เปิดผลวิจัย 1 ปี ถ่ายโอน รพ.สต.แนะเร่งสร้างกลไกลทำงานให้เข้มแข็ง

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 ธ.ค. 2566 | อ่านแล้ว 3381 ครั้ง

เปิดผลวิจัย 1 ปี ถ่ายโอน รพ.สต.แนะเร่งสร้างกลไกลทำงานให้เข้มแข็ง

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดผลวิจัย 1 ปี ถ่ายโอน รพ.สต. สู่ อบจ. แนะเร่งสร้างกลไกลทำงานให้เข้มแข็ง เพื่อบริการที่มีคุณภาพ

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเปิดเผยผลการวิจัยโครงการผลกระทบของการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล สู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิ : กรณีศึกษานโยบายสามหมอ ใน 5 จังหวัด ทำการศึกษาจังหวัดที่มีการถ่ายโอน รพ.สต. เต็ม 100 % คือ รพ.สต. ทุกแห่งในจังหวัดได้รับการถ่ายโอนไปยัง อบจ. ทั้งหมด ได้แก่ หนองบัวลำภู ปราจีนบุรี ขอนแก่น สุพรรณบุรี และมุกดาหาร โดยเก็บข้อมูลระหว่างเดือนเมษายน ถึงกันยายน 2566 ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยทำให้มองเห็นจุดอ่อน จุดแข็งของการถ่ายโอนที่เกิดขึ้นทั้งต่อระบบบริการปฐมภูมิของประเทศ ทั้งมิติด้านการบริการที่ประชาชนจะได้รับ และมิติด้านการบริหารจัดการกำลังคนด้านสุขภาพระดับปฐมภูมิ

“การถ่ายโอน รพ.สต. ในช่วงปีแรกๆ มีทั้งอุปสรรคและความท้าทาย เพราะการจัดระบบบริการสุขภาพเป็นเรื่องใหม่ของอบจ. ซึ่งหลายแห่งอาจเพิ่งตั้งกองสาธารณสุขขึ้นมาเพื่อเตรียมรับการถ่ายโอน ทำให้ยังไม่มีประสบการณ์ด้านการจัดบริการ อีกทั้งระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิยังต้องเชื่อมต่อกับระบบบริการทุติยภูมิและตติยภูมิซึ่งหน่วยบริการยังคงอยู่ภายใต้การบริหารจัดการที่แยกส่วนกัน สวรส.จึงสนับสนุนงบประมาณให้กับโครงการนี้ โดยคาดหมายว่าผลการวิจัยจะนำสู่การปิดจุดอ่อนและสร้างเสริมจุดแข็งของ ผลกระทบที่เกิดจากการถ่ายโอนเพื่อทำให้ระบบบริการปฐมภูมิของประเทศมีประสิทธิภาพ” นพ.ศุภกิจกล่าวพร้อมชี้แนะหลักที่จะนำไปสู่ การให้บริการประชาชนที่มีประสิทธิภาพ คือความร่วมมือของหน่วยงานที่เชื่อมรอยต่อในการดูแลรักษา ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ไปยังรพ.ใหญ่

“ถ้าออกแบบ หรือคุยกันได้ไม่ดีพอ ก็จะเป็นปัญหา ส่วนกลไกในการติดตามกำกับ จุดนี้ก็สำคัญ และควรจะมีตัวชี้วัดกลาง โดยที่ไม่ได้นำไปครอบในทุกพื้นที่ เพราะบริบทแตกต่างกัน ทั้งนี้เราพยายามเชตฐานข้อมูล เชิงวิชาการ นำมาเสนอเป็นตัวชี้วัด ซึ่งการพัฒนาระบบสาธารณสุข ให้ได้มาตรฐาน ต้องร่วมมือกันพัฒนา โดยใช้ข้อมูลทางวิชาการ ให้เป็นที่ยอมรับ” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ทั้งนี้ ผลจากการวิจัย ในภาพรวมพบว่าจำนวนเฉลี่ยของประชาชนที่รับบริการด้านสุขภาพที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.) ลดลงเล็กน้อย และจำนวนผู้รับบริการที่โรงพยาบาลระดับอำเภอเพิ่มขึ้นไม่มาก บริการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือด้านทันตกรรมรพ.สต. หลายจังหวัดต้องหยุดให้บริการเนื่องจากขาดทันตแพทย์ประจำ หลังการถ่ายโอนความร่วมมือในส่วนนี้ขาดหายไปเนื่องจาก รพ.สต. และ รพช. ไม่ได้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข

ทางด้าน นพ.ฑิณกร โนรี นักวิจัยหลักของโครงการ มองว่า ในกรณีนี้แสดงให้เห็นว่ากลไกระดับจังหวัดคือคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ไม่สามารถทำงานได้ตามที่คาดหวัง

“รวมทั้งกลไกขับเคลื่อนงานสุขภาพระดับอำเภอทั้งสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ทั้ง CUP และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ถูกละเลยทำให้ระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากระบบบริการทันตกรรมที่มีการหยุดชะงัก ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและอบจ. ของแต่ละจังหวัดกำลังหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผลการศึกษายังพบว่าภาพรวมของการทำงานด้านส่งเสริมและป้องกันโรคของ รพ.สต. ลดลง โดยพิจารณาจากตัวชี้วัดต่างๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ ซึ่งพบว่าหลายตัวโดยเฉพาะงานด้านการคัดกรองและควบคุมโรคมีผลตามตัวชี้วัดต่ำลง” นพ.ฑิณกร โนรี กล่าวเสริม

ในส่วนผลกระทบต่อบุคลากรพบว่าเกิดผลในเชิงบวก กล่าวคือหลายคนที่ขั้นและตำแหน่งตันในกระทรวงสาธารณสุขสามารถเลื่อนขั้นตามโครงสร้างของท้องถิ่นได้ อีกทั้งหลายแห่งยังสามารถรับบุคลากรเพิ่มได้ขณะที่ปัญหาและอุปสรรคในภาพรวมได้แก่ ความไม่พร้อมของกองสาธารณสุข ของ อบจ. ส่วนใหญ่มีจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอที่จะจัดการดูแลบุคลากรและระบบงานของ รพ.สต. ทั้งหมดทั้งยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ โครงการศึกษาครั้งนี้ได้พัฒนาข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ดังนี้

1. เสริมสร้างความเข็มแข็งให้กับกลไกระดับจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กสพ. ทั้งกองสาธารณสุข ของ อบจ. ซึ่งอาจจำเป็นต้องให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเข้าไปช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ก่อนในช่วงต้น
2. กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ควรมีการประสานวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบปฐมภูมิร่วมกัน
3. สร้างเสริมความเข้มแข็งกลไกระดับอำเภอที่มีอยู่เดิม เช่น คปสอ. พชอ. และ CUP
4. กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรกำหนดเกณฑ์ในการบริหารจัดการเงิน UC ร่วมกัน ให้ชัดเจน และให้เป็นแนวทางที่ทุกจังหวัดนำไปปฏิบัติเหมือนกัน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: