จับตา: การใช้ 'ยาพ่นจมูก' (Nasal spray) อย่างถูกวิธี

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 ก.ย. 2566 | อ่านแล้ว 9311 ครั้ง


สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า การใช้ยาพ่นจมูกผิดประเภทและผิดวิธี ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การรักษาโรคได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร จึงควรรู้จักกับยาพ่นจมูกและขั้นตอนการใช้อย่างถูกต้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยาด้วยตัวเอง

ยาพ่นจมูก สามารถแบ่งกลุ่มยาตามการรักษาได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1.ยาพ่นจมูกกลุ่มสเตียรอยด์ เป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคบางชนิด ได้แก่ โรคไซนัสอักเสบ (ทั้งชนิดมี และไม่มีริดสีดวงจมูก) และโรคภูมิแพ้ทางจมูก มีประสิทธิภาพช่วยลดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล คันและจาม เนื่องจากออกฤทธิ์เฉพาะที่บริเวณเยื่อบุจมูกได้ดี ตัวยาสำคัญ เช่น บูดีโซนายด์ (Budesonide) ฟลูติคาโซน (Fluticasone) โมเมทาโซน (Mometasone) เป็นต้น 

ยาพ่นจมูกกลุ่มสเตียรอยด์มีผลต่อร่างกายต่ำ แต่อาจเกิดผลข้างเคียงเฉพาะที่ได้ เช่น จาม แสบร้อนเกิดสะเก็ดในโพรงจมูก จมูกแห้ง และระคายเยื่อบุจมูกหลังพ่นยา 

ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ความดันลูกตาสูง ต้อหินมุมปิด โรคหัวใจ โรคจิต ต่อมลูกหมากโต ไทรอยด์เป็นพิษ หรือไซนัสอักเสบ และในกลุ่มผู้ป่วยเด็กไม่ควรใช้ยาพ่นชนิดนี้ติดต่อกันเกิน 7 วัน เพราะอาจทำให้เกิดเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากยาและบวมมากขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและการสั่งใช้ยาของแพทย์

2.ยาพ่นจมูกที่ออกฤทธิ์หดหลอดเลือดของเยื่อบุโพรงจมูก ช่วยให้หลอดเลือดในเยื่อบุจมูกหดตัว ทำให้เยื่อบุจมูกบวมลดลง ส่งผลให้อาการคัดจมูกของผู้ป่วยดีขึ้น โดยออกฤทธิ์ได้เร็วกว่าชนิดกิน คือออกฤทธิ์ได้ภายใน 5-10 นาทีหลังพ่น ตัวยาสำคัญ เช่น เอฟีดรีน (Ephedrine) ออกซีเมตาโซลีน (Oxymetazoline) ไซโลเมตาโซลีน (Xylometazoline) เป็นต้น อย่างไรก็ดียากลุ่มนี้ออกฤทธิ์เพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อฤทธิ์หดหลอดเลือดหมดไป เยื่อบุจมูกอาจกลับมาบวมใหม่ได้ 

ไม่ควรใช้ยาพ่นจมูกที่ออกฤทธิ์หดหลอดเลือดนานกว่า 2 สัปดาห์ และไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการคัดจมูกเรื้อรัง เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะเยื่อบุจมูกอักเสบจากยาได้ ยกเว้นกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น และจำเป็นต้องลดการบวมของเยื่อบุจมูกโดยเร็ว ซึ่งแพทย์จะลดขนาดยาและความถี่ในการใช้ยานี้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเพื่อควบคุมอาการเท่านั้น

พ่นจมูกอย่างไรให้ถูกวิธี

(ควรล้างจมูกหรือสั่งน้ำมูกออกก่อนพ่นยา เพื่อให้ยาสัมผัสเยื่อจมูกและออกฤทธิ์ได้ดี)

  1. เปิดฝาขวด เขย่าขวดทุกครั้งก่อนพ่นยา (กรณีเปิดใช้ครั้งแรก ให้ทดลองกดยาพ่นให้เป็นละอองในอากาศ 2-3 ครั้ง)
  2. ใช้นิ้วหัวแม่มือจับที่ก้นขวด นิ้วชี้และนิ้วกลางจับที่คอขวด (ยาพ่นจมูกบางชนิดอาจมีปุ่มกดยาที่ข้างขวด)
  3. สอดปลายหัวพ่นยาเข้ารูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง ให้ปลายหัวพ่นชี้ไปทางหางตาข้างเดียวกับจมูก และใช้นิ้วมืออีกข้างปิดรูจมูกที่เหลือ สูดหายใจเข้าช้า ๆ พร้อมกับกดที่พ่นยา 1 ครั้ง กลั้นหายใจ 2-3 วินาที แล้วพ่นยาในรูจมูกอีกข้างด้วยวิธีเดียวกัน (จำนวนครั้งในการพ่นยาต่อวัน ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์)
  4. ทำความสะอาดปลายขวดยาพ่นด้วยผ้าหรือกระดาษชำระชุบน้ำสะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง และครอบฝาปิด
  5. เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิน้อยกว่าหรือเท่ากับ 25 องศาเซลเซียส (หากมีอาการแสบร้อนจมูกหลังพ่นยา ควรปรึกษาแพทย์ และการพ่นยาผิดวิธี เช่น พ่นยาเข้าผนังกั้นกลางจมูก อาจทำให้มีเลือดกำเดาไหล ผนังกั้นจมูกทะลุได้) 
  6. ควรกลั้วคอหรือบ้วนปากทุกครั้งหลังจากพ่นจมูกทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ยาตกค้างอยู่บริเวณลำคอ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการเสียงแหบ ระคายคอ ปากแห้ง คอแห้ง และอาจเกิดเชื้อราในช่องปากได้ 

การใช้ยาพ่นจมูกจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ห้ามหาซื้อยามาใช้เองเพราะอาจเกิดอันตรายได้

 

ข้อมูลอ้างอิง 

https://www.rama.mahidol.ac.th/th/knowledge_awareness_health/29jan2020-1610
https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=1219
https://www.rcot.org/pdf/379%20_7GRAGT_RRC3steroids_mac27-06-59.pdf
https://www.rcot.org/2021/ForPeople/Knowledge/8887b472d6b02ad422384d34e136094444da700d

ข้อควรรู้วิธีการใช้ยาพ่นจมูก | โรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรี (nmc.go.th)
https://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-323
สเตียรอยด์พ่นจมูกรักษาโรคไซนัสและภูมิแพ้ - โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (chulalongkornhospital.go.th)

https://www.hfocus.org/content/2021/07/22076

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: