วันที่ 24 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดงาน “สมัชชาสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566” ภายใต้แนวคิด “75 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรี เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมสำหรับทุกคน” โดยมี พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แก่ ปรีดา คงแป้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี ศยามล ไกยูรวงศ์ ปิติกาญจน์ สิทธิเดช วสันต์ ภัยหลีกลี้ และสุภัทรา นาคะผิว พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงาน กสม. รวมทั้งผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ภายหลังจากการเปิดงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน มีการปาฐกถา หัวข้อ“ศักดิ์ศรี เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมสำหรับทุกคน” โดย Ms. Gita Sabharwal จาก United Nations Resident Coordinator พาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายและที่ปรึกษาอาวุโสมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ในการนี้ มสพ. ขอเผยแพร่เนื้อหาปาฐกถาหัวข้อ“ศักดิ์ศรี เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมสำหรับทุกคน” ของ สมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เพื่อชวนตั้งคำถามต่อสถานการณ์เรื่องสิทธิในสังคมไทย
75 ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
“ศักดิ์ศรีเสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมสําหรับทุกคน”
เรียน ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะ คุณ Gita Sabharwal, The United Nation Resident Coordinator ท่านทูต คุณ พาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ตัวแทนหน่วยราชการ องค์การภาคประชาสังคม และท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ ปีนี้เป็นปีที่ 75 ของการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เป็นเวลาค่อนศตวรรษแล้วที่ประเทศไทยของพวกเราทุกคนร่วมกับสมาชิกสหประชาชาติได้รับรองปฏิญญาฉบับนี้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2491 (1948) ณ จุดแห่งเวลาในขณะนี้พวกเราควรมาเฉลิมฉลองกันหรืออย่างไร?
แม้ปฏิญญาฯ จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่เนื่องจากเป็นตราสารที่สําคัญและมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อมนุษยชาติ ประเทศไทยในฐานะสมาชิกที่ต้องปฏิบัติตามความมุ่งหมายและหลักการแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ โดยเฉพาะข้อ 3 ที่กําหนดว่า สมาชิกสหประชาชาติ มีความมุ่งหมาย “เพื่อทําการร่วมมือระหว่างประเทศ ในอันที่จะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและมนุษยธรรม และส่งเสริมและสนับสนุนการเคารพสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพอันเป็นหลักมูลฐานสําหรับทุกๆคนโดยปราศจากความแตกต่างในทางเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา”
กฎบัตรสหประชาชาตินี้เป็นที่มาของปฏิญญาสากลฯ และกฎหมายระหว่างประเทศ ด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมฉบับต่างๆ ประเทศไทยได้ให้การรับรองปฏิญญาสากลฯ มาแล้ว 75 ปี และเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนแล้วอย่างน้อย 7 ฉบับ และกําลังจะเข้าเป็นภาคี อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับในเร็วๆนี้ และได้นําหลักสิทธิมนุษยชน มากําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ฉบับปี 2540 เป็นต้นมา แต่สิทธิมนุษยชนที่รับรองไว้โดยปฏิญญาและสนธิสัญญาฉบับต่างๆและรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้รับการปฏิบัติโดยเฉพาะหลักการสําคัญอันเป็นมูลฐาน คือ “ศักดิ์ศรี (ความเป็นมนุษย์) เสรีภาพ ความเสมอภาค (และการไม่เลือกปฏิบัติ) และความยุติธรรมสำหรับทุกคน"
ความแตกต่างระหว่างคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะคนยากจน ชาวนา กรรมกร ผู้ใช้ยา ผู้ติดเชื้อ HIV LGBTQ sex worker แรงงานข้ามชาติ ผู้ไร้สัญชาติ และกลุ่มคนชายขอบ เปราะบาง ต่างๆ ฯลฯ กับ คนส่วนน้อย ที่มั่งมีและมากล้นไปด้วยอํานาจเป็นสภาพปัญหาที่พบเห็นเป็นที่ประจักษ์จนเป็นความเคยชิน และเห็นเป็นเรื่อง “ธรรมดา”
ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ ในสถานที่คุมขังแห่งหนึ่ง ขณะที่ผู้ถูกคุมขังที่เป็นชาวบ้าน ยากจน สูงอายุ เจ็บป่วย ปางตาย อย่างเช่น อากง ต้องตายอย่างอเนจอนาถ เพราะไม่สามารถเข้าถึง การรักษาพยาบาลและสภาพ ความเป็นอยู่ที่เพียงพอสําหรับมนุษย์คนหนึ่งที่ควรจะมีชิวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ขณะเดียวกันกลับมีผู้สูงอายุบางคนที่มากด้วยบารมีและความร่ำรวยที่อยู่ในสถานที่เดียวกัน สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลและสภาพความเป็นอยู่ที่เกินพอสําหรับมนุษย์ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ช่างแตกต่างกันราวกับสวรรค์และนรก ที่น่าตกใจก็คือความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมระหว่างคนสองกลุ่มนี้ มิได้มีอยู่ในสังคมไทยทั่วไปเท่านั้น แต่ยังตามเข้าไปครอบงําถึงสถานที่คุมขังภายใต้คําพิพากษาอันศักดิ์สิทธิของศาลยุติธรรมอีกด้วยเพราะอะไร จึงช่างมีความแตกต่างกันมากมายเช่นนี้ได้?
ชาวไทยไม่ตระหนักและสํานึกในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อิสรภาพ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความ ยุติธรรมกระนั้นหรือ? ก็ไหนว่าสิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิธรรมชาติมีติดตัวมาแต่กําเนิด สิ่งมีชีวิตที่เป็นมนุษย์ทุกคนย่อมรับรู้และเข้าใจและมีอยู่ในมโนธรรมสํานึกของมนุษย์ทุกคนมิใช่หรือ? จริงทีเดียว มันมีอยู่ในมโนธรรมสํานึกของทุกคน สิทธิในชีวิต ที่จะไม่ถูกฆ่า ไม่อดตาย สิทธิในร่างกาย ที่จะไม่ถูกทําร้าย ไม่ถูกทรมาน หรือกระทําการโดยโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ทุกคนตระหนักรู้ได้ สิทธิบางอย่างอาจดูเป็นนามธรรม ทุกคนก็ตระหนักรู้และเข้าใจได้เช่นกัน
ตัวอย่าง ครอบครัวเรากันสี่คน ผมเป็นปู่ย่า ลูกชายและภรรยาของลูกชายไปร้านอาหาร หลานชายสามขวบชื่อธรรมไปด้วย พนักงานถามว่ากี่คนคะ เราบอกสี่ หลานชายบอกว่าธรรมด้วย น้องธรรมวัยสามขวบ กําลัง บอกว่าฉันก็เป็ นคน ฉันมีตัวตน ฉันควรได้รับการยอมรับว่าเป็นคนหรือมนุษย์คนหนึ่ง ที่ไม่ถูกกีดกันออกไปอยู่ชายขอบหรือตกขอบ เวลาเราเข้าคิวรับบริการมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง พาคนมาแซงคิว ทำไมเรารู้สึกได้ว่าถูกเลือกปฏิบัติ ทําไมไม่เสมอภาค แต่หากเป็นการแซงคิวให้เด็ก คนพิการ เรายินดี เรามีมโนธรรมสํานึก
ดังนั้น นอกจากการเฉลิมฉลองและระลึกถึง 75 ปี ของปฏิญญาฯ แล้ว กระผมจึงอยากให้เรามาทบทวนกันอย่างจริงจังว่า ทําไม 75 ปี หรือค่อนศตวรรษ ผ่านไป แต่ "ศักดิ์ศรี (ความเป็นมนุษย์) เสรีภาพ ความ เสมอภาค (การไม่เลือกปฏิบัติ) และความยุติธรรมสําหรับทุกคน” ยังไม่สามารถปรากฏเป็นจริงได้ใน ประเทศของเรา เพราะอะไร ผู้คนส่วนใหญ่ถูกหันเห บิดเบือน ครอบงํา มอมเมา กดทับ และปราบปราม โดยกลุ่มคนที่มีอํานาจเหนือกว่าคนทั่วไป แม้มีจำนวนน้อยแต่ยึดกุมโครงสร้างอํานาจอยู่อย่างเหนียวแน่น กฎหมาย กองกําลัง ถูกใช้เป็นเครื่องมือ รวมทั้งวาทะกรรมและวัฒนธรรมความเชื่อต่าง ยกตัวอย่างการอ้างบริบทของสังคมไทย การนําหลักการสิทธิมนุษยชนอันเป็นสากลต้องคํานึงถึงบริบทของสังคมไทย ถูกต้อง แต่นํามาใช้เพื่อบิดเบือนไปจากเจตนารมณ์และหลักการสิทธิมนุษยชนหรือ มิได้ต้องนํามาใช้เพื่อยืนยันและบรรลุเจตนารมณ์ของสิทธิมนุษยชน ตัวอย่างในการจัดทํารัฐธรรมนูญ 2517 ภายหลังการลุกขึ้นสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บุคคลมีสิทธิเท่าเทียมกัน กลุ่มสิทธิสตรี ต้องการให้เขียนว่า หญิง-ชาย มีสิทธิเท่าเทียมกัน ในการจัดทํารัฐธรรมนูญ 2540 บุคคลมีเสรีภาพในการสมาคม ประชาชนต้องการให้ระบุไปด้วยว่า มีสิทธิรวมกลุ่มในรูปสมาคม มูลนิธิ สหพันธ์ สหภาพ ฯลฯ
ดังนั้น สิ่งที่พวกเราทั้งหลายจะต้องไต่ถามแลกเปลี่ยน ระดมสมองกันว่า แล้วจะทําอย่างไรเพื่อให้ "ศักดิ์ศรี (ความเป็นมนุษย์) เสรีภาพ ความเสมอภาค (การไม่เลือกปฏิบัติ) และความยุติธรรมสําหรับทุกคน” ปรากฏเป็นจริงได้ในสังคมไทย
กระผมใคร่ขอแชร์ ความรับรู้และบทเรียนกับท่านทั้งหลาย ที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์การสิทธิมนุษยชนพอมีอยู่เล็กน้อยจากการนําแนวคิด “ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” อันเป็นหลักแห่งวิธีการทํางาน เพื่อผลักดันให้รัฐสภาตรากฎหมายเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ เพื่อร่วมส่วนในการเปลี่ยนผ่านสังคมไทยจากระบอบอํานาจนิยมไปสู่ประชาธิปไตย ที่สิทธิมนุษยชน นิติธรรม ได้รับการยอมรับนับถือและปฏิบัติ
“ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” มีหลักการ 4 ประการคือ
- การตรวจสอบและเรียกร้องให้มีการตรวจสอบค้นหาความจริงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
- เรียกร้องให้มีการเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
- เรียกร้องให้นําตัวผู้กระทําผิดมาลงโทษ
- ผลักดันการปฏิรูปเชิงนโยบาย และเชิงสถาบัน ปรับเปลี่ยนโครงสร้างและระบบ
กระผมเชื่อว่า หลักการทั้ง 4 ประการ ท่านทั้งหลายที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ยึดถือปฏิบัติอยู่แล้ว ไม่มากก็น้อย ประเด็นที่สําคัญคือ หลักการทั้ง 4 นั้น จะต้องนําไปปฏิบัติอย่างบูรณาการ อย่างไม่สามารถจะแยกจากกันได้ เพราะต่างมีความสัมพันธ์และส่งผลต่อกันและกัน โดยเฉพาะหลักการที่1-3 เพื่อสร้าง พลังของการขับเคลื่อน เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ด้วยความเคารพ กระผมหวังว่า ข้อคิดเห็นและประสบการณ์ที่นํามาแลกเปลี่ยนกับท่านทั้งหลายในวันนี้จะนําไปสู่ การทําให้ศักดิ์ศรี (ความเป็นมนุษย์) เสรีภาพ ความเสมอภาค (การไม่เลือกปฏิบัติ) และความยุติธรรมสําหรับทุกคน” เป็นจริงในสังคมไทย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ