แอมเนสตี้ เปิดตัว Write for Rights 2023 ย้ำพลังจากคนธรรมดาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 พ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 6295 ครั้ง


แอมเนสตี้ ประเทศไทยเปิดตัวแคมเปญ ‘Write for Rights’ หรือ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ กิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนประจำปีที่ใหญ่สุดในโลก เชิญชวนคนไทยร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงไปกับคนทั่วโลกเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกละเมิดทั่วโลกผ่านการเขียนจดหมายถึงพวกเขา โดยมีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้ผู้ถูกละเมิดและครอบครัวของพวกเขารู้สึกว่ากำลังเผชิญอยู่กับการต่อสู้เพียงลำพัง นอกจากนี้ยังสามารถเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำมาสู่ความยุติธรรม และเพื่อเป็นการสื่อสารไปทั่วโลกว่า ประชาชนทุกคนพร้อมที่จะยืนหยัดต่อสู้กับการใช้อำนาจโดยมิชอบไม่ว่าการใช้อำนาจนั้นจะเกิดที่ใดบนโลกก็ตาม โดยกิจกรรมนี้ได้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 22 แล้ว

25 พ.ย. 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดตัวแคมเปญ ‘Write for Rights’ หรือ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ อย่างยิ่งใหญ่ที่ลิโด้ คอนเน็คท์ กรุงเทพฯ โดยเชิญชวนศิลปินและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม นักกิจกรรม ครอบครัวผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ และทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ร่วมพูดคุยในหัวข้อ “Your Words Change Lives”

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า จุดเริ่มต้นของแคมเปญนี้ เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มนักกิจกรรมในโปแลนด์จัดงานเขียนจดหมายมาราธอน 24 ชั่วโมง โดยเขียนจดหมายทั้งวันทั้งคืนในนามของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ และ 22 ปีต่อมาก็กลายเป็นการรณรงค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของแอมเนสตี้ ที่ผู้คนจากทั่วโลกมาร่วมกันปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับผู้ที่เผชิญความเสี่ยง

“จากจดหมาย 2,326 ฉบับในปี 2544 กลายเป็น 5.3 ล้านแอคชั่นในปี 2565 รวมทั้งการเขียนจดหมาย อีเมล โพสต์ทวีต เฟซบุ๊ก ส่งไปรษณียบัตรหลายล้านครั้ง ในวันนี้ผู้สนับสนุนแคมเปญ Write for Rights ได้ใช้พลังที่จะส่งเสียงของพวกเขาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น โดยร่วมกันเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนมากกว่า 100 คน ปลดปล่อยพวกเขาจากการถูกทรมาน การล่วงละเมิด หรือจับกุมคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม”

แคมเปญนี้จะเชิญชวนผู้สนับสนุนจากทั่วโลกเขียนจดหมายหลายล้านฉบับให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือครอบครัวโดยตรง เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่าไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง นอกจากการส่งข้อความเพื่อให้กำลังใจผู้ถูกละเมิดสิทธิแล้ว ผู้คนยังเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ได้รับผลกระทบ การรณรงค์ของแอมเนสตี้เป็นการสื่อสารข้อความไปทั่วโลกว่า ประชาชนพร้อมจะยืนหยัดต่อสู้กับการใช้อำนาจอย่างมิชอบไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดก็ตาม

“ในปีนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ผลักดันให้ประเด็นของ อัญชัญ ปรีเลิศ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม ไปพร้อมกับการช่วยเหลืออีก 3 กรณีอย่างเข้มข้น ได้แก่ อันนา มาเรีย แม่ผู้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมจากประเทศบราซิลที่ต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมให้กับลูกชายที่เสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงของตำรวจ ทูลานี มาเซโกะ ที่ถูกสังหารภายในบ้านจากการพูดความจริงและวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายต่างๆ ในประเทศเอสวาตินี ลุงพาไบและลุงพอลที่ต่อสู้เพื่อรักษาบ้านเกิดของตนที่กำลังจะจมหายไปจากน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศออสเตรเลีย”

อัญชัญ ปรีเลิศ หรือป้าอัญชัญอดีตข้าราชการวัยเกษียณถูกตัดสินจำคุกยาวนานเป็นประวัติการณ์มากถึง 87 ปี และลดลงเหลือ 43 ปี 6 เดือน ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ เนื่องจากการแชร์คลิปเลียงที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสถาบันกษัตริย์บนโซเชียลมีเดียของเธอ ป้าอัญชัญถูกควบคุมตัวโดยพลการในปี 2558 ยุค คสช. หลังจากนั้นเธอต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ 3 ปี 9 เดือน ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในปี 2561 และถูกจับกุมอีกครั้งในปี 2564 จนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันป้าอัญชัญในวัย 68 ปียังคงอยู่อยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง ด้วยอายุที่มากประกอบกับโรคประจำของคนชรา ทำให้เธอจำต้องอดทนและทำจิตใจให้แข็งแรงเพื่อที่จะมีชีวิตให้ได้ในแต่ละวัน โดยป้าอัญชัญมีกำหนดพ้นโทษในวันที่ 24 กันยายน 2574 แต่เท่ากับว่าตอนนั้นเธอจะมีอายุุถึง 76 ปี เราจึงเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีให้ยุติการดำเนินคดีและปล่อยตัวอัญชัญ ปรีเลิศโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข พร้อมจ่ายค่าชดเชยให้กับเธอสำหรับการกักขังและควบคุมตัว

อันนา มาเรีย จากประเทศบราซิล เธอคือแม่ผู้สูญเสียลูกชายนามว่าเปรโดร เฮนริค จากการถูกลอบสังหารภายในบ้านโดยกลุ่มชายแปลกหน้าที่แฟนของเปรโดรผู้เป็นพยานเพียงคนเดียวระบุว่า ชายทั้งสามคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เปรโดร เป็นนักเคลื่อนไหวและสนับสนุนความยุติธรรมทางเชื้อชาติและสิทธิมนุษยชน หลังจากที่เปรโดรเสียชีวิต ผู้เป็นแม่อันนา มาเรีย ต้องเผชิญกับการถูกข่มขู่และการล่วงละเมิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการแสวงหาความยุติธรรมให้กับลูกชายของเธอ เจ้าหน้าที่ที่ต้องสงสัยว่าสังหารเปรโดรถูกตั้งข้อหาในปี 2562 แต่เกือบ 5 ปีต่อมา พวกเขายังคงประจำการอยู่ในกองกำลังตำรวจ พร้อมกับการสืบสวนการสังหารยังไม่สิ้นสุดและการพิจารณาคดียังไม่เริ่มขึ้น

เราขอเรียกร้องไปยังอัยการสูงสุดให้ใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อประกันว่ามีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ เป็นกลาง และละเอียดถี่ถ้วนในคดีฆาตกรรมเปโดร เฮนริคและนำผู้รับผิดชอบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมถึงมีการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ยังต้องใช้มาตรการที่จําเป็นทั้งหมดเพื่อประกันว่าจะมีการยุติการเลือกปฏิบัติ การข่มขู่ในกระบวนการทางตุลาการและกระบวนการยุติธรรมต่ออันนา มาเรียอีกด้วย

ทูลานี มาเซโกะ จากประเทศเอสวาตินี เป็นพ่อและสามีที่ทุ่มเทชีวิตของเขาให้กับผู้คนในเอสวาตินี ซึ่งเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มั่งคั่งแต่ประชาชนกว่า 60% ใช้ชีวิตอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน เขาได้วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายปราบปรามของประเทศตนเองอย่างเปิดเผย รวมถึงการใช้ความรุนแรงของรัฐที่มากเกินไปเพื่อปิดปากการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ในวันที่ 21 มกราคม 2566 ทูลานีถูกยิงเสียชีวิตต่อหน้าทาเลเนภรรยาของเขา จนถึงปัจจุบันไม่มีใครรับผิดชอบต่อการสังหารของทูลานี

เราจึงเรียกร้องไปยังกษัตริย์แห่งเอสวาตินีให้มีการสืบสวนอย่างมีประสิทธิภาพต่อการสังหาร ทูลานี มาเซโกะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นำตัวผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนรับผิดชอบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การพิจารณาคดีต้องมีความเป็นธรรมและครอบครัวของทูลานีสามารถเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพและรอบด้าน

ลุงพาไบและลุงพอล จากประเทศออสเตรเลีย ทั้งสองคนอาศัยอยู่ในช่องแคบทอร์เรสทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งบรรพบุรุษของพวกเขาเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในเกาะแห่งนี้มานับพันปี ปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศกำลังทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของพวกเขา น้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นได้ทำลายสุสานบรรพรุษ พื้นที่เพาะปลูก และโครงสร้างของเกาะกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง หากยังไม่ไม่มีมาตรการที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง พวกเขารวมถึงคนในชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มานับพันปี จะต้องถูกบังคับให้ออกจากพื้นที่ทำกินบ้านเกิดของตน

เราจึงเรียกร้องไปยังรัฐบาลออสเตรเลียให้มีมาตรการป้องกันจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโดยเร่งด่วนให้แก่ชุมชนซึ่งเป็นชนชาติแรก (First Nations) ในช่องแคบทอร์เรสให้ได้รับการปกป้อง โดยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างรวดเร็วตามพันธสัญญาของโลกในการจำกัดภาวะโลกร้อนให้เหลือ 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อให้สอดคล้องกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่

ที่ผ่านมาแคมเปญ Write for Rights มีส่วนนำข้อความจากคนทุกมุมโลกส่งเสียงไปยังรัฐบาลในประเทศต่างๆ ให้ไม่อาจเพิกเฉยต่อปัญหาสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันข้อความเหล่านั้นยังทำให้คนที่ถูกละเมิดสิทธิยังคงมีความหวังในการต่อสู้ กรณีตัวอย่างเช่น ฮาคีม อัล อาราบี นักฟุตบอลเชื้อสายบาห์เรน ที่ได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกทางการไทยควบคุมตัวนานกว่า 2 เดือน ตามหมายแดงของตำรวจสากล ซึ่งรัฐบาลบาห์เรนตั้งข้อหาว่าเขาทำลายทรัพย์สินสถานีตำรวจในเหตุการณ์อาหรับสปริง เมื่อเขาได้รับการปล่อยตัว รุ่งขึ้นเขาเดินทางไปถึงออสเตรเลีย และได้รับสัญชาติออสเตรเลียในเวลาต่อมา

รวมทั้งกรณีของ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักกิจกรรมจากประเทศไทย จากเด็กขี้อายและเงียบขรึมได้กลายมาเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เธออาจถูกจำคุกตลอดชีวิตเพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ และเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในโครงการ Write for Rights หรือ เขียน เปลี่ยน โลก เมื่อปี 2564

ในปีดังกล่าวมีผู้คนจากทั่วโลกส่งจดหมาย ทวีตข้อความ ร่วมลงชื่อและปฏิบัติการอื่นๆ รวมกว่าสามแสนครั้งเพื่อสนับสนุนเธอ ต่อมารุ้งได้รับการประกันและปล่อยตัวชั่วคราว และบอกว่า ได้อ่านจดหมายจากแคมเปญนี้ตอนออกมาจากคุกแล้ว ตอนนั้นถือเป็นช่วงที่มืดมนที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้ ข้อความที่เขียนให้มานั้นส่วนใหญ่เป็นข้อความให้กำลังใจ บอกว่ายังมีคนที่อยู่เคียงข้างเรา ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในประเทศเดียวกัน ไม่ได้รู้จักกัน ไม่ได้ทำอะไรร่วมกันก็ตาม เป็นคนแปลกหน้าที่เขียนให้กำลังใจ และบอกเราว่า ‘เราเชื่อมั่นใจตัวคุณ’ ‘เราเชื่อว่าคุณต่อสู้ได้’ และย้ำว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ข้อความเหล่านั้นสร้างกำลังใจให้เราเป็นอย่างมาก ทำให้ช่วงเวลามืดมิดตรงนั้นสว่างขึ้นทันที จากการที่เราได้รับความรักจากคนแปลกหน้า

"อยากจะขอเชิญชวนทุกคน มาร่วมโครงการ Write for Rights โครงการนี้มีพลังและมีความหมายมากสำหรับคนที่ถูกละเมิดสิทธิที่มีอยู่ทั่วโลก เป็นการเขียนจดหมายที่พวกเราจะส่งไปให้พวกเขา ทั้งให้กำลังใจ ความเข้มแข็ง และตอกย้ำให้พวกเขารู้ว่า สิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ สิ่งที่คุณกำลังต่อสู้อยู่นั้น มันเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว พวกเราทุกคนทั่วโลกจะร่วมส่งกำลังใจไปให้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่รุ้งเคยได้รับเมื่อสองปีที่แล้วจากโครงการ Write for Rights เช่นกัน"

ร่วม เขียน เปลี่ยน โลก ได้ที่ https://www.aith.or.th

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: