ถ้อยแถลงหลังเสร็จสิ้นภารกิจในประเทศไทยของแอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 เม.ย. 2566 | อ่านแล้ว 37102 ครั้ง

ถ้อยแถลงหลังเสร็จสิ้นภารกิจในประเทศไทยของแอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยการเดินทางมาเยือนประเทศไทยเกิดขึ้นในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน พ.ค. 2566 ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ที่จะพัฒนาสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยนั้น มีความประทับใจที่มีผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองหลัก ๆ หลายพรรค ได้เข้าร่วมในเวทีวาระสิทธิมนุษยชนกับการเลือกตั้ง

25 เม.ย. 2566 หลังจากได้นำเสนอประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก ในระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของดิฉัน เกิดขึ้นในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน พ.ค. 2566 ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ที่จะพัฒนาสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ดิฉันประทับใจที่มีผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองหลัก ๆ หลายพรรค ได้เข้าร่วมในเวทีวาระสิทธิมนุษยชนกับการเลือกตั้ง โดยร่วมดีเบตในหัวข้อ “วาทะผู้นำ วาระสิทธิมุษยชน” ซึ่งจัดขึ้นโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และองค์กรภาคประชาสังคม เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นก้าวย่างที่สำคัญสำหรับผู้นำทางการเมือง และหวังว่าจะช่วยให้เกิดการทบทวนถึงพันธกิจร่วมกันเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

“ในการมาเยือนประเทศไทย เราได้เข้าพบและประชุมกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม และผู้รอดชีวิตจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ยังได้ประชุมกับเพื่อนร่วมงานที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ทำให้ได้เห็นการทำงานที่น่าเหลือเชื่อของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมรุ่นใหม่ผู้กล้าหาญ และรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจจากการยืนหยัดและความมุ่งมั่นของพวกเขาในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและความเท่าเทียมเป็นอย่างมาก

“สิ่งสำคัญในการเดินทางมาครั้งนี้คือการได้พบกับเด็กและเยาวชนที่มีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วง พวกเขาเชื่อมั่นในประเทศไทย และต้องการสร้างประเทศที่แข็งแรงและเป็นธรรม แต่เมื่อถามความเห็นเกี่ยวกับอนาคตของตนเองในประเทศนี้ พวกเขากลับตอบว่า มองไม่เห็นอนาคตของตนเอง ทำให้เรากังวลอย่างมาก และคิดว่าควรเป็นข้อกังวลที่สำคัญของผู้นำในประเทศไทยเช่นกัน เด็กและเยาวชนจำนวนมากรู้สึกเช่นนี้ เพราะพวกเขาถูกปราบปราม ทั้งยังมีความไม่เท่าเทียม การทุจริต และความอยุติธรรม พวกเขาจึงมองไม่เห็นอนาคตของตนเองที่นี่ ดังนั้นสถานการณ์เช่นนี้จะต้องถูกเปลี่ยนแปลง

“เด็กและเยาวชนหลายร้อยคน รวมทั้งนักกิจกรรมทางการเมืองและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ถูกดำเนินคดีอาญาในประเทศไทย เพียงเพราะการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ เสรีภาพของหลายคนถูกพรากไป และอาจมีประวัติอาชญากรติดตัว รวมถึงเด็กวัย 15 ปี ซึ่งถูกควบคุมตัวในสถานพินิจเด็กและเยาวชนเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว”

“เด็กและเยาวชนมีบทบาทสำคัญต่อสังคม เราได้ให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยในการยุติการข่มขู่เด็กผู้ชุมนุมประท้วง และยุติการสอดแนมข้อมูลของพวกเขา รวมถึงต้องยุติการดำเนินคดีต่อเด็กผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ และให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายและนโยบาย ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบได้อย่างเต็มที่

“เรายังได้แสดงข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนอีกหลายประการระหว่างการเดินทางมาครั้งนี้ รวมทั้งการที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุระหว่างการชุมนุมประท้วง และการควบคุมตัวผู้ชุมนุมประท้วงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยพลการ เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยประกาศใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แต่ก็น่าเสียใจที่มีมติให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายนี้ไปจนถึงเดือนตุลาคม เราไม่อาจอ้างปัญหาทางเทคนิคเพื่อชะลอการดำเนินงานตามพันธกิจเช่นนี้ได้ กฎหมายต้องถูกบังคับใช้โดยไม่ล่าช้า เรายังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และผู้ขอลี้ภัย โดยเฉพาะผู้ที่มาจากประเทศเมียนมา

“พลเมืองชาวเมียนมาซึ่งหลบหนีข้ามพรมแดน ต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวว่าจะถูกส่งกลับหรือถูกลักพาตัว หลายคนหลบหนีจากบ้านเกิดของตนเองภายหลังการทำรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อให้ตัวเองปลอดภัยจากการถูกปราบปรามอย่างรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยกองทัพเมียนมา ทางการไทยต้องปฏิบัติตามหลักการไม่ส่งกลับ และต้องไม่ส่งกลับพลเมืองชาวเมียนมาไปยังประเทศใด หากมีความเสี่ยงว่าพวกเขาอาจถูกควบคุมตัวโดยพลการ ถูกทรมาน หรืออาจได้รับโทษประหารชีวิตตามคำสั่งของกองทัพเมียนมา

“ประเทศไทยมีประวัติมายาวนานในการรองรับ และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับผู้ลี้ภัยในภูมิภาค และต้องทำเช่นนั้นต่อไป เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยประกาศพันธกิจที่จะให้การสนับสนุนที่จำเป็นอย่างยิ่ง ต่อบุคคลที่หลบหนีจากการปราบปรามทั่วทั้งภูมิภาค รวมทั้งที่มาจากเมียนมา เวียดนาม กัมพูชา และลาว ประเทศไทยสามารถและควรเป็นต้นแบบของผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่น

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอขอบคุณกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ยินดีพูดคุยในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญร่วมกับเราในระหว่างการเดินทางมาครั้งนี้ และต้องขอบคุณภาคประชาสังคม เด็กและเยาวชนผู้ชุมนุมประท้วงในประเทศไทย รวมทั้งองค์การสหประชาชาติและตัวแทนสถานทูต ซึ่งสละเวลามาพบกับเรา และขอขอบคุณทีมงานผู้ทุ่มเทและทำงานอย่างหนักจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก

“แม้ดิฉันได้เดินทางออกจากประเทศไทยแล้ว แต่พันธกิจที่มีต่อสิทธิมนุษยชนของเรายังอยู่ในประเทศนี้ และอยู่ในภูมิภาคนี้อย่างเข้มแข็ง เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างโลกซึ่งให้ความสำคัญในลำดับแรกกับสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เป็นเพียงประเด็นรอง”


ข้อมูลพื้นฐาน
แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเธอเดินทางมาถึงในวันที่ 18 เม.ย. 2566 และออกเดินทางต่อไปยังประเทศออสเตรเลียในวันที่ 22 เม.ย. 2566 เพื่อเข้าร่วมประชุมเวทีสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: