เผยบริษัทอาหารกำลังยกระดับความพยายามเพื่อสนับสนุนสวัสดิภาพสัตว์

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 ธ.ค. 2566 | อ่านแล้ว 5918 ครั้ง

รายงานฉบับใหม่ของ ซิเนอร์เจีย แอนนิมอล เผยบริษัทอาหารกำลังยกระดับความพยายามเพื่อสนับสนุนสวัสดิภาพสัตว์ ผลสำรวจชี้ว่าธุรกิจจำนวนมากขึ้นทั้งระดับโลกและในทวีปเอเชียกำลังเลิกใช้ไข่จากกรงตับซึ่งเป็นระบบที่มีข้อโต้แย้งเป็นอย่างมาก

รายงานจากองค์กรไม่แสวงผลกำไรระดับสากล ซิเนอร์เจีย แอนนิมอล เผยให้เห็นถึงกระแสความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น คือ บริษัทอาหารกำลังปฏิบัติตามคำสัญญาเลิกใช้ไข่ไก่จากกรงตับในห่วงโซ่อุปทาน และเปลี่ยนไปใช้ไข่ไก่จากระบบปลอดกรงที่ให้ความสำคัญในเรื่องสวัสดิภาพสัตว์เพิ่มขึ้น ในระบบนี้แม่ไก่จะใช้ชีวิตและเดินไปมาได้อย่างมีอิสระมากขึ้น อีกทั้งยังแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้  

“ในปีที่ผ่านๆ มา เราเห็นบริษัทอาหารหลายสิบแห่งที่ดำเนินกิจการในเอเชียให้คำมั่นว่า จะลดความทารุณต่อแม่ไก่โดยเลิกใช้ไข่จากฟาร์มที่เลี้ยงไก่ในกรงตับ ซึ่งเป็นรูปแบบการกักขังที่โหดร้ายต่อสัตว์มาก” พิชามญชุ์ ธมะสุข ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารระหว่างองค์กร ประจำภูมิภาคเอเชียจากซิเนอร์เจีย แอนนิมอล กล่าว “ตอนนี้เรารู้สึกยินดีที่เห็นว่าบริษัทส่วนใหญ่ปฏิบัติตามพันธะสัญญาอย่างจริงจัง โดยการเริ่มใช้นโยบายและรายงานความคืบหน้า” 

ในปีนี้มี 21 บริษัทที่รายงานความคืบหน้าในเอเชีย เมื่อเทียบกับ 8 บริษัทในปีที่แล้ว ซึ่งเมื่อคำนวนแล้วถือว่ามีจำนวนบริษัทรายงานมากขึ้น  162.5%  ในประเทศไทย บริษัทเหล่านี้รวมถึง Lotus's, Central Food Retail, Minor Foods, Kraft Heinz, Unilever, และ The Peninsula Hotels 

“เรายินดีที่ได้เห็นบริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและรับฟังผู้บริโภคที่ต้องการให้การผลิตอาหารมีความเมตตาต่อสัตว์มากขึ้น” พิชามญชุ์ กล่าว

จำนวนบริษัทที่ไม่รายงานความคืบหน้าลดลง 

รายงานจัดอันดับธุรกิจการให้บริการด้านอาหาร ธุรกิจการให้บริการ และธุรกิจการค้าปลีกออกเป็นสี่ระดับ (A ถึง D) ระดับ A หมายถึงบริษัทที่เปลี่ยนไปใช้ไข่ไก่จากระบบปลอดกรงอย่างเต็มรูปแบบ ระดับต่ำสุดคือ D ซึ่งหมายถึงบริษัทมีนโยบายไข่ไก่ปลอดกรง แต่ยังไม่มีการรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการตามนโยบาย

รายงานประจำปีนี้แสดงให้เห็นว่ามีบริษัทในระดับต่ำสุดจำนวนน้อยลง ปีที่ผ่านมา 30% ของจำนวนบริษัททั้งหมดอยู่ในระดับ D แต่ปีนี้มีเพียง 20% บรรดาบริษัทที่ยังคงอยู่ในระดับ D มีบริษัทระดับนานาชาติ เช่น Best Western, Focus Brand และ Subway

“แม้ว่าจะเป็นเรื่องดีที่เราเห็นแนวโน้มการรายงานที่สูงขึ้น แต่ก็น่ากังวลเช่นกันที่บางบริษัทยังไม่ได้แสดงความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่จะใช้ไข่ไก่ไร้กรง งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคทั่วโลกรวมถึงในเอเชียได้แสดงความกังวลต่อสวัสดิภาพของแม่ไก่ บริษัทควรปรับปรุงเพื่อผู้บริโภค” พิชามญชุ์กล่าว

เอเชียเป็นแหล่งยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดในโลกที่จะยุติการใช้กรง 

เอเชียเป็นทวีปที่ผลิตไข่ไก่ได้มากที่สุดในโลก จากข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งประชาชาติพบว่าทวีปเอเชียผลิตไข่ไก่สูงถึง 64% ของปริมาณการผลิตไข่ไก่ทั้งโลก และยังมีไก่ในอุตสาหกรรมมากถึง 3.1 พันล้านชีวิตแต่ทว่าแม่ไก่ส่วนใหญ่ยังถูกขังอยู่ในระบบการผลิตแบบขังกรง ระบบนี้จำกัดการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ (เช่น การเดินอย่างอิสระ จิก เขี่ย และไม่สามารถกางปีกได้อย่างเต็มที่) และต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่แคบๆ แออัดแบบนี้ตลอดชีวิต 

จากข้อมูลด้านสวัสดิภาพที่น่ากังวล ระบบกรงตับแบบดั้งเดิมมีการถูกห้ามใช้แล้วหลายๆ ประเทศและในกลุ่มสหภาพยุโรป รวมไปถึง ภาคเอกชนกว่า 2,500 บริษัทในอุตสหกรรมอาหารต่างประกาศเจตนารมณ์เพื่อหันมาใช้และจำหน่ายไข่ไก่จากแหล่งไม่ขังกรง ซึ่งรวมถึงบริษัทในทวีปเอเชียกว่า 250 บริษัท  

ระบบการผลิตไข่ไก่ในประเทศไทยกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบปลอดกรง 

แบบสำรวจเก็บข้อมูลจากผู้ผลิตไข่ไก่ในประเทศไทยทั้งหมด 15 ราย พิชามญชุ์กล่าวต่ออีกว่า “จากจำนวนผู้ผลิตทั้งหมด มี 2 รายที่แบ่งปันข้อมูลกับเราว่าได้เปลี่ยนระบบเป็นแบบปลอดกรงแล้ว 100% และอีก 2 รายมีการผลิตไข่ไก่ระบบปลอดกรงเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตอีกด้วย ผู้ผลิตมีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลิตไข่ไก่ให้เพียงพอต่อความต้องการของบริษัทอาหาร เรายินดีที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย”

“ยังมีอะไรอีกมากที่เราต้องทำ เพื่อทำให้กรงขังหมดไปจากทวีปเอเชีย เราจึงขอเชิญชวนผู้บริโภคและภาคธุรกิจอ่านรายงานของเราและสนับสนุนการเคลื่อนไหวนี้เพื่อระบบการผลิตอาหารที่มีความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น” พิชามญชุ์ กล่าวสรุป

คลิกเพื่ออ่านรายงานฉบับเต็มและรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทในประเทศไทยที่ www.cagefreetracker.com/asia 

 

เกี่ยวกับซิเนอร์เจีย แอนนิมอล

'ซิเนอร์เจีย แอนนิมอล' เป็นองค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับสากล ปฏิบัติงานในกลุ่มประเทศ Global South เพื่อบรรเทาความ เจ็บปวดของสัตว์ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารและส่งเสริมทางเลือกอาหารที่แสดงถึงความเห็นอกเห็นใจต่อสัตว์ เราเป็นองค์กรที่ได้รับการแนะนำโดย Animal Charity Evaluators (ACE)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: