น้ำมันโลกขยับราคาขึ้นอีก ทุบค่าการตลาดผู้ค้าน้ำมันดีเซลลดต่ำกว่า 1 บาทต่อลิตรอีกครั้ง ด้านคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เรียกประชุมเมื่อ 13 ม.ค. 2566 ปรับลดเงินส่งเข้ากองทุนฯ สำหรับผู้ใช้ดีเซลลงเหลือ 4.81 บาทต่อลิตร จากเดิมเก็บอยู่ 5.28 บาทต่อลิตร ป้องกันผู้ค้าน้ำมันปรับขึ้นราคาดีเซลเกิน 35 บาทต่อลิตร ขณะที่ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ยังคงติดลบ 1.19 แสนล้านบาท แม้ได้เงินกู้ 30,000 ล้านบาทมาพยุงแล้วก็ตาม | ที่มาภาพ: Energy News Center
Energy News Center รายงานความคืบหน้าของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ในวันที่ 13 ม.ค. 2566 ได้มีมติปรับลดอัตราเรียกเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันกลุ่มดีเซลลง 0.47 บาทต่อลิตร เหลือ 4.81 บาทต่อลิตร จากเดิมเรียกเก็บอยู่ 5.28 บาทต่อลิตร ทั้งนี้เนื่องจากราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันลดต่ำกว่า 1 บาทต่อลิตรอีกครั้ง ดังนั้นต้องลดการจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนฯ เพื่อให้ค่าการตลาดปรับตัวสูงขึ้นในระดับปกติที่ประมาณ 1.40 บาทต่อลิตร ไม่เช่นนั้นผู้ค้าน้ำมันอาจปรับขึ้นราคาดีเซลเกิน 35 บาทต่อลิตรได้
อย่างไรก็ตามการที่ราคาน้ำมันโลกปรับขึ้น ส่งผลให้ค่ายน้ำมันต่างชาติได้ปรับขึ้นราคาดีเซลเกิน 35 บาทต่อลิตรไปแล้ว โดย ณ วันที่ 13 ม.ค. 2566 ราคาน้ำมันดีเซลค่ายเชลล์อยู่ที่ 35.54 บาทต่อลิตร และคาลเท็กซ์อยู่ที่ 35.24 บาทต่อลิตร ส่วนค่ายน้ำมัน ปตท. ,บางจาก และ PT ยังคงจำหน่ายราคาไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร โดยอยู่ที่ 34.94 บาทต่อลิตร
สำหรับสถานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) รายงานสถานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 8 ม.ค. 2566 กองทุนฯ ยังคงติดลบ 119,771 ล้านบาท ซึ่งมาจากการนำเงินไปชดเชยราคาน้ำมัน 75,214 ล้านบาท และชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) อีก 44,557 ล้านบาท
โดยปัจจุบันกองทุนฯ ได้กู้เงินจากสถาบันการเงินรวม 30,000 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ได้ผ่านความเห็นชอบกฎหมายที่ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท โดยกำหนดกรอบวงเงินกู้ไว้ 1.7 แสนล้านบาท แต่กู้ได้สูงสุดเพียง 1.5 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ 6 ต.ค.2565-5 ต.ค. 2566
ขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ณ วันที่ 13 ม.ค. 2566 เวลาประมาณ 16.00 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 78.68 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.62 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 78.59 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.20 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 84.21 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.18 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันโลกที่ยังคงผันผวนสูง ส่งผลให้ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันลดลง โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รายงานค่าการตลาด ณ วันที่ 13 ม.ค. 2566 ว่าค่าการตลาดผู้ค้าดีเซลลดต่ำกว่า 1 บาทต่อลิตร โดยอยู่ที่ 0.93 บาทต่อลิตร ส่วนค่าการตลาดกลุ่มเบนซินอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อลิตร ในขณะที่ค่าการตลาดเฉลี่ยระหว่าง 1-13 ม.ค. 2566 อยู่ที่ 2.11 บาทต่อลิตร โดยค่าการตลาดรายวันยังต่ำกว่าที่ภาครัฐขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันตรึงค่าการตลาดไว้ไม่ให้เกิน 1.40 บาทต่อลิตร
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ