เผย 'โรงเรียนนานาชาติ' มีแนวโน้มการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น

กองบรรณาธิการ TCIJ 23 ต.ค. 2566 | อ่านแล้ว 33462 ครั้ง


SCB EIC เผยการแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากโรงเรียนนานาชาติที่เปิดใหม่ในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอก และปริมณฑล เป็นต้น | ที่มาภาพประกอบ: 1778011 (Pixabay License)

SCB EIC ได้เผยแพร่ บทวิเคราะห์เมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2566 ระบุว่าการแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากโรงเรียนนานาชาติที่เปิดใหม่ในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอก และปริมณฑล เป็นต้น

ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติขยายตัวจากทั้งอุปสงค์การเข้าเรียน และจำนวนโรงเรียน 

โดยอุปสงค์เติบโตจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนไทยที่มีความมั่งคั่งสูง และมีความพร้อมในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น ประกอบกับการที่มีชาวต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจ และทำงานระยะยาวในไทย รวมถึงนักเรียนจากประเทศกลุ่ม CLMV ที่เข้ามาเรียนในไทย ซึ่งอุปสงค์ที่เติบโตต่อเนื่องเป็นปัจจัยหนุนให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนโรงเรียนนานาชาติมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 5% ต่อปี โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กถึงกลาง ที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ปกครอง

SCB EIC มองว่า ในระยะข้างหน้า การแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น 

จากการแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติเปิดใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอก ฝั่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และฝั่งทิศตะวันออก  รวมถึงปริมณฑล ตามการขยายธุรกิจที่สอดคล้องไปตามการขยายตัวของตลาดที่อยู่อาศัยระดับบนในพื้นที่ดังกล่าว ประกอบกับเป็นการพัฒนาโรงเรียนขนาดใหญ่เพื่อสามารถรองรับจำนวนนักเรียนได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติขนาดเล็ก ซึ่งมีข้อจำกัดด้านการลงทุนในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันที่ยังต้องแข่งขันกับกลุ่มทุนรายใหญ่ ที่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจด้านการศึกษา และมีการลงทุนด้านสิ่งอำนวย
ความสะดวกที่หลากหลาย

ความท้าทายของโรงเรียนนานาชาติ

โรงเรียนนานาชาติยังเผชิญความท้าทาย ทั้งจำนวนนักเรียนที่อาจขยายตัวได้ช้า จากอัตราการเกิดที่ลดลง และต้นทุนในการประกอบธุรกิจที่สูงขึ้น แม้ในระยะข้างหน้าจะมีจำนวนผู้ปกครองชาวไทยที่มีความสามารถส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติได้มากขึ้น รวมถึงคาดว่าจะมีนักเรียนชาวต่างชาติเข้ามาเรียนโรงเรียนนานาชาติในไทยเพิ่มขึ้นตามผู้ปกครองที่เข้ามาประกอบธุรกิจ และทำงานในตำแหน่งระดับสูง แต่การขยายตัวของจำนวนนักเรียนมีแนวโน้มถูกกดดันจากอัตราการเกิดที่ลดลง นอกจากนี้ โรงเรียนนานาชาติยังเผชิญความท้าทายด้านต้นทุนในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะการแข่งขันดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพื่อรักษามาตรฐานการเรียนการสอน อีกทั้ง ต้นทุนบุคลากรยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการปรับอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งหากจำนวนนักเรียนขยายตัวได้ช้ากว่าการขยายธุรกิจของโรงเรียนนานาชาติในระยะข้างหน้าแล้ว จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง และอัตรากำไร

โรงเรียนนานาชาติสามารถสร้างความแตกต่าง เพื่อดึงดูดให้ผู้ปกครองพิจารณาเลือกโรงเรียนให้บุตรหลาน อาทิ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ ทั้งในไทยและต่างประเทศ การสร้างมาตรฐานการศึกษาในระดับนานาชาติ ทั้งนี้หากมองถึงโอกาสในระยะข้างหน้า ที่ความต้องการแรงงานในตลาดมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งนักเรียนอาจไม่ได้มีเป้าหมายในการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว แต่หากยังมองหาการเรียนรู้ที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้โดยตรง ทำให้โรงเรียนจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นในการพัฒนาหลักสูตรเชิงวิชาชีพ ให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้เกิดข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายของหลักสูตรการเรียนการสอน และตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคตได้
 
ขณะที่ภาครัฐอาจอำนวยความสะดวกในการดึงดูดบุคลากรด้านการศึกษาชาวต่างชาติให้เข้ามาทำงานในไทย เพื่อบรรเทาข้อจำกัดของธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในการสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เช่น การให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษี การอำนวยความสะดวกในการดำเนินการด้านวีซ่าที่รวดเร็ว การปรับลดข้อกำหนดสำหรับการถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว อีกทั้ง การส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาประกอบกิจการในไทยมากขึ้นจะเป็นโอกาสให้เกิดการโยกย้ายที่อยู่อาศัยของครอบครัวชาวต่างชาติให้เข้ามายังไทย และเป็นโอกาสสำหรับโรงเรียนนานาชาติที่จะรองรับนักเรียนต่างชาติที่ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในไทยพร้อมกับครอบครัวได้ต่อไป

 

อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: