แอมเนสตี้เรียกร้องอาเซียนต้องระบุแนวทางแก้ไขวิกฤตในเมียนมา

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 เม.ย. 2566 | อ่านแล้ว 13087 ครั้ง

แอมเนสตี้เรียกร้องอาเซียนต้องระบุแนวทางแก้ไขวิกฤตในเมียนมา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องอาเซียนต้องระบุแนวทางแก้ไขวิกฤตในเมียนมาที่ล้มเหลว ภายหลังการทำรัฐประหาร

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก "เมียนมา: อาเซียนต้องระบุแนวทางแก้ไขวิกฤตในเมียนมาที่ล้มเหลว ภายหลังการทำรัฐประหาร" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ประธาน

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

24 เมษายน 2566

เมียนมา: อาเซียนต้องระบุแนวทางแก้ไขวิกฤตในเมียนมาที่ล้มเหลว ภายหลังการทำรัฐประหาร

วันนี้ครบรอบสองปีนับตั้งแต่อาเซียนให้ความเห็นชอบต่อฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาภายหลังการทำรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งกองทัพเมียนมาเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องของประชาคมระหว่างประเทศให้ยุติความรุนแรง นอกจากนั้น นับตั้งแต่การทำรัฐประหาร กองทัพเมียนมาได้ก่ออาชญากรรมสงคราม และอาจเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ผู้นำอาเซียนต้องดำเนินการมากขึ้นและแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมาโดยไม่ล่าช้าอีกต่อไป ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ประเมินฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน โดยพิจารณาจากหลักฐานที่เป็นรูปธรรมซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นความล้มเหลวดังนี้

1) จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที และทุกฝ่ายจะต้องใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุด

กองทัพเมียนมาได้ประหารชีวิตประชาชนอย่างน้อยสี่คน มีการตัดสินประหารชีวิตอีกอย่างน้อย 123 คน และจับกุมประชาชน 21,334 คน โดยที่ 17,446 คนยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ ตามข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) กองกำลังของรัฐได้ทรมานผู้ถูกคุมขัง สังหารบุคคลอย่างน้อย 3,239 คน รวมทั้งทำการโจมตีอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย และพลเรือนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีทางอากาศที่ร้ายแรง การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การทิ้งระเบิด การใช้ทุ่นระเบิดต้องห้าม และการใช้ระเบิดลูกปราย ตามข้อมูลของสำนักงานประสานงานด้านการบรรเทาทุกข์สหประชาชาติ (OCHA) ตั้งแต่การทำรัฐประหาร การสู้รบที่เกิดขึ้นส่งผลให้ประชาชนต้องเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศถึง 1.4 ล้านคน มีการเผาหรือทำลายบ้านเรือนของพลเรือนมากถึง 60,000 หลัง และผลักดันให้ประชาชนจำนวน 75,400 คนต้องอพยพไปประเทศเพื่อนบ้าน กองทัพเมียนมายังควบคุมตัวและคุมขังชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 2,000 คน นับตั้งแต่การทำรัฐประหาร ในข้อหา ‘เดินทางโดยไม่ได้รับอนุญาต’ ออกจากรัฐยะไข่ ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า กองทัพเมียนมาไม่มีแผนที่จะยุติความรุนแรง หรือใช้ความอดทนอดกลั้นต่อพลเรือน

2) การเจรจาอย่างของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเริ่มต้นขึ้นเพื่อหาทางออกอย่างสันติเพื่อประโยชน์ของประชาชน

ในเดือนกรกฎาคม 2565 กองทัพเมียนมาประหารชีวิตประชาชนสี่คน นักกิจกรรมหนึ่งคน และสมาชิกของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) อีกหนึ่งคน ณ เดือนธันวาคม 2565 กองทัพเมียนมาได้ตัดสินจำคุกอองซาน ซูจีเป็นระยะเวลา 33 ปี ภายหลังการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง โดยมีกระบวนการพิจารณาที่ขาดความโปร่งใสอย่างสิ้นเชิง ในเดือนตุลาคม ศาลภาคมะกเวตัดสินจำคุกวิน มยินต์ เลง อดีต ส.ส.พรรค NLD เป็นเวลา 148 ปี ในข้อหาก่อการร้าย ในช่วงเวลาเดียวกัน สามนักกิจกรรม ได้แก่ ออง คานต์ จอ เต็ด และนิน หม่อง ถูกศาลสั่งจำคุก 95 ถึง 225 ปี ตามกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย ในทำนองเดียวกัน กองทัพเมียนมายังคงปราบปราม และจำคุกนักการเมืองฝ่ายค้าน กองทัพเมียนมาใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการกดขี่เพื่อปิดปาก และลงโทษแบบกลุ่มต่อผู้เห็นต่าง วันที่ 7 เมษายน 2566 ท่านแซมสัน ผู้นำทางศาสนาและชุมชนของรัฐคะฉิ่น ถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลาหกปีในข้อหารวมตัวเป็นสมาคมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อหาหมิ่นประมาท และก่อการร้าย กองทัพเมียนมาใช้ข้อหาเหล่านี้เป็นเครื่องมือเพื่อปิดปากและลงโทษบุคคลที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น การเจรจาอย่างสร้างสรรค์ไม่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น หากประชาชนยังคงถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมและถูกควบคุมตัวโดยพลการ กองทัพเมียนมาต้องปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวและจำคุกเนื่องจากการต่อต้านโดยสงบต่อการทำรัฐประหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพ

3) ผู้แทนพิเศษอาเซียนด้านเมียนมาต้องอำนวยความสะดวกโดยเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจาพร้อมความช่วยเหลือจากเลขาธิการอาเซียน

ในเดือนมีนาคม 2565 ผู้แทนพิเศษอาเซียนด้านเมียนมาได้เยือนเมียนมาเป็นครั้งแรก ผู้แทนพิเศษได้พบกับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย แต่กองทัพกลับปฏิเสธไม่ให้ผู้แทนดังกล่าวได้พบกับกลุ่มประชาสังคม หรือสมาชิกพรรค NLD ซึ่งคว้าที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งเมื่อปี 2563 กองทัพเมียนมายังปฏิเสธคำขอของผู้แทนพิเศษที่ต้องการเข้าพบกับอองซาน ซูจี ความล้มเหลวที่ไม่สามารถพบกับบุคคลอื่นๆ ได้นอกจากผู้นำกองทัพเมียนมาสะท้อนให้เห็นว่า อาเซียนไม่สามารถประสานงานให้เกิดการไกล่เกลี่ยได้

4) อาเซียนต้องให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (AHA)

ในเดือนตุลาคม 2565 กองทัพเมียนมาประกาศใช้กฎหมายจดทะเบียนองค์กร ซึ่งจำกัดสิทธิในเสรีภาพการสมาคมอย่างร้ายแรง โดยกำหนดโทษทางอาญาต่อองค์กรมนุษยธรรมในประเทศและระหว่างประเทศในกรณีที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐ การประกาศใช้กฎหมายสร้างอุปสรรคอย่างมากในการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นอย่างยิ่ง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล บันทึกข้อมูลว่า กองทัพเมียนมาได้ทำลายความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นต่อชีวิต โดยกำหนดหลักเกณฑ์ทางราชการที่ยุ่งยาก และโจมตีค่ายที่พักพิงของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ การทิ้งระเบิดทางอากาศในวงกว้าง การยิงระเบิดอย่างไม่เลือกเป้าหมาย และการสังหารหมู่โดยกองทัพ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บล้มตายและต้องพลัดถิ่นจำนวนมาก เร่งให้เกิดความต้องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมากขึ้น UNOCHA ประมาณการณ์ว่า มีประชาชนทั้งหมด 17.6 ล้านคน รวมทั้งผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมากกว่า 9 ล้านคน ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในปี 2566 ในเดือนธันวาคม 2564 ผู้ทำงานด้านมนุษยธรรมสองคนเป็นเหยื่อที่ถูกสังหารหมู่โดยกองทัพในรัฐกะยา รายงานช่วงสิ้นปีของ UNOCHA ระบุว่า “ในปี 2565 จำนวนผู้ทำงานด้านมนุษยธรรมถูกสังหารในเมียนมามากสุดเป็นอันดับที่สองของโลก และผู้ทำงานด้านมนุษยธรรมได้รับบาดเจ็บมากสุดเป็นอันดับที่สี่ของโลก” อีกทั้ง ศูนย์ AHA ยังล้มเหลวในแง่การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่เหมาะสมต่อประชากรที่ต้องการความช่วยเหลือ

5) ผู้แทนพิเศษและตัวแทนต้องเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

โปรดดูข้อ 2 และ 3 ข้างต้น

สืบเนื่องจากความล้มเหลวของอาเซียนในการดำเนินงานตามฉันทามติ 5 ข้อ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงขอเรียกร้องให้อาเซียนและรัฐสมาชิกอาเซียนดำเนินการต่อกองทัพเมียนมาตามข้อเสนอแนะ ดังนี้

1) ยุติการทิ้งระเบิดทางอากาศเพื่อโจมตีพลเรือนโดยทันที และยุติการโจมตีอย่างทั้งทางบกและทางอากาศ ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

2) ยกเลิกการปิดกั้นทางอินเทอร์เน็ต ยกเลิกหลักเกณฑ์ทางราชการและมาตรการที่พลการต่างๆ ที่จำกัดการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ยุติการโจมตีผู้ทำงานด้านมนุษยธรรม และอนุญาตให้องค์กรมนุษยธรรมในประเทศและระหว่างประเทศสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้โดยไม่มีการปิดกั้น เพื่อเข้าถึงพลเรือที่ต้องการความช่วยเหลือ

3) ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวโดยพลการทั้งหมดทันที รวมทั้งผู้ที่ถูกจำคุกจากการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมนับตั้งแต่มีการทำรัฐประหาร

4) ยุติการข่มขู่ การจับกุม หรือการทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้ายใดๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ทำงานในสื่อ ผู้ทำงานด้านสาธารณสุข และบุคคลอื่นซึ่งเข้าร่วมกับกลุ่มขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement หรือ CDM) โดยสงบทันที

5) ปล่อยตัวชาวโรฮิงญาทุกคนที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ เนื่องจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการเดินทาง และยุติบทบาทของกองทัพในแผนการใดๆ ที่จะบังคับส่งกลับชาวโรฮิงญาจากค่ายผู้ลี้ภัยค็อก บาซาร์และบาซัน ชาร์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: