สตง.ชี้การจัดการข้อมูลถนนของ อปท. ไม่มีประสิทธิภาพ-บำรุงรักษาถนนไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 ก.ค. 2566 | อ่านแล้ว 30497 ครั้ง


สตง.ชี้การจัดการข้อมูลถนนของ อปท. ไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่ลงทะเบียนทางหลวงท้องถิ่นไม่ครบถ้วน ท้องถิ่นบริหารจัดการดูแลบำรุงรักษาถนนไม่เป็นไปตามมาตรฐานและแนวทางที่กำหนด ถนนของท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย | ภาพประกอบ: กรมทางหลวงชนบท

จากรายงาน "การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการบริหารจัดการถนนทางหลวงท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย" ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)  ระบุว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดให้รัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งทางหลวงท้องถิ่นเป็นบริการสาธารณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารจัดการทั้งทางหลวงที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำกับดูแลอยู่เดิม และทางหลวงที่ได้รับการถ่ายโอน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนใช้สัญจรด้วยความปลอดภัย สามารถขนส่งสินค้าและผลผลิตด้านการเกษตรออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็วเป็นการลดต้นทุนในการขนส่ง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีบทบาทภารกิจสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงหน้าที่ด้านการส่งเสริม สนับสนุนและประสานการบริหารจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ศึกษา วิจัย จัดทำ และพัฒนามาตรฐานการบริการสาธารณะและตัวชี้วัดประสิทธิภาพการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตลอดจนกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดจากการสุ่มตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการบริหารจัดการถนนทางหลวงท้องถิ่นขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 20 แห่ง มีข้อตรวจพบที่สำคัญ 2 ข้อตรวจพบและ 1 ข้อสังเกต ดังนี้

การจัดการข้อมูลถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีประสิทธิภาพ


ภาพประกอบ: กรมทางหลวงชนบท

ข้อตรวจพบที่ 1 การจัดการข้อมูลถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีประสิทธิภาพ จากการตรวจสอบข้อมูลถนนในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่าการจัดการข้อมูลถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีประสิทธิภาพ รายละเอียดดังนี้

1. ถนนในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ลงทะเบียนทางหลวงท้องถิ่นไม่ครบถ้วน และไม่ถูกต้อง

1.1 ถนนในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ลงทะเบียนทางหลวงท้องถิ่นไม่ครบถ้วน จากการสุ่มตรวจสอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 20 แห่งพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลงทะเบียนทางหลวงท้องถิ่นไม่ครบถ้วน จำนวน 17 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 85.00 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สุ่มตรวจสอบ โดยพบว่ามีข้อมูลถนนที่ไม่ลงทะเบียนทางหลวงท้องถิ่น จำนวน 3,740 สายทาง คิดเป็นร้อยละ 83.82 จากจำนวนถนนทั้งหมด 4,462 สายทาง

1.2 ข้อมูลรายละเอียดสายทางที่ลงทะเบียนทางหลวงท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่ถูกต้อง

จากการสุ่มตรวจสอบข้อมูลและสังเกตการณ์ถนนที่ได้มีการลงทะเบียนทางหลวงท้องถิ่นแล้ว จำนวน 44 สายทาง พบว่า ข้อมูลรายละเอียดสายทางที่ลงทะเบียนทางหลวงท้องถิ่นไม่ถูกต้อง จำนวน 30 สายทางคิดเป็นร้อยละ 68.18 โดยสายทางมีข้อมูลรายละเอียดสายทางไม่ถูกต้อง ทั้งประเภทผิวจราจร ความกว้างและความยาวของสายทาง ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่ได้ดำเนินการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบันตามที่กำหนดในคู่มือการลงทะเบียนทางหลวงท้องถิ่น

2. ฐานข้อมูลถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางส่วนไม่ครบถ้วน และไม่ถูกต้อง

2.1 ฐานข้อมูลถนนของระบบข้อมูลกลางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (INFO)ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นบางส่วนไม่ครบถ้วน และไม่ถูกต้อง

2.1.1 ข้อมูลถนนของระบบข้อมูลกลางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (INFO) บางส่วนไม่ครบถ้วน จากการสุ่มตรวจสอบสังเกตการณ์ถนน จำนวน 99 สายทาง พบว่า ระบบข้อมูลกลางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (INFO) ไม่มีข้อมูลถนนในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 39 สายทาง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่มีการบันทึกหรือเพิ่มเติมข้อมูลถนนในระบบดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบว่าข้อมูลรายละเอียดหรือข้อมูลประกอบของสายทางที่บันทึกในระบบ ไม่ครบถ้วนทั้ง 60 สายทาง เช่น ที่ตั้งของสายทางที่ตัดผ่านหมู่บ้านหรือชุมชน ความกว้างของสายทาง จำนวนเลนถนน ประเภทสายทาง ระยะทางความยาวถนน และข้อมูลพิกัดที่ตั้งสายทาง

2.1.2 ข้อมูลถนนของระบบข้อมูลกลางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (INFO) ส่วนใหญ่ไม่ถูกต้อง จากการสุ่มตรวจสอบข้อมูลถนนในระบบ จำนวน 60 สายทาง พบว่า ข้อมูลรายละเอียดของถนนในระบบไม่ถูกต้อง จำนวน 56 สายทาง คิดเป็นร้อยละ 93.33 ได้แก่ ประเภทผิวจราจร ความกว้างของผิวจราจร และความยาวของสายทาง

2.2 ทะเบียนหรือประวัติถนนในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางส่วนไม่ครบถ้วน และไม่ถูกต้อง

2.2.1 ทะเบียนหรือประวัติถนนในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางส่วนไม่ครบถ้วน จากการสุ่มตรวจสอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 20 แห่ง พบว่า ข้อมูลทะเบียนหรือประวัติถนนในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสายทางไม่ครบถ้วนจำนวน 17 แห่ง โดยมีข้อมูลทะเบียนหรือประวัติถนนไม่ครบถ้วนทุกสายทางทั้งถนนเดิมและถนนใหม่ไม่มีการรวบรวมและการสรุปข้อมูลบางสายทางให้เป็นฐานข้อมูลหรือทะเบียนหรือประวัติถนนที่มีรายละเอียดครบถ้วนตามรูปแบบที่กำหนด และจากการสุ่มตรวจสอบสังเกตการณ์ถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 99 สายทาง พบว่า ถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 25 สายทางคิดเป็นร้อยละ 25.25 ไม่มีในฐานข้อมูลหรือทะเบียนหรือประวัติถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดเก็บในรูปแบบต่าง ๆ

2.2.2 ทะเบียนหรือประวัติถนนในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่ถูกต้อง จากการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลรายละเอียดถนนที่มีการจัดทำฐานข้อมูลหรือทะเบียนหรือประวัติถนน จำนวน 72 สายทาง พบว่า ข้อมูลในฐานข้อมูลหรือทะเบียนหรือประวัติถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ถูกต้อง ตรงตามสภาพถนนจริงจากการสังเกตการณ์จำนวน 60 สายทาง คิดเป็นร้อยละ 83.33 โดยประเภทผิวจราจร ความกว้างของผิวจราจร และระยะทางหรือความยาวของถนนไม่ถูกต้อง

จากการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ลงทะเบียนทางหลวงท้องถิ่นไม่ครบถ้วน และไม่ถูกต้อง ทำให้การลงทะเบียนทางหลวงท้องถิ่นไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้เป็นทางหลวงท้องถิ่นตามกฎหมาย ส่งผลต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการกำกับ ตรวจตราและควบคุมทางหลวงท้องถิ่น และบังคับใช้ตามกฎหมายทางหลวงได้อย่างสมบูรณ์ และขาดฐานข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่จะสามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการบริหารจัดการงบประมาณได้อย่างเหมาะสม และกรณีข้อมูลถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ครบถ้วน และไม่ถูกต้องส่งผลให้ขาดข้อมูลที่มีคุณภาพในการบริหารจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษา วิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงไม่ได้ใช้ประโยชน์ และขาดความน่าเชื่อถือ ขาดความชัดเจนในการบริหารจัดการทั้งในระดับกรมและระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยสาเหตุเกิดจากเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดความรู้ความเข้าใจและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในรายละเอียดคู่มือการลงทะเบียนทางหลวงท้องถิ่น และไม่ให้ความสำคัญในการจัดทำหรือจัดเก็บเอกสารประกอบการดำเนินงานหรือที่มาของถนนตั้งแต่เริ่มต้น เอกสารแสดงการถ่ายโอนและประวัติการซ่อมแซมบำรุงรักษาถนน ทำให้ยังขาดความพร้อมในเรื่องข้อมูลและเอกสารประกอบรวมทั้งมีภารกิจบริการสาธารณะอื่นที่ให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการก่อน และบางแห่งขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงขาดการปรับปรุงฐานข้อมูลในระบบข้อมูลกลางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (INFO) และขาดการติดตามปัญหาอุปสรรคของการจัดทำข้อมูลและปรับปรุงฐานข้อมูล

พบท้องถิ่นบริหารจัดการดูแลบำรุงรักษาถนนไม่เป็นไปตามมาตรฐานและแนวทางที่กำหนด ถนนของท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย


ภาพประกอบ: กรมทางหลวงชนบท

ข้อตรวจพบที่ 2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารจัดการดูแลบำรุงรักษาถนนไม่เป็นไปตามมาตรฐานและแนวทางที่กำหนด จากการตรวจสอบการจัดการดูแลบำรุงรักษาถนนในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารจัดการดูแลบำรุงรักษาถนนไม่เป็นไปตามมาตรฐานและแนวทางที่กำหนด ดังนี้

1. ถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่มีสภาพชำรุดเสียหายไม่ได้รับการซ่อมแซมบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพดีตามมาตรฐานถนน ทางเดิน และทางเท้าจากการตรวจสอบสภาพถนนในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 20 แห่ง โดยสุ่มตรวจสอบถนน จำนวน 99 สายทาง พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งมีถนนที่ชำรุดเสียหาย โดยถนนบางช่วงมีสภาพชำรุดเสียหาย จำนวน 72 สายทาง คิดเป็นร้อยละ 72.73 ของสายทางที่สุ่มตรวจสอบ รายละเอียดดังนี้

1.1 ถนนที่ก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมโดยใช้งบประมาณ พ.ศ. 2563-2564 จำนวน 53 สายทาง พบว่า ถนนบางช่วงมีสภาพชำรุดเสียหาย จำนวน 31 สายทาง คิดเป็นร้อยละ 58.49 ของถนนที่ก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซม โดยสายทางส่วนมากชำรุดเสียหายเป็นรอยแตกร้าว เป็นหลุมบ่อและมีรอยปะซ่อม ทั้งนี้สายทางส่วนใหญ่มีการชำรุดเพียงเล็กน้อยเนื่องจากผ่านการปรับปรุงซ่อมแซมไม่นานนัก และสายทางที่ก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมบางช่วงส่วนใหญ่พบการชำรุดเสียหายในช่วงที่ไม่ได้ก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซม โดยบางสายทางมีสภาพชำรุดมากโดยมีรอยแตกขนาดใหญ่รอยแตกร้าวหนังจระเข้ ถนนยุบตัวเป็นระยะ และบางจุดพบการซ่อมแซมแต่ยังคงพังเสียหาย ทั้งนี้มีสายทางที่ยังอยู่ในระยะเวลารับประกันความชำรุดบกพร่องตามสัญญา มีสภาพชำรุดเกิดขึ้นในบริเวณที่ก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซม จำนวน 11 สายทาง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งยังไม่ได้สำรวจหรือแจ้งผู้รับเหมาให้มาซ่อมแซมหรือผู้รับเหมายังไม่ได้เข้ามาซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดี

1.2 ถนนที่ไม่ได้ก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2564 จำนวน 46สายทาง พบว่า ถนนบางช่วงมีสภาพชำรุดเสียหาย จำนวน 41 สายทาง คิดเป็นร้อยละ 89.13 ของถนนที่ไม่ได้ก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซม โดยการชำรุดเสียหายส่วนใหญ่ คือ เป็นหลุมบ่อ มีรอยแตกร้าวตามแนวขวาง แนวยาว และผิวทางหลุดร่อน

นอกจากนี้ จากการสังเกตการณ์โดยใช้แนวทางการประเมินคุณภาพทางหลวงท้องถิ่นด้วยหลักคุณภาพ 4s โดยใช้สายตา ในด้านทางสบาย สภาพไร้หลุมบ่อ (Service) พบว่า มีสายทางที่มีสภาพแย่และแย่มาก จำนวน 20 สายทาง คิดเป็นร้อยละ 20.20 ของสายทางที่สุ่มตรวจสอบโดยสายทางที่มีสภาพแย่ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการซ่อมบำรุง จำนวน 15 สายทาง และสภาพทางแย่มากซึ่งเป็นสภาพที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุอันตราย ต้องรีบซ่อมแซมโดยด่วน จำนวน 5 สายทาง

2. ถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย จากการสุ่มตรวจสอบสภาพถนนตามมาตรฐานการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน พบว่าถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่จัดทำอุปกรณ์ควบคุมไม่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย รายละเอียดดังนี้

2.1 ถนนขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมด้านป้ายจราจรและเครื่องหมายบนพื้นทางไม่เป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 36 สายทางคิดเป็นร้อยละ 75.00 ของสายทางที่สุ่มตรวจสอบ 48 สายทาง เช่น ไม่มีป้ายเตือนหยุดบริเวณทางแยกทางโค้ง ป้ายเตือนไม่ชัดเจนหรือชำรุด ไม่มีเส้นจราจรบนพื้นทาง และเส้นจราจรไม่ชัดเจน นอกจากนี้ยังพบว่าบริเวณคอสะพานแคบไม่มีการติดตั้งป้ายเตือน

2.2 ถนนขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่นที่สุ่มตรวจสอบส่วนใหญ่มีความกว้างของช่องจราจรไม่เป็นไปตามคู่มือการตรวจสอบความปลอดภัยทางถนนสำหรับทางหลวงท้องถิ่นของกรมทางหลวงชนบท โดยพบว่า มีสายทางที่มีความกว้างของช่องจราจรน้อยกว่า 3 เมตร จำนวน 50 สายทาง หรือคิดเป็นร้อยละ 50.51 ของสายทางที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 99 สายทาง ซึ่งสายทางที่มีความกว้างของช่องจราจรน้อยกว่า 3 เมตร ส่วนใหญ่เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กที่อยู่ติดกับที่ดินหรือบ้านเรือนประชาชน

3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่ดำเนินการตามแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน จากการตรวจสอบการดำเนินการตามแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่ดำเนินการตามแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนดังนี้

3.1 การดำเนินการแก้ไขปรับปรุงซ่อมแซมจุดเสี่ยงให้มีความปลอดภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 11 แห่ง จำนวน 28 จุด พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 9 แห่งมีจุดเสี่ยงที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุ จำนวน 16 จุด คิดเป็นร้อยละ 57.14 ของจุดเสี่ยงที่สุ่มตรวจสอบ โดยเป็นจุดเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จำนวน 4 จุด และจุดเสี่ยงที่ได้รับการแก้ไขแล้วแต่ยังมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นหรือยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 12 จุด เนื่องจากยังคงมีสภาพทางที่เสี่ยงและอันตรายหรือยังพบการทำผิดกฎจราจรหรืออุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยชำรุดทรุดโทรมและไม่ครบถ้วน นอกจากนี้ยังพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 9 แห่ง ไม่ได้รายงานผลการสำรวจจุดเสี่ยงและแนวทางการแก้ไขจุดเสี่ยงให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นตามแนวทางที่กำหนด

3.2 การจัดทำฐานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 14 แห่งพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ มีจำนวน 8 แห่ง และมีข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ มีจำนวน 6 แห่ง

3.3 การจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 8 แห่ง พบว่า มีองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีแผนปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนจำนวน 4 แห่ง และมีการจัดทำแผน จำนวน 4 แห่ง อย่างไรก็ตามแผนปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่ไม่มีข้อมูลจุดเสี่ยงและจุดอันตราย สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และแผนงาน/โครงการในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ตามที่คู่มือการปฏิบัติงานกำหนด

จากการที่ถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีสภาพชำรุดไม่เป็นไปตามมาตรฐานถนนทางเดิน และทางเท้า มาตรฐานด้านความปลอดภัย และแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนส่งผลกระทบ ทำให้ผู้ขับขี่และประชาชนผู้ใช้เส้นทางเสี่ยงต่อการประสบอุบัติเหตุ ซึ่งทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้การเดินทางสัญจรของประชาชนและการขนส่งสินค้าหรือขนส่งพืชผลทางการเกษตรเป็นไปอย่างยากลำบาก และอาจทำให้ความชำรุดเสียหายของถนนขยายเป็นวงกว้างไปถึงชั้นโครงสร้าง มีความเสี่ยงที่จะต้องใช้งบประมาณในการดูแลบำรุงรักษาถนนเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุเกิดจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดการบริหารจัดการดูแลบำรุงรักษาถนนอย่างมีประสิทธิภาพ และขาดการให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยทางถนนเท่าที่ควร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งยังขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญ มีความรู้ตรงตามสายงาน ประกอบกับภารกิจหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริการสาธารณหลายด้าน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: