นักเศรษฐศาสตร์เสนอใช้ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) ตั้งกองทุนแก้วิกฤตคอร์รัปชัน

กองบรรณาธิการ TCIJ 23 ม.ค. 2566 | อ่านแล้ว 2473 ครั้ง

นักเศรษฐศาสตร์เสนอใช้ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) ตั้งกองทุนแก้วิกฤตคอร์รัปชัน กระจายอำนาจเต็มรูปแบบ สร้างความเข้มแข็งภาคประชาสังคมสู้ปัญหาทุจริตในระบบราชการ เพิ่มงบหน่วยงานแก้คอร์รัปชัน หน่วยงานตรวจสอบถ่วงดุลรัฐราชการทุจริตคอร์รัปชัน

เมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. 2566 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ นักเศรษฐศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนกล่าวว่าความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม ภาคสื่อมวลชน ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ จะช่วยทำให้การแก้ไขปัญหาวิกฤติทุจริตคอร์รัปชันเป็นจริง เพื่อให้การขับเคลื่อนของภาคส่วนต่างๆตามที่กล่าวมาสามารถต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างเต็มที่ มีความต่อเนื่องและหวังผลได้ จำเป็นต้องมีระบบสนับสนุนทางงบประมาณจึงขอเสนอให้มีการเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) ขึ้นมาเพื่อจัดตั้งกองทุนต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เช่นเดียวกับ กองทุน สสส ของ ขบวนการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ และ องค์การกระจายเสียงและเผยแพร่ภาพแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส ในการทำหน้าที่สื่อสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสังคมโดยปราศจากอิทธิพลของอำนาจทุนและอำนาจทางการเมืองแทรกแซงในการทำหน้าที่ หรือนำเอานำเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกยึดจากกรณีทุจริตมาเป็นงบประมาณสนับสนุนก็ได้กองทุนต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันจะเป็นกลไกในการบูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสื่อมวลชน ภาควิชาการ และ ภาคประชาสังคม ได้ดีกว่า กลไกของ ปปช ที่มีอิทธิพลของการเมืองและราชการครอบงำอยู่ ไม่เป็นอิสระ หรือ เป็นกลางอย่างแท้จริง การดำเนินการของ ปปช อาจเกิดการเลือกปฏิบัติได้เสมอ นอกจากนี้ระบบการประเมินผล ITA ของ ปปช ยังขาดความน่าเชื่อถืออย่างมาก โดย กองทุนต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันนี้ต้องอยู่นอกสำนักงาน ปปช เป็นองค์กรที่ต้องเป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมือง มีความเป็นกลางทางการเมือง และ สามารถให้ความเป็นธรรมต่อทุกคนได้ หรือหากเกรงว่า การใช้เก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะจะเกิดความสุ่มเสี่ยงต่อประเด็นวินัยทางการคลัง ก็ขอเสนอให้นำเอานำเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกยึดจากกรณีทุจริตคอร์รัปชันมาเป็นส่วนหนึ่งมาจัดตั้งกองทุน ความจริงแล้ว ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะนั้น หากออกแบบให้ดีตั้งแต่แรก จะทำให้เกิดความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการใช้เงินภาษีและเงินสาธารณะ

ต้องใช้พลังความรู้ ข้อมูลและความจริงเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยโปร่งใสขึ้น ระบบการเมืองและระบบราชการมีธรรมาภิบาลมากขึ้น ต้องสร้างให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของเครือข่ายทางสังคมอย่างกว้างขวางโดยผ่านการเคลื่อนไหวทางปัญญาที่ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมด้วยกระบวนการประชาธิปไตย การเคลื่อนไหวขับเคลื่อนนี้ต้องนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับจิตสำนึกและวัฒนธรรมของสังคม โดยเฉพาะในสังคมของข้าราชการและนักการเมือง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจากระบบรวมศูนย์เป็นระบบกระจายอำนาจ ทำให้ความสัมพันธ์เปลี่ยนจากแนวดิ่งมาเป็นแนวราบ การผลักดันการต่อต้านการทุจริตต้องนำไปสู่การเอาจริงเอาจังทางนโยบาย

กระจายอำนาจต้องทำอย่างครอบคลุม

รศ.ดร.อนุสรณ์ ได้ให้ความเห็นต่อว่า การกระจายอำนาจต้องทำอย่างครอบคลุมทุกประเภท ทั้งกระจายอำนาจทางการเมือง (Political Decentralization) การกระจายอำนาจทางการบริหาร (Administration Decentralization) การกระจายอำนาจทางการคลัง (Fiscal Decentralization) นอกจากนี้ ต้องมีการกระจายอำนาจที่มีลักษณะเข้มข้นสูงสุดจึงลดปัญหาคอร์รัปชันในระดับกรม (อธิบดี) ในระดับกระทรวง (ปลัดกระทรวงหรือรัฐมนตรี) ได้ ต้องไม่ใช่แค่แบ่งอำนาจ (Deconcentration) หรือไม่ใช่แค่การมอบหมายให้ทำแทน (Delegation) แต่ต้องเป็นการถ่ายโอนอำนาจให้จริงๆ (Devolution) ค่อนข้างประจักษ์ชัดว่า รัฐธรรมนูญปี 60 นั้นเป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจ รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงปี 60 นอกจากไม่สามารถปราบโกงได้แล้ว ยังทำให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันมากกว่าเดิมดั่งที่ปรากฎเป็นข่าวอยู่เป็นระยะๆ องค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญก็ไม่มีความเป็นกลางทางการเมืองและยังไม่ยึดโยงกับประชาชน ไม่มีที่มาจากประชาชน แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และ ปี 50

หากเราไม่มีการเลือกตั้งที่ยุติธรรมและใสสะอาด ไม่สามารถหยุดการซื้อ ส.ส. เข้าพรรค หรือใช้เงินจำนวนมากในการซื้อเสียงและการรณรงค์เลือกตั้ง เราย่อมไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในปัญหาวิกฤติคอร์รัปชันได้ การเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองแนวใหม่ต้องนำไปสู่เครือข่ายที่กว้างขวางมากพอจนเกิดกระแส การลงโทษต่อข้าราชการระดับสูงและนักการเมืองผู้ทุจริตได้จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า เครือข่ายประชาสังคมต้องสามารถสร้างกระแสกดดันให้สามารถถอดถอนข้าราชการระดับสูง ตำรวจหรือผู้นำกองทัพผ่านกระบวนการทางกฎหมายได้ หรือ สามารถเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองโกงผ่านระบบเลือกตั้งอย่างสันติ และ ต้องไม่กลายเป็นเงื่อนไขสร้างความชอบธรรมให้มีการรัฐประหาร

หวั่นปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและภาคการลงทุน

เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง กระแสเม็ดเงินการลงทุนและการท่องเที่ยวจากต่างชาติกำลังอยู่ในช่วงแรกของภาวะขาขึ้น โครงการลงทุนขนาดใหญ่กำลังเดินหน้า ความโปร่งใสในการทำสัญญาสัมปทาน การจัดซื้อจัดจ้างจัดหาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากต่อนักลงทุนระยะยาวในโครงการขนาดใหญ่ รวมทั้งการย้ายฐานการผลิตของบรรษัทข้ามชาติ หากประเทศไทยทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ที่นี่ไม่มีการเรียกเก็บเงินซ้ำซ้อนด้วยการคอร์รัปชันนอกเหนือจากภาษีที่เก็บเข้ารัฐแล้ว ประเทศไทยย่อมเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนสำคัญและนำมาสู่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอันเป็นพื้นฐานสำคัญในการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสู่ประชาชนส่วนใหญ่และธุรกิจรายเล็กรายย่อยรายกลางอย่างทั่วถึง การเติบโตที่เน้นการกระจายรายได้จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นด้ยการกระจายทรัพยากรและรายได้เสียใหม่ คือ ใช้ Redistribution Policy ที่ไม่ไปลดประสิทธิภาพการทำงานของตลาด

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่ากระแสเม็ดเงินไหลเข้าในช่วงนี้ทั้งจากภาคการท่องเที่ยว ภาคการลงทุนและตลาดการเงินทำให้เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วและมีความเป็นไปได้ที่ค่าเงินบาทอาจทดสอบระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ในไตรมาสแรกของปีนี้ อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้ของภาคเอกชนจะครบอายุจำนวนสูงถึง 1.64 แสนล้านบาทในไตรมาสแรก โดยทั้งปี 2566 มีหุ้นกู้ครบกำหนดชำระ 6.51 แสนล้านบาท หากอัตราดอกเบี้ยในประเทศปรับตัวขึ้นมากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินได้ หรือ ทำให้บริษัทบางแห่งประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินหรือความสามารถในการยืดการชำระหนี้และอาจเกิดสถานการณ์ผิดนัดชำระหนี้ได้ แต่สถานการณ์ไม่น่าจะรุนแรงมากนัก เพราะภาพรวมทางเศรษฐกิจยังมีการทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียน จะส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับฐานลดลงครั้งใหญ่ได้ โดยกลุ่มบริษัทในตลาด MAI มีความเสี่ยงมากที่สุดหากดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะขาขึ้นเต็มที่ช่วงไตรมาสสามปีนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: