วช. ชู “นวัตปะการัง” ปะการังเลียนแบบธรรมชาติเหมือน โดนใจ นักอนุรักษ์ รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปี 2566

กองบรรณาธิการ TCIJ 26 ม.ค. 2566 | อ่านแล้ว 7967 ครั้ง

วช. ชู “นวัตปะการัง” ปะการังเลียนแบบธรรมชาติเหมือน โดนใจ นักอนุรักษ์ รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปี 2566

วช. ชู “นวัตปะการัง” ปะการังเลียนแบบธรรมชาติเหมือน โดนใจนักอนุรักษ์ รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปี 2566 สามารถต่อยอดของนวัตกรรมได้หลายรูปแบบ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ต้นแบบสำหรับปะการังเทียม แนวปะการังเทียมเพื่อการท่องเที่ยวทดแทนแนวปะการังจริง พื้นที่สำหรับการฝึกดำน้ำ แหล่งศึกษาวิจัยระบบนิเวศแนวปะการัง แหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำเพื่อส่งเสริมพื้นที่สำหรับการประมง เพิ่มโอกาสในการเกิดอาชีพใหม่ สามารถสร้างรายได้ ทำให้เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้นด้วย
 
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2566 รางวัลระดับดี สาขาปรัชญา ให้กับผลงานประดิษฐ์คิดค้น เรื่อง “นวัตปะการัง : ปะการังเทียมที่มีโครงสร้างเลียนแบบธรรมชาติ ด้วยกระบวนการออกแบบชีวจำลอง” ของ รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ และคณะ แห่ง คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศนใต้ท้องทะเลให้อุดมสมบูรณ์ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงถูกใจสิ่งนี้
 
รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นว่า สมัยก่อนเป็นครูสอนดำน้ำเมื่อดำน้ำจะมองเห็นปะการังที่มีความเปลี่ยนแปลงจากมนุษย์ที่พยายามทำปะการังเทียมมาช่วยชดเชยธรรมชาติ ซึ่งรูปแบบปะการังเทียมที่เห็นส่วนใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยมทำจากปูนซีเมนต์ จึงมีความรู้สึกว่าขัดตาเวลาที่ต้องดำน้ำและมองเห็น ขณะเดียวกันการทำปะการังเทียมก็ไม่ได้นำหลักวิทยาศาสตร์มาใช้ ว่าทำอย่างไรให้มีการเกาะติดแบบเร็วที่สุด และดีที่สุด จึงมีความคิดที่จะทำปะการังที่วางแล้วสวยเลย เพราะปะการังเทียมส่วนใหญ่ต้องรอให้ปะการังธรรมชาติมาเกาะให้เต็มก่อนถึงจะสวย ซึ่งจะใช้เวลาหลายปีมาก แต่ถ้าทำปะการังที่มีรูปร่างเหมือนปะการังก็จะสวย และมีฟังก์ชันแบบปะการังธรรมชาติได้ทันที ก็เลยคิดและลงมือทำนวัตปะการัง : ปะการังเทียมที่มีโครงสร้างเลียนแบบธรรมชาติด้วยกระบวนการออกแบบชีวจำลอง โดยเริ่มศึกษาจากปะการังธรรมชาติ ว่ามีฟังชั่นยังไรบ้าง จนได้ปะการังเขากวาง เพราะมีลักษณะการเรียงตัวเป็นธรรมชาติ ซึ่งจะสามารถชะลอกระแสน้ำ และจะนำตัวอ่อนของปะการังธรรมชาติให้เกาะได้ทนขึ้นกว่าการที่วางไว้เฉย ๆ ให้น้ำพัดผ่านไป แต่ก็ยังพบปัญหาเพราะการที่เอาปะการังเทียมไปวางเป็นปูนหนักมาก เวลานำไปวางต้องใช้เครน จึงคิดว่าควรทำเป็นก้อนเล็ก ๆ 3 ก้อน โดยเจาะรูใส่กิ่งปะการังเข้าไป เพื่อจะได้ประกอบในน้ำได้ง่ายขึ้น
 
สิ่งที่แตกต่างจากปะการังเทียมทั่วไป คือ 1. รูปลักษณ์ภายนอกกลมกลืนกับธรรมชาติ 2. ประสิทธิภาพในการเพิ่มพื้นที่ผิวของนวัตปะการังจะมีมากกว่าที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมเดิมกว่า 10 เท่า 3. เวลาที่ใช้ในการที่ปะการังแท้จะมาเกาะติดและเติบโตเร็วกว่าเดิม และ 4. สถานีนี้สามารถทำเป็นสถานีงานวิจัยอื่น ๆ ต่อไปได้ อาทิ สถานีวัดน้ำ หรือติดกล้องไว้ดูแนวปะการังได้ ฯลฯ ความแตกต่างคือการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซ่อมเสริมธรรมชาติโดยให้กลมกลืนกับธรรมชาติ “นวัตปะการัง” ได้นำลงไปวางในหลายพื้นที่หมู่เกาะแสมสาร จังหวัด และจังหวัดภูเก็ต
 
การต่อยอดของนวัตปะการังสามารถนำไปต่อยอดได้อีกหลายรูปแบบ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ต้นแบบสำหรับปะการังเทียมในอนาคต แนวปะการังเทียมเพื่อการท่องเที่ยวทดแทนแนวปะการังจริง พื้นที่สำหรับการฝึกดำน้ำ แหล่งศึกษาวิจัยระบบนิเวศแนวปะการัง แหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำเพื่อส่งเสริมพื้นที่สำหรับการประมง เพิ่มโอกาสในการเกิดอาชีพใหม่ สามารถสร้างรายได้ ทำให้เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้นด้วย
 
ผู้ประดิษฐ์จะเข้ารับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 และจัดแสดงผลงานในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2–6 ก.พ. 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: