มธ. เปิดวงถกแนวทางสร้าง ‘ระบบบำนาญแห่งชาติ’ ดัน ‘เจตนารมณ์ ปชช.’ สู่นโยบายการเมือง

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 มี.ค. 2566 | อ่านแล้ว 1370 ครั้ง

คณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำฯ ธรรมศาสตร์ จับมือ สช. เปิดวงเสวนาวิชาการถกความเป็นไปได้ต่อการจัดทำ ‘บำนาญแห่งชาติ’ ของประเทศไทย พร้อมขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ “หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” โดยวิทยากรเห็นพ้อง ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้อยู่ที่การสร้างเจตนารมณ์ทางสังคม จนเกิดเป็นนโยบายทางการเมือง และเกิดการตัดสินใจเชิงนโยบายของประเทศในท้ายที่สุด

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช. แจ้งข่าวว่าคณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีเสวนาวิชาการหัวข้อ “ระบบบำนาญแห่งชาติเพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน สู่นโยบายพรรคการเมืองด้านระบบความคุ้มครองทางสังคมในผู้สูงอายุ” ขึ้นเมื่อบ่ายวันที่ 23 มีนาคม 2566 ที่ มธ. ท่าพระจันทร์ โดยมีนักวิชาการ ผู้แทนพรรคการเมือง ตลอดจนประชาชนผู้ที่สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวเปิดการเสวนาตอนหนึ่งว่า ในอนาคตประเทศไทยต้องเผชิญความเสี่ยงวิกฤตความยากจนในผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม และหากคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเปราะบางในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้สูงอายุและลูกหลาน ระบบบำนาญจึงถือเป็นระบบความคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุในการช่วยบรรเทาปัญหาความยากจนลงได้

“การพัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติจึงเป็น ‘ความคุ้มครองทางสังคม’ ประเภทหนึ่ง ตามหลักวิชาเศรษฐศาสตร์สาธารณะ หรือ Public Economics ซึ่งความคุ้มครองทางสังคม คือระบบหรือมาตรการคุ้มครองขั้นพื้นฐาน เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงจากเคราะห์ร้าย ช่วยคุ้มครองไม่ให้กลายเป็นคนยากจน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ” ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าว

เปิดงานศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ

สำหรับเวทีเสวนาวิชาการดังกล่าว เริ่มต้นด้วยการนำเสนอผลการศึกษาของ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล และ ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มธ. ซึ่งจัดทำภายใต้โครงการวิจัย “การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ” โดยมีสาระสำคัญคือ การฉายภาพให้เห็นถึงความไม่มั่นคงหลังเกษียณ จึงจำเป็นต้องมีการจัดทำระบบบำนาญแห่งชาติที่มีความเป็นธรรมและยั่งยืน เพื่อเป็นเครื่องคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ โดยคำนึงถึงบริบท ความเป็นจริงทางเศรษฐศาสตร์ สังคม และการเมืองของประเทศ

ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลลักษณะทางเศรษฐกิจของประชากรผู้สูงอายุและกลุ่มวัย 40-59 ปี ซึ่งเป็น "ประชากรรุ่นเกิดล้าน" หรือ กลุ่มสึนามิประชากร มีความเปราะบางต่อความยากจนสูง ส่วนมากไม่มีความสามารถในการออม และเมื่อพิจารณาจากรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สิน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ปี 2563 มีผู้สูงอายุยากจนพุ่งขึ้นในหลายจังหวัด และส่วนใหญ่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ทั้งนี้ ระดับเบี้ยยังชีพขั้นต่ำที่จะช่วยผู้สูงอายุกลุ่มยากจนที่สุดให้พ้นจากความยากจนได้ จะต้องไม่ต่ำกว่า 2,000 บาทต่อเดือน และถึงแม้จะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน ก็ยังคิดเป็นงบประมาณที่น้อยกว่าระบบบำนาญของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในระยะยาว

ผลการศึกษา ระบุอีกว่า การออกแบบระบบบำนาญแห่งชาติ สามารถพัฒนาระดับมาตรฐานการครองชีพขึ้นไปได้ถึงระดับกึ่งกลางหรือมัธยฐานของครัวเรือนไทยที่ 6,000 บาทต่อเดือน หรือ 200 บาทต่อวัน โดยให้ผู้ทำงานอยู่นอกระบบสามารถทำการออม และให้รัฐบาลร่วมสมทบการออมในสัดส่วนเดียวกัน ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งหมดไม่สูงกว่าระบบบำนาญภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับระบบบำนาญแห่งชาติ ได้แก่ การขยายฐานภาษี ภาษีฐานทรัพย์สินและการลดนโยบายที่เอื้อให้กับคนรวย (Pro-rich) ซึ่งจะกลายเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมลงได้

สำหรับข้อเสนอจากงานวิจัย ได้แก่ 1. ควรกำหนดให้ระบบบำนาญแห่งชาติเป็นวาระแห่งชาติที่มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน 2. มีการแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัด เพื่อให้มีการกำหนดสวัสดิการถ้วนหน้าด้านบำนาญ 3. สร้างระบบฐานข้อมูล โดยกำหนดให้ผู้ที่ต้องการเบี้ยผู้สูงอายุส่วนเพิ่มเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ในวัยทำงาน 4. ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุให้เป็นรูปธรรม ทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทำงานนานขึ้น ขอรับบำนาญช้าลงและส่งเสริมการออม 5. เสนอให้มีการทบทวนนิยาม “การเริ่มนับอายุของผู้สูงอายุ” ให้เพิ่มมากกว่า 60 ปี และขยายเวลาในการ “เกษียณอายุ” จากการทำงาน (ทั้งภาครัฐและเอกชน) โดยอาจจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายบางฉบับ

แนวทางการขับเคลื่อนเรื่องการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ

นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางการขับเคลื่อนเรื่องการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ ตลอดจนการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปี 2565 เรื่อง “หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย 1. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี 2. นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 3. ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center 4. ศ.ดร.เอื้อมพร พิชัยสนิธ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นกระแสสังคมหรือพรรคการเมืองต่างเห็นร่วมกันแล้วว่าจำเป็นต้องมีการสร้างระบบบำนาญให้กับผู้สูงอายุ แต่สิ่งสำคัญคืองบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 4-5 แสนล้านบาท ส่วนตัวเสนอให้เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 10% โดยเอาส่วนต่างที่เก็บเพิ่มจำนวน 3% หรือราว 2 แสนล้าน ปรับเปลี่ยนเป็นใช้เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) คือ เงินออมสำหรับบำนาญให้กับประชาชนทุกคนในยามชราภาพ ที่สำคัญคือต้องสร้างให้เกิดระบบที่ยั่งยืน

“ความเร่งด่วนในวันนี้ไม่ใช่เรื่องความตื่นตัวของสังคม แต่ต้องมุ่งเป้าไปที่การทำให้ประชาชนทุกคนมั่นใจได้ว่าเมื่อเป็นผู้สูงอายุพวกเขาจะมีสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยพรรคการเมืองซึ่งจะเป็นรัฐบาลในอนาคตจะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนในการสร้างระบบสวัสดิการให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่การสงเคราะห์เหมือนที่ผ่านมา และต้องมีการหารายได้เพิ่มเพื่อนำมาใช้เป็นเงินบำนาญ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ดร.เดชรัต กล่าวว่า ตัวเลขเงินบำนาญผู้สูงอายุที่พูดกันอยู่ในขณะนี้คือ 3,000 บาท ซึ่งเข้าใจว่าเป็นระดับที่ทุกคนเห็นร่วมกันแล้ว โดยจำต้องใช้งบประมาณราว 4.2 แสนล้าน ซึ่งหากจ่ายในอัตรา 3,000 บาทจริง จะช่วยให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในเส้นความยากจนจากเดิม 6% จะสามารถลดลงเหลือ 1% แต่ถ้าอัตรา 2,000 บาท จะเหลืออยู่ที่ 2%

ทั้งนี้ ในจำนวนเปอร์เซ็นต์ความยากจนที่เหลืออยู่นั้นเกิดจากหนี้สินจากอาชีพการงาน และภาระค่าใช้จ่ายจากความเจ็บป่วย เช่น ภาวะติดบ้านติดเตียง ซึ่งทางพรรคก้าวไกลได้เสนอว่า ควรมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง โดยเก็บจากผู้สูงอายุจำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งจะทำให้ได้เงินจำนวนประมาณ 3 หมื่นล้านบาทสำหรับรองรับในส่วนนี้

ดร.เดชรัต กล่าวอีกว่า รายได้ที่จะนำมาสร้างระบบบำนาญนั้นต้องใช้ช่องทางในการปรับภาษี ดังนี้คือ 1. ขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่วนรายย่อยต้องลดลง ซึ่งจะนำมาสู่รายได้ราว 9 หมื่นล้านบาท 2. ปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการลดหย่อนภาษี 3. ปรับภาษีที่ดินแบบรวมแปลงและรายแปลง ในส่วนนี้จะได้เงินประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และ 4. ปรับภาษีความมั่งคั่งเป็น 0.5% หรือ โดยจะให้ได้เงินราว 6 หมื่นล้านบาท 5. ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ลดงบกองทัพ ซึ่งจะลดได้ประมาณ 2 แสนล้านบาท

ศ.ดร.เอื้อมพร กล่าวว่า มากกว่าการหารายได้ อยากให้มองภาพที่ใหญ่ไปกว่านั้นด้วยคือ ความต้องการรูปแบบสวัสดิการของทุกคนที่เห็นร่วมกันเป็นองค์รวม ซึ่งจะเป็นสัญญาณให้ฝั่งการเมืองรู้ถึงฐานที่ประชาชนต้องการจริงๆ เช่น ประเทศสแกนดิเนเวีย ที่มีสวัสดิการจำนวนมาก ขณะเดียวกันภาษีที่ต้องจ่ายก็สูงด้วยเช่นกัน แต่ทุกคนในประเทศตกลงร่วมกันแล้วเป็นฉันทมติที่สะท้อนออกมาสู่การตัดสินใจทางการเมือง

ศ.ดร.เอื้อมพร กล่าวต่อไปว่า ในกรณีประเทศไทยจะเห็นได้ว่านโยบายมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ค่อยมีความยั่งยืนในระยะยาว ดังนั้นพรรคการเมืองต้องมีความจริงใจในการนำเสนอข้อเท็จจริงและข้อจำกัดที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อใจ ซึ่งหลังจากนั้นก็จะได้ภาพที่ชัดขึ้นว่าจะก้าวต่อไปอย่างไรให้ระบบที่เกิดขึ้นมีความเป็นธรรมสำหรับประชาชนที่แท้จริง

นอกจากนี้ การทำให้เกิดขึ้นควรมีความครอบคลุมทั้งผลในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อความยั่งยืน เช่น ในระยะสั้นมีการขยายกองทุนเงินออมแห่งชาติ เพื่อเป็นฐานในการเพิ่มรายได้ให้กับรัฐ รวมถึงนอกจากนโยบายการออมที่ดีแล้ว อาจต้องมีในส่วนการลดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้สูงอายุด้วย

แนะขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ”

นพ.ประทีป กล่าวว่า ในส่วนของการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเรื่อง “หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” จำเป็นต้องขับเคลื่อนพร้อมกันทั้ง 5 องค์ประกอบหลัก (5 เสาหลัก) เพราะมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ ได้แก่ 1. การพัฒนาผลิตภาพประชากร การมีงานทำและมีรายได้จากการทำงานที่เหมาะสมตลอดช่วงวัย 2. การออมระยะยาวเพื่อยามชราภาพที่เชื่อมโยงทั้งการออมของปัจเจกบุคคล และการออมรวมหมู่ที่ครอบคลุม เพียงพอ และยั่งยืน 3. เงินอุดหนุน (บำนาญ) และบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐ (บำนาญ) 4. การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพโดยเฉพาะบริการสุขภาพระยะยาว (Long-term care) และ 5. การดูแลจากครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น โดยสามารถถอดบทเรียนความสำเร็จของการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่เน้นความพร้อมทางวิชาการ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม และการตัดสินใจทางการเมือง มาเป็นฐานในการผลักดันนโยบายไปสู่รูปธรรมความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง

พร้อมกันนี้ วิทยากรในเวทียังเห็นพ้องในหลักการร่วมกันว่า สิ่งที่จำเป็นหรือนับเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในการขับเคลื่อนนโยบายบำนาญแห่งชาติ คือ การสร้างเจตนารมณ์ทางสังคมให้เกิดขึ้น จนเกิดเป็นนโยบายทางการเมือง และเกิดการตัดสินใจเชิงนโยบายของประเทศในท้ายที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ. 2565 ที่สมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ ทั่วประเทศ ได้ให้ความเห็นชอบต่อการจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม เรื่อง “หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2565

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: