สวทช. ร่วมเอกชนวิจัยยกระดับสารสกัดกะเพราแดง มุ่งตอบโจทย์อุตสาหกรรมยาและอาหาร

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 ส.ค. 2566 | อ่านแล้ว 3829 ครั้ง

สวทช. ร่วมเอกชนวิจัยยกระดับสารสกัดกะเพราแดง มุ่งตอบโจทย์อุตสาหกรรมยาและอาหาร

สวทช. ร่วมเอกชนวิจัยยกระดับสารสกัดกะเพราแดง เพื่อวางลู่ทางสู่การจำหน่ายแบบ B2B (Business to Business) แก่กลุ่มอุตสาหกรรมยาและอาหาร

เมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2566 เว็บไซต์ สวทช. รายงานว่ากะเพราแดง (red holy basil) เป็นพืชสมุนไพรที่มีจุดเด่นหลายด้าน ทั้งด้านรสชาติที่จัดจ้านเหมาะแก่การใช้ทำอาหารไทยรสเผ็ดร้อนอย่างผัดกะเพรา ผัดฉ่า แกงป่า และยังมีสรรพคุณทางยา เช่น การช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับเหงื่อ รวมถึงมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย แต่แม้จะมีคุณประโยชน์มาก กะเพราแดงก็ยังมีจุดอ่อนสำคัญ อาทิ ใบมีขนาดเล็กและสีออกคล้ำทำให้ดูไม่สด และยังมีกลิ่นรสที่ค่อนข้างฉุน ส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปนิยมเลือกซื้อกะเพราะขาวเพื่อปรุงอาหารมากกว่า

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และบริษัทสเปเชียลตี้ เนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจจากสรรพคุณของกะเพราแดง จึงร่วมกันวิจัยและพัฒนากระบวนการแปรรูปพืชสมุนไพรชนิดนี้ให้อยู่ในรูปสารสกัดที่พร้อมใช้งาน เพื่อวางลู่ทางสู่การจำหน่ายแบบ B2B (Business to Business) แก่กลุ่มอุตสาหกรรมยาและอาหาร โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

ดร.คมสันต์ สุทธิสินทอง นักวิจัยทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอาง (NLC) นาโนเทค สวทช. เล่าว่า กะเพราแดง (Ocimum tenuiflorum L.) มีสารสำคัญที่มีสรรพคุณทางยาหลายชนิด อาทิ บีตาแคริโอฟิลลีน (beta-caryophyllene) ช่วยเรื่องการขับลม โรสมารินิกแอซิด (rosmarinic acid) สารต้านอนุมูลอิสระช่วยลดการอักเสบ และยังมีสารหอมระเหยที่ให้กลิ่นรสเฉพาะตัวในกลุ่มยูจีนอล (eugenol) และเมทิลยูจีนอล (methyl eugenol) ซึ่งนำไปใช้เป็นสารปรุงแต่งกลิ่นรสอาหารได้

“ทีมวิจัยเลือกใช้กระบวนการผลิตสารสกัดจากกะเพราแดงด้วยกระบวนการสกัดแบบ green extraction หรือการสกัดโดยลดการใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ เพื่อให้ได้สารสกัดที่มีความปลอดภัยสูงต่อผู้บริโภคและมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในกระบวนการสกัด ทีมวิจัยได้เลือกใช้เอทานอลและน้ำเป็นตัวทำละลายหลักเพื่อให้สกัดได้ทั้งสารที่อยู่ในรูปสารละลายน้ำ (water phase) เช่น โรสมารินิกแอซิดและสารที่อยู่ในรูปน้ำมัน (oil phase) เช่น ยูจีนอล, เมทิลยูจีนอล และบีตาแคริโอฟิลลีน ในคราวเดียวกัน จึงช่วยลดขั้นตอนการสกัดได้เป็นอย่างดี”

เมื่อได้สารสกัดกะเพราแดงประสิทธิภาพสูงแล้ว ขั้นตอนต่อไปของการทำวิจัยคือสร้างเกราะห่อหุ้มให้แก่สารสกัด เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้นำพา (carrier) สารไปออกฤทธิ์ยังบริเวณเป้าหมาย และช่วยเพิ่มความคงตัวให้แก่สารสกัด ทำให้องค์ประกอบของสารไม่เปลี่ยนแปลงไปก่อนเวลาอันควร

ดร.คมสันต์ อธิบายว่า ทีมวิจัยได้พัฒนากระบวนการห่อหุ้มสารสกัดที่ได้จากใบกะเพราแดงในระดับอนุภาคนาโน (nanoencapsulation) เพื่อให้สารห่อหุ้มทำหน้าที่เป็นเกราะนำพาสารสำคัญประเภทตัวยาไปออกฤทธิ์ยังบริเวณเป้าหมายได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลดีทั้งในด้านการช่วยลดปริมาณยา และการตกค้างของสารในร่างกายผู้บริโภค นอกจากนี้การห่อหุ้มยังช่วยให้สารไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางกายภาพ เช่น กลิ่น สี ก่อนเวลาอันควร ทำให้ผู้ผลิตแปรรูปสารสกัดกะเพราแดงให้อยู่ในรูปแบบผงได้โดยไม่สูญเสียคุณสมบัติสำคัญ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์สารสกัดกะเพราที่ผ่านการห่อหุ้ม (encapsulated extract) มีทั้งรูปแบบของเหลวและผงแห้ง โดยในส่วนของผงแห้งจะมีทั้งสารที่ให้สรรพคุณทางยาและสารสำหรับปรุงแต่งกลิ่นรส เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่ม B2B ที่แตกต่างกันในแต่ละอุตสาหกรรม ปัจจุบันการวิจัยอยู่ในขั้นทดสอบคุณภาพและความปลอดภัย คาดว่าจะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่บริษัทผู้ร่วมวิจัยได้ภายใน 1 ปี และจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจต่อไปในอนาคต

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร ส่วนผสมฟังก์ชัน และเวชสำอาง จากสารตั้งต้นอื่น ๆ ทีมวิจัยจากนาโนเทคพร้อมให้บริการการวิจัยแบบ one-stop service ในนาม “FoodSERP (ฟูดเซิร์ป)” สวทช. หรือ แพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน ที่ให้บริการแบบบูรณาการความเชี่ยวชาญสหสาขา

“ทีมวิจัยจากนาโนเทค สวทช. มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่พร้อมให้บริการหลากหลายด้าน อาทิ การพัฒนากระบวนการสกัดสารสำคัญ (functional ingredients) ทั้งแบบ conventional extraction และ green extraction การพัฒนากระบวนการห่อหุ้มสารสำคัญในระดับอนุภาคนาโน (nanoencapsulation) การพัฒนาต่อยอดจากสารสกัดฟังก์ชันเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ การให้บริการทดสอบคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ โดยนาโนเทคมีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่พร้อมให้บริการแก่ผู้ประกอบการ คือ โรงงานต้นแบบผลิตอนุภาคนาโนและเครื่องสำอาง ที่พร้อมให้บริการผลิตอนุภาคนาโนของสารสกัดและผลิตเวชสำอางด้วยมาตรฐาน ASEAN Cosmetic GMP” ดร.คมสันต์ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: