คณะกรรมการสถานศึกษากับบทบาทในการจัดการศึกษาที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ดร.นิสาพร วัฒนศัพท์ 25 ก.ค. 2566 | อ่านแล้ว 10409 ครั้ง


โครงการสนับสนุนการทำงานเพื่อพัฒนานวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสในพื้นที่

นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้กำหนดเรื่องการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นในการพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เองนั้น ทำให้เกิดการจัดการศึกษาแนวใหม่ที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน แล้วให้ชุมชนและท้องถิ่นซึ่งถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในชุมชนในรูปของคณะกรรมการสถานศึกษา

ปัจจุบันสถานศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานได้เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารสถานศึกษา โดยในการบริหารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนั้นได้กำหนดให้มี ‘คณะกรรมการบริหารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก’ อันประกอบด้วย 1. ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้แทนด้านการศึกษา 2.ผู้แทนศาสนสถาน 3.ผู้แทนจากสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4.ผู้แทนจากชุมชน 5. ผู้แทนผู้ปกครอง 6.ผู้แทนสาธารณสุข 7.ผู้แทนครู 8. ผู้แทนกองการศึกษา และ 9. หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทําหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการโดยตําแหน่ง (กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น, 2559)

ส่วนการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กำหนดให้มี ‘คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน’ ซึ่งเป็นคณะบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการกำกับและส่งเสริมกิจการของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งหมายถึงโรงเรียน วิทยาลัย หรือหน่วยงานทางการศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นของรัฐที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น สถานศึกษาอาชีวะศึกษา สถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่ได้รับงบประมาณจากรัฐ (ราชกิจจานุเบกษา, 2542) โดยในแต่ละคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จะมีจำนวนคณะกรรมการอยู่ระหว่าง 9 – 15 คนตามขนาดของสถานศึกษา ที่มาจาก 1. ผู้แทนผู้ปกครอง 2. ผู้แทนครู 3. ผู้แทนองค์กรชุมชน 4. ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5. ผู้แทนศิษย์เก่า 6. ผู้แทนพระภิกษุสงฆ์หรือผู้แทนองค์กรศาสนาในพื้นที่ 7. ผู้ทรงคุณวุฒิ และ 8. ผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นกรรมการและเลขานุการ

การกำหนดให้มีตัวแทนจากหลายกลุ่มเข้ามามีส่วนในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในพื้นที่นั้นด้วยมีความคาดหวังว่า

ผู้แทนผู้ปกครอง จะเข้ามามีบทบาทในฐานะผู้ที่จะช่วยสะท้อนสภาพปัญหาและความต้องการของฝั่งผู้รับบริการ (Demand) ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการที่บุตรหลานเข้ามาเป็นผู้เรียน

ผู้แทนครู จะเข้ามามีบทบาทในฐานะผู้สะท้อนภาพของฝั่งผู้ให้บริการ (Supply) ในการนำเสนอข้อมูลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนการสอน ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนการสอน รวมถึงช่วยสะท้อนสิ่งที่ต้องการได้รับการช่วยเหลือ ดูแล หนุนเสริม เพื่อให้เกิดการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ

ผู้แทนจากชุมชน จะเข้ามามีบทบาทในฐานะผู้สะท้อนความต้องการของชุมชนต่อการผลิตผู้เรียนให้ออกมาในแบบที่ชุมชนต้องการ รวมถึงสถานศึกษาเองก็มุ่งหวังให้ผู้แทนนจากชุมชนเป็นข้อต่อที่จะนำทรัพยากรในชุมชนมาร่วมพัฒนาการศึกษาของสถานศึกษาในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของ In kind ที่ให้ทรัพยากรบุคคลในพื้นที่ เช่น ปราชญ์ชาวบ้านมาร่วมให้ความรู้ หรือ In cash ที่เป็นการนำเงินที่มีอยู่ในระบบของชุมชนมาร่วมสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาของเด็กในพื้นที่

ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หนึ่งในภารกิจหลักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คือการพัฒนาและส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โดยในด้านการศึกษานั้น อปท.มีทั้งการพัฒนาและส่งเสริมการศึกษาให้กับสถานศึกษาทั้งที่อยู่ภายใต้สังกัดของท้องถิ่นเองและสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แต่สังกัดหน่วยงานอื่น ดังนั้นการมีผู้แทนจาก อปท.ไปอยู่ในคณะกรรมการสถานศึกษา จึงมีส่วนสำคัญในการที่จะนำทรัพยากรของ อปท.มาช่วยในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในพื้นที่ให้มีคุณภาพ รวมถึงสามารถนำความต้องการพัฒนาผู้เรียนในสถานศึกษาไปบรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่นด้วย

ผู้แทนจากจากองค์กรด้านศาสนาในพื้นที่ กรอบงานด้านศาสนาคือการนำสิ่งที่เป็นหลักการหรือคำสอนของศาสนาในพื้นที่มาช่วยขัดเกลาคนในสังคม เพื่อให้คนในสังคมสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้ ดังนั้นผู้แทนจากองค์กรด้านศาสนาในพื้นที่จึงมีความสำคัญในฐานะเป็นตัวกลางเชื่อมต่อหลักการทางศาสนากับสถานศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยบ่มเพาะผู้เรียนให้ออกมาเป็นสมาชิกของชุมชน/ท้องถิ่น

ผู้แทนศิษย์เก่า ศิษย์เก่าถือเป็นผลผลิตที่สำคัญของสถานศึกษา ถ้าสถานศึกษานั้น ๆ มีศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จในสาขาอาชีพต่าง ๆ ก็จะสามารถย้อนกลับมาเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยพัฒนาสถานศึกษานั้นได้ เพราะความรักความผู้พันที่ศิษย์เก่ามีต่อสถานศึกษาจะเป็นตัวเชื่อมสำคัญที่ศิษย์เก่าส่งต่อโอกาสให้กับน้อง ๆ รุ่นต่อไป

ในการบริหารสถานศึกษาแม้ผู้บริหารสถานศึกษาจะเป็นกลไกสำคัญในการจัดการทรัพยากรที่สถานศึกษามี แต่กลไกคณะกรรมการสถานศึกษาที่ให้ภาคส่วนภายนอกสถานศึกษามามีส่วนร่วมก็มีความสำคัญในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงมาร่วมเติมเต็มความคิด ร่วมดำเนินการ โดยเฉพาะในการเติมทรัพยากรให้กับสถานศึกษา ร่วมตัดสินใจ และร่วมรับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการบริหารสถานศึกษา โดยเฉพาะในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐที่บางสถานศึกษาได้รับงบปริมาณมาก บางสถานศึกษาได้รับงบประมาณน้อยตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายและภาระที่สถานศึกษานั้น ๆ ต้องดูแล

ช่องว่างของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐที่แตกต่างกันนี้ มีผลต่อคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาแต่ละแห่งจนเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาขึ้น ดังเช่นที่เคยได้ยินว่าโรงเรียนขนาดเล็ก ครู 1 คนต้องสอนหลายวิชาเพื่อให้เด็กได้เรียบครบกลุ่มสาระตามเนื้อหาของหลักสูตร เป็นต้น ดังนั้นกลไกที่เป็น คณะกรรมการสถานศึกษาจะมีความสำคัญในการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้น

ท่ามกลางบริบททางการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากสถานศึกษาได้คณะกรรมการสถานศึกษาที่จะมาช่วยจัดการศึกษา ตั้งแต่ร่วมกำหนดเป้าหมายผลลัพธ์ของผู้เรียนที่พึงประสงค์ การประเมินทรัพยากรที่สถานศึกษามี การร่วมเติมเต็มทรัพยากรที่สถานศึกษายังขาดตามบทบาทหน้าที่และทรัพยากรที่ผู้แทนภายนอกสถานศึกษามี โดยเฉพาะเมื่อทรัพยากรจากภาครัฐที่จัดสรรมาให้มีจำกัดเมื่อเทียบกับสิ่งที่สถานศึกษาต้องการขับเคลื่อนไป คณะกรรมการสถานศึกษาจะเป็นกลไกสำคัญในการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับสถานศึกษาในพื้นที่เพื่อจะได้การศึกษาที่มีคุณภาพท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนแปลงได้

บรรณานุกรม
กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (2559). มาตรฐานการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณปี พ.ศ.2559. กรุงเทพฯ : กระทรวงมหาดไทย.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (2540, 11 ตุลาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม
114 ตอนที่ 55ก. หน้า 16.
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช. 2542 (2542, 14 สิงหาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม
116 ตอนที่ 75ก. หน้า 12.

เผยแพร่ครั้งแรกในเพจการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: