แอมเนสตี้ เรียกร้องคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี

กองบรรณาธิการ TCIJ 26 ก.ย. 2566 | อ่านแล้ว 1660 ครั้ง

แอมเนสตี้ เรียกร้องคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี

แอมเนสตี้ ประเทศไทย ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องคืนสิทธิในการประกันตัวให้ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี

26 ก.ย. 2566 ที่ด้านหน้าศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล แอมเนสตี้ อินเตอร์แนชั่นแนล ประเทศไทย ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เรียกร้องให้คืนสิทธิในการประกันตัว ดูแลและเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังเป็นอย่างดี พร้อมแสดงจุดยืนขอให้ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อประชาชนที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการเเสดงออกเเละการชุมนุมประท้วงโดยสงบ รวมทั้งต้องปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทันทีและไม่มีเงื่อนไข ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้แคมเปญ #FREERATSADON โดยมีนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกฯฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนจากรัฐบาลออกมารับหนังสือ

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า แอมเนสตี้ได้ติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด และในช่วงการเลือกตั้งทั่วไป ในปี 2566 ได้มีการจัดทำรายงานสถานการณ์และข้อเสนอแนะประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Agenda) เพื่อยื่นต่อพรรคการเมือง สื่อสารต่อสังคม ประชาชนและภาคประชาสังคม ที่ครอบคลุมประเด็นสิทธิมนุษยชนใน 31 หัวข้อ 183 ข้อเสนอแนะ อย่างไรก็ตามสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบยังเป็นที่น่ากังวลในสังคมไทย ประชาชน นักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ยังถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยรัฐบาล เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นชัดเจนตั้งแต่ปี 2563

โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ม็อบดาต้าไทยแลนด์ พบว่า ในปี 2563 เกิดการชุมนุมมากที่สุดในรอบหลายปีนับตั้งแต่มีรัฐประหารปี 2557 ส่วนใหญ่เป็นข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ปี 2566 เก็บสถิติผู้ต้องขังคดีทางการเมืองเดือนสิงหาคม พบนักกิจกรรมถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีอย่างน้อย 23 คน

ปิยนุช กล่าวเสริมว่า สิทธิในการประกันตัว หรือการปล่อยชั่วคราวเป็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญในการประกันว่าผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยไม่ถูกปฏิบัติเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรค 2 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อบทที่ 9 (3) ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนในการรับรองสิทธิดังกล่าว เหตุและข้อยกเว้นในการคุมขังบุคคลนั้น โดยเฉพาะการคุมขังก่อนหรือระหว่างการพิจารณาคดีจะต้องไม่ถูกบังคับใช้เป็นการทั่วไป ศาลต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายบุคคลและไม่สามารถอ้างเหตุว่าผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวกระทำความผิดที่มีโทษสูงเพียงอย่างเดียวในการคุมขังได้ นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าการคุมขังก่อนหรือระหว่างพิจารณาคดีไม่ควรถือว่าเป็นมาตรการจำเป็นสำหรับฐานความผิดใดความผิดหนึ่งอีกด้วย

“แอมเนสตี้ ประเทศไทยเรียกร้องให้รัฐบาลซึ่งนำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน และตลอดทั้งกลไกด้านสิทธิมนุษยชนระดับชาติ เร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อคืนสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวหรือสิทธิในการประกันตัวแก่ผู้ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี และประกันว่าสิทธินี้จะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรกในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลในวาระนี้ พร้อมทั้งยุติการดำเนินคดีต่อประชาชน นักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิ และการที่รัฐบาลมีพันธกิจต่อสังคมระหว่างประเทศในการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กลไก UPR อันจะแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงของรัฐบาลไทยในการวางตัวเป็นประเทศแนวหน้าที่ให้การเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของบุคคลในทุกบริบท การเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชนของบุคคลในทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกันและการยึดมั่นซึ่งเสรีภาพในการแสดงออก ยังเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของความสำเร็จในการดำเนินงานตามเป้าหมายที่ 16 ของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อีกด้วย”

แอมเนสตี้ ประเทศไทยยังเรียกร้องให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สั่งการไปยังกรมราชทัณฑ์ ให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อประกันสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดี เท่าเทียม และทันท่วงที สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ข้อกำหนดแมนเดลา) และปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามหลักสิทธิมนุษยชนรอบด้าน ยังคงยืนยันเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินมาตรการทุกมาตรการเพื่อประกันว่าบุคคลซึ่งใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบจะได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข รวมถึงยกเลิกทุกข้อกล่าวหา

ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า แอมเนสตี้จะดำเนินแคมเปญ #FREERATSADON ต่อไปเพื่อยืนหยัดเคียงข้างนักกิจกรรม เด็ก และเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีเนื่องจากการใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงต่อไป ผ่านการเขียนจดหมายให้กำลังใจและนำเสนอเรื่องเล่าจากเรือนจำให้สาธารณะชนรับทราบ หากประชาชนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมสามารถติดตามข่าวสารได้ที่หน้าเฟซบุ๊ก Amnesty International Thailand หรืออินสตาแกรม Amnesty Thailand

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: