บทเรียนการต่อสู้ “ฮิญาบ” ชุดนักเรียนมุสลิมะห์กับชุดนักเรียนในโรงเรียนของรัฐ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) | Shukur2003@yahoo.co.uk 23 มิ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 40739 ครั้ง


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวหยก VS โรงเรียนเตรียมพัฒน์ฯ โรงเรียนของรัฐ มีข้อถกเถียงมากมายในการร่วมหาทางออกของสังคมยุคให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ อย่างไรแต่ผู้เขียนก็มีบทเรียนการต่อสู้ของนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครองมุสลิมที่เรียกร้องการมีสิทธิ์สวมชุดฮิญาบในรูปแบบการสานเสวนาต่อรองท้ายสุดจนได้การหาทางออกร่วมกันระหว่างผู้ปกครอง โรงเรียนและชุมชนจนสามารถประกาศในกฎระเบียบของโรงเรียนอีกทั้งจนถึงสูงสุดเป็นกฎระเบียบที่ออกมาจากกระทรวงศึกษาธิการ อย่างไรก็แล้วแต่ก็ยังมีปัญหาอีกหลายโรงเรียนจนเป็นข่าวดัง อะไรคือบทเรียนที่สามารถร่วมกันหาทางออกที่สมดุลสำหรับสังคมไทยในอนาคต

ฮิญาบที่โรงเรียนอนุบาลปัตตานีเริ่มด้วยสานเสวนาท้ายสุดจบที่ศาล

พฤษภาคม 2561 ภาพนักเรียนและผู้ปกครองมุสลิมมอบดอกไม้ให้ผู้อำนวยการและคณะครูโรงเรียนอนุบาลปัตตานีแทนการขอบคุณที่พวกเขาได้สวมใส่ฮิญาบเข้าเรียนได้ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นข่าวดังในโลกโซเซียลว่าเขาไม่สามารถแต่งได้ โดยเฉพาะวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 ครูกว่า 20 คนหยุดสอน โดยลากิจและลาป่วย เพราะไม่เห็นด้วยกับการแต่งกายของนักเรียนมุสลิม

จนทำให้รัฐโดยรัฐบาลส่วนหน้าเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องฮิญาบโดยนำเรื่องกฎระเบียบกระทรวงที่อนุญาตให้มุสลิมแต่งกายฮิญาบเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลปัตตานี (โรงเรียนของรัฐ)ได้ก่อนจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่เพิ่มดีกรีความรุนแรงชายแดนใต้เหมือนเหตุประท้วงที่ยะลา เมื่อ 30 กว่าปีที่วิทยาลัยครูยะลาขณะนั้นไม่อนุญาตให้มุสลิมสวมฮิญาบเข้าเรียน (โปรดอ่านรายละเอียดใน https://www.isranews.org/south-news/other-news/66105-apparel.html)

ความเป็นจริงถึงแม้การใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศ และกฎกระทรวงที่อยู่เหนือระเบียบโรงเรียนเข้ามาแก้ปัญหาอาจเป็นทางออกหนึ่ง แต่ลึกๆแล้วความขัดแย้งทางความรู้สึกแพ้ชนะแต่ละฝ่ายที่มีกองเชียร์ (สามารถดูได้จากกระแสโลกโซเซียล)กำลังคุกกรุนที่พร้อมจะระเบิดหากไม่สามารถใช้กระบวนการเสวนาอย่างมีศาสตร์และศิลป์ของข้องกังวลอีกฝ่ายได้และพร้อมจะเป็นเชื้อปะทุโหมกระหน่ำไฟใต้ได้ตลอดเช่นกันดังที่มีเเถลงการณ์ของชาวพุทธกลุ่มหนึ่งเเละพระส่วนหนึ่งประกาศไม่ยอมพร้อมสู้กับประกาศที่เขามองว่าขาดความชอบธรรม (โปรดอ่านรายละเอียดใน https://www.isranews.org/content-page/67-south-slide/66220-monk.html)

นายแพทย์ Fahmi Talebได้เคยตั้งข้อเกตปรากฏการณ์ฮิญาบที่โรงเรียนอนุบาลปัตตานีว่า “ มีเรื่องชวนคิด จากเหตุการณ์เรื่องฮิญาบของรร.อนุบาล ปัตตานีเรื่องแรก คือ อิทธิพลจากโซเชียลมีเดีย ประเด็นเรื่องฮิญาบในสถานศึกษา ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น สมัย 30 ปี ก่อน มีประท้วงใหญ่ โรงเรียนอนุบาลปัตตานี เป็นโรงเรียนรัฐ ที่มีนักเรียนส่วนใหญ่เป็นนักเรียนไทยพุทธ ครูก็เช่นกัน ตั้งอยู่ใจกลางเมืองปัตตานี อยู่ตรงข้ามวัด บริบททั้งหมดเหมาะสมแก่การศึกษาของบุตรหลานชาวไทยพุทธและชาวจีนในพื้นที่ ส่วนนักเรียนมุสลิมที่เข้าเรียนที่นี่ มักเป็นคนชั้นกลางที่อยู่ในเมือง ลูกหลานของนักธุรกิจ หรือข้าราชการ ภรรยาผมก็เป็นศิษย์เก่าที่โรงเรียน เข้าใจสภาพโรงเรียนดี นักเรียนมุสลิมสมัยก่อนๆ ไม่ได้มาจากครอบครัวสาย Islamic conservative หรืออนุรักษ์นิยมตามวิถีอิสลาม ส่วนครอบครัว Islamic conservative หรือ ชาวบ้านมุสลิมทั่วไปๆ ในตัวเมืองปัตตานี ก็มักหาตัวเลือกอื่นในการเรียนประถมศึกษาให้ลูกอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้หลายสิบปี ที่ไม่เคยมีปัญหา เพราะผู้ปกครองมุสลิมที่เข้าเรียนโรงเรียนอนุบาล ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากเรื่องฮิญาบ ซึ่งเป็นไปตามระดับความเคร่งครัดของครอบครัว ดังนั้นจึงไม่เคยมีปัญหาเรื่องเหล่านี้ หรืออาจมี แต่ผู้ปกครองที่อยากให้ใส่คงไม่ได้คัดค้านอะไรมากนัก ปัจจุบัน ชนชั้นกลางมุสลิมมีมากขึ้น รวมถึงสื่อการสอนศาสนาผ่านโลกออนไลน์มีมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงในด้านความเคร่งครัดในศาสนาของคนชั้นกลาง โดยผ่านตัวกลางคือสื่อออนไลน์ก็มีมากขึ้น ดังนั้นประเด็นเรื่องฮิญาบ จึงกลายเป็นความสนใจที่ผู้ปกครองเอาใจใส่มากขึ้น มิติด้านพหุวัฒนธรรมที่ถูกพูดถึงในพื้นที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก็ถูกใช้ในการเรียกร้องครั้งนี้ด้วยแต่มีข้อสำคัญที่ควรนึกถึง คือ ไม่ว่ากลุ่มใดก็ตาม ล้วนหวงแหนพื้นที่และอำนาจของตัวเอง และปฏิกริยาในการป้องกันพื้นที่ที่เขาหวงแหนนั้นก็อาจไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลรองรับ เช่นกรณีที่บุคลากรหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใน รร.อนุบาลปัตตานี อ้างสิทธิ กฏระเบียบของโรงเรียน หรือ อ้างอิงถึงธรณีสงฆ์ กล่าวอ้างขึ้นมา แม้เป็นเหตุผลที่ฝ่ายเรียกร้องสิทธิฮิญาบบอกว่าไม่มีเหตุผล เพราะมีกฏหมายประเทศเรื่องระเบียบเครื่องแต่งกายตามศาสนาที่อยู่ในลำดับสูงกว่าอยู่ ความรู้สึกที่เห็นว่า พื้นที่ที่ตัวเองเคยมีอำนาจ (โรงเรียน, ชุมชน, มัสยิดศูนย์กลาง) กลับถูกท้าทายด้วยผู้เล่นใหม่ที่เข้ามา และการสกัดกั้นตามสัญชาตญาณจึงออกมาเช่นที่เป็นปรากฏ ดังนั้นการได้รับอนุญาตให้นักเรียนมุสลิมคลุมฮิญาบในโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ไม่ใช่ชัยชนะของมุสลิม และไม่ใช่ความพ่ายแพ้ของคนไทยพุทธในพื้นที่มุสลิมได้รับสิทธิที่ไม่ได้กระทบกับวิถีปฏิบัติของชาวไทยพุทธเรื่องนี้คือเรื่องพื้นฐานมากๆ ปรากฏการณ์เรื่องนี้มีแค่นิดเดียวนั้นคือ นักเรียน 7 คนที่ครอบครัวและตัวนักเรียนต้องการสวมใส่ฮิญาบตามหลักศาสนา ได้รับอนุญาตจากทางโรงเรียน และทางโรงเรียนก็ไม่ได้สูญเสีย การเรียนการสอนก็ยังคงเป็นไปตามเดิม ครูทุกคนก็ทำหน้าที่เหมือนเดิม การทำความเข้าใจที่ดีในเรื่องซับซ้อนเช่นนี้คงต้องใช้เวลา เหตุผลที่ดีย่อมเอาชนะผู้มีปัญญาทั้งหลายแน่นอน ด้วยระยะเวลาและวิธีที่เหมาะสม ยกเว้นว่าต่างฝ่ายต่างไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลที่ดี และวิธีที่เหมาะสมได้”อย่างไรก็แล้วแต่เรื่องฮิญาบโรงเรียนอนุบาล

ปัตตานีแม้ทุกภาคส่วนร่วมหาทางสานเสวนาอ่างสันติวิธีตลอดหลายปีสุดท้ายก็ต้องจบที่ศาลซึ่งยังคงความขัดแย้งในหัวใจของผู้คนและชุมชนอยู่ กล่าวคือ

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองยะลาอ่านคำตัดสินคดี กรณีผู้ปกครองนักเรียนมุสลิมโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้บุตรหลานสามารถคลุมฮิญาบไปเรียนได้ โดยกรณีดังกล่าว เกิดขึ้นจากผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปัตตานีในขณะนั้น ออกคำสั่งห้ามนักเรียน สวมใส่ผ้าคลุมผม (ฮิญาบ) มาเรียน ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ทำให้ผู้ปกครองประมาณ 50 คน รวมตัวกัน เพื่อให้กำลังใจกับนางพารีด๊ะห์ อัลมุมีนี นางกดาเรีย เหมมินทร์ และ นายวันอิดริบ หะยีเต๊ะ ผู้ปกครองของนักเรียน ซึ่งถูกเชิญให้มาที่โรงเรียนเพื่อรับทราบถึงระเบียบกฏข้อห้ามของโรงเรียนให้รับทราบหลังจากลูกสาวผู้ปกครองทั้งสามได้สวมฮิญาบมาเรียน

โดยคดีการคลุมฮิญาบของนักเรียนโรงเรียนอนุบาลปัตตานี เป็นข้อพิพาทระหว่างผู้ปกครองกับผู้บริหารและครูในโรงเรียน จนมีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งปัญหาการคลุมฮิญาบไปโรงเรียนของนักเรียนหญิงมุสลิม ซึ่งตั้งอยู่บนที่ธรณีสงฆ์ของวัดนพวงศาราม เป็นปัญหายืดเยื้อมานาน โดยทางโรงเรียนไม่อนุญาตให้นักเรียนแต่งกายตามหลักศาสนาได้ ต้องแต่งเครื่องแบบตามระเบียบของโรงเรียนเท่านั้น อ้างว่าโรงเรียนตั้งมา 50 ปี ไม่เคยมีปัญหา และทั้งนักเรียนและผู้ปกครองก็ทราบกฎเหล็กข้อนี้ดีตั้งแต่ก่อนสอบเข้าเรียน จึงต้องยอมรับ

ผู้ปกครองผู้ฟ้องคดี ท่านหนึ่ง “บอกว่ารู้สึกดีใจและขอบคุณศาลในคำตัดสินที่ออกมา หลังจากรอคอยมาถึง 4 ปี ตั้งแต่ปี 2561 ที่ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองจังหวัดสงขลา จนถึงวันนี้ที่ศาลปกครองยะลาอ่านคำพิพากษาออกมา แม้ว่าลูกหลานหลายคนจะเรียนจบออกไปจากโรงเรียนอนุบาลปัตตานีแล้ว แต่ยังมีอีกหลายคนที่เรียนอยู่ เรื่องนี้จึงถือเป็นกรณีศึกษาและเป็นบรรทัดฐานของโรงเรียนอื่นๆ เพราะสิ่งที่ผู้ปกครองต่อสู้เรียกร้อง ไม่ได้เกินเลยหรือเกินกว่าเหตุ เป็นระเบียบที่ถูกต้องตามกฎของกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว และไม่ได้ทำให้ศาสนิกอื่นเดือดร้อนแต่อย่างใด”

อย่างไรก็แล้วแต่โมเดลการใช้กฎหมาย ใช้ศาล มิใช่ที่ปัตตานีอย่างเดียวที่จะจบที่ศาล ซึ่งยังคงความขัดแย้งในหัวใจของผู้คนและชุมชนอยู่แต่ยังลามอีกบางโรงเรียนเช่นโรงเรียนดังแห่งหนึ่งที่อำเภอหาดใหญ่เช่นกัน
ดังนั้นบทเรียนหากจะใช้กฎหมายสู่กันเรื่องชุดนักเรียนแม้ใครชนะก็ไม่ใช่ทางออกรวมทั้งเรื่องของหยกด้วยแม้จะมีจุดร่วมจุดต่างกระบวนการต่อสู้

“การเดินหน้าสู่ทางออก เพื่อให้เยาวชนทุกคนได้เข้ารับการศึกษาต้องไม่ทำให้ใครหลุดออกจากระบบการศึกษา และให้โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยและโอบรับทุกคนคือเป้าหมายสูงสุด ก็จริงแต่ทุกภาคส่วนต้องออกแบบร่วมกันที่ชนะไปด้วยกัน”

สังคมมุสลิมท่ามกลางสองขั้ว​ “อนุรักษ์นิยมสุดโต่งกับเสรีนิยมสุดขั้ว​"

แน่นอนที่สุดเรื่องข้อถกเถียงตั้งแต่ชุดนักเรียนจนถึงการเมืองในประเทศไทยสังคมมุสลิมกำลังเผชิญกับสองขั้ว​ “อนุรักษ์นิยมสุดโต่งกับเสรีนิยมสุดขั้ว​ “อิหม่าม ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะให้ทัศนะว่า

“ฝ่ายอนุรักษ์นิยมส่วนใหญ่ไม่ค่อยเปิดใจรับฟังเหตุผลของผู้เห็นต่าง​ ขณะที่เสรีนิยมแม้จะมุทะลุดุดัน​ แต่ก็ยังเปิดใจฟังเสียงประชาชนและคนเห็นต่างมากกว่า • ฝ่ายอนุรักษ์นิยมยึดมั่นในศาสนามากกว่าเสรีนิยม​ แต่การยึดมั่นแบบอนุรักษ์สุดขั้วที่แข็งทื่อตายตัวในทุกเรื่องอาจผลักดันบุคคลให้สร้างความเสียหายแก่ศาสนาได้​ เพราะศาสนาอิสลามจะมีทั้งมิติที่มั่นคงตายตัวในด้านอกีดะฮ​ แต่ก็ยืดหยุ่นอย่างยิ่งในด้านการปกครอง​ การบริหารและเทคนิควิธีต่าง​ ๆ​ การทำให้เรื่องที่ควรเปลี่ยนแปลงกลายเป็นสิ่งตายตัวและแตะไม่ได้​ ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าใจผิดว่าศาสนาเป็นเรื่องคร่ำครึโบราณ • ฝ่ายเสรีนิยมมุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงเป็นหลัก​ จนบางครั้งก็กลายเป็นการด้อยค่าของเก่า​ ๆ​ ทุกอย่าง ลืมไปว่าชีวิตเราสืบทอดมาจากของเก่าเหล่านั้น​ หลายอย่างแม้จะสืบทอดมาแต่โบราณ​ แต่ก็จำเป็นต้องอยู่คู่กับมนุษย์​ เช่น​ ศาสนาซึ่งช่วยรักษาคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์เอาไว้​ ปราศจากสิ่งนี้​ เส้นแบ่งความดีชั่วก็เลือนลาง อย่างไรก็ตาม​ เมื่อพิเคราะห์ท่าทีของทั้งสองฝ่ายแล้ว​ ข้าพเจ้าเห็นว่า​ การทำให้เสรีนิยมรับฟังเหตุผลทางศาสนา​ ง่ายกว่าการชักจูงให้อนุรักษ์ยืดหยุ่นยอมรับการเปลี่ยนแปลง” สำหรับเรื่องจะใส่ชุดนักเรียนหรือไปรเวท สำหรับสังคมมุสลิมแล้วจะต้องไม่ไปค้านกับวัตรปฏิบัติของศาสนาอิสลาม แม้ในในโลกเสรีนิยม สิทธิมนุษยชน ในอิสลามมองการศึกษาทั้งความรู้และจรรยามารยาท ความรู้มิสามารถออกจากคุณธรรม จริยธรรม คุณค่าทางสังคม เสรีภาพที่สมดุล เสรีภาพที่มาพร้อมกันระหว่างสิทธิกับหน้าที่”ทางออก อย่างยั่งยืน คือกระบวนการจัดการเรียนรู้"

เช่นจัดการการเรียนรู้การสอนแบบโครงการ Project Aproach ก้าวสําคัญในการสร้าง กระบวนการประชาธิปไตยให้เด็ก”ที่โรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาและอีกหลายโรงเรียน ณ ตอนนี้

Project Approach เป็นการเรียนหนึ่งที่มุ่งเน้นให้เด็กมีส่วนร่วมและกระตุ้นให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง พร้อมเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ในสิ่งที่เด็กสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเด็ก และตอบสนองตามความต้องการ ที่หลากหลายของเด็ก ๆ โดยเป็นกิจกรรมเชิงปฏิบัติที่เน้นให้เด็กลงมือทําได้ด้วยตัวเอง การสอนแบบโครงการนี้ถือ เป็นเครื่องมือการสอนที่ดีอย่างยิ่งสําหรับคุณครู เพราะจะแสดงให้เห็นถึงสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่แนวคิดในเรื่องแห่งความ เป็นจริง การตั้งคําถามจากความสนใจที่แท้จริง และการค้นหาคําตอบในเชิงลึกของเด็กในหัวข้อหรือเรื่องที่เด็ก สนใจ แล้วยังส่งเสริมทักษะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ผ่านการสํารวจ การสืบค้น การจดบันทึก และการคิด วิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อมูลและความรู้ต่าง ๆ ตามเรื่องที่เด็กสนใจ ผ่านประสบการณ์ตรงที่หลากหลาย ตลอดจนการ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะที่สรุปออกมาเป็นชิ้นงานและสื่อสารอย่างมีวิทยาปัญญาไม่ก้าวร้าว ซึ่งการจัดการเรียนการสอนแบบโครงการ ผู้สอนสามารถจัดเป็นนิทรรศการที่เป็นการสรุปความคิดรวบยอด ของเด็ก ๆ ที่จะนํามาเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้รู้ถึงวิธีการทํางานที่เป็นกระบวนการตามขั้นตอน นอกจากการเรียนรู้แล้ว Project Approach ยังเป็นการสอนเชิงลึกเกี่ยวกับหัวข้อในความเป็นจริงที่เด็ก ๆ มีความสนใจและพยายามสืบค้น ด้วยตัวเอง ทั้งยังช่วยให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี

การสอนแบบ Project Approach หรือการสอนแบบโครงการ คือ กิจกรรมที่เน้นกระบวนการการลงมือ ปฏิบัติ และการใช้กระบวนการคิดที่เกิดจากการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จากความสนใจของตัวเด็กเอง ที่เด็ก ๆ ให้ ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ อย่างลึกซึ้งในรายละเอียดของหัวเรื่องที่เด็กเลือก อย่างมีความสุข สนุกสนาน และ ยังส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเองและรู้จักทํางานอย่างมีแบบแผน นอกจากนั้นยังสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงเรียนชุมชน และผู้ปกครอง เนื่องจากการสอนแบบโครงการผู้ปกครองและชุมชน จะมีส่วนสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างมาก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: