง คิดเป็น 12.99% ตามมาด้วยความเหลื่อมล้ำ 20 เรื่อง คิดเป็น 11.30% โดยแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบที่พบน้อยที่สุดคือทัศนคติทางเชื้อชาติ วิทยาศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม อย่างละ 3 เรื่อง คิดเป็นเรื่องละ 1.69% เท่ากัน

จากแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบเป็นเรื่องทัศนคติทางการเมืองมากที่สุด จำนวน 43 เรื่อง เมื่อนำมาพิจารณาต่อจะพบว่าอยู่ในหมวดการเมืองมากที่สุด จำนวน 34 เรื่อง ตามมาด้วยหมวดบันเทิง 5 เรื่อง และหมวดสังคม 2 เรื่อง ยกตัวอย่างเช่น กรณีดราม่า #แบนนันยาง ขึ้นแฮชแท็กในทวิตเตอร์หลังโปรโมตรองเท้าแตะช้างดาวพริ้ง แต่โดนโยงการเมือง โดยเรื่องราวเริ่มต้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 วงเกิร์ลกรุ๊ปสัญชาติเกาหลีอย่าง BLACKPINK คัมแบคด้วยเพลง Pink Venom เพจนันยาง Nanyang จึงเขียนโพสต์ว่า “ถ้าเพลงใหม่ #BLACKPINK ยอดวิวถึง 80 ล้านใน 24 ชม. จะผลิตช้างดาวสีชมพูดำ” ปรากฏว่ายอดวิวของเพลงนี้ถึง 80 ล้านวิวใน 24 ชั่วโมงตามที่ระบุไว้ เพจรองเท้านันยางจึงประกาศจะผลิตรองเท้าดังกล่าว ทั้งยังลงรายละเอียดช้างดาวพริ้งไว้ว่า “Fact 24 ข้อก่อนซื้อช้างดาวพริ้ง” ซึ่งในข้อ 20 ระบุว่า “รองเท้าแตะสีชมพูดำจะไม่ผลิตอีกภายใน 8 ปี (พ.ศ. 2573)” ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว กำลังมีประเด็นทางการเมืองว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีหรือไม่ โดยเพจต่างๆ ต่างก็เล่นมุก หรือโปรโมทสินค้าโดยอ้างอิงถึงตัวเลขนี้ เช่น ร้านจ๊อปูบางแสนโพสต์ถึงความอร่อย 8 ปี ดังนั้นชาวเน็ตที่มาทัวร์ลงจึงเชื่อว่านี่คือการแซะเรื่องของการเมืองของนันยาง จนเกิดแฮชแท็ก #แบนนันยาง ขึ้น หลังมีดราม่าออกมา ผู้จัดการทั่วไปของนันยางออกมาชี้แจงว่าตัวเลขไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง “สินค้ารุ่นลิมิตเตดของเรา (ทุกๆ รุ่น) มีคำถามว่า จะผลิตอีกไหม แต่ละรุ่นเราจะไม่ผลิตอีก อย่างที่เราบอกว่าช้างดาวพริ้งจะไม่ผลิตอีก แต่ถ้าเราบอกว่าจะไม่ผลิตสีชมพูกับดำอีก ก็จะเป็นการผูกมัดเลยไป ก็เลยคิดว่าต้องกำหนดเวลา” อย่างไรก็ตามกรณีนี้ชาวเน็ตบางส่วนมองว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาของการเปิดขายแบบลิมิเต็ดที่นานๆ จะมีทีทำให้เกิดแฮชแท็กให้กำลังใจนันยางขึ้นมาด้วยแฮชแท็ก #saveนันยาง

แนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบที่พบอันดับที่สองคือความเหมาะสม 23 เรื่อง ซึ่งพบในหมวดบันเทิง จำนวน 11 เรื่อง หมวดสังคม 11 เรื่อง และหมวดธุรกิจ 1 เรื่อง ยกตัวอย่างในหมวดบันเทิง เช่น กรณีของลีน่าจัง เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 65 ที่ถูกวิจารณ์ว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม คุกคามทางเพศและไม่ให้เกียรติ โดยขณะไลฟ์ขายของร่วมกับนักแสดงยุ่น ภูษณุ วงศาวณิชชากร ลีน่าจังดมรักแร้ของนักแสดงหนุ่มโดยอีกฝ่ายไม่ยินยอม เรื่องนี้ทำให้เกิดแฮชแท็ก #แบนลีน่าจัง ขึ้นในโลกออนไลน์ และเมื่อพิจารณาลักษณะคอมเมนต์ของทัวร์พบว่ามีทั้งด่าทอด้วยคำหยาบคาย/ตำหนิติเตียนบุคคลในเหตุการณ์ โต้เถียงด้วยเหตุผล/ยกเหตุผลเพื่อมาลบล้างหลักการเพื่อปกป้องบุคคลในเหตุการณ์อย่างดาราชาย รวมไปถึงคอมเมนต์เพื่อปกป้องดาราหนุ่มอีกด้วย 

แนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบที่พบเป็นอันดับสามคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ จำนวน 20 เรื่อง ซึ่งพบในหมวดบันเทิงมากที่สุด 9 เรื่อง สังคม 4 เรื่อง ตามด้วยหมวดธุรกิจ 3 เรื่อง เช่น กรณีดราม่า สาวโพสต์ตามหาช่างแต่งหน้า ทำผม เรตราคาหลักร้อยในหมวดสังคม โดยเรื่องเกิดจากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งเข้าไปโพสต์ในกลุ่ม “หาช่างแต่งหน้า-ทำผม สำหรับงานถ่ายแบบ งานพิธี รับปริญญา งานแต่ง งานอีเว้นท์ฯ” ว่า “ตามหา หาช่างแต่งหน้าหัวละ 300 บาท ช่างทำผม หัวละ 200 บาท งานเลี้ยงบริษัทจำนวน 30-40 คน โดยประมาณ งาน 31 ธันวาคม แถวๆ อยุธยาค่ะ” ในวันที่ 23 ธ.ค.65 ซึ่งโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก โดยมีทั้งทัวร์ที่เข้ามาลงเพราะมองว่ากดราคา ดูถูกวิชาชีพ ขณะที่บางส่วนใช้วิธีล้อเลียนขบขันโดยบอกว่าให้ไปแต่งหน้ากับ จิ๊ก เนาวรัตน์ ซึ่งเป็นนักแสดงที่มักแต่งหน้าให้ศพ ขณะที่บางคนก็เข้ามาให้กำลังใจเจ้าของโพสต์ ต่อมา เจ้าของโพสต์ได้เขียนชี้แจงถึงเหตุผลที่ต้องประหยัดงบหลังจากถูกทัวร์ลง 

นอกจากนี้แนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบที่น่าสนใจที่สำรวจพบคือเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยพบ 10 เรื่อง แบ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย 4 เรื่อง ละเมิดสิทธิ 3 เรื่อง สิทธิคนพิการ 2 เรื่องและสิทธิเด็ก 1 เรื่อง เช่น กรณีที่ทัวร์มองว่าเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของครูสาวดาวติ๊กต็อกซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคนที่เจอทัวร์ลงหลังอัปคลิปพานักเรียนไปตัดผมซ้ำจนเกรียน โดยครูระบุว่าเป็นหน้าที่เด็กที่ต้องตัดผมให้เรียบร้อย ทั้งยังบรรยายในคลิปว่า “การตัดผมเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่เมื่อเรามาอยู่ในที่ที่มีกฎ ก็ต้องทำตามกฎ ถูกไหม จริงอยู่ที่การตัดผมไม่ได้ทำให้เราเรียนเก่งขึ้น แต่ช่วยฝึกเราให้รู้จักคำว่าหน้าที่หรือเปล่า” เหตุการณ์นี้ถูกเผยแพร่ซ้ำผ่านโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่น ชี้ช่องให้เกิดทัวร์ไปลงครูสาวเพราะมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิเรื่องเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของเด็ก ขณะที่บางส่วนก็มองว่าครูทำตามกฎของโรงเรียน โดยพบคอมเมนต์ในเชิงปกป้อง ทั้งปกป้องเด็กที่โดนตัดผมและบางส่วนก็ปกป้องครูผู้ถูกทัวร์ลง ท้ายที่สุดเหตุการณ์นี้จบลงที่ครูคนดังกล่าวลบคลิปนี้ออกไปจากติ๊กต็อก

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า แม้ปรากฏการณ์ทัวร์ลง 177 เรื่องที่มีการเก็บข้อมูลนั้นอยู่ในหมวดบันเทิงมากที่สุด แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบ จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องทัศนคติทางการเมืองมากที่สุด ทำให้อาจจะกล่าวได้ว่า ที่จริงแล้วในการโต้ตอบถกเถียงกันในทัวร์ลงมาจากทัศนคติทางการเมืองที่ไม่ตรงกันเป็นส่วนใหญ่ เรื่องทัศนคติทางการเมืองจึงอาจจะเป็นชนวนถกเถียงที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ทัวร์ลงมากที่สุดก็ว่าได้ 

ไม่เพียงแค่นั้น จากข้อมูลยังเห็นได้ว่ายังมีการใช้แนวความคิดทางสังคมอื่นๆ อีกหลากหลายในการโต้ตอบในปรากฏการณ์ทัวร์ลง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องทัศนคติทางเพศ สิทธิมนุษยชน anti-woke ทัศนคติทางเชื้อชาติ หรือแม้แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งอาจจะเป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นว่าสังคมในปัจจุบันกำลังให้ความสำคัญกับ ‘คุณค่า’ แบบใด และต้องการจะผลักดันแนวความคิดหรือคุณค่าใหม่ๆ ทางสังคมให้กลายเป็นที่ยอมรับเป็นบรรทัดฐานใหม่ในสังคมที่ทุกคนควรยึดถือหรือให้การเคารพ ผ่านการนำเอาแนวความคิดนั้นๆ มาใช้ในการโต้ตอบในการนำทัวร์ไปลง และทำให้สามารถมองไปได้อีกว่า ในอีกนัยหนึ่งปรากฏการณ์ทัวร์ลงจึงไม่ใช่แค่คนในโซเชียลมีเดียทะเลาะกันจากความเห็นไม่ตรงกัน แต่มันคือปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบหนึ่งที่กำลังจะขับเคลื่อนปรับเปลี่ยนทัศนคติและการให้คุณค่าในประเด็นใดประเด็นหนึ่งให้เกิดขึ้นและได้รับการยอมรับในสังคมปัจจุบัน 

ทัวร์ลงเพื่อถกเถียง หรือลงเพื่อล้อเลียนเสียดสี?

จากปรากฏการณ์ทัวร์ลงทั้ง 177 เรื่อง เมื่อนำมาแยกลักษณะคอมเมนต์ของทัวร์ จะพบว่าลักษณะที่พบมากที่สุดคือ การล้อเลียน/เสียดสี จำนวน 115 เรื่อง คิดเป็น 29.49% รองลงมาคือด่าทอด้วยคำหยาบคาย/ตำหนิติเตียน 97 เรื่อง คิดเป็น 24.87% ตามด้วยการเข้ามาสนับสนุน/ปกป้อง 92 เรื่อง คิดเป็น 23.59% และที่พบน้อยที่สุดคือคอมเมนต์ในเชิงโต้เถียงด้วยเหตุผล/ยกเหตุผลเพื่อมาลบล้างหลักการ 43 เรื่อง คิดเป็น 11.03% 

ลักษณะคอมเมนต์ของทัวร์ที่เป็นการล้อเลียน/เสียดสี จำนวน 115 เรื่อง นั้นพบมากที่สุดในหมวดการเมือง 33 เรื่อง รองลงมาคือหมวดบันเทิง 32 เรื่อง ตามมาด้วยหมวดสังคม จำนวน 23 เรื่อง และพบน้อยที่สุดในหมวดวิทยาศาสตร์/การแพทย์ เพียง 1 เรื่องเท่านั้น เช่น กรณีของชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ให้สัมภาษณ์สื่อเรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสาร โดยระบุว่ารัฐบาลทำงานมาตลอด แค่ประชาสัมพันธ์ไม่เก่งเท่าชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การตัดโควทคำพูดที่ให้สัมภาษณ์แก่สื่อของชัยวุฒิมาพาดหัวข่าวด้วยประโยคนี้ทำให้ทัวร์ลงที่โพสต์ของสื่อมวลชนจำนวนมาก ซึ่งทัวร์มาลงเพราะเรื่องทัศนคติทางการเมืองของนายชัยวุฒิ ทำให้มีผู้เข้ามาคอมเมนต์ในเชิงเสียดสี/ล้อเลียน อาทิ “ถึงจะไม่มีใครเห็นท่านชัยวุฒิทำงาน ก็ไม่เป็นไรนะครับท่าน เพราะผมก็ไม่เคยเห็นเหมือนกัน” “ไม่เข้าใจ ทำไมนักการเมืองชอบแซะ ทำดีสู้ไม่ได้ ทำงานสู้ไม่ได้ หาเรื่องแซะเลย” อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวไม่มีทัวร์ไปลงในพื้นที่ส่วนของนายชัยวุฒิแต่อย่างใด มีเพียงการคอมเมนต์บนพื้นที่ชี้ช่องที่สื่อนำมาลงเท่านั้น และจบลงที่ผู้เริ่มเรื่องไม่ได้ขอโทษหรือออกมาชี้แจง 

ในหมวดวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ที่พบเพียง 1 เรื่องเท่านั้น เป็นเรื่องของทัวร์ที่ลงเพจ สื่อมวลชนอย่าง Spectrum หลังลงบทสัมภาษณ์บุคคลที่ตัวเองรู้สึกไม่เข้ากับสังคม เพราะมีสิว และเป็นเพราะสังคมชายเป็นใหญ่ ทำให้เธอต้องทำตัวตามมาตรฐานผู้หญิง ซึ่งความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบเป็นเรื่อง anti-woke โดยมองว่าข้อความที่ผู้ให้สัมภาษณ์พูดไม่สอดคล้องกัน เป็นการตื่นรู้เกินความเป็นจริง พร้อมอธิบายว่า สิวนั้นเกิดได้กับทุกเพศและการรักษาสิวคือการดูแลสุขอนามัย ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องชายเป็นใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียนำภาพโคว้ทข้อความจากบทสัมภาษณ์ไปล้อเลียนต่อในเพจอื่นๆ 

ลักษณะคอมเมนต์ของทัวร์ที่รองลงมาคือด่าทอด้วยคำหยาบคายและตำหนิติเตียน จำนวน 97 เรื่อง โดยพบในหมวดบันเทิงมากที่สุด 33 เรื่อง อันดับที่สองคือหมวดสังคม 23 เรื่อง และอันดับที่สามคือหมวดธุรกิจ จำนวน 15 เรื่อง เช่นเรื่องในหมวดบันเทิงอย่างดราม่าหมอของขวัญ พญ.ของขวัญ ฟูจิตนิรันดร์ โดนทัวร์ลงหลังมีผู้เผยแพร่คลิปในงานปาร์ตี้กับศิลปินดังอย่างแจ็กสัน หวัง โดยหมอของขวัญพยายามสะกิดแจ็กสันให้เอาเหล้ากรอกปากตนอยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ จนกลายเป็นประเด็นดราม่าในโลกโซเชียลและผู้ใช้โซเชียลจำนวนมากทัวร์ลงเพจส่วนตัว เนื่องจากแฟนคลับมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พร้อมเผยธรรมเนียมศิลปินเกาหลีจะไม่แตะต้องหรือกรอกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใส่ปากหญิงสาวเพื่อเป็นการให้เกียรติ ภายหลังจากมีทัวร์หมอของขวัญได้ออกมาขอโทษในพฤติกรรมดังกล่าว 

ลักษณะคอมเมนต์ของทัวร์ที่พบเป็นอันดับสามคือเข้ามาสนับสนุน/ปกป้อง 92 เรื่อง โดยพบในหมวดบันเทิงมากที่สุด จำนวน 40 เรื่อง รองลงมาคือหมวดการเมือง 23 เรื่อง ตามมาด้วยหมวดสังคม 13 เรื่อง ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของต๊ะ นารากร ผู้ประกาศข่าวที่ลงรูปหมาที่ส่งไปว่ายน้ำในเฟซบุ๊กส่วนตัวของตนแต่กลับถูกทัวร์ลง เพราะทัวร์บางส่วนมองว่าต๊ะ นารากรกำลังเสียดสีพฤติกรรมของโตโน่ ภาคิน ซึ่งกำลังทำโครงการ One Man & The River หนึ่งคนว่าย หลายคนให้ซึ่งเป็นการว่ายน้ำข้าม 2 ฝั่งโขง (ไทย-ลาว) เพื่อระดมทุนจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลทั้งสองฝั่งโขง ทัวร์ส่วนหนึ่งเข้ามาเสียดสีต๊ะ นารากร เพราะไม่เชื่อว่าเป็นเหตุบังเอิญ และบางส่วนก็เข้ามาปกป้อง สนับสนุนการกระทำของผู้ประกาศข่าวสาว อาทิ “เป็นกำลังให้ครับ แล้วแนะนำครับคนที่แคปไปด่าให้ฟ้องให้หมดคำ แล้วเอาเงินมาช่วยเหลือโรงพยาบาล สนใจหลักฐานผมแคปเตรียมไว้ให้แล้ว” ภายหลังผู้ประกาศต๊ะ นารากรได้ออกมาอธิบายว่าเพียงโพสต์ภาพเท่านั้น ไม่ได้มีนัยแอบแฝง

นอกจากนี้หากพิจารณาลักษณะคอมเมนต์ของทัวร์ ควบคู่ไปกับแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบ ก็จะเห็นได้ว่า ลักษณะคอมเมนต์แบบด่าทอด้วยคำหยาบคาย/ตำหนิติเตียน พบแนวคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบคือเรื่องทัศนคติทางการเมือง 16 เรื่อง รองลงมาคือความเหมาะสม 15 เรื่อง ตามมาด้วยความเหลื่อมล้ำ 11 เรื่อง เช่น กรณีของเพจวิ่งตามชีวิต พลทหาร โพสต์ภาพถาดอาหารทหารที่เต็มไปด้วยอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีหน้าตาที่น่ารับประทาน แต่โดนชาวเน็ตทัวร์ลงเพราะมองว่าเพจกำลังโกหก เป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับกองทัพ โดยมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นแย้งว่าไม่จริง ตอนเป็นทหารไม่ได้อาหารเยอะขนาดในรูปทั้งยังเป็นคอมเมนต์ลักษณะด่าทอ ใช้คำหยาบคาย เช่น “ตอแหลตั้งแต่เป็นทหารแล้ว พอได้เป็นนายกเลยไม่แปลกใจ” หรือ “สร้างภาพชิบหาย 3/63 อยู่มาจนอีก 3 เดือนจะปลดละไม่เคยได้กินอะไรแบบนี้เลย” ขณะเดียวกันในโพสต์ดังกล่าวก็มีคอมเมนต์ติเตียนอยู่ด้วย เช่น คอมเมนต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ที่แสดงความเห็นว่า “สร้างภาพสร้างได้แต่สร้างคุณค่าทางโภชนาอาหารที่ดีต่อกำลังพลไม่ได้ สภาพถาดอาหารของกำลังพลที่ข้าพเจ้าได้พบเห็นและได้รับประทาน ตั้งแต่ข้าพเจ้ามาเป็นทหารกองประจำการ นามว่า ทหารเรือราชนาวี ในระยะเวลา ๑ ปี ข้าพเจ้าไม่เคยได้เห็นและได้รับประทานอาหารที่มีโภชนาการครบ 5 หมู่ ใน ๑ ถาด ที่มีอาหารสมบูรณ์น่ารับประทานดั่งในภาพ แม้แต่อาหารของข้าราชการในระดับชั้นประทวน จน ถึงสัญญาบัตร ก็ไม่มีความแตกต่างมากไปกับอาหารในถาดของข้าราชการระดับพลทหาร ภาพในเม้นนี้คือภาพตัวอย่างข้าวจากโรงเลี้ยงพลทหารกองประจำการที่ข้าพเจ้าได้บันทึกไว้” ซึ่งเมื่อมีผู้เข้ามาคอมเมนต์จำนวนมาก เพจตามติดชีวิตพลทหารก็ลบรูปภาพที่เป็นต้นเรื่องออกไปทั้งยังปิดคอมเมนต์ด้วย

ส่วนลักษณะคอมเมนต์ประเภทโต้เถียงด้วยเหตุผล/ยกเหตุผลเพื่อมาลบล้างหลักการ นั้นพบแนวคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบมากที่สุดยังเป็นเรื่องทัศนคติทางการเมือง 12 เรื่อง รองลงมาคือความเหลื่อมล้ำ 8 เรื่อง ความเหมาะสม 4 เรื่อง ทัศนคติทางเพศ 4 เรื่อง เช่น กรณีของเพจนักเรียนเลวโดนทัวร์ลงจากการโพสต์เรื่อง กยศ. เพราะมองว่าเพจมีอคติทางการเมืองต่อรัฐมากเกินไป โดยต้นโพสต์นั้นระบุไว้ว่า “กยศ. เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้นักเรียนนักศึกษากู้เงินไปใช้ในการเรียนเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษา กยศ. ควรจะเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของนักเรียนนักศึกษาโดยไม่แสวงหาผลกำไร แต่ กยศ. มีรายได้รวมในปีงบประมาณ 2564 ถึง 6,899,006,397.09 บาท แล้วแบบนี้ กยศ. เป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้เรียนหรือแสวงหาผลประโยชน์บนความเดือดร้อนของผู้เรียนกันแน่” ต่อมามีทัวร์จำนวนมากเข้าโต้แย้งด้วยข้อมูลทางสถิติเรื่อง กยศ.ที่เพจนักเรียนเลวตั้งประเด็นว่าต่างจากหนี้ประเภทอื่น รัฐถือว่าขาดทุนมากกว่าได้กำไร เช่น 

“มีคนกู้ประมาณ 6,000,000 คน

จากเงินกองทุน 300,000,000,000 บาท

กยศ. มีรายได้จากการให้ปล่อยกู้ประมาณ 7,000,0000,000 บาท

เฉลี่ยผู้กู้แต่ละรายจ่ายดอกให้กยศ. คนละ 1,166 บาท

ถ้าตีว่าคิดดอก ดอกจะเท่ากับ 2.2%

อัตราเงินเฟ้อประเทศไทยคือ 2.17%

สรุปทำกำไรไปจริงๆ 0.03% ทางเทคนิคนี่คือให้ฟรีแล้วนะ”

ภายหลังจากที่มีทัวร์ ทางเพจได้แก้ไขโพสต์เป็น “กยศ. เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้นักเรียนนักศึกษากู้เงินไปใช้ในการเรียนเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษา โดย กยศ. มีรายได้รวมในปีงบประมาณ 2564 6,899,006,397.09 บาท” และออกมาขอโทษทั้งยังอธิบายเพิ่มเติมภายใต้คอมเมนต์ว่า “เนื่องจากแคปชั่นประกอบภาพก่อนหน้านี้อาจสร้างความเข้าใจผิดในประเด็นดังกล่าว โดยทางกองบรรณาธิการนักเรียนเลวไม่ได้ตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อนการเผยแพร่ จึงได้ทำการแก้ไขแคปชั่นใหม่ ขออภัยผู้อ่านทุกท่าน พร้อมขอน้อมรับคำติชมเพื่อปรับปรุงเนื้อหาให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นต่อไป”

ลักษณะคอมเมนต์ประเภทล้อเลียน/เสียดสีนั้น พบแนวคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบมากที่สุดคือเรื่อง ทัศนคติทางการเมือง 34 เรื่อง ตามมาด้วย ความเหลื่อมล้ำ 16 เรื่อง ความเหมาะสม 11 เรื่อง เช่น กรณีของนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ “พุทธะอิสระ” อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จังหวัดนครปฐม และอดีตแกนนำ กปปส.เวทีแจ้งวัฒนะ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล การกระทำส่อความเป็นชาติสกุล” พร้อมเขียนให้กำลังใจพระชาตรีความว่า อย่าเอาไม้สั้นไปรั้นขี้ คนเป็นบัณฑิตต้องอยู่ห่างไกลจากคนพาล โดยสืบเนื่องมาจากกรณี ไพรวัลย์ วรรณบุตร หรือแพรรี่ พร้อมด้วย จตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการอิสระด้านพุทธศาสนา ออกรายการโหนกระแสแฉพฤติกรรมของพระชาตรี เหมพันธ์ เจ้าอาวาสวัดพุทธวิหาร วัดไทยแห่งเดียวในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซียเรื่องยักยอกเงินวัด 4 ล้านบาท เคยมีพฤติกรรมสั่งพระลูกวัดทำร้ายพระรูปอื่น ซึ่งต่อมาเรื่องราวต่างๆ ถูกยืนยันว่าจริงโดยพระครูโกศลฯ เจ้าคณะตำบลบางเขน เจ้าอาวาสวัดกำแพง การโพสต์ให้กำลังใจของอดีตพระพุทธอิสระจึงโดนทัวร์ลงรวมถึงคอมเมนต์ถากถางอดีตพระ เช่น “ชาวพุทธที่แท้จริงควรปกป้องพุทธศาสนา ไม่ใช่ปกป้อง นับถืออลัชชี” หรือ “ศรัทธาในตัวท่านค่ะ ท่านเป็นนักเลงในคราบผ้าเหลือง จำได้เลยสมัยช่วง กปปส. ท่านคุมเส้นแจ้งวัฒนะทั้งหมด ไหนจะเรี่ยไรเงินจากลูกม็อบอีก ตอนนั้นคุณแม่ไปบิ๊กซีบ่อยๆ ต้องผ่าน ชอบท่านมากเลย นี่สิ! พระตัวอย่าง เสียดายช่วงหลังท่านสึกมาทำขนมเปี๊ยะขาย” โดยเน้นเสียดสีทัศนคติทางการเมืองในอดีตของอดีตพระพุทธอิสระ 

ลักษณะคอมเมนต์ประเภทสนับสนุน/ปกป้อง พบแนวคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบมากที่สุดคือเรื่องทัศนคติทางการเมือง 27 เรื่องรองลงมาคือความเหมาะสม 13 เรื่อง ปกป้องบุคคลที่ชื่นชอบ 12 เรื่อง เช่น กรณีของเพจชมรมแพทย์ชนบท แถลงการณ์ถึงประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวาระครบรอบ 8 ปีของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยระบุข้อความว่า “8 ปีแล้ว พอเถอะนะ ท่านรับเงินเดือนนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 8 ปีแล้ว ท่านใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีมา 8 ปีแล้ว ท่านรับสวัสดิการจากภาษีประชาชนในฐานะนายกรัฐมนตรีมา 8 ปีแล้ว นี่คือข้อเท็จจริงที่ตรงไปตรงมาว่าท่านเป็นนายกรัฐมนตรีมา 8 ปีแล้ว จึงถึงเวลาที่นายกรัฐมนตรีจะก้าวลงจากตำแหน่งอย่างมีศักดิ์ศรีตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ 2560” ด้านชาวเน็ตที่มาทัวร์นั้นเข้ามาคอมเมนต์เชิงปกป้องบุคคลที่ชื่นชอบโดยโต้ตอบเพจชมรมแพทย์ชนบทด้วยเรื่องทัศนคติทางการเมือง เช่น “สังคมต้องการคนดี มากกว่าคนเก่ง หรือป่าวครับ ขอบคุณ”, “พวกแกนั่นแหละ พอเถอะ ไปทำหน้าที่ที่ตัวเองต้องทำตามวิชาชีพให้เต็มที่เถอะ ประเทศนี้ไม่ใช่ของกลุ่มพวกแกกลุ่มเดียว #ลุงตู่อยู่ต่อยาวววววววว” 

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าลักษณะคอมเมนต์ที่พบมากที่สุดคือการล้อเลียน/เสียดสี ทำให้เป็นเรื่องตลกขบขัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นเพราะผู้ใช้โซเชียลมีเดียในขบวนทัวร์ปกป้องตนเองจากการถูกฟ้อง จึงทำเพียงเข้าไปคอมเมนต์ในเชิงล้อเลียน/เสียดสีเพื่อทำให้ให้ผู้ถูกทัวร์ลงรู้สึกอับอายเพียงเท่านั้น ซึ่งก็สอดคล้องกับในส่วนของปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลง ที่พบว่าประเด็นของทัวร์ลงที่มีคอมเมนต์ในลักษณะด่าทอด้วยคำหยาบคายเป็นส่วนมาก มักก่อให้เกิดการฟ้องร้องตามมา

นอกจากนั้นยังพบข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกว่า การที่ลักษณะคอมเมนต์ที่พบมากที่สุดคือการล้อเลียน/เสียดสี ทำให้เห็นถึงรูปแบบของปรากฏการณ์ทัวร์ลงที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียของไทย กล่าวคือ ความเคลื่อนไหวที่เรียกว่าทัวร์ลงนี้ เมื่อพิจารณาจากคอมเมนต์จะเห็นว่าไม่ได้มีข้อเรียกร้องที่ชัดเจน เป็นเพียงการล้อเลียน เสียดสีหรือด่าทอเสียมากกว่า ไม่ได้นำไปสู่ปฏิบัติการใดๆ อย่างเป็นรูปธรรม มีเพียงแค่บางกรณีเท่านั้น ที่ปรากฏการณ์ทัวร์ลงมาพร้อมด้วยข้อเรียกร้องบางอย่างในลักษณะของสิ่งที่เรียกว่า Cancel Culture หรือมีข้อเรียกร้องให้ ‘แบน’ เช่น กรณีของตู้เต่าบิน, แบนนันยาง หรือแบนลีน่าจัง 

ยิ่งด่าทอด้วยคำหยาบคายมากเท่าไร ยิ่งมีสิทธิถูกฟ้องมากขึ้นเท่านั้น

จากปรากฏการณ์ทัวร์ลงทั้ง 177 เรื่อง เมื่อนำมาแยกปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลง พบว่า ไม่ได้ทำอะไรมากที่สุด 84 เรื่อง คิดเป็น 43.98% รองมาคือออกมาอธิบาย/ชี้แจง จำนวน 50 เรื่อง คิดเป็น 26.18% อันดับที่สามคือลบ/แก้ไข/ปิดคอมเมนต์โพสต์ จำนวน 33 เรื่อง คิดเป็น 17.28% โดยปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลงที่พบน้อยที่สุดคือการยกเลิก/ลาออก พบเพียง 2 เรื่อง คิดเป็น 1.05% จากทั้งหมด

จากปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลงที่พบมากที่สุดคือการไม่ทำอะไรเลย พบมากที่สุดในแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบเรื่องทัศนคติทางการเมือง ซึ่งพบมากในหมวดการเมือง รองลงมาคือเรื่องความเหลื่อมล้ำซึ่งพบมากที่สุดในหมวดบันเทิง เช่น ในเรื่องเพจเฟซบุ๊กการบินไทย โพสต์ประชาสัมพันธ์ขอบคุณเจ้าหนี้ที่ให้ความเชื่อมั่นและยอมรับการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ รวมถึงมอบโอกาสให้การบินไทยได้ดำเนินธุรกิจ เพื่อกลับมาเป็นองค์กรที่สร้างความภาคภูมิใจแก่ประเทศไทยและคนไทย ภายหลังเผยแพร่โพสต์ มีผู้ใช้โซเชียลที่ระบุว่าเป็นลูกหนี้ไปทวงหนี้และทวงถามการคืนค่าตั๋วจำนวนมาก โดยมากล้วนโพสต์ถึงทัศนคติทางการเมืองของการบินไทยว่าไม่เป็นกลางทางการเมืองจากกรณีให้กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. จังหวัดสงขลาซื้อตั๋วเครื่องบินการบินไทยแบบเหมาลำเพื่อให้ผู้ชุมนุมร่วมเดินทางชัตดาวน์ ที่กรุงเทพฯ ในปี 2557 อย่างไรก็ตาม เพจการบินไทยก็ไม่ได้ออกมาทำอะไรเพิ่มเติม 

ปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลงที่พบรองลงมาคือออกมาอธิบาย/ชี้แจง จำนวน 50 เรื่อง ซึ่งพบมากที่สุดในเรื่องความเหมาะสม 10 เรื่องซึ่งพบมากในหมวดบันเทิง ตามมาด้วยเรื่องทัศนคติทางการเมือง 9 เรื่องซึ่งพบมากในหมวดการเมือง เช่น เรื่องทัศนคติทางการเมือง จากกรณีของตู้เต่าบินที่กรุงเทพธุรกิจเปิดเผยว่าบริษัทผู้ผลิตตู้เต่าบินเกี่ยวข้องกับตระกูลชิดชอบและมีความสัมพันธ์กัน การชี้ช่องดังกล่าวทำให้เกิดแฮชแท็ก #แบนตู้เต่าบิน ในทวิตเตอร์เพื่อถกเถียงประเด็นนี้ ภายหลังบริษัทผู้ผลิตตู้เต่าบินออกมาแถลงว่าไม่เกี่ยวข้องกับตระกูลชิดชอบ 

ปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลงที่มีการขอโทษ จำนวน 16 เรื่อง พบในหมวดสังคมมากที่สุด จำนวน 7 เรื่อง ตามมาด้วยหมวดบันเทิง 5 เรื่อง หมวดธุรกิจ 2 เรื่อง หมวดการเมือง 2 เรื่อง หมวดวิทยาศาสตร์/การแพทย์ 1 เรื่อง และไม่พบเลยในหมวดการศึกษา นโยบายรัฐ วัฒนธรรม ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาว่าแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบพบประเภทใดที่พบมากที่สุดจากเนื้อเรื่องทั้งหมด พบว่าเป็นเรื่องความเหมาะสมมากที่สุด เช่น กรณีของแฮชแท็กอย่าง #ฝึกงานแบไต๋ ที่ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ โดยเกิดจาก หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ หรือ หนุ่ยแบไต๋ ได้ออกมาโพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กฝึกงานของบริษัทว่า เด็กฝึกงานไม่ทักใครในที่ทำงาน ก้มหน้าก้มตาทำงานเพียงอย่างเดียว โพสต์ดังกล่าวกลายเป็นประเด็นดราม่าในโลกออนไลน์ มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นพร้อมติดแฮชแท็ก #ฝึกงานแบไต๋ ในทวิตเตอร์โดยฝั่งหนึ่งเห็นว่าหากเด็กฝึกงานทำงานได้ดี ก็ถือเป็นสิ่งที่ตรงตามวัตถุประสงค์ขององค์กรแล้ว ส่วนเรื่องบุคลิกภาพเป็นเรื่องส่วนตัว หัวหน้างานที่ดีไม่ควรเอาลูกน้องหรือใครมาแฉในโลกออนไลน์ และบางส่วนก็มองว่าทักษะที่ควรมีนอกเหนือจากการทำงานคือเรื่องการเข้าสังคม น้องฝึกงานอาจจะต้องเรียนรู้เพิ่มเติม ซึ่งเมื่อประเด็นดราม่านี้โหมกระพือออกไป ทางหนุ่ยแบไต๋ก็ได้เขียนขอโทษในเฟซบุ๊กว่า “ในนามบริษัท เราได้ขอพบน้องทั้งคู่เมื่อวาน และกล่าวคำขอโทษตรงหน้ากับการกระทำนี้ของผม ผมเขียนบันทึกภายในส่งในไลน์กลุ่มองค์กรที่มีพนักงานทุกคนอยู่พร้อมเพื่อแสดงความขอโทษ และความผิดพลาดแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก ไม่ว่ากับใคร หรือกับบุคคลสถานะไหน” 

ปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลงในประเด็นทัวร์ลงที่น่าสนใจคือเรื่องมีการฟ้องร้องกัน โดยในระยะเวลาที่เก็บข้อมูลนั้นพบทั้งหมด 4 เรื่อง ซึ่งแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบนั้นล้วนแตกต่างกัน โดยพบในหมวดบันเทิงมากที่สุดและหากพิจารณาลักษณะของคอมเมนต์นั้นพบว่ามีด่าทอด้วยคำหยาบคาย/ตำหนิติเตียนมากที่สุด จำนวน 4 เรื่อง เช่นกรณีของดีเจภูมิ ภูมิใจ ตั้งสง่า ถูกทัวร์ลงหลังโพสต์ภาพในเฟซบุ๊กพร้อมรูปภาพเมื่อตนไปเที่ยวออสเตรเลีย วันที่ 10 กันยายน 2565 ความว่า “เมลเบิร์นขายส้มตำจานละ 600 จิ้มจุ่มหม้อละ 1000 คนยังเข้าแถวต่อคิวกันถึงเที่ยงคืน… โชคดีขนาดไหนเกิดมาเป็นคนไทย” ภายหลังจากโพสต์ไม่นานก็เกิดปรากฏการณ์ทัวร์ลง โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียเข้ามาแสดงความเห็นกันเป็นจำนวนมาก ส่วนมากสวนกลับว่าเอาราคาอาหารมาเทียบกันแบบนี้ไม่ได้ เพราะค่าแรงรวมไปถึงค่าครองชีพของบ้านเขากับบ้านเราไม่เท่ากัน ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2565 มีข่าวระบุว่าดีเจภูมิแต่งตั้งทนายเพื่อฟ้องผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่เข้ามาล้อเลียนและใช้คำหยาบคายต่อตน 

และสุดท้ายปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลงที่ก่อให้เกิดการยกเลิกหรือลาออก มี 2 เรื่องคือ การจัดอบรมลัทธิอนุตตรธรรม ของโรงเรียนดังในจังหวัดอุบลราชธานี ที่เกิดแฮชแท็กในทวิตเตอร์ #bmfact เมื่อมีผู้มาแฉเหตุการณ์ในโรงเรียนว่ามีการจัดอบรมค่ายธรรมะให้นักเรียนชั้น ม.5 ซึ่งหากใครไม่เข้าอบรมจะถูกหักคะแนน แต่เมื่อเข้าไปแล้วกลับพบว่าเป็นการอบรมของลัทธิความเชื่อหนึ่ง คาดว่าเป็น “ลัทธิอนุตตรธรรม” ซึ่งมีต้นกำเนิดจากจีนไม่ใช่พระพุทธศาสนา หากใครไม่เข้าอบรมจะถูกหักคะแนน ซึ่งเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันในแฮชแท็กจำนวนมาก จนต่อมาผู้อำนวยการโรงเรรียนได้สั่งยกเลิกกิจกรรมในภาคบ่ายไป และเรื่องนิทรรศกี ของพรรคเพื่อไทยที่ถูกรื้อบูธในการจัดงานปฐมนิเทศที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (มจล.) โดยภายหลังนายกฯ องค์การนักศึกษา มจล. ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่ผู้ใหญ่ของสถาบันรื้อบูธออกโดยไม่แจ้ง

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า ปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลงที่พบมากที่สุดอย่างการไม่ทำอะไรเลย อาจเป็นเพราะในหลายๆ ครั้งการถกเถียงกันของทัวร์นั้นโดยมากไม่ใช่การทะเลาะกันระหว่าง ‘บุคคล’ กับ ‘บุคคล’ แต่เป็นการถกเถียงในเรื่อง ‘ประเด็น’ กับ ‘ประเด็น’ ซึ่งอาจไม่ได้สร้างผลกระทบต่อผู้อื่นมากนักโดยเฉพาะกรณีที่ไม่มีบุคคลที่ 3 เช่น เพจเฟซบุ๊ก Lomosonic โดนทัวร์ลงเมื่อเพจตั้งสเตตัส “มามาคอนเสิร์ตร็อกแล้วนั่งดู ก็คงเหมือนเวลาพระสวดแล้วมึงลุกขึ้นเต้นอะ มึงคิดว่าไง” ดังนั้นเมื่อเกิดการทัวร์ลงจึงไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องออกมาชี้แจงหรืออธิบายอะไรอีก เพราะการโพสต์สเตตัสดังกล่าวก็เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลที่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อผู้อื่น

ในขณะที่ประเด็นที่มีผลกระทบต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ หรือธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นส่วนบุคคล เช่น ดารา นักร้อง หรือองค์กร มักจะเกิดการออกมาอธิบาย/ชี้แจง หรือการขอโทษตามมาหลังจากนั้น เช่นในกรณีของแฮชแท็ก #แบนตู้เต่าบิน ที่ภายหลังบริษัทผู้ผลิตตู้เต่าบินจึงออกมาแถลงว่าไม่เกี่ยวข้องกับตระกูลชิดชอบ หรือในกรณีของ #ฝึกงานแบไต๋ ที่แม้จะเกิดขึ้นโดยบุคคล ซึ่งก็คือ หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ หรือ หนุ่ยแบไต๋ เจ้าของบริษัท แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กร โดยภายหลังเจ้าตัวก็ได้ออกมาขอโทษผ่านเฟซบุ๊ก

หรือในกรณีที่มีการฟ้องร้องก็เกิดจากผลกระทบทางด้านชื่อเสียงของตัวบุคคล ธุรกิจ หรือองค์กรเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ดีเจภูมิ จากกรณีที่ตนโพสต์ภาพเมื่อครั้งไปเที่ยวออสเตรเลียว่าขายส้มตำจานละ 600 บาท คนยังต่อแถวเข้าคิว แต่ต่อมาโดนทัวร์ ทั้งยังเข้ามาต่อว่าด้วยคำหยาบคาย เสียดสีว่าดีเจภูมิไม่เข้าใจเรื่องค่าแรงที่แตกต่างกัน บ้างก็มองว่า “ตรรกะนี้พังจริงพี่! มันเทียบกันไม่ได้เลย” ซึ่งดีเจภูมิได้แต่งตั้งทนายฟ้องร้องเพื่อปกป้องสิทธิของตน โดยโพสต์ภาพพร้อมคำอธิบายว่า “ผมคิดว่าเราต่างได้ แล้วก็สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ รวมถึงติชม แนะนำตักเตือนอย่างสร้างสรรค์ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องมีขอบเขตและมีกฎกติกาของมัน ….ผมจะเรียกท่านละ 300,000 บาท ไม่รับการขอโทษ” 

หรือกรณีทัวร์ลงรีสอร์ทสะปัน บ่อเกลือที่จังหวัดน่าน หลังนักท่องเที่ยวมารีวิวว่าครัวที่รีสอร์ทปิด จึงสั่งหมูกระทะข้างนอกเข้ามากิน แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ต่อว่าจนมีปากเสียงกัน และเมื่อโทรแจ้งตำรวจให้มาเคลียร์แต่ไม่เป็นผล จึงย้ายออกกลางดึกเพราะกลัวถูกทำร้าย หลังโพสต์ถูกแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก ทางรีสอร์ทได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.บ่อเกลือว่าโพสต์ดังกล่าวทำให้ได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตามภายหลังรีสอร์ทได้ถอนแจ้งความแล้ว แต่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการในกรณีนี้คือ ลักษณะของคอมเมนต์ที่เกิดขึ้นมักจะเป็นการด่าทอด้วยคำหยาบคาย/ตำหนิติเตียนมากที่สุด ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ทำให้เกิดการฟ้องร้องขึ้น เช่นเดียวกันกับการยกเลิกหรือลาออก ที่สัมพันธ์กับผลกระทบต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ของตัวบุคคลหรือองค์กร แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีปัจจัยเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งตัวแปรอีกด้วย 

กล่าวได้ว่า ปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลงนั้น อาจจะไม่ได้สัมพันธ์กับหมวดหมู่หรือแนวความคิดที่ทัวร์ใช้ตอบโต้โดยตรง แต่มีความสัมพันธ์กับผลกระทบจากปรากฏการณ์ทัวร์ลงนั้นๆ ที่อาจสร้างความเสียหายอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง ภาพลักษณ์ หรือธุรกิจ ของบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในประเด็นนั้นเสียมากกว่า

เส้นทางขบวนรถทัวร์ มาเองโดยธรรมชาติหรือมีใครชี้ช่อง

จากปรากฏการณ์ทัวร์ลงทั้ง 177 เรื่อง เมื่อนำมาแยกเส้นทางการมาของทัวร์พบว่า ทัวร์ลงที่ต้นเรื่องมากที่สุด จำนวน 103 เรื่อง รองลงมาคือทัวร์ลงในพื้นที่ที่มีการชี้ช่อง 84 เรื่อง ตามมาด้วยทัวร์ลงที่ต้นเรื่องจากการชี้ช่อง จำนวน 66 เรื่อง และพบน้อยที่สุดในทัวร์ลงพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับต้นเรื่อง โดยพบเพียง 4 เรื่อง

เมื่อพิจารณากรณีที่ทัวร์ลงที่ต้นเรื่องมากที่สุด พบว่า เกิดขึ้นในหมวดการเมืองมากที่สุด 28 เรื่อง รองลงมาคือหมวดบันเทิง 25 เรื่อง หมวดสังคม 22 เรื่อง ขณะเดียวกันในหมวดบันเทิงที่พบมากที่สุดนั้น เมื่อพิจารณาลงไปถึงแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบนั้น จะพบเรื่องการปกป้องบุคคลที่ชื่นชอบมากที่สุดจำนวน 6 เรื่อง เช่น กรณีของแบมแบม GOT7 โดนทัวร์ลง หลังแบมแบมโพสต์โปรโมทพี่ชายในวงอย่างจินยอง โพสต์ลงอินสตาแกรมสตอรี่ และทวิตเตอร์ โดยข้อความดังกล่าวคือการโปรโมทงานแสดงของจินยองพร้อมภาพประกอบ ทำให้แฟนคลับบางส่วนไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะมองว่าโพสต์นั้นดูไม่เหมาะสม จินยองในภาพดูไม่หล่อ คล้ายเป็นการล้อเลียน การโต้ตอบของทัวร์ในประเด็นดังกล่าวจึงมุ่งเน้นปกป้องบุคคลที่ตนชื่นชอบ โดยห่วงว่าภาพลักษณ์นั้นจะเสียหาย ภาพไม่เหมาะแก่การโปรโมท หลังจากโดนทัวร์ลงแฟนคลับบางส่วนยังสั่งให้แบมแบมลบข้อความนั้น แบมแบมก็ทำตาม และทวีตใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ตามมีบางส่วนไม่เห็นด้วยที่จะทัวร์ลงแบมแบมเพียงเพราะภาพนั้นภาพเดียว ขณะเดียวกันหลายคนออกมาโพสต์ให้กำลังใจแบมแบม โดยการโพสต์คำว่า We Love You BamBam พร้อมทั้งติดแฮชแท็ก #BamBam1 จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ 

จากกรณีนี้จะเห็นว่าทัวร์ลงที่ต้นเรื่องมักจะพบในโพสต์หรือทวีตที่มีคนเห็นเป็นจำนวนมาก เห็นได้ง่าย อาจเกิดได้ทั้งกับคนดังหรือไม่ใช่คนมีชื่อเสียงก็ได้ ขอเพียงมีคนเห็นเป็นจำนวนมากก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้มีทัวร์ตามมา เช่น กรณีของสาวคนหนึ่งทำคลิปแสดงความเห็นในติ๊กต็อก โดยระบุว่าเธอไม่ต้องการผู้ชายจากภาคเหนือและภาคอีสาน เพราะมีภาระเยอะ จะต้องหาเงินเลี้ยงดูพ่อแม่ ต้องส่งเงินให้ที่บ้าน ซึ่งเธอมองว่าหากจะเลี้ยงดูก็ทำได้ แต่ให้ส่งเป็นเงินเดือนอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เธอมองเห็นว่าถูก เพราะทุกคนต้องมีครอบครัวเป็นของตัวเอง ต่อมามีคนนำคลิปดังกล่าวออกไปแชร์นอกติ๊กต็อกจนทำให้คลิปนี้มียอดวิวสูงถึง 4.5 ล้าน อย่างไรก็ตามพบว่าตอนนี้ช่องติ๊กต็อกของสาวคนนี้ถูกปิดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ส่วนกรณีของทัวร์ลงในพื้นที่ที่มีการชี้ช่อง โดยมากพบในหมวดบันเทิง จำนวน 39 เรื่อง หมวด รองลงมาคือหมวดสังคม จำนวน 14 เรื่อง หมวดการเมือง 11 เรื่อง ซึ่งเมื่อพิจารณาตัวละครที่เริ่มเรื่องแล้ว พบว่าเป็นผู้ใช้โซเชียลมีเดียมากที่สุด ขณะเดียวกันหากพิจารณาลงไปถึงแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบในหมวดบันเทิงนั้นจะยังคงพบว่าเป็นการปกป้องบุคคลที่ชื่นชอบมากที่สุด 9 เรื่อง ตามมาด้วยส่อทุจริต เช่น กรณีของซีรีส์ School Tales The Series ก็อปปี้โลโก้โดยไม่ขออนุญาต โดยเกิดจากผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งออกมาโพสต์แฉว่า “ซีรีส์ผีเรื่องหนึ่ง” ละเมิดลิขสิทธิ์โดยการนำโลโก้ของคอมมูนิตี้ BLHS Commu ไปใช้ฟรี พร้อมติดแฮชแท็ก #รรผขี้ก็อป ต่อมาผู้ใช้เฟซบุ๊ก Sirikran Lee ระบุว่าตัวเองเป็นผู้ทำภาพโลโก้ดังกล่าว เมื่อมีผู้ระบุตนว่าเป็นเจ้าของ และเกิดกรณีส่อทุจริตเช่นนี้แล้ว ทัวร์จึงลงในพื้นที่ทีมีการชี้ช่องอย่างทวิตเตอร์ โดยทัวร์ติดแฮชแท็ก #รรผขี้ก็อป เพื่อทวงถามความโปร่งใสและขอคำชี้แจงจากผู้ผลิต ต่อมา เฟซบุ๊ก Fivestarmovies ผู้ผลิตซีรีส์ยอมรับว่ามีโลโก้นี้ในชุดยูนิฟอร์มจริง โดยหลังจากการประสานงาน ผู้รับจ้างออกแบบชุดยูนิฟอร์มดังกล่าวยินดีรับผิดชอบและเจรจากับเจ้าของลิขสิทธิ์โลโก้ เพื่อหาข้อยุติ รวมถึงยินดีที่จะชำระค่าลิขสิทธิ์ไปยังเจ้าของสิทธิ์ตามที่ได้ตกลงกัน 

ส่วนกรณีของทัวร์ลงที่ต้นเรื่องจากการชี้ช่อง พบในหมวดบันเทิงมากที่สุด 39 เรื่อง รองลงมาคือหมวดสังคม 14 เรื่อง ตามมาด้วยหมวดการเมือง 11 เรื่อง โดยพบผู้ใช้โซเชียลมีเดียเป็นผู้ชี้ช่องมากที่สุด หากพิจารณาลงไปถึงแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบ จะพบความเหมาะสม 13 เรื่อง รองลงมาคือความเหลื่อมล้ำ เช่น ในหมวดสังคม กรณีของผู้ใช้ติ๊กต็อกรายหนึ่ง อัปโหลดคลิปตนเองที่โดยระบุข้อความในคลิปว่าถูกไม่ให้ใช้บริการร้านค้าในโรงแรมแห่งหนึ่ง เนื่องจากสวมรองเท้าแตะ และระบุว่า โรงแรมมองคนแต่ภายนอก ซึ่งเธอได้ถ่ายภาพร้านค้าพร้อมกับโชว์เงินจำนวนมากในกระเป๋า พร้อมภาพที่เธอสวมรองเท้าแตะ อย่างไรก็ตามเมื่อโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปก็กลายเป็นประเด็นดราม่าและมีทัวร์มาลงทันที โดยบางส่วนตำหนิเธอเรื่องการแต่งกายว่า ต้องให้เกียรติสถานที่ เพราะทุกที่จะมีกฎระเบียบและข้อปฏิบัติเพื่อเป็นภาพลักษณ์ที่ดี ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีเงินแล้วจะทำอะไรก็ได้ คลิปดังกล่าวไม่เพียงเกิดดราม่าในติ๊กต็อกเท่านั้น แต่ยังมีผู้แชร์ออกไปในหลายแพลตฟอร์ม ทั้งสำนักข่าว คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ผู้ใช้โซเชียลมีเดียต่างชี้ช่องทางให้ทัวร์ไปลง ทัวร์ที่เกิดขึ้นจึงไปลงในหลายพื้นที่

กรณีสุดท้ายคือทัวร์ลงพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับต้นเรื่อง ซึ่งพบน้อยที่สุดจำนวน 4 เรื่องนั้น พบมากที่สุดในหมวดธุรกิจ จำนวน 3 เรื่อง และหมวดสังคม 1 เรื่อง หากพิจารณาประเด็นที่ทัวร์ใช้โต้ตอบจะพบทั้งประเด็นเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพ 2 เรื่องและเรื่องความเหมาะสม 2 เรื่อง เช่น กรณีของกรณีนายวรวุฒิ หรือแบงค์ ผู้รักษาประตูสโมสรฟุตบอล ชลบุรี เอฟซี ขับรถยนต์ชนคนออกกำลังกายเสียชีวิต 1 ศพ และบาดเจ็บสาหัส 1 ราย ต่อมานายเฉลิมพงษ์ เกิดแก้ว นักฟุตบอลของสโมสรชลบุรี เอฟซี อดีตนักเตะทีมชาติไทย ขับรถตามมา ส่งเสียงโวยวายและเกือบชกตำรวจรวมถึงทีมกู้ภัยในจุดเกิดเหตุ ภายหลังเรื่องราวเผยแพร่ออกไป ก็มีทัวร์เข้ามาลงในพื้นที่ที่มีการนำเสนอข่าวเป็นจำนวนมาก เช่น เพจส่วนตัวของสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดัง นอกจากนี้ยังมีคนจำนวนมากเข้าไปคอมเมนต์โพสต์ในเพจเฟซบุ๊ก “Chonburi Football Club” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในเหตุการณ์ เรียกร้องให้สโมสรออกมาชี้แจง เพราะมองว่าไม่ว่าจะเป็นใครก็ควรออกมารับผิดชอบ อย่างไรก็ตามทางสโมสรไม่ได้ออกมาชี้แจงใดๆ 

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าแม้เส้นทางของขบวนรถทัวร์ จะเป็นทัวร์ลงที่ต้นเรื่องมากที่สุด แต่เมื่อพิจารณาจาก ‘การชี้ช่อง’ ทั้ง ทัวร์ลงที่ต้นเรื่องจากการชี้ช่องและทัวร์ลงในพื้นที่ที่มีการชี้ช่องรวมกัน จะเห็นได้ว่ามีจำนวนมากกว่า ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ปรากฏการณ์ทัวร์ลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่โซเชียลมีเดียของไทยนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากคนเฉพาะกลุ่มหรือผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงกับเรื่องนั้นๆ เท่านั้น แต่อาจเกิดจากการแพร่กระจายของเนื้อหาโดยการ ‘ชี้ช่อง’ ที่ทำให้เกิดทัวร์ และหลายครั้งก็ถูกทำซ้ำโดยแพลตฟอร์มหรืออัลกอริทึม เช่น โพสต์เนื้อหาลงในติ๊กต็อกและถูกดันขึ้นฟีดโดยอัลกอริทึม มีคนแชร์ต่อๆ กันไปจนเกิดการถกเถียงและดราม่าบนอินเทอร์เน็ต หรือการที่สื่อ/อินฟลูเอนเซอร์นำไปรายงาน ทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้มีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นโดยตรงเห็นเป็นจำนวนมากและกระโจนขึ้นรถทัวร์ด้วย

หากพิจารณาควบคู่ไปกับประเด็นลักษณะคอมเมนต์ ที่พบว่าใช้การล้อเลียน/เสียดสีมากที่สุด ก็ยิ่งอาจจะทำให้เห็นได้ชัดมากขึ้นว่าทัวร์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสียกับเรื่องนั้นๆ โดยตรง เพราะไม่ได้พยายามที่จะเข้ามาคอมเมนต์เพื่อสนับสนุน/ปกป้อง หรือแม้กระทั่งโต้เถียงด้วยเหตุผล/ยกเหตุผลเพื่อมาลบล้างหลักการ ในประเด็นที่ทำให้เกิดทัวร์นั้นๆ การล้อเลียนเสียดสีจึงเป็นการแสดงออกร่วมในขบวนทัวร์โดยไม่ต้องแสดงความเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นโดยตรง เนื่องด้วยขบวนทัวร์มาด้วยการชี้ช่องมากกว่าจะเป็นเรื่องของผู้มีส่วนได้เสียที่จะมาเรียกร้องถกเถียง เอาชนะคะคานกันในประเด็นทัวร์ลงในแต่ละเรื่อง 

บทสรุป

จากการสำรวจปรากฏการณ์ทัวร์ลงที่เกิดขึ้น จะพบว่า แม้เรื่องทัวร์ลงจะเกิดขึ้นในหมวดบันเทิงมากที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นเพราะผู้คนในโซเชียลมีเดียของไทยหรือในขบวนทัวร์สนใจเรื่องดาราคนดังมากที่สุด หรือเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกความชื่นชอบหรือรสนิยมส่วนตัว เพียงเท่านั้น เพราะเมื่อพิจารณาในส่วนของแนวความคิดที่ทัวร์ใช้ตอบโต้จะเห็นได้ว่ามีความหลากหลายของประเด็นมากกว่าแค่เรื่องการปกป้องบุคคลที่ชื่นชอบของแฟนคลับ ความไม่เหมาะสมหรือแนวความคิดทัศนคติไม่ตรงกัน 

โดยเฉพาะในการศึกษาครั้งนี้ที่พบว่าแนวความคิดที่ทัวร์ใช้ในการโต้ตอบนั้น มีแนวความคิดทางสังคมอื่นๆ อีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องทัศนคติทางเพศ สิทธิมนุษยชน anti-woke ทัศนคติทางเชื้อชาติ หรือแม้แต่เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะเป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นว่าสังคมในปัจจุบันกำลังให้ความสำคัญกับ ‘คุณค่า’ แบบใด และต้องการจะผลักดันแนวความคิดหรือคุณค่าใหม่ๆ ทางสังคมแบบใด ให้กลายเป็นที่ยอมรับ เป็นบรรทัดฐานใหม่ในสังคมที่ทุกคนควรยึดถือหรือให้การเคารพ ปรากฏการณ์ทัวร์ลงจึงไม่ใช่แค่คนในโซเชียลมีเดียทะเลาะกันจากความเห็นไม่ตรงกัน แต่มันคือปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบหนึ่งที่กำลังจะขับเคลื่อนปรับเปลี่ยนทัศนคติและการให้คุณค่าในประเด็นใดประเด็นหนึ่งให้เกิดขึ้นและได้รับการยอมรับในสังคมปัจจุบัน 

แต่ถึงอย่างนั้น ในสิ่งที่เรียกว่าปรากฏการณ์ทัวร์ลงนี้ ก็ยังไม่เห็นว่ามีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากนักว่าจะนำไปสู่ปฏิบัติการอะไร เมื่อพิจารณาจากคอมเมนต์ที่เกิดขึ้น ที่เป็นเพียงการล้อเลียน เสียดสีหรือด่าทอเสียมากกว่า อย่างไรก็ตามการศึกษาในครั้งนี้เป็นเพียงการศึกษาในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ผลการศึกษาจึงเป็นเพียงภาพสะท้อนสังคมภายในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ในขณะที่ปรากฏการณ์ทัวร์ลงยังคงเกิดขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม การศึกษาในประเด็นนี้ต่อไปในอนาคตหรือในแง่มุมอื่นๆ อาจช่วยทำให้เข้าใจความเคลื่อนไหวของผู้ใช้โซเชียลมีเดียไทยได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

ดูข้อมูลพื้นฐานที่นี่ https://rocketmedialab.co/database-controversial-issue

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: